xs
xsm
sm
md
lg

The Banquet : ในงานเลี้ยงย่อมมีสีสัน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หนังเรื่อง “The Banquet” ที่เป็นผลงานการกำกับของ เฝิงเสี่ยวกัง นี้มีชื่อจีนว่า “เยี่ยเยี่ยน” ที่หมายถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งโดยธรรมเนียมทั่วไปแล้วย่อมเป็นงานใหญ่ ถ้าว่าตามการเรียกแบบไทยๆ แล้วอาหารที่นำมาขึ้นโต๊ะนั้นย่อมเป็น “โต๊ะจีน” อันเป็นอาหารชั้นเลิศ

แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีงานเลี้ยงใดที่จัดขึ้นมาด้วยเหตุผลเพื่อ “กิน” แต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ ถึงจะจัดให้มีอาหารชั้นเลิศอย่างไรก็ต้องหาเหตุในการจัดเลี้ยงขึ้นมาอ้างด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจนได้ ฉะนั้น คำว่า “เยี่ยเยี่ยน” ในที่นี้จึงนอกจาก “กิน” แล้วก็คงมี “กิจกรรม” อื่นๆ ที่เป็นเหตุให้กล่าวอ้างตามสมควร

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นงานเลี้ยงแบบราตรีสโมสรประมาณนั้น ส่วนกิจกรรมที่ว่าจะเป็นอะไรย่อมดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ งานเลี้ยงราตรีสโมสรที่เกิดขึ้นคือจุดอันเป็นที่สุดของหนัง เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจึงย่อมไม่ธรรมดา

ก่อนจะถึงงานเลี้ยงราตรีสโมสรที่ว่า “เยี่ยเยี่ยน” ได้อาศัยเค้าโครงวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง “Hamlet” ของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ มาเป็นแนวในการเล่าเรื่อง ทั้งนี้โดยเลือกที่จะอิงประวัติศาสตร์จีนในช่วงหลังจากที่ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ได้ล่มสลายไป และกำลังก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน คือ ยุคเบญจสมัยทศรัฐ (ค.ศ. 907-1127)

เรื่องราวในหนังเริ่มจากตัวขององค์จักรพรรดิสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำ ผู้ที่ขึ้นมาครองราชย์แทนคือองค์พระอนุชา ประเด็นของเรื่องมีว่า ตัวจักรพรรดิมีโอรสอยู่องค์หนึ่งเป็นองค์รัชทายาทอยู่แล้ว แต่ตัวขององค์รัชทายาทต้องนำตัวเองออกจากวังหลวงไปร่ำเรียนศิลปการแสดงยังต่างเมือง ด้วยผิดหวังในพระบิดาที่ได้ช่วงชิงคนรักของตนไปเป็นพระมเหสี

ฉะนั้น เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ไป แทนที่องค์รัชทายาทจะได้ขึ้นครองราชย์การณ์ก็กลับไม่เป็นเช่นนั้น ซ้ำร้ายพระอนุชาหรือผู้เป็นอาขององค์รัชทายาทที่ขึ้นครองราชย์แทนยังได้ยึดเอามเหสีของจักรพรรดิมาเป็นมเหสีของตนอีกทอดหนึ่ง

ถึงตรงนี้เรื่องก็ถูกเล่าต่อไปว่า มเหสีได้มีสารลับให้องค์รัชทายาทเสด็จกลับมายังวังหลวง และพอรัชทายาทกลับมาถึง พระนางก็แสดงออกซึ่งความรักที่ยังมีเยื่อใยต่อองค์รัชทายาทดุจเดิม และอย่างมีความหวังอยู่ลึกๆ

ตรงกันข้าม สามปีที่จากวังหลวงไปด้วยความตรอมตรมนั้น องค์รัชทายาทกลับดูเหมือนผู้ตกผลึกในชีวิตไปเสียแล้ว องค์รัชทายาทจึงไม่สนองตอบต่ออดีตคนรักของตนอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่องค์รัชทายาทใคร่รู้มีอยู่เพียงประการเดียวคือ เงื่อนงำการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดา ซึ่งต่อมาก็พบว่า ผู้เป็นอาของพระองค์นั่นเองที่เป็นผู้วางแผนลอบสังหาร และยิ่งเมื่อผู้เป็นอาแย่งชิงเอาพระมเหสีของพระบิดาไปเป็นของตน และดูเหมือนว่าพระมเหสีก็มีแนวโน้มที่จะ “เล่นด้วย” ด้วยแล้ว ความแค้นและความตรอมตรมขององค์รัชทายาทจึงยิ่งทวีมากขึ้น

เรื่องราวที่เกิดจากปมปัญหาดังกล่าวได้นำมาซึ่งความหวาดระแวง และนำไปสู่การวางแผนของแต่ละฝ่ายเพื่อกำจัดกันและกัน จากนั้นเรื่องก็ขมวดปมไปสู่การแย่งชิงอำนาจในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ตัวละครอื่นจึงเข้ามามีบทบาทอย่างแตกต่างกันไป โดยทั้งหมดได้มารวมศูนย์อยู่ที่งานเลี้ยงราตรีสโมสรที่จักรพรรดิพระองค์ใหม่จัดขึ้นในเวลาเที่ยงคืน

ผลก็คือ ตัวละครแต่ละตัวไม่เพียงจะได้เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของตนออกมาเท่านั้น หากภายหลังจากนั้นไปแล้ว เหตุการณ์ยังได้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมเมื่อความตายได้มาเยือนตัวละครแต่ละตัว จนในที่สุดเหลือตัวละครอยู่เพียงตัวเดียว คือ ผู้เป็นพระมเหสี แน่นอนว่า นางย่อมเป็นผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีเพื่อครองราชย์สืบไป

แต่ในที่สุดก็มีมือลึกลับซัดมีดยาวเข้าปักกลางหลังปลิดชีวิตของนางเอาจนได้

การที่จะเข้าใจเค้าโครงเรื่องที่หยิบยืมมาจากวรรณกรรมฝรั่งสำหรับหนังเรื่องนี้ได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคเบญจสมัยทศรัฐอันเป็นฉากหลังของหนังเรื่องนี้ก่อนเป็นชั้นแรก

กล่าวคือ ในยุคนี้จีนตอนเหนือได้ถูกปกครองโดยผู้อ้างตนเป็นราชวงศ์อยู่ 5 ราชวงศ์ ซึ่งประกอบไปด้วยราชวงศ์เหลียงสมัยหลัง ถังสมัยหลัง จิ้นสมัยหลัง ฮั่นสมัยหลัง และโจวสมัยหลัง ทั้งห้าราชวงศ์นี้พยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนในแง่ที่ว่าเป็นราชวงศ์ใหม่สืบต่อจากราชวงศ์ถัง แต่กระนั้นก็ไม่มีใครประสบความสำเร็จ

ในส่วนทางตอนใต้นั้นถูกปกครองโดยบรรดาขุนศึกต่างๆ ที่ต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่หลังสิ้นราชวงศ์ถังเช่นกัน ขุนศึกเหล่านี้ได้แยกกันปกครองรัฐที่ตนมีอิทธิพลอยู่ แต่ไม่ได้ตั้งตนขึ้นเป็นราชวงศ์ รัฐที่ปกครองโดยขุนศึกเหล่านี้มีอยู่ทั้งหมด 10 รัฐ ประกอบด้วยรัฐอู๋ สู่สมัยแรก อู๋เยว่ ฉู่ หมิ่น ฮั่นใต้ จิงหนาน (หรือหนานผิง) สู่สมัยหลัง ถังใต้ และฮั่นเหนือ

ทั้งห้าราชวงศ์ก็ดี หรือสิบอาณาจักรก็ดี ต่างก็ห้ำหั่นกันเพื่อแย่งชิงอำนาจ และจัดเป็นอีกยุคหนึ่งที่จีนอ่อนแอเพราะความแตกแยกนี้ แต่ยุคสมัยนี้ก็ยืนยาวอยู่ถึงประมาณ 70 ปี

ถัดจากชั้นนี้ก็เป็นชั้นต่อไปคือ ในหนังไม่ได้บอกคนดูว่า เรื่องราวในหนังคือราชวงศ์ใดหรือรัฐใดอย่างชัดเจน ได้แต่เดาว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่ตั้งตนเป็นราชวงศ์มากกว่า เพราะมีอยู่ตอนหนึ่งที่หนังอ้างความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีกับพวกชี่ตัน ซึ่งเป็นพวกมองโกลที่อยู่ทางภาคเหนือของจีน แต่ถึงแม้จะไม่รู้ชัดดังว่าก็ตาม ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือว่า ในยุคสมัยนี้เป็นยุคที่ต่างฝ่ายต่างก็แย่งชิงอำนาจกัน

เหตุฉะนั้น ตอนจบของหนังที่อาจทำให้คนดูที่ช่างสงสัยถามว่า ใครคือผู้ที่ปลิดชีพนางเอกผู้กำลังก้าวไปเป็นจักรพรรดินีกันแน่ จึงไม่ต้องเดากัน เพราะลงว่าต่างฝ่ายต่างแย่งชิงอำนาจกันเช่นนี้ ไม่ว่าใครย่อมต้องมีสิทธิ์เป็นตายเท่ากันทั้งนั้น แต่ที่น่าคิดก็คือ มีดยาวที่ใช้ปลิดชีพนางเอกที่เป็นมีดของพระเอกที่เป็นองค์รัชทายาท (ที่ขณะนั้นได้ล่วงลับไปแล้ว) นี้ต่างหากที่หนังต้องการบอกอะไรแก่คนดู ตรงนี้นับว่ามีความหมายมาก โดยเฉพาะเมื่อเราย้อนกลับไปดูว่า ตัวพระเอกของเรื่องนั้นเป็นผู้มีนิสัยค่อนข้างดี รักสันโดษ รักความยุติธรรมและเป็นผู้เข้าถึงชีวิตในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นตัวละครที่ถูกกระทำมากที่สุดของเรื่องก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้ ชั้นที่สามของหนังเรื่องนี้จึงอยู่ตรงที่หนังได้บอกตรงๆ แต่เป็นนัยๆ แก่คนดูผ่านสีสันในเชิงสัญลักษณ์ ในชั้นนี้ปรากฏอยู่ในฉากสำคัญฉากหนึ่ง ฉากนี้ปรากฏตอนต้นเรื่องครั้งหนึ่งและตอนท้ายเรื่องอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ฉากที่นางเอกดึงผ้าแพรสีแดงลงจากม้วนที่แขวนอยู่ข้างบนลงมากองที่พื้นข้างล่าง

โดยตอนต้นนางถามว่า เหตุใดเธอจึงชมชอบสีแดง และตอนท้ายนางก็ตอบว่า ที่เธอชมชอบสีแดงก็เพราะสีแดงเป็นสีแห่งความทะเยอทะยาน ซึ่งก็คือ ทะเยอทะยานในอำนาจนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า อุปนิสัยของนางเอกช่างตรงข้ามกับพระเอกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างน้อยที่สุดสีที่เราเห็นคู่กับพระเอกแทบทั้งเรื่องก็คือ สีขาว ที่สำหรับคนจีนแล้วถือว่าเป็นสีแห่งความเศร้า และใช้สีนี้สำหรับไว้ทุกข์แก่ผู้ล่วงลับ

สีในเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ในหนังจึงน่าสนใจในแง่ที่ว่า หลังจากที่นางเอกได้อำนาจมาไว้ในมือตามวิสัยที่ทะเยอทะยานของเธอแล้ว เธอก็ถูกมีดยาวของพระเอกผู้ไร้ความทะเยอทะยานซัดปักเข้ากลางหลังโดยมือที่มองไม่เห็น

จีนในปัจจุบันนิยมชมชอบสีแดง แล้วผู้ใดเล่าคือผู้ที่กำลังตกอยู่ในบ่วงวิบากกรรมของสีขาว?
กำลังโหลดความคิดเห็น