xs
xsm
sm
md
lg

พลโทฤกษ์ดี เลือกตั้งอเมริกัน ผู้นำไทยโง่เรื่องรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

การที่การเมืองไทยล้มคว่ำคะมำหงายอยู่ระหว่างวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์อย่างนี้ ต้องถามกันใหม่ว่าใครโง่กันแน่ เอะอะอะไรก็โทษว่าเป็นเพราะประชาชนด้อยการศึกษา

เริ่มมีคนคิดว่า คนที่โง่นั้น อาจจะเป็นนักวิชาการรัฐธรรมนูญและผู้นำการเมืองไทยก็ได้

ผมกำลังคิดถึง สนช. คมช. และ ครม.อยู่พอดี

พลโทฤกษ์ดี เป็นน้องอาจารย์ภักดี ชาติอุทิศ เพื่อนรักของผม ตอนจบจาก จปร.สอบได้ที่หนึ่ง ผมทราบว่าฤกษ์ดี เป็น ส.ส.พรรคพลังธรรม และเป็นเลขาฯ พลตรีจำลอง ร่วม 5 ปี ตอนนั้นเราไม่เคยคุยกันเลย

ฤกษ์ดี โทร.มาเล่าว่า เขานี่แหละที่แนะพล.ต.จำลองให้เชิญทักษิณมาเข้าพลังธรรม หาไม่ชาตินี้ทักษิณคงไม่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี

สามวันต่อมา ฤกษ์ดีส่งดิสก์บทความมาให้ผม 16 เรื่อง อ่านแล้วหลายเรื่อง สรุปว่านักการเมืองต่างหากที่ไม่ค่อยจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผมอยากจะขอเติมผู้ใช้อำนาจทางการเมืองทุกประเภททั้งทหารพลเรือน ลงในบัญชีนักการเมืองของฤกษ์ดีด้วย

ตอนอยู่ในสภา ฤกษ์ดี นำคณะ ส.ส.ไปดูงานสภาคองเกรส จึงรู้ว่านักการเมืองและผู้นำไทยไม่รู้และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามผิดทั้งเพ หลงคิดว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนั้นต้องใหญ่กว่าศาลและสภา คล้ายๆ กับที่เคยหลงเข้าใจว่าประธานาธิบดีนั้นใหญ่เสียเต็มประดา

ครั้นไปเห็นจึงรู้ว่า ประธานาธิบดีมิได้ใหญ่จริง ต้องแบมือขอเงินจากสภาคองเกรส ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการใช้เงินภาษีอากรของราษฎรตามหลักประชาธิปไตย ฤกษ์ดีก็เลยเขียนบทความเสนอให้ทั้งศาลและสภามีสำนักงบประมาณของตัวเอง

การต้องไปแบมือของบประมาณจากรัฐบาล นอกจากจะเสียศักดิ์ศรีแล้ว ศาลและสภายังจะต้องกลาย เป็นลูกน้องฝ่ายบริหารอีกด้วย

อำนาจงบประมาณ อำนาจคุมเงิน หรือ Power of the Purse เป็นของสภา มิใช่ของประธานาธิบดี

รัฐธรรมนูญของไทยเป็นเผด็จการทุกฉบับ เพราะทะลึ่งไปเขียนว่า “แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี” รัฐบาลไทยเป็นผู้คุมขบวนการงบประมาณหมด นี่เป็น การปฏิบัตินอกรีต เกิดจากอวิชชาและความลำเอียงของชนชั้นปกครองอำนาจนิยมไทย

การบังคับให้ ส.ส.จบปริญญาตรีเป็นการทำลายสิทธิพื้นฐานทางการเมือง และบังคับให้อยู่ใต้อุ้งเท้าของฝ่ายบริหารอีก นับเป็นเผด็จการ 2 ต่อ ส.ส.ของเราเป็นทาสทั้งๆ ที่คุณวุฒิสูง

จอน เมเจอร์ อดีตนายกฯ อังกฤษคนที่แล้วที่ไม่จบชั้น ม. 6 เพื่อนของผม วิม กอก อดีตนายกฯ เนเธอร์แลนด์ กับ ไมค์ มัวร์ อดีต ผอ.WTO และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ไม่จบประถมทั้งคู่ แต่เขาเก่งนอกโรงเรียน เหมือน ชิน โสภณพนิชของเรา

ส.ส.อเมริกันไม่มีการจำกัดความรู้ พรรคและที่เกิด เลือกตั้งคราวนี้ มีผู้ไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก 2 คน ส.ส. ผู้ว่าการมลรัฐ วุฒิสมาชิกหลายคนเป็นพลเมืองใหม่ มิได้เกิดในอเมริกา อาทิ ชวาร์เซเนกเกอร์ ดาราหนังคนเหล็กผู้ว่าแคลิฟอร์เนีย อพยพมาจากออสเตรียเมื่อโตเป็นหนุ่มแล้ว เพิ่งโอนสัญชาติเป็นอเมริกันในปี 1983 วุฒิสมาชิกแห่งรัฐมิเนโซตา มี มูอา เป็นหญิงเผ่าม้ง เกิดและอพยพไปจากลาว

สิทธิของพลเมืองใหม่ไม่ต่างกับสิทธิของพลเมืองโดยกำเนิดเลย ยกเว้นตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น ที่จะต้องเป็นผู้เกิดในประเทศ

1. อเมริกามีระบบแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด การแพ้เลือกตั้ง เสียเสียงข้างมากในสภา ไม่ทำให้รัฐบาลต้องล้ม เพราะประธานาธิบดีเลือกมาโดยตรง อยู่ในตำแหน่งได้จนครบ 4 ปี ไม่เกิน 2 เทอม ผู้แทนราษฎร 435 คนอยู่ได้ 2 ปีถ้วนๆ ยุบสภาไม่ได้ และอยู่ได้จนตายถ้าชนะการเลือกตั้ง ไม่มีการจำกัดเทอม เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกที่มีทั้งหมด 100 คน แต่ละรัฐ2 คนเท่ากันหมด ใหญ่น้อยไม่เกี่ยวอยู่ได้ครบเทอม 6 ปี ถึงเวรออก 1 ใน 3 ทุกๆ 2 ปี

เราเกือบพังเพราะเลียนแบบประธานาธิบดีซีอีโอและวุฒิสภา กำลังจะมีนักวิชาการร่างรัฐธรรมนูญอ้างอเมริกามาจำกัดเทอมทั้ง ส.ส.และนายกรัฐมนตรีอีก นอกจากจะไม่เข้าใจระบบอเมริกัน(ที่มีการจำกัดเทอมในระดับท้องถิ่นอยู่บ้าง) ยังไม่เข้าใจหลักและจารีตของระบบรัฐสภาอีกด้วย

ทั้งระบบประธานาธิบดีและระบบรัฐสภา ส.ส.เป็นสัญลักษณ์ของความไว้วางใจ มิใช่สัญลักษณ์ของความสามารถ ดังนั้นยิ่งอยู่นานก็ยิ่งดี ความสามารถของระบบอเมริกันขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบกรรมาธิการและผู้ช่วย ส.ส.ในขณะที่ความสามารถของระบบรัฐสภาอยู่ที่การพัฒนาระบบพรรคและผู้นำพรรค ซึ่งขึ้นกับชั่วโมงบินและการแข่งขันพิสูจน์ฝีมือกันในกลุ่มนโยบายต่างๆ จนเพื่อน ส.ส.ยอมรับให้เป็นผู้นำ

ไทยปู้ยี่ปู้ยำหลักทั้ง 2 อย่าง ทั้งกรรมาธิการและผู้ช่วยกลายเป็นคนขับรถและกิ๊กของ ส.ส., ส.ว. ส่วนพรรคก็เป็นแบบแก๊งหัวหน้าตั้ง ฟังผู้ใหญ่ทุกเรื่อง ข้อยกเว้นที่ดีมีบ้าง แต่ไม่สามารถต้านกระแสน้ำเน่าและอสูรการเมืองได้

น้ำเน่าและอสูรการเมืองมิได้เกิดจากความชั่วของคนไทย แต่เกิดจากการออกแบบของนักวิชาการร่างรัฐธรรมนูญและการสมประโยชน์กับผู้นำ

2. หลังการเลือกตั้งคราวนี้ ประธานาธิบดีบุชจะอยู่ได้อีก 2 ปี สภาคองเกรส 2 เดือน ภาษาอเมริกันเรียกว่า lame duck หรือเป็ดง่อยคอยวันตาย อำนาจและบารมีต่างๆ ค่อยหดหายไป

ก่อนเลือกตั้งบุชประกาศเสียงแข็งว่า จะไม่มีวันเปลี่ยนนายดอน รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหม และจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางสงครามอิรัก

พอทราบผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บุชก็คืนคำ ปลดรัฐมนตรีกลาโหมดอน รัมสเฟลด์ทันที พร้อมทั้งประกาศว่าขอน้อมเคารพเสียงของประชาชน

การปลดรัฐมนตรีกลาโหม หรือแม้แต่นายพลยอดนิยม แมก อาเธอร์โดยประธานาธิบดีทรูแมน เป็นเรื่องกล้วยมาก เพราะรัฐธรรมนูญและความเชื่อของสังคมอเมริกันเรื่อง “พลเรือนเหนือทหาร : Civilian Supremacy” มั่นคง การแยกทหารออกจากการเมืองเป็นอีกเสาหลักของประชาธิปไตยอเมริกัน

แต่ทหารไทยจะเข้าใจหลักนี้ หรือใกล้เคียงกัน คือหลักพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในฐานะจอมทัพและในฐานะประมุขของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ผมยังสงสัย

ในภาคปฏิบัติและในรัฐธรรมนูญมีการขี้ตู่อำนาจของทหารอยู่หลายมาตรา

ตราบใดที่ทหารเป็นประชาธิปไตยยังไม่เป็น ตราบนั้นก็คงไม่มีหลักประกันความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์

ร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ หากไม่ใช้หลักราชประชาสมาสัย ผมมองไม่เห็นว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงได้อย่างไร

3. ถึงแม้อเมริกันจะใช้ระบบแยกอำนาจเด็ดขาด ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารมาคนละทาง ไม่ขึ้นต่อกัน พอเลือกตั้งเสร็จ พวกเราก็คงจะเห็นในข่าวแล้ว ในวันแรกประธานาธิบดีบุชก็กุลีกุจอเชิญผู้นำเดโมแครตในสภาล่างและวุฒิสภามาปรึกษาทันที พร้อมกับ ยอมอ่อนน้อมว่าตนจะร่วมมือด้วยเต็มที่

นี่คือ จารีตและความสวยงามของประชาธิปไตยอเมริกัน

กล่าวกันว่าพรรคบุชแพ้เพราะความล้มเหลวของสงครามอิรัก ประชาชนจับโกหกของผู้นำได้ ทั้งสองพรรคทุ่มเงินมหาศาลซื้อเวลาทั้งวิทยุทีวีและหนังสือพิมพ์ เพื่อสาดทั้งโคลนทั้งสัจจะเข้าใส่กัน

สรุปได้ว่า ใครชนะสงครามข้อมูล คนนั้นชนะเลือกตั้ง

ข้อมูลจะทั่วถึงไม่ได้ หากสื่อปราศจากเสรีภาพและประชาชนไม่มีสิทธิในการพูด

สำหรับไทยเรา รัฐธรรมนูญกี่ฉบับๆ กำจัดและจำกัดเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการพูดอื่นๆ ทั้งโดยการบังคับของตัวหนังสือในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญและการปฏิบัตินอกคอกของฝ่ายบริหารและกลไกของรัฐบาล

ในปีค.ศ. 1791 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกันเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก เรียกว่าAmendment I หรือบทบัญญัติเพิ่มเติม 1 เรื่อง เสรีภาพทางศาสนา สื่อ และการแสดงความคิดเห็น- Freedom of Religion, Press, Expression มีข้อความชัดเจนว่า “ห้ามมิให้สภาคองเกรสออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาสนาหรือห้ามการใช้เสรีภาพทางศาสนาใดๆ หรือจำกัดเสรีภาพทางการพูดหรือเสรีภาพในการพิมพ์ หรือสิทธิของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบ และการยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้บรรเทาความเสียหายเดือดร้อน Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof; or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble, and to petition the Government for a redress of grievances.”

ลองอ่าน มาตรา 39 รธน. 2540 ของเราดูบ้าง “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ฯลฯ”

คำว่า “เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” คือการสงวนอำนาจไว้ให้รัฐ และขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า constitutionalism แต่ฝังอยู่ในจิตใจของนักร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยมของไทยเกือบ 100 % คราวนี้ก็เชื่อขนมกินได้ เหมือนเดิม!

ตามหลักรัฐธรรมนูญ อำนาจของรัฐต้องระบุไว้ให้ครบและชัดแจ้ง ที่เหลือจะระบุหรือไม่ระบุไว้ก็ได้ ต้องถือว่าสงวนไว้ให้ประชาชนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Amendment X - หรือบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 10 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เรื่องอำนาจของมลรัฐและประชาชน Powers of the States and มีข้อความว่า “อำนาจใดๆ ที่มิได้ระบุมอบไว้ให้กับสหรัฐฯ หรือที่มิได้ระบุห้ามไว้มิให้เป็นอำนาจของมลรัฐ ให้ถือว่าอำนาจนั้นๆ เป็นอำนาจที่สงวนไว้ให้เป็นอำนาจของมลรัฐหรือของประชาชน The powers not delegated to the United States by the Constitution, nor prohibited by it to the States, are reserved to the States respectively, or to the people.”

ผมเกรงว่าเมืองไทยกำลังจะพายเรือในอ่าง ในกรอบคิดแบบเดิมๆ ทั้ง สนช.และคมช. น่าจะเป็นที่ไว้วางใจ แต่จะให้ไว้วางใจอย่างไรได้ เพราะดูดีๆ แล้วส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นอัศวินแห่งสถานภาพเดิมทั้งสิ้น

ครั้นจะหวังพึ่งประชาชน ระบอบทักษิณก็ยึดไปเสียจนเกือบเกลี้ยงแล้ว

4. การเลือกตั้งในอเมริกา เช่นเดียวกับในอังกฤษ พอเลือกตั้งเสร็จปุ๊บ ก็ทราบเลยทันทีว่าใครจะได้เป็นอะไร ตนมิพักต้องต่อรองหรือรอพิธีการใดๆ

คราวนี้ก็รู้แล้วว่า แนนซี เปโลซี ผู้แทนหัวซ้ายจากซานฟรานซิสโก จะเป็นประธานสภาผู้แทนหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ส่วนในวุฒิสภา ผู้นำก็จะเป็นวุฒิสมาชิกรีด จากลาสเวกัส ทั้งสองแห่งนี้มีชุมชนไทยหนาแน่น และพันธมิตรประชาธิปไตยเข้มแข็ง ถ้าสังคมไทยไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป เชื่อว่าอานิสงส์ของการเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยไทยไม่มากก็น้อย

ผมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2516 พร้อมกับพลเอกสุรกิจ มัยลาภ ถึงท่านจะมิใช่นักวิชาการหรือนักการเมืองอย่างฤกษ์ดี ท่านก็มีความกล้าหาญและมีทัศนะที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ผมจึงคิดว่า คมช.น่าจะตั้งฤกษ์ดีเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดู

พูดมาทั้งหมด อย่าเข้าใจว่าผมเห่อฝรั่งและไม่รู้เรื่องเมืองไทย เรามีคนที่รู้ฝรั่งครึ่งไทยครึ่งอยู่มากมาย ที่ผมเป็นห่วงอยู่ ก็เพราะเราต่างเอาครึ่งที่ไม่รู้มาบวกกัน สร้างขึ้นเต็มส่วนเป็นแบบไทย พระพุทธเจ้าหลวงทรงติงว่า “เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรปมาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทย ก็จะไม่ได้ผลอันใด”

สิ่งหนึ่งที่ คมช.จะต้องรีบศึกษาและสำนึกก็คือ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรจึงจะทำให้พระราชอำนาจนั้นเป็นจริงขึ้นมา เพื่อปกปักรักษาไพร่ฟ้าประชาชนรวมทั้งสถาบันให้พ้นจากภัยของเผด็จการ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และบ่อยครั้งด้วยน้ำมือทหารเอง

ความชอบธรรมของคมช.ในการไล่รัฐบาลทรราชออกไปนั้นฟังได้ตามทฤษฎีสัญญาประชาคม แต่ความชอบธรรมกำลังจะหมดไปเมื่อ คมช.ทำทุกอย่างที่ไม่แตกต่างกับนักยึดอำนาจที่เป็นอัศวินแห่งสถานภาพเดิมในอดีตเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น