ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธนาคารแห่งประเทศไทย ตกลงยืดเวลาปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้แก่ภาคธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ออกไป 1 ปี พร้อมให้ขยายกิจการครอบคลุมรายใหม่ด้วย ในวงเงินที่เหลือ 9 ,000 กว่าล้านจากวงเงินที่กำหนดไว้ 20,700 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจท่ามกลางไฟใต้ จะมีเพียงทรงกับทรุดเท่านั้น
วานนี้(14 พ.ย.)ที่สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้เปิดชี้แจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ประกอบกิจการในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงตัวแทนจากสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ร่วมรับฟัง ภายหลังจากที่ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือ จากธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เห็นสมควรให้ขยายเวลาสนับสนุนทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์(ซอฟต์โลน) เพื่อให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.)เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระทางการเงิน สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเห็นสมควรปรับปรุงให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ ด้วยวิธีการให้กู้ยืมเงินแก่ธนาคารพาณิชย์ โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้ประกอบกิจการเป็นประกัน เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียน ในการฟื้นฟูกิจการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ธปท.ได้ขยายความช่วยเหลือออกไปอีก 1 ปี ขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการ โดยอนุมัติวงเงินผู้ประกอบการนั้นให้ธนาคารพาณิชย์ จัดสรรวงเงินตามลำดับความสำคัญ จากมากไปหาน้อยรายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้แก่ 1.รายเดิมที่ไม่เคยและถูกยกเลิกวงเงิน 2.รายใหม่ 3.รายเดิมที่ขอวงเงินเพิ่ม และปรับวิธีให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมการกู้เงินตามตั๋วฯ ในลักษณะเป็นเงินทุนหมุนเวียน พร้อมทั้งยกเลิกวงเงินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ไม่มีการใช้วงเงินเกิน 6 เดือน
สำหรับระยะเวลาให้ความช่วยเหลือมีผลตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2549 โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 หรือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ซึ่งมีวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 20,7000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการเบิกจ่ายใช้แล้วร้อยละ 56 หรือ 11,613 บาท คงเหลือ 9,123.7 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนเงินสมทบจาก ธปท. 100% ซึ่ง ธปท.จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี ขณะที่สถาบันการเงิน จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าไม่เกิน 1.5% ต่อปี
ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมจะต้องยืนยัน หรือยื่นขอความอนุเคราะห์ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 รายใหม่ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 และผู้ประกอบการที่รับซื้อหรือรับโอนกิจการเพื่อประกอบธุรกิจในพื้นที่ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2549
"ธปท.ได้มีการขยายเวลาเพิ่มอีก 1 ปี และครอบคลุมรายใหม่ เพื่อให้เงินถึงมือผู้ประกอบการได้จริง ซึ่งคาดว่าวงเงินที่เหลือจะจัดสรรได้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนแนวโน้มของเศรษฐกิจ 3 จชต. ก็ยังอยู่ภายใต้การคาดคะเนว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบที่ไม่ง่าย ถ้าช่วยเหลือเต็มที่เศรษฐกิจก็จะทรงตัว หรือไม่ก็จะถดถอยตามสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย" นายพงศ์อดุลกล่าว