xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติซ้ำหนทางดับปฏิวัติซ้อน ขึ้นอยู่กับดีเดย์-18 พฤศจิกายน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครบรอบ 2 เดือนของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ก็เกิดสิ่งที่จะต้องจับตามองกันในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "คลื่นใต้น้ำ" อีกแล้ว, แรงเหวี่ยงทางการเมืองจะมีความชัดเจนและเป็นรูปแบบ/กระบวนการ เป็นพายุต้นหนาว

รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แก้ปัญหาคลายปมได้หนึ่งปม ก็มีการสร้างหรือเกิดสถานการณ์ดันหลังผูกเป็นปมใหม่ขึ้นมาโดยตลอด จนดูเหมือนว่า จะต้องใช้เวลาที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาปมเก่าแล้วต้องคลายปมใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นเพราะการวางรากฐานระบบอำนาจของระบอบทักษิณมีอยู่มากเกินไป และการเข้าสลายอำนาจก็ช้าไปหรือทำกันไม่ได้เต็มที่นัก โดยบางประเด็นก็เป็นการสร้างฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาเอง โดยกระบวนการของการปฏิวัติขาดความรอบคอบ คือ มุ่งหน้าแต่จะ "ยึดอำนาจ" อย่างเบ็ดเสร็จตามแบบทหาร เป็นการผูกปมขึ้นมาเองด้วย

อย่างเช่น กรณีการให้วุฒิสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งใน วันที่ 19 เมษายน 2549 ไม่ได้เข้าสู่หน้าที่ซึ่งประชาชนเป็นคนเลือกมาตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณ มีวุฒิสมาชิกจำนวนมากที่ไล่เรียงแล้วเห็นชัดว่าไม่ต้องการทักษิณ หรือการครอบงำของระบอบเก่าเข้ามาไม่ได้ คนเหล่านี้ต้องเป็นวุฒิสมาชิกนอกสภา เพราะประกาศของ คปค.ทำให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง มีการมองแต่เพียงว่า บางคนรับใช้มาก่อนและตั้งใจที่จะรับใช้ระบอบทักษิณต่อไปในวุฒิสภา มองว่าผู้ที่มีสิทธิจะเป็นประธานวุฒิสภานั้นเป็นบริวารของทักษิณ จึงต้องโค่นต้นแทนที่จะตัดกิ่ง, แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เป็นไปแล้วและกลับคืนมาอีกไม่ได้ จะใช้มาตรการของการปฏิวัติคืนฐานะให้ดั้งเดิม ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย

ดังนั้น, จึงต้องหาทางแก้ในปมที่ตนเองเป็นคนผูกเอง ดังเช่นความคิดของการดึงวุฒิสมาชิกที่อยู่นอกสภาฯ เป็นผู้ที่ผ่านการรับรองมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ให้มีฐานะดังเดิม คือเป็นวุฒิสมาชิก โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณ 2,100 ล้านขึ้นไป และที่สำคัญคือการที่ได้มิตรกลับมาอีก 200 คน ซึ่งถือว่าเป็นนักการเมืองระดับคุณภาพ ที่น่าจะมีคุณภาพดีมากกว่าเก่า และมีคุณภาพมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ติดอยู่กับระบบพรรค ซึ่งเป็นข้าช่วงใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรง อย่างน้อยก็ต้องประเมินว่า การเลิกทาสทางการเมืองทำให้แล้วในส่วนวุฒิสมาชิกชุดนี้ ยกเว้นแต่บางคนที่ยังเป็น "ขุนทาส" ที่ปล่อยแล้วไม่ไป

วุฒิสมาชิกได้รับการรับรองแล้ว 180 คน ยังเหลือไม่ได้รับการรับรองจาก กกต.อีก 20 คนนั้น ถือว่าตามสิทธิแล้ว ยังคงเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นประเด็นหนึ่งของการสมานฉันท์ทางการเมือง เพื่อคลายปมและลดความกดดัน ก็น่าจะมีทางออกโดยไม่ยาก และเป็นที่ยอมรับกันได้โดยหลักการและกติกา คือไม่ต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกหรือ ส.ว.กันใหม่ ให้คงอยู่ในฐานะของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วทุกประการ ยังขาดแต่เพียงการไม่มีวุฒิสภาให้เข้าทำหน้าที่เท่านั้น

ครั้น คมช.หรือรัฐบาลจะคืนฐานะให้โดยตรงไม่ได้ เพราะเลยเวลามาแล้ว

สิ่งที่จะทำได้อย่างเป็นหลัก เป็นธรรมและถูกต้องตามกติกาที่สุด คือ กติกาใหม่ของชาติ การจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็กำหนด "บทเฉพาะกาล" ขึ้นมาว่า ให้บรรดาวุฒิสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าทำหน้าที่เพราะเหตุของการยุบสภาฯ โดยการปฏิวัติได้เป็นวุฒิสมาชิกโดยทันที เมื่อมีวุฒิสภา โดยบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพียงมาตราเดียวจะแก้ไขปัญหานี้ไปได้ทั้งหมด ซึ่งหากว่าการสมานฉันท์ทางการเมืองในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ ผู้ที่จะเป็นประธานวุฒิสภานั้น ก็น่าจะเป็นของ นายอุทัย พิมพ์ใจชน หรือ นายพิจิตต รัตตกุล และนี่เป็นการตัดทอนอำนาจของระบอบเก่าทางด้านวุฒิสภาไปได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากว่าจะต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกกันใหม่ ก็เชื่อได้เลยว่าระบอบเก่าของทักษิณจะมีโอกาสฟื้นตัว สร้างอำนาจทางวุฒิสภาได้อีกอย่างที่เคยเป็นมา

ข้างต้นนี้, เป็นสิ่งที่น่าจะสอดคล้องกับความคิดของทหารที่กุมอำนาจอยู่ เป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่จะป้องกันการหวนกลับของระบอบทักษิณ และเป็นการคลายปมทางการเมืองที่นิ่มนวลอีกแบบหนึ่ง

เป็นที่เชื่อได้ว่า แม้ลู่ทางของการยุบพรรคไทยรักไทยจะมีมาก แต่การเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะไม่สิ้นสุดโดยง่าย ยังมีพรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่พร้อมจะ "ขายหัว" เป็นพรรคตัวแทน แม้ว่าจะมีการสั่งให้เว้นวรรคทางการเมืองนาน 5 ปีด้วย ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับการรอเวลาที่จะกลับมาสู่ชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง เพราะคนอย่าง "ทักษิณ" ไม่อยู่ในวิสัยที่จะยอมเป็นผู้พ่ายแพ้ตลอดไป ซึ่งน่าจะหมายถึงการวางเส้นทางไว้ทั้ง 2 ด้านคือ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อมีโอกาสที่จะปิดประตูทางด้านวุฒิสภาได้ก็ต้องทำเสีย ไม่เช่นนั้นจะเป็นสภาหน้าเหลี่ยมอย่างแน่นอน

จะเห็นได้จากการมองโอกาสและช่องทางทุกอย่างที่จะแทรกหรือจัดตั้งขึ้นมาได้ ในการต่อต้านและต่อสู้โดยอาศัยฐานประชานิยมและมวลชน แม้กระทั่งการนำภัยธรรมชาติอย่างเรื่อง "น้ำท่วม"มาเป็นเครื่องมือที่จะให้เป็นปัญหาของรัฐบาลและ คมช.จากเรื่องของการเคลื่อนไหวแบบคลื่นใต้น้ำ มาเป็นการเคลื่อนไหวที่-มากับน้ำ (ท่วม)

เป็นที่น่าสังเกตว่า อุทกภัยครั้งนี้ การช่วยเหลือประชาชนของทหารอยู่ในเกณฑ์เต็มไม้เต็มมือมาก ทหารได้เข้าช่วยเหลือทุกด้านเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่กองทัพภาคที่ 3 เข้าพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ครั้นน้ำไหลลงมานครสวรรค์ ทหารจากกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายจิระประวัติ นครสวรรค์ ก็เข้ารับมือมาจนถึงอุทัยธานี และชัยนาท ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 13 จังหวัดลพบุรี และทหารในหน่วยอื่นๆ ที่อยู่ในลพบุรี เข้าพื้นที่สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และทหารจากกองทัพภาคที่ 1 เข้ารับช่วงที่ปทุมธานี นนทบุรี และสุพรรณบุรี โดยมีทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 กาญจนบุรีเข้ามาสมทบ

ซึ่งนอกเหนือจากการเข้าช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่แล้ว ก็ยังมี
"การข่าว" ออกมาเป็นระยะๆ ว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะใช้เหตุน้ำท่วมนี้ซ้ำเติมทางทหารที่ยึดอำนาจ ด้วยการสร้าง "เงื่อนไข" ขึ้น โดยกลุ่มหัวคะแนนของอำนาจเก่าได้ใช้เหตุน้ำท่วมตั้งแต่การป้องกันพื้นที่ การระบายน้ำท่าเข้าทุ่งให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เป็นการต่อต้านในหลายรูปแบบ และที่ทำกันอย่างจริงจัง คือการปล่อยข่าวว่า พื้นที่นาซึ่งข้าวกำลังออกรวง และบางแห่งเป็นข้าวแก่ พร้อมเก็บเกี่ยวได้แล้ว ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่รับน้ำนั้น ทางราชการจะจ่ายค่าเสียหายให้ไร่ละ 200 บาทเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้กับค่าเสียหาย และตัวเลขนี้ถูกปั่นให้เป็นจริงเป็นจัง สร้างความไม่พอใจขยายออกไปเป็นวงกว้าง

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" โดยนัดชุมนุมใหญ่ เป็นการต่อต้านการรัฐประหารที่จะครบ 2 เดือน และถือวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นวันดี-เดย์ เริ่มการต่อต้านอย่างเปิดเผย ซึ่งพล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ได้กล่าวถึงการชุมนุมใหญ่ในวันพรุ่งนี้ว่า คงจะเป็นไปโดยความสงบ และจะไม่ละเมิดต่อการประกาศกฎอัยการศึก

สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมนั้น ไม่ปรากฏชัดว่าจะมาจากส่วนใด แต่จากการข่าวของทางทหารว่าจะเป็นการดึงเอาภาวะที่ประชาชนในเขตน้ำท่วมหลายจังหวัดที่ภาคกลางมาเป็นสิ่งชี้นำ โดยมีการเคลื่อนไหวกันในเขตน้ำท่วมทั้งที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสุพรรณบุรี ชักนำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องขอค่าเสียหายจากที่นาถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดเป็นเขตรับน้ำ โดยพรางความเป็นจริงและเป้าหมายทางการเมืองไว้ เพราะเกรงว่าถ้าหากเผยว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะไม่ร่วมมือด้วย

การข่าวทางทหารได้พบความชัดเจนว่า นักการเมืองในท้องถิ่นหลายจังหวัด สั่งให้กลุ่มจัดตั้งหรือหัวคะแนนของตนดำเนินการปลุกปั่นที่ว่านี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะได้คนประมาณ 2 หมื่นคนเป็นอย่างน้อยที่เข้ากรุงเทพฯ ซึ่งการเข้ามาก็สะดวกมากเพราะอยู่ใกล้ โดยไม่ต้องจัดตั้งมาจากภาคเหนือและภาคอีสานที่ต้องเดินทางไกล และอาจจะถูกสกัดกั้นโดนสลายเสียตั้งแต่เดินทาง ดังนั้น การแทรกซึมโดยคนทางภาคกลางจะสะดวกที่สุด

แผนการใช้เหตุน้ำท่วมเป็นเครื่องผลักดัน และจัดรวมคนนี้ ทางการช่างของทหารได้รู้ความเคลื่อนไหวโดยตลอดแล้ว และได้จัดการต่อต้านแผนด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ มีความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวต่อไป ถือว่าเขตน้ำท่วมภาคกลาง เป็นเขตของการต่อสู้กันระหว่างอำนาจเก่ากับทางทหารในการแย่งชิงมวลชน

การเคลื่อนไหวและวิธีการดังกล่าวนี้ ไม่เป็นที่รู้กันเฉพาะสายการข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เท่านั้น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งทางพรรคกุมฐานเสียงอยู่ที่อ่างทอง สุพรรณบุรี ได้ให้ความเห็นว่า กฎอัยกาศึกนั้น ยังควรจะมีต่อไป ไม่ควรจะยกเลิกเสียในระยะนี้ เพราะยังมีกระแสคลื่นใต้น้ำอยู่

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้ได้รับทราบข่าวความเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำโดยตรง ก็กล่าวถึงการยกเลิกฎอัยการศึก ว่ายังมีความจำเป็นในการคงไว้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่ปกติ มีคลื่นใต้น้ำอยู่ และล่าสุด พล.อ.บุญรอด ก็เพิ่งลงพื้นที่น้ำท่วมที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อประมวลเหตุการณ์ในพื้นที่ และวางแผนที่ทหารจะเข้ามีบทบาทช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลดเป็นการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นกระแสที่เริ่มเข้าสู่รูปธรรมที่น่าจับตามอง แม้ว่าการดึงคนเขตน้ำท่วมมาเป็นพลังอาจจะต้องล้มเหลวในวันนั้น แต่ความพยายามก็จะยังคงมีต่อไป และยังมีอีก ส่วนหนึ่งซึ่งมาจากการข่าวทางทหารเช่นเดียวกัน ที่ว่าจะมีทหารในระดับ "กรม" ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก มีการเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตในลักษณะของการก่อกองไฟ แล้วคอยการเติมเชื้อจากประชาชน กลุ่มจัดตั้งที่การเมืองของอำนาจเก่าจะรับช่วงไป

ทั้งหมดนี้ มิใช่ความลึกและความลับ เพราะมองเห็นกันอย่างทะลุแล้ว

วันที่ 18 พฤศจิกายน อาจจะไม่มีผลอะไรออกมา แต่ในวันนั้น ต้องถือว่า เป็นวันเริ่มต้นของความพยายามที่จะพลิกสถานการณ์ปฏิวัติ

ได้มีการกล่าวถึงคำว่า "ปฏิวัติซ้ำ" กันค่อนข้างมากโดยที่มีลักษณะความแตกต่างไปจากการ "ปฏิวัติซ้อน" เพราะการปฏิวัติซ้อน คือการปฏิวัติตัวเองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มทหารที่กุมอำนาจคณะเดิม เพื่อที่จะได้ใช้อำนาจคำสั่ง คำประกาศของการปฏิวัติแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างฉับพลันทันที เพราะมีบางอย่างที่จะอาศัยอำนาจการบริหาร หรือให้เป็นไปตามกระบวนการ ไปสิ้นสุดที่คำพิพากษาของศาลก็จะไม่ทันการ และไม่ทันต่อแรงเสียดทาน การต่อต้านที่เกิดขึ้นรูปแบบของการปฏิวัติซ้ำนั้น เป็นการลงดาบซ้ำสองที่มีความเฉียบขาดกว่านั่นเอง โดยการปฏิวัติซ้ำเช่นนี้ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีการใช้วิธีการเช่นนี้เข้าแก้ปัญหามาแล้วหลายครั้ง

แต่การปฏิวัติซ้ำนั้น มีเงื่อนไขของตัวเองอยู่ว่า การปฏิวัติซ้อนจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความแน่ใจว่าอำนาจทั้งหลายอยู่ที่ศูนย์กลางเดียวกัน โดยจะไม่มีผู้ฉวยโอกาสทำการ "ปฏิวัติซ้อน" ได้, โดยเงื่อนไขที่ว่านี้ ก็ต้องยอมรับกันว่า อำนาจยังไม่ได้อยู่ที่ศูนย์กลางหมดทั้ง 100% ความรู้สึกแตกต่างทั้งหลายยังคงมีอยู่

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางจากจีนมาพบ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ฮ่องกง แล้วเดินทางต่อไปที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เพื่อฉลองวันเกิดของ "คุณหญิงอ้อ" ที่นั่น เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่น่าวางใจทั้งสิ้น โดยที่ทางฝ่าย "ทักษิณ" นั้น อาจจะคิดว่า-นี่เป็นการสร้างบรรยากาศความกดดันอย่างหนึ่งที่มีผลมาถึง ผลการทำรัฐประหารในไทย การเคลื่อนไหวที่เข้ามาใกล้คือเข้ามาอยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นครั้งแรก อาจจะทำให้มีการเดินทางในครั้งต่อไป คือ สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย หรือเป็นพม่า ลาว เขมร ย่อมจะเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น หากว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีแนวความคิดในการกดดันเช่นนี้, หากว่าจะมองในทางกลับกัน แรงกดดันที่ว่า อาจจะกลับมาเป็นแรงกดต่อ "ทักษิณ" เอง หากว่ามีการตัดสินใจเรียกว่า การปฏิวัติซ้อน เป็นหนทางที่ดีที่สุด และมาตรการต่างๆ ก็จะมีผลย้อนกลับไปเป็นน้ำหนักกดทับตัวเขาเอง

การประชุมเอเปกที่ฮานอย เวียดนาม ซึ่งทาง "ทักษิณ" คิดว่าจะมีบรรยากาศสร้างความกดดันทางสากลได้อย่างหนึ่ง โดยการที่มาอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย จะทำให้เห็นภาพของเขาชัดเจนขึ้น เป็นจุดที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น หรือได้เป็น "ข่าว" มากขึ้น, ความคาดหวังในสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นความคาดหวังที่เกินความจริง หรือคิดถึงผลเพียงฝ่ายเดียว แต่สิ่งที่จะยังต้องดำรงอยู่ในขณะนี้ คือการประชุมเอเปกที่ฮานอยนี่แหละ จะเป็นเครื่องช่วยทอดเวลาของการปฏิวัติซ้ำให้ยาวออกไปได้อีกระยะ

ต้องรอดูว่าหลังจากการประชุมนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น