xs
xsm
sm
md
lg

ทรูมูฟเบี้ยวแอ็คเซ็สชาร์จทีโอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทรูมูฟหยุดจ่ายค่าแอ็คเซ็สชาร์จทีโอที ปีละ 3 พันล้านบาท หลังเซ็นสัญญาใช้ค่าเชื่อมโครงข่าย(ไอซี) กับดีแทค นาทีละ 1 บาท ‘ศุภชัย’ยันวันนี้ทรูมูฟต้องจ่ายแค่ค่าไอซีอย่างเดียว พร้อมเดินหน้าเจรจาทีโอที บนหลักการยอมเสียเปรียบทีโอที แต่ไม่ยอมเสียเปรียบเอไอเอส

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูมูฟ กล่าวว่า ทรูมูฟได้ทำสัญญาการเชื่อม ต่อโครงข่าย(อินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จหรือไอซี)กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทค และจะเริ่มใช้ทันที โดยคิดค่าเชื่อมต่อนาทีละ 1 บาทสำหรับการโทร.ออกไปยังเครือข่ายดีแทคและคิดนาทีละ 20 สต.สำหรับการส่งสัญญาณผ่านเครือ ข่ายดีแทคไปยังโครงข่ายอื่น

การประกาศใช้ไอซีระหว่างทรูมูฟกับดีแทค ทำให้ทรูมูฟจะเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าเชื่อมต่อเครือข่ายหรือแอ็คเซ็สชาร์จที่ทรูมูฟจ่ายให้บริษัท ทีโอที เพียงด้านเดียวในอัตราเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนสำหรับระบบโพสต์เพด และ 18% สำหรับรายได้ระบบพรีเพด หรือประมาณปีละ 3 พันล้านบาทมาเป็นอัตราตามไอซีที่ทรูมูฟกับทีโอทีจะต้องมีการเจรจาเพื่อสรุปอัตราต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)อัตราดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้

“สรุปคือทรูมูฟหยุดจ่ายค่าแอ็คเซ็สชาร์จทีโอที และจะรอจนกว่าจะเจรจาเรื่องอัตราไอซีเสร็จ หลังจากนั้นจึงค่อยมีการจ่ายชำระระหว่างกัน”

เป้าหมายของทรูมูฟที่ดำเนินการเช่นนี้ เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม บนต้นทุนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งทรูมูฟ ดีแทคและเอไอเอส ซึ่งทรูมูฟเชื่อว่าการหยุดจ่ายแอ็คเซ็สชาร์จและหันมาใช้ไอซี จะเกิดผลกระทบกับทีโอที แต่ทรูมูฟไม่มีความตั้งใจเช่นนั้น เพราะการใช้ไอซีเป็นไปตามกม.และประกาศของกทช. ซึ่งทรูมูฟต้องปฏิบัติตามไม่สามารถจ่ายทั้งแอ็คเซ็สชาร์จและไอซีได้ เพราะถือว่าผิดกม. นอกจากนี้ในด้านธุรกิจ ทรูมูฟจะมีต้นทุนสูงขึ้นเป็นกว่า 40% หากต้องจ่ายทั้งแอ็คเซ็สชาร์จและไอซีจะทำให้ทรูมูฟไม่สามารถทำธุรกิจได้

ทรูมูฟยังเชื่อว่าการใช้ไอซี ไม่ได้ทำให้ทรูมูฟได้เปรียบเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการรายเล็ก และจากการคำนวณที่ผ่านมา การจ่ายค่าไอซีจะเป็นภาระไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม เพราะการเป็นผู้ให้บริการรายเล็กจะเป็นการโทร.ออกไปยังเครือข่ายอื่นมากกว่ารับเข้า

สำหรับท่าทีของทรูมูฟนั้น ยังเหลือทางถอยให้ทีโอที โดยศุภชัยเสนอที่จะใช้อัตราการโทร.ออกไปยังเครือข่ายทีโอทีสูงกว่าอัตราที่โทร.จากทีโอทีมาเข้ามายังเครือข่ายทรูมูฟ หมายถึง เลขหมายของทรูมูฟโทร.เข้าไปยังทีโอที ทรูมูฟจะจ่ายค่าไอซีให้ 1 บาท ในขณะที่หากเลขหมายทีโอทีโทร.เข้ามายังทรูมูฟ ทีโอทีจะจ่ายให้ทรูมูฟเพียง 80 สต.หรือเท่ากับถูกกว่า 20% ซึ่งหากผู้ให้บริการทุกรายคิดบนหลักการเดียวกับทรูมูฟ ทีโอที ก็น่าจะได้รับประโยชน์จากการนำไอซีมาใช้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนทดแทนการเสียประโยชน์บางส่วนของทีโอที

“ผมยินดีเสียเปรียบทีโอที แต่ผมไม่ยินดีเสียเปรียบเอไอเอส” นายศุภชัย กล่าวย้ำ

นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือ ดีแทค กล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างดีแทคและทรูมูฟครั้งนี้ถือเป็นการเบิกฤกษ์สู่ยุคเสรีโทรคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบและเชื่อมั่นว่าระบบอินเตอร์คอนเน็กชั่นจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยทั้งระบบสามารถพัฒนาและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยขณะนี้ดีแทคกำลังเร่งพิจารณาความร่วมมือในเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ให้บรรลุข้อตกลงกันภายใน 90 วัน ตามที่ กทช. ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้อัตราที่ดีแทคและทรูมูฟตกลงกันเป็นอัตราที่กทช.อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะต้องส่งข้อตกลงดังกล่าวให้ กทช.ภายใน 15 วัน เพื่อให้ กทช. พิจารณาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นไปตามที่ประกาศไว้ในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549

กทช.ได้อนุมัติอัตราเชื่อมโยงโครงข่าย (RIO หรือ Reference Interconnect Offer) ที่ดีแทคเสนอไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 และดีแทคได้ยื่นหนังสือขอเชื่อมใช้โครงข่ายกับผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ซึ่งตามกฎระเบียบของ กทช. ได้กำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการจะต้องสรุปการเจรจาระหว่างกันให้แล้วเสร็จภายในเวลา 90 วันหลังจากได้รับหนังสือขอเปิดการเจรจาจากอีกฝ่าย หากไม่สามารถสรุปการเจรจาได้ภายในเวลาที่กำหนด กทช. จะทำการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายขึ้นเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว

ด้านนางทิพยวรรณ์ วุฑฒิสาร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ ทีโอทีกล่าวว่าต้องดูสัญญาเป็นหลักว่าเป็นอย่างไร หากทรูมูฟไม่จ่ายแอ็คเซ็สชาร์จ ก็ต้องทำตามสัญญา หากให้ปรับก็ต้องปรับหรือให้มีการตัดสัญญาณได้ก็ต้องตัดสัญญาณ แต่ทีโอทีไม่ได้มองประเด็นเรื่องการตัดสัญญาณเชื่อมต่อ แต่มองว่าหากไม่เก็บค่าแอ็คเซ็สชาร์จแล้วผลประโยชน์ตรงนั้นจะไปอยู่ที่ใคร จะไปอยู่กับประชาชนหรือประเทศชาติ หรือไปอยู่กับผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวในทีโอทีกล่าวว่าปีที่ผ่านมาทีโอทีมีรายได้จากค่าแอ็คเซ็สชาร์จทรูมูฟกับดีแทครวมกันประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขู่ตัดสัญญาณตอนนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว เพราะส่วนมากผู้ให้บริการมีการต่อตรงระหว่างกัน และอาจทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ที่สำคัญเรื่องแอ็คเซ็สชาร์จ เป็นการทำสัญญาระหว่างทีโอทีกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งต้องดูว่ากสทจะจัดการปัญหานี้เช่นไร จะเข้าข้างเอกชนหรือไม่

“ถ้ากสทเห็นด้วยกับเอกชนไม่จ่ายแอ็คเซ็สชาร์จ ก็เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งอยู่ที่รมว.ไอซีที คณะรัฐมนตรีจะจัดการอย่างไร แต่เงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ถ้าหายไปทีโอทีขาดรายได้ในส่วนนี้ไป กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะยอมหรือไม่ แต่ที่สำคัญเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทจะไปอยู่กับใครเป็นผลประโยชน์ประชาชน หรือกลายเป็นผลประโยชน์เอกชนบางราย”

ในขณะที่พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกทช.กล่าวว่าหากเอกชนทั้ง 2 รายได้ข้อสรุปไอซีก็สามารถใช้ได้ทันที ส่วนกรณีแอ็คเซ็สชาร์จก็เป็นเรื่องของคู่สัญญาต้องเจรจากัน กทช.ไม่เกี่ยว ซึ่งคู่กรณีอาจดำเนินการฟ้องร้องกันก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น