xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องอัปยศที่เซี่ยงไฮ้

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ปลายเดือนกันยายน 2006 สื่อมวลชนจีนและต่างชาติได้แพร่ข่าวสำคัญเกี่ยวกับการจับกุมเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเซี่ยงไฮ้ เฉินเหลียงอี่ว์ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ ทั้งนี้ เฉิน ได้กระทำการดังกล่าวในลักษณะต่างๆ กัน เช่น การยักยอกเงินจากกองทุนประกันสังคม ปกป้องผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มบริษัทอย่างผิดกฎหมาย ปกป้องพวกพ้องที่กระทำผิดกฎหมายและระเบียบวินัยร้ายแรง ตลอดจนการสร้างอิทธิพลทางการเมืองที่เลวร้าย เป็นต้น

หากพิจารณาจากข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า ต่างล้วนเป็นข้อหาที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ความเชื่อมโยงนี้จะรวมศูนย์อยู่ที่การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นควรที่เราจะทำความเข้าใจประเด็นนี้ก่อนเป็นปฐม

การฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ เฉิน ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางที่ว่า ตัวเขาได้ใช้ตำแหน่งของตนเองในการยักยอกเงินจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่กว่าสามพันล้านเหรียญสหรัฐ ไปใช้อย่างผิดๆ ซึ่งอาจจะด้วยการปล่อยกู้ให้แก่การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ โดยผู้ที่ได้รับเงินกู้เหล่านี้มีเครือข่ายของผลประโยชน์ที่กว้างขวางใหญ่โตซึ่งก็คือ บรรดาบริษัทหรือผู้ที่เป็นญาติสนิทมิตรสหายของ เฉิน แทบทั้งสิ้น

ประเด็นก็คือว่า หากการลงทุนที่ว่าเป็นโครงการที่มีอยู่ในแผนอยู่แล้ว ความผิดที่เกิดขึ้นก็จะหมายถึงความไม่โปร่งใสที่ เฉิน ได้เอื้อให้แก่เฉพาะบรรดาพวกพ้องของตน แต่ถ้าหากการลงทุนที่ว่าไม่อยู่ในแผนและพวกพ้องของ เฉิน ต้องการลงทุนแล้ว (โดยตัวของ เฉิน อำนวยความสะดวกให้) ความผิดที่เกิดขึ้นก็จะหมายถึงการที่พวกพ้องของ เฉิน จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ตนได้สิทธิบนธุรกิจดังกล่าวด้วยความไม่ชอบธรรมไปด้วย

ในข้อหลังนี้อาจยกตัวอย่างสมมติได้ เช่น หากพวกพ้องของ เฉิน ต้องการพัฒนาที่ดินผืนหนึ่งที่เป็นทำเลทอง แต่ให้บังเอิญว่าที่ดังกล่าวพวกพ้องของตนไม่มีสิทธิ์ เพราะเป็นที่ที่ผู้อื่นถือเอกสารสิทธิ์อยู่แล้ว สิ่งที่พวกพ้องของ เฉิน ทำก็คือ การพยายามทำทุกวิถีเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินผืนดังกล่าว ถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าเป็นวิธีการที่ไม่ต่างกับที่เราเห็นในเมืองไทย แต่ที่ต่างจากเมืองไทยก็คือ วิธีการ

วิธีการที่เกิดขึ้นในจีน (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกรณีของ เฉิน เสมอไป) ก็คือ ทางองค์กรของรัฐในท้องถิ่นจะร่วมมือกับภาคเอกชนทำการสมคบคิดในการเว้นคืนที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่า รัฐ (และเอกชน) จะนำที่ดินผืนนั้นไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผลประโยชน์นี้จะเป็นของรัฐ เมื่อเป็นผลประโยชน์ของรัฐก็ย่อมต้องเป็นผลประโยชน์ของมวลชนหรือส่วนรวม

ฉะนั้น ผู้ถือเอกสารสิทธิ์เดิมจึงไม่พึงที่จะโต้แย้ง เพราะหาไม่แล้วจะเท่ากับว่าขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้, ที่ดินผืนนั้นก็จะตกอยู่แก่ผู้ถือเอกสารสิทธิ์รายใหม่ และมันจะถูกใช้ประโยชน์ไปในลักษณะต่างๆ กัน คือตั้งแต่เป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นย่อมต้องเป็นเอกชน ในขณะที่รัฐอาจจะได้ก็ต่อเมื่อมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย ที่แน่ๆ คือ ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับรองๆ ลงมาต่างก็ได้รับผลประโยชน์ประเภท “ใต้โต๊ะ” จากเอกชนอีกทอดหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ หากยึดเอาตามกรณีของ เฉินเหลียงอี่ว์ มาพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า คดีของเขาจะเกี่ยวโยงกับเครือข่ายของภาคเอกชนอย่างชัดเจน และที่ดูออกจะรุนแรงเป็นพิเศษก็คือ เป็นคดีที่มีลักษณะเชิงซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ชั้นหนึ่ง เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในชั้นนี้ส่วนหนึ่งจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินของรัฐโดยตรง เพราะบางทีเอกชนเป็นผู้ลงทุน

ชั้นที่สอง เป็นการใช้เงินทุนของรัฐโดยตรงจริงๆ นั่นก็คือ เฉิน ได้ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งในข่าวรายงานโดยใช้คำว่า “ยักยอก” ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับการสอบสวนต่อไปว่า เฉิน ใช้เงินก้อนนี้ไปในลักษณะใด เช่น ใช้แบบเข้าพกเข้าห่อกันดื้อๆ หรือใช้เพื่อเอาไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจอื่นๆ ในนามของรัฐ แต่ตัวเองได้ผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นต้น

ที่ว่าในชั้นสองรุนแรงก็เพราะเป็นเงินทุนของรัฐ และ เฉิน ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจของตนไปอย่างผิดๆ หรือไม่โปร่งใส กรณีเช่นนี้หากใครไม่มีอำนาจพอหรือความกล้าพอก็จะไม่ทำ เนื่องจากรู้กันดีอยู่ว่า หากถูกจับได้แล้วโทษจะรุนแรงมาก ด้วยเหตุนี้ หลายปีก่อนหน้านี้เหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับที่ เฉิน ก่อขึ้นจึงเป็นไปในแบบชั้นแรกมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะได้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ของประเทศนับหมื่นๆ กรณีในแต่ละปี

การประท้วงที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุที่ติดข้างจะ “ครบวงจร” อย่างไรอยู่ กล่าวคือ เป็นการประท้วงของคนในชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องที่ประท้วงโดยมากก็คือ การที่ชาวชนบทถูกเวนคืนที่ดินไปในลักษณะที่คล้ายกับที่กล่าวไปแล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากชนบท) ที่ถูกโกงค่าแรงจากนายจ้าง โดยแรงงานที่พวกเขาใช้ไปแล้วถูกโกงก็คือ แรงงานก่อสร้างที่มาสร้างอะไรต่างๆ บนที่ดินที่ได้จากแบบแรก

ตลกร้ายเกี่ยวกับการถูกโกงค่าแรงนี้ก็คือ เมื่อพวกเขาทำงานเสร็จตามโครงการแล้ว จู่ๆ นายจ้างก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานเหล่านี้จึงไม่รู้จะไปไล่เบี้ยเอาค่าแรงกับใคร และได้แต่แจ้งความกับเจ้าหน้าที่เอาไว้ และเมื่อรวมการประท้วงเข้ากับเรื่องแรกก็จะพบต่อไปอีกว่า มีอยู่หลายกรณีที่ชี้ให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

การประท้วงของชาวชนบทในหลายครั้งจึงมักถูกปราบปรามด้วยการสลายม็อบ และเมื่อเจ้าหน้าที่ถูกวิจารณ์ในพฤติกรรมดังกล่าวเข้า การณ์ก็เปลี่ยนมาเป็นว่า ได้เกิดกลุ่มอันธพาลที่ถูกว่าจ้างมาให้เข้าไปกลุ้มรุมทำร้ายกลุ่มผู้ประท้วง โดยเฉพาะผู้นำการประท้วงนั้นมักจะถูกหมายหัวเป็นอันดับแรก วิธีการที่ดูป่าเถื่อนเช่นนี้ออกจะได้ผลอยู่พอสมควร คือทำให้ม็อบเข็ดขยาด

เมื่อหมดหนทางแล้ว ม็อบจำนวนไม่น้อยจึงมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อหวังพึ่งพาอำนาจรัฐที่เหนือกว่า โดยพวกเขาจะปักหลักชุมนุมกันในที่สาธารณะ แต่เป็นการชุมนุมกันอย่าง “สงบ” จริงๆ คือห้ามการใช้เครื่องเสียงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐจะถือว่าเป็นการรบกวนความสงบสุขของผู้อื่น ซึ่งจะถูกจับกุมเอาได้ง่ายๆ ดังนั้น การชุมนุมประท้วงจึงทำได้แต่เพียงการนั่งถือป้ายที่เขียนด้วยตัวหนังสือที่พอมองเห็นได้ในระยะไกล เพื่อให้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้เห็นว่าตนมาชุมนุมประท้วงเรื่องอะไร ซึ่งโดยมากแล้วเรื่องมักจะเงียบหายไป

ประเด็นปัญหาก็คือว่า กรณีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงดังกล่าวที่นำมาสู่การประท้วงนั้นมีขึ้นในแต่ละปีนับหลายหมื่นกรณี แสดงให้เห็นว่า การฉ้อฉลในลักษณ์นี้ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่และเอกชนต่างก็สามารถอ้างความชอบธรรมได้จนชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายพื้นที่ที่ได้เกิดการจลาจลขึ้นมา แต่ก็เป็นข่าวที่ไม่เป็นข่าว

จากที่กล่าวมานี้ เรื่องอัปยศที่เกิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และอาจเป็นเรื่องแรกๆ ด้วยซ้ำที่รัฐบาลกลางได้เข้ามาจัดการโดยตรง แต่การจัดการครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนให้เจ้าหน้าที่รัฐรายย่อยอื่นๆ เกิดสำนึกแล้วกลับตัวกลับใจเสียใหม่หรือไม่นั้นออกจะเดาได้ยาก เพราะส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองว่าจะเอาจริงเอาจังเพียงไร กล่าวอีกอย่างคือ ไม่ใช่ปล่อยให้กรณีของ เฉิน เป็นแค่รายการเชือดไก่ให้ลิงดูเท่านั้น

ประเด็นที่น่าคิดต่อมาคือ กรณีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในลักษณ์ดังกล่าวที่มีอยู่หลายหมื่นกรณีนั้น ใช่ว่าทุกกรณีจะกลายเป็นคดีไม่ และที่เป็นคดีนั้นก็ดำเนินการไปได้ช้ามาก (อันเป็นเรื่องปกติของกระบวนการยุติธรรม) ประเด็นนี้ทำให้อดคิดไปถึงเมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ไม่ได้ เพราะตอนนั้นเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ขบวนการนักศึกษาจีนขณะนั้นหยิบยกขึ้นมาประท้วง แต่คราวนั้นก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า นักศึกษาถูกปราบปรามอย่างรุนแรงอย่างไร

ส่วนคราวนี้จะนำไปสู่จุดจบอย่างไรนั้น ยังไม่มีใครรู้แน่
กำลังโหลดความคิดเห็น