xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวร้ายฟรี-ข่าวดีเสียเงิน?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

วันก่อน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี บอกสื่อมวลชนให้เสนอเรื่องราวที่ดีงามแก่สังคมบ้าง โดยอ้างถึงคำของ นพ.ประเวศ วะสี ที่พูดเปรียบเปรยให้ฟังเป็นส่วนตัว เพื่อหวังให้นักข่าวฉุกคิด

คำพูดที่ว่านั้น คงเป็นทำนองพูดถึงการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่เรื่องราวการทำผิดทำชั่วของคนดังมักจะเป็นข่าวตีพิมพ์ลงให้ฟรี แต่พอเรื่องที่หน่วยงานคิดว่าดีต้องการประชาสัมพันธ์อาจต้องลงในกรอบโฆษณาที่ต้องเสียเงิน

ถ้าเป็นอย่างที่ผมเข้าใจตามนี้ ก็ถือว่าเป็นสภาพที่เป็นจริง แต่มีรายละเอียดของประเด็นและจังหวะเวลา

ข่าวเรื่องดีๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งโดยไม่ต้องเสียเงินก็มีอยู่เสมออย่างเช่น นโยบายดีๆ มาตรการที่เกิดผลดีต่อสังคม หรือความสำเร็จและผลงานของคนไทยในเวทีระดับประเทศระดับโลก ก็เป็นตัวอย่างของข่าวดีบนหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่น้อยหน้าข่าวในทางร้ายซึ่งมักมีมากกว่า

ก็ขนาด “ตี๋ แม็ชชิ่ง” หรือคุณสมชาย ชีวสุทธานนท์ รวมทั้งคุณต้น ภาสกรนที ที่มีความคิดนอกกรอบ และกล้าคิดกล้าทำอะไรฉีกแนวทางการตลาด ก็เป็นตัวอย่างที่มักเป็นข่าวเก็บคะแนนเชิงธุรกิจได้บ่อยๆ โดยไม่เกี่ยวกับการใช้เงินโฆษณาแต่อย่างไร

การเป็น “ข่าว” จึงเป็นผลของการมี “ประเด็นข่าว” ที่น่าสนใจตามหลักการข่าว ในแง่ของนักสื่อสารมวลชน

ขณะที่ในแง่นักประชาสัมพันธ์ก็เป็นกระบวนการ “สื่อสารการตลาด” ที่มีเป้าหมายหลายระดับตั้งแต่การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ จนถึงการสร้างการยอมรับซึ่งจะสั่งสมเป็น “ภาพลักษณ์ที่ดี”

กรณีประเทศไทยถูกอำนาจเงิน และอำนาจการเมืองในระบอบทักษิณในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำลายระบบการตรวจสอบนักการเมืองเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อเครือข่ายการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง และบั่นทอนแนวทางสร้างความมั่นคงของวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จนคณะทหารต้องเข้ายึดอำนาจเพื่อหยุดยั้งความเลวร้ายด้วยเหตุผล 4 ข้อในแถลงการณ์ฉบับแรก และตามมาด้วยคณะรัฐมนตรีโดยการนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบกระบวนการต่อยอดจากการยึดอำนาจ

สังคมส่วนใหญ่ยอมรับการทำผิดกติการูปแบบประชาธิปไตยที่มีเนื้อในเผด็จอำนาจผูกขาดของเครือข่ายผู้นำรัฐบาลก่อน ก็เพราะคาดหวังว่า “การปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริง” จะเกิดขึ้นเพื่อจะเกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงตามมา โดยต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่เป็นหลักประกันเสรีภาพ และการเลือกตั้งที่มีกติกาเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง

ทำไมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. และคณะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีเวลาจำกัดประมาณ 1 ปี จึงถูกมองว่าเป็นส่วนประกอบกันของ “กระบวนการปฏิรูป”

ที่ไม่อาจปฏิเสธและไม่ควรสับสนกับพันธกิจนี้

มิฉะนั้นกระแสกดดันจากทั้งกลุ่มที่ติดยึดคำว่า “ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง” จะยิ่งกลายเป็นแนวร่วมโดยปริยายกับกลุ่มเครือข่ายสนับสนุนระบอบทักษิณ เพราะพอใจกับผลประโยชน์ตอบแทนที่เคยได้ และยังอยากได้ต่อไปอีก

น่าแปลกใจมากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังออกสังคมและหาโอกาสให้เป็นภาพและข่าวทักทายพูดคุยกับนักข่าวได้อย่างไม่รู้สึกอับอายที่ถูกโค่นอำนาจไปด้วยข้อหาฉกรรจ์ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต และการหลบเลี่ยงภาษี

ขณะที่ผู้คนในเครือข่ายทั้งในระดับแกนนำและระดับชาวบ้านที่นิยมชมชอบเพราะชื่นชมในแนวนโยบาย หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ได้รับ ก็ยังไม่รู้สึกว่านักธุรกิจการเมืองผู้นี้มีความเลวร้ายที่น่าจะเลิกเกี่ยวข้อง หรือยังจะดิ้นรนเคลื่อนไหวเป็นคลื่นใต้น้ำ หรือถึงขั้นชุมนุมเป็นคลื่นบนน้ำเพื่อกดดันเป็นเครื่องมือให้ระบอบทักษิณต่อไป

ที่สื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับยังคงลงภาพบทบาทของนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมีภาพบทบาทความเคลื่อนไหวของคุณทักษิณอยู่ข้างๆ ก็เป็นการแสดงให้เห็นนัยสะท้อนการไม่อยู่เฉยของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกโค่น

โดยที่ คมช.และรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่สามารถเผด็จศึกด้านกระบวนการข่าวสารเพื่อให้สังคมไทย และสังคมโลกยุติความสงสัยในความจำเป็นที่ต้องยึดอำนาจ

ทั้งๆ ที่โดยเหตุผล 4 ข้อในแถลงการณ์นั้น ร้ายแรงพอเพียง และการต่อต้านคัดค้านนานนับปีของภาคประชาชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และสื่อหนังสือพิมพ์ก็ได้เปิดโปง และให้ข้อมูลรองรับเหตุผลทั้ง 4 ข้อมามากพอแล้วหลายฉบับ

แต่ผ่านมาจนครบ 60 วันแล้ว คมช.และรัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนในการตีแผ่ความไม่ถูกต้องเป็นธรรม และการเข้าสู่กระบวนการลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต และคิดร้ายต่อสถาบันสำคัญ

ขณะที่คำว่า สมานฉันท์ก็ยังมีการพูดถึงอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะไปเกี่ยวกับนักการเมืองที่กระทำผิดทุจริตคิดร้ายต่อสังคมและประเทศชาติ

เสียงวิจารณ์จากสังคมและสื่อมวลชน หากจะแก้ด้วยการประชาสัมพันธ์ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีแนะนำให้บรรดารัฐมนตรีต้องเร่งประชาสัมพันธ์ผลงาน ก็ต้องเป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีวัตถุดิบจากผลงานที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จับต้องได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการกำหนดภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขความผิดพลาดหรือเลวร้ายจากรัฐบาลก่อน หรือตัดสินใจทำในสิ่งดีๆ ที่รัฐบาล “นักเลือกตั้ง” ไม่กล้าทำ เพราะกลัวอิทธิพลนายทุนพรรคหรือกลัวเสียคะแนน

ภารกิจ 4 ประการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวต่อที่ประชุม APEC ครั้งนี้ที่กรุงฮานอยก็ดูเหมาะสม เพียงแต่ต้องมีวิธีการเพื่อให้เกิดผลจริง มีการกำหนดเป้าหมายแต่ละข้อเพื่อผลประโยชน์ และความเป็นธรรมต่อสังคมที่เป็นจริงที่น่าติดตาม

1. การปฏิรูปการเมือง จะจัดการกับนักการเมืองเลวยุคเก่า และส่งเสริมให้มีนักการเมืองน้ำดีได้อย่างไร รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองจะเป็นอย่างไร

2. การฟื้นฟูความสมานฉันท์ จะต้องแก้ด้วยการให้ความรู้และปัญญาผ่านสื่อของรัฐที่สลัดความคิดและผลประโยชน์ของเครือข่ายระบอบทักษิณ

3. แก้ไขการกระจายรายได้ให้เกิดความเท่าเทียมนั้น มีผลการศึกษาเสนอแนะไว้มากมายที่นำมาพิจารณาแก้จุดพลาดรัฐบาลเก่า

4. การสร้างหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง ก็ต้องใช้คนที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม และยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวม

ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะเป็นข่าวดีของสังคมไทย ที่สื่อเผยแพร่ผลสำเร็จให้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น