xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” โปรดฟังอีกครั้ง!คำประกาศจาก “บรรหาร”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

แม้ว่าจะออกปากสรรเสริญว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีหน้าไหนจะเทียบได้ โดยผู้นำวงสรรเสริญคือหัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม-สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งไม่ปรารถนาจะตั้งพรรคการเมืองมาแข่งบุญ ประกาศการเป็นนักการเมืองแบบพึ่งใบบุญเท่านั้น แต่โอกาสของคนหน้าเหลี่ยมที่จะได้เข้าสนามการเมืองในรอบต่อไปนั้น ถือว่า-หมดเวลาแล้ว, เมื่อเวลาแห่งความเป็นจริงได้เริ่มต้น ว่าการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเลวร้ายของระบอบเก่ากำลังเข้าสู่กระบวนการอันทำให้เห็นชัดเจน ซึ่งนำผลไปสู่การเป็น “คดี” ได้มากมายอย่างน้อย 12 คดี ซึ่งเชื่อกันว่า “ทักษิณ” จะไม่บากหน้าเข้ามาเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในประเทศไทย เพราะเพียงแต่การสิ้นอำนาจ ถูกรถถังบดเก้าอี้ก็แทบจะขาดใจตายอยู่แล้ว ถ้หากว่าต้องมารับชะตากรรมเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในศาลอีก ก็จะไม่เหลือเหลี่ยมอะไรไว้อีก เพราะคนคนนี้มีบุคลิกอย่างหนึ่งคือ เก่งอยู่คนเดียวในเกมที่กำหนดได้ โดยขลาดที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งใดๆ ความร่ำรวยของเขา ทำให้ชีวิตมีค่าขึ้น จนดึงวิญญาณของการเป็นลูกผู้ชายที่ได้จากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยตำรวจออกไปหมดแล้ว เหลือแต่ความเป็นพ่อค้าที่คิดแต่หนทางการได้กำไร สิ่งใดที่จะเสมอตัวหรือขาดทุน เป็นไม่กล้าเข้าเผชิญ

เขารวยเสียจนกระทั่งคิดว่าการมาเล่นการเมืองอีก เป็นหนทางวิบัติต่อทรัพย์สิน ในเมื่อสัญญาณของภาวะวิบัตินั้นได้ปรากฏให้เห็นแล้ว ในช่วงที่เข้ามาเล่นการเมืองนั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประโยชน์ทางธุรกิจที่จะมาพร้อมกับอำนาจ, สิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ คือความพยายามของการรักษาหน้าไว้พอไม่ให้ถูกดูแคลนไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ เขาพยายามโงหัวขึ้น ก็เพื่อจะใช้สายตามองดูว่าใครจะข้ามเขาเท่านั้น โดยสภาพที่แท้จริงแล้ว เขาอยู่ในฐานะของคนที่ทรงกายลุกขึ้นมาอีกอย่างเดิมไม่ได้แล้ว

แต่ก็มีความหวังอยู่ว่า จะมีผู้มาพยุงเขาลุกขึ้น ทั้งคนในพรรค สมาชิกพรรคหรือมีความหวังไปถึงเพื่อนร่วมรุ่นผู้กุมอำนาจทางทหารในอดีต ว่าจะนึกถึง “ไอ้แม้ว” เมื่อตอนเป็นนักเรียนเตรียมทหารบ้าง ทั้งๆ ที่เห็นอยู่กับตาว่า เพื่อนทั้งหลายในกองพลสำคัญ ก็ช่วยเหลือต้านทานอะไรไม่ได้ เพราะสายการบังคับบัญชาอย่างชัดเจนนั้นมีอยู่ ว่าระหว่างผู้บัญชาการทหารบก หรือแม่ทัพภาคเป็นผู้ออกคำสั่ง ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพัน ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น, การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน เป็นละเมิดวินัยและอำนาจทางทหาร โดยเฉพาะการที่มีประกาศกฎอัยการศึกนั้น ใช่ว่ากฎอัยการศึกจะมีผลต่อทางพลเรือน และส่วนอื่นๆ แต่ทางทหารได้รับผลโดยตรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย กฎอัยการศึกที่มีผลทางทหาร คือความเฉียบขาดเหนือสิ่งใดๆ เป็นการสร้างแกนหลักของการบังคับบัญชาอย่างสูงสุดขึ้นมา ทหารผู้ละเมิดต่อกฎอัยการศึก อาจจะถูกข้อหาการละทิ้งหน้าที่หรือ หลบหนีการศึกต่อหน้า “ราชศัตรู” ที่มีความผิดสูงสุดในกระบวนความผิดทั้งหลายของทหาร อันมีโทษถึงขั้น “ยิงเป้า” ตามแบบการลงโทษของทหารได้ทันที

ได้มีความชัดเจนว่า “ราชศัตรู” ตามกฎหมายทหารนั้น มีอยู่ว่าเป็นฝ่ายใด และนั่นหมายถึงการที่ทหารจะต้องอยู่เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือเป็นมิตรอุปถัมภ์กันมา ไม่มีใครจะเข้าเป็น “ราชศัตรู” นั้น

กฎอัยการศึกมีมาแต่โบราณ เป็นของคู่กันมากับกิจการทหาร ซึ่งดูเหมือนว่าคำว่า “พระอัยการศึก” นั้น เป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับคำว่า “ราชศัตรู”

การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ได้แยกคำว่า “ประชาธิปไตย” กับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้มีความชัดเจนว่าเป็นคนละอย่างกัน และสิ่งนี้หรือ 2 คำนี้ได้เป็นปมอย่างหนึ่งที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้นำไปแก้ปมต่อหน้า ประธานาธิบดีบุช แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความขึงขังมากในเรื่องประชาธิปไตย ให้บุชได้เห็นว่า ประชาธิปไตยของยูนั้น ต่างกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร และเหตุใดคณะทหารจึงได้ทำการปฏิวัติ-ก็เพื่อการเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง ซึ่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ว่าการเมืองของไทยเป็นไปในรูปใด โดยที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่าประชาธิปไตยใดๆ รวมทั้งประชาธิปไตยในสายตาของสหรัฐอเมริกา

การประชุมเอเปกที่ฮานอย เป็นโอกาสดีที่จะทำให้นานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในอีกซีกโลกหนึ่งได้เข้าใจ โดยฐานะของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีนั้น มีต้นทุนอยู่สูงแล้วในการทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและมากขึ้น เมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นองคมนตรีที่มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และยังมองไปได้ไกลถึงว่า เมื่อทางรัฐบาลดำเนินการเลือกตั้ง จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศแล้ว ทางคณะทหารและรัฐบาลถอยกลับไปสู่ที่ตั้งปกติ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็อาจจะต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ กลับไปเป็นองคมนตรีดังเดิม, ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ พล.อ.สุรยุทธ์ ทำให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย และทำให้นานาชาติเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิวัติโดยล้มระบอบทักษิณเสีย ซึ่งทางทหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็บอกว่าได้ตัดสินใจทำการยึดอำนาจช้าไปเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังทันเวลา

การประชุมเอเปกที่ฮานอยนั้น เป็นการช่วงชิงใช้ไหวพริบและโอกาสกันระหว่างผู้นำรัฐบาลและผู้นำในอดีต โดยที่ “ทักษิณ” มองว่า เอเปก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะแสดงท่าทีอันเป็นลบต่อไทย และพล.อ.สุรยุทธ์ จะไม่สง่างามในเวทีเอเปก ท่วงท่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เยื้องกรายจากยุโรปหนีหนาวมาพึ่งร้อนอยู่ที่จีน ฮ่องกง และบาหลี อินโดนีเซีย คือการปรากฏตัวอยู่ข้างๆ เวทีเอเปก เพื่อเรียกร้องความเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็สร้างความน่าสนใจทางการข่าวสาร หวังผลทางจิตวิทยาแบบก่อสงครามประสาท แต่แล้วในนาทีนี้ ทางผู้วางแผนเช่นนี้จะต้องคิดกันใหม่ หรือทบทวนความผิดพลาดที่ได้รับ เพราะเอเปกไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เอเปกไม่ได้แสดงความสนใจต่ออดีตผู้นำที่ตกจากอำนาจ เพราะมองเห็นแล้วว่า การคืนสู่อำนาจนั้นเป็นไปโดยยาก ผลประโยชน์ของชาตินั้นๆ กับไทยมีมากกว่าที่จะรอรับผลประโยชน์ในอนาคตที่ริบหรี่เมื่อ “ทักษิณ” คืนสู่อำนาจ ทีท่าของสหรัฐอเมริกาและเอเปกครั้งนี้ “ทักษิณ” ไม่ได้สิ่งใดกลับมาตามที่วาดฝันไว้ และมิหนำซ้ำทีท่าของเอเปกจากปฏิญาณฮานอยที่ได้แถลงร่วมกันนั้น กลับทำให้ตัว “ทักษิณ” เองได้รับความอับอาย จากการประกาศดังกล่าวที่ว่า จะมุ่งและร่วมกันสร้างจริยธรรมทางการปกครอง ขจัดความชั่วร้ายในการคอร์รัปชันอันเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ ซึ่งหากจะมองกันโดยเชิงเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ เองนั่นแหละที่กลายเป็นผู้อยู่ในกลุ่มหรืออยู่ในซีกของสิ่งที่เอเปกไม่ต้องการ ต้องการขจัดล้มล้างเสียให้หมดสิ้น

นอกจากจะไม่ได้ความสนใจแล้ว เอเปกยัง “สะใจ” อีกด้วย ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนชื่อ “ทักษิณ”

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้ คนหน้าใหญ่ (เหลี่ยม) อย่าง “ทักษิณ” ต้องเข้าสู่ห้วงของความคิดอันหดหู่อีกรอบหนึ่ง เพราะเขาตั้งความหวังไว้สูงมากว่าจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเอเปก โดยเฉพาะทีท่าของสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ผลออกมาในทางกลับกัน เหมือนกับได้ถูกปฏิวัติซ้ำสองบนเวทีเอเปกที่ฮานอย ก็เหลือประตูเดียวที่ยังคงอยู่ คือการกดดัน การสร้างคลื่นใต้น้ำขึ้นในประเทศ แต่ก็ดูเหมือนว่า ทุกอย่างจะไม่เป็นไปตามที่คาดกันไว้ ยิ่งนานวันออกไป ความจริงทั้งหลายใน 12 คดีที่รออยู่กับปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น

การนิ่งเฉยของประชาชน โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยนั้น เป็นท่วงท่าของการปฏิเสธ มิใช่ว่าการนิ่งเฉยเป็นการยอมรับ

ซึ่งเป็นการยอมรับในความเป็นจริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตหัวหน้าพรรค และจะเป็นการยอมรับต่อในสิ่งที่เกิดขึ้นต่อพรรค คือพรรคไทยรักไทย ก็จะเป็นอดีตเช่นเดียวกัน เมื่อถูกยุบพรรค โดยโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นคงจะก่อนได้สวัสดีปีใหม่ แล้ว “ทักษิณ” ก็จะเป็นอดีตซ้อนสองอดีต คือเป็นอดีตหัวหน้าพรรคของอดีตพรรคไทยรักไทย โดยปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้กับพรรคการเมืองไทย ได้บ่งชี้แล้วว่า ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคใช่ว่าจะเป็นผู้ทุ่มเทจงรักภักดีต่อพรรคมาตั้งแต่ครั้งพรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคชาติสังคมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคสหประชากรไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร หรือพรรคสามัคคีธรรมของ คณะ รสช. เพราะกระบวนการของการเป็นสมาชิกพรรคนั้น เป็นไปตามกลไกการจัดตั้งทางการเมือง

มีแต่พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคนาซีของฮิตเลอร์เท่านั้น ที่สมาชิกพรรคมีความภักดีและทุ่มเทชีวิตให้กับพรรค ถ้าหากว่าพรรคไทยรักไทยมิใช่พรรคนาซี หรือเป็นพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็อย่าพึ่งตั้งความหวังไว้กับสมาชิกพรรคอย่างสุดโต่งเช่นนั้น

ในขณะเดียวกัน วิถีทางของการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองก็เกิดขึ้น คือทุกย่างก้าวของพรรคชาติไทยนั้น, นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคได้เดินเกมอย่างพญามังกร เรื่องของ “หูฉลาม” ระหว่างนายบรรหารกับ “ทักษิณ” นั้น เป็นงานเลี้ยงที่ต้องเลิกรา นายบรรหารได้ใช้โอกาสในการย้อนกลับไปสู่ความแข็งแรงของพรรคชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยความแข็งแรงเติบโตครั้งนี้ พรรคไทยรักไทย นั่นแหละคือ “ปุ๋ย” อย่างดี ยิ่งเสื่อมโทรมย่อยสลายลงมากเท่าใด ปุ๋ยก็ยิ่งมีคุณภาพดีเท่านั้น, นายบรรหาร นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 มีบทบาทอย่างสูงจนมองกันว่า เขาอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง-นายบรรหาร เป็นผู้ที่ประกาศอย่างชัดเจนสวนทางกับกระแสการเมืองทั้งหลายที่ว่า กฎอัยการศึกนั้น ควรจะคงอยู่ต่อไป ยังไม่สมควรยกเลิกในระยะนี้-นายบรรหาร ออกมาตอบโต้คำพูดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เหนือกว่าคนใด, รวมทั้งนายบรรหารด้วย ว่าอย่าไปสู้กับ “ทักษิณ” โดยย้อนกลับว่าสู้ไม่ได้ หรือเทียบชั้นกันไม่ได้ในทางใด? ในเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบของการต่อสู้หรือเปรียบเทียบกันได้หรือไม่? การย้อนเกร็ดของนายบรรหารครั้งนี้, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจจะเสียซ้ำมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะคำพูดของ “เฮีย” ครั้งนี้ เหมือนกับเป็นการยกจุดอ่อน ทุบตรงแผลของ “ทักษิณ” ทั้งสิ้น คำประกาศของนายบรรหาร จึงเป็นการ “ประกาศ” ที่ “ทักษิณ” โปรดฟังอีกครั้ง! เป็นการประกาศการยึดอำนาจที่เหลืออยู่ของ “ทักษิณ” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งกว่าการประกาศโปรดฟังอีกครั้ง...เมื่อมีการเข้ายึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 เสียด้วยซ้ำ

การที่ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าสังกัดพรรคชาติไทย ก็เป็นสัญญาณทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่เชื่อมโยงถึง “บิ๊กจิ๋ว” ด้วยว่าทาง พล.อ.ชวลิต มีความคิดอย่างไรกับ “ทักษิณ” และพรรคไทยรักไทย, อีกทั้งเป็นนัยสำคัญด้วยว่า พล.อ.ชวลิต จะไม่หวนกลับมาสู่ทางการเมืองอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น