ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิชาการ ม.ขอนแก่น เผยผลวิจัยทดลองปลูกข้าวฟ่างหวานเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ได้ผลน่าพอใจ ได้ผลผลิตกว่า 5 ตัน/ไร่ คั้นเป็นน้ำเชื่อมเข้มข้นกว่า 100 ลิตร เตรียมประสานความร่วมมือโรงงานเอทานอล ทดลองหมักน้ำเชื่อมเป็นเอทานอล ชี้ราคาขายผลผลิตไม่ควรต่ำกว่า 600 บาท/ตัน มั่นใจปลูกข้าวฟ่างหวานส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่เป็นไปได้ เหตุรัฐเปิดเสรีผลิตเอทานอล ทั้งการใช้พลังงานทดแทนยังมีลู่ทางขยายตัวอีกมาก
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พลังงานทดแทนมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศสูงมาก จากการที่รัฐส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ 95 ที่กำลังได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างรวดเร็ว เกิดความต้องการเอทานอล มาใช้เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเบนซิน ในปริมาณสูงมาก แต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ซัปพลายการผลิตเอทานอลในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ
ทั้งนี้อุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นเอทานอล โดยเฉพาะวัตถุดิบจากกากน้ำตาล หรือโมลาส ซึ่งมีหลายอุตสาหกรรมใช้กากน้ำตาลอยู่แล้ว ทำให้กากน้ำตาลไม่เพียงพอผลิตในทุกอุตสาหกรรม สวนทางกํฐปริมาณความต้องการพลังงานทดแทนของประเทศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
"มีความจำเป็นต้องหาพืชวัตถุดิบใหม่ เข้ามารองรับความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลของประเทศ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าว มุ่งใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล และมันสำปะหลัง เป็นหลัก แต่วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิด ก็มีอุตสาหกรรมการผลิตอื่นใช้วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดอยู่แล้วเช่นกัน"รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า
ทั้งนี้ คณะเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาทดลองปลูกต้นข้าวฟ่างหวานในเชิงพาณิชย์ วัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล โดยเริ่มทดลองปลูกในช่วงหน้าฝนปี 2549 ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบ้านฝาง และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลการทดลองโดยรวมประสบผลสำเร็จน่าพอใจ ต่อการใช้ขยายผลการส่งเสริมปลูกต้นข้าวฟ่างหวานให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่
การทดลองปลูกเชิงพาณิชย์เบื้องต้น ได้ผลผลิตต้นข้าวฟ่างหวานประมาณ 5 ตัน/ไร่ โดยได้นำต้นข้าวฟ่างหวานที่ปลูกมาคั้นเอาน้ำตาล และต้มเคี่ยวให้เป็นน้ำเชื่อมเข้มข้น เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูป หมักเป็นเอทานอล บริสุทธิ์ 99.5% จากผลทดลองเบื้องต้น ข้าวฟ่างหวานที่ปลูก 1 ไร่จะได้น้ำเชื่อมเข้มข้นประมาณ 100 ลิตร
รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า การดำเนินงานขั้นต่อไป จะนำน้ำเชื่อมเข้มข้นจากข้าวฟ่างหวาน ไปใช้ทดลองหมักเป็นเอทานอลบริสุทธิ์ ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา หรือประสานความร่วมมือกับโรงงานผลิตเอทานอลแห่งใดแห่งหนึ่ง ในการทดลองหมักน้ำเชื่อมเข้มข้นเป็นเอทานอล ว่าจะได้ผลผลิตเอทานอล มากน้อยเพียงไร ซึ่งข้อมูลเชิงวิชาการเบื้องต้น น้ำเชื่อมเข้มข้นที่ความหวาน 80 บริก จำนวน 1 ตัน จะหมักเป็นผลผลิตเอทานอลได้ประมาณ 380 ลิตร
อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองดังกล่าว ยังไม่สามารถคำนวณราคาขายผลผลิตข้าวฟ่างหวานที่ชัดเจนได้ แต่เมื่อคำนวณต้นทุนการปลูกข้าวฟ่างหวานเบื้องต้นจากไร่ทดลอง เกษตรกรจะต้องขายผลผลิตต้นข้าวฟ่างหวานในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 600 บาท และน้ำเชื่อมเข้มข้นไม่ต่ำกว่าตันละ 6,000 บาท จึงจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้
ทั้งนี้จากผลวิจัยทดลองปลูกเชิงพาณิชย์ จะต้องปรับปรุงเครื่องหีบต้นข้าวฟ่างหวาน ให้มีประสิทธิภาพ จะสามารถคั้นน้ำตาลจากต้นข้าวฟ่างหวานได้อีกมาก ขณะเดียวกันผลผลิตจากการปลูกข้าวฟ่างหวาน ที่ระดับ 5 ตัน/ไร่ ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ สามารถขยายผลผลิตเพิ่ม ทั้งจากการบำรุงรักษาในแปลงปลูก และการพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างหวานให้เหมาะสมกับการปลูกเชิงพาณิชย์ได้
รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การปลูกต้นข้าวฟ่างหวาน เพื่อรองรับในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลนั้น ในอนาคตมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการปลูกข้าวฟ่างหวานแก่เกษตรกรรอบๆโรงงานผลิตเอทานอล โดยอาจส่งเสริมปลูกในช่วงฤดูฝน เพื่อคั้นน้ำตาลจากต้นข้าวฟ่างหวาน เก็บสะสมไว้ ส่งโรงงานผลิตเอทานอลในช่วงที่วัตถุดิบหลักทั้งกากน้ำตาล และมันสำปะหลังขาดแคลน
"สถานการณ์พลังงานทดแทนของประเทศ ณ ปัจจุบัน ได้เปิดเสรีการผลิตเอทานอลแล้ว เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลให้เพียงพอต่อความต้องการ ในอนาคตจะมีโรงงานผลิตเอทานอลเกิดขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันหลายบริษัท ที่กำลังแตกไลน์การผลิต มาตั้งโรงงานเอทานอล ผลิตเอทานอลผสมกับน้ำมันเบนซิน เป็นแก๊สโซฮอล์จำหน่ายในประเทศ"รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าว
มั่นใจอนาคตต้องการเอทานอลสูง
ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การใช้พลังงานเอทานอล ยังสามารถขยายสัดส่วนการผสมเอทานอล ที่ปัจจุบันใช้ แก๊สโซฮอล์ที่ระดับ E10 เท่านั้น สามารถเพิ่มส่วนผสมเป็น E20 , E50 ,จนถึงระดับ E85 ที่ต่างประเทศเช่น บราซิลใช้อยู่ อีกทั้งมีผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัท มีแผนพัฒนาเครื่องยนต์รองรับการใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในระดับสูงได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะผลักดันให้เกิดความต้องการเอทานอลสูงมาก
บทบาทด้านพลังงานของประเทศในอนาคต หากส่งเสริมใช้แก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในระดับที่สูงขึ้น จะทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราลงได้มาก น้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ จะนำเข้าลดน้อยลง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะตกอยู่กับเกษตรกร ที่ปลูกพืชวัตถุดิบผลิตเอทานอล เกิดเงินหมุนเวียนสะพัดกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว
รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า เอทานอลถือเป็นพลังงานที่สำคัญของประเทศ และเป็นอนาคตของประเทศชาติ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ โดยในส่วนของแก๊สโซฮอล์ รัฐบาลควรดำเนินการส่งเสริมในระดับ E10 ที่ใช้วัตถุดิบเอทานอลในประเทศ ให้ได้ก่อนที่จะขยายสัดส่วนการผสมออกไป
ในอนาคตพลังงานทดแทน ที่ผลิตได้เองในประเทศ จะเสริมศักยภาพสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทย เพราะลดการพึ่งพาและนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศลง จากการที่น้ำมันมีปัญหาความผันผวนทางด้านราคาสูง และมีแนวโน้มที่ราคาน้ำมัน จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณน้ำมันที่เริ่มลดจำนวนลงและปัญหาความขัดแย้งการเมืองโลก