ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โครงการปั้น"ท่าเรือปากบารา"สู่ศูนย์กลางขนส่งทางน้ำของอันดามันยังไม่รู้ลูกผีลูกคน หลังโดนชะลอเข้าสู่การพิจารณ์ของบอร์ดการท่าเรือฯ เหตุบอร์ดโดนรื้อยกแผง ด้านบริษัทที่ปรึกษาเผย แผนขยายรับสินค้า 5 ล้านตู้ก็หมดหวัง เหตุติดข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ยังคงใช้งบฯ 9.5 พันล้านเท่าเดิม ขณะที่ภาคธุรกิจระบุต้องสร้างท่าเรือโดยเร็วที่สุด ก่อนเสียโอกาสทางการค้าและการขนส่ง
นายกิตติพงษ์ ธนาศิริยะกุล วิศวกร บริษัท เอทีที. คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เปิดเผย ถึงความคืบหน้าของโครงการ ว่า หลังจากที่มีการนำเสนอโครงการไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ในครั้งแรกและได้มีความคิดเห็นให้ขยายโครงการให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จากที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1.5 ล้านตู้ เป็น 3.5 - 5.1 ล้านตู้ โดยใช้งบประมาณกว่า 9.5 พันล้านบาท และบริษัทฯได้ลงพื้นที่ จ.สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการขยายขนาดของโครงการ และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น
ปรากฏว่า ตอนนี้การท่าเรือฯแจ้งมาว่า ต้องรอทบทวนการนำโครงการเข้าพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(บอร์ด) มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ทำให้ต้องชะลอการนำเสนอโครงการไว้ จนกว่าจะมีบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัดว่าจะลงตัวเมื่อใด ทำให้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯยังไม่ได้นำโครงการเข้าสู่การพิจารณ์ของบอร์ดการท่าเรือฯ
นายกิตติพงษ์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ จากเดิมที่มีแนวคิดจะขยายพื้นที่โครงการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ 3.5 - 5.1 ล้านตู้ต่อปีนั้น ก็ปรากฏว่า จากการประเมินแล้วคาดว่าสินค้าที่จะเข้ามาใช้บริการท่าเรือแห่งนี้ ไม่น่าจะเกิน 1.5 - 3 ล้านตู้ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสิงคโปร์ พม่า และมาเลเซีย โดยเฉพาะที่ประเทศพม่า ขณะนี้ได้มีการขยายท่าเรือน้ำลึก โดยมีนักลงทุนจากมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ เข้าไปร่วมลงทุน ทำให้โครงการขยายท่าเรือไม่สามารถดำเนินการได้
"สิงคโปร์นั้นมีสินค้ามาใช้บริการประมาณ 20 ล้านตู้ต่อปี ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ที่ 4.5 ถึง 5 ล้านตู้ต่อปี แต่เมื่อมีท่าเรือปากบาราเกิดขึ้น คาดว่าจะมีสินค้ามาใช้บริการในเบื้องต้นประมาณ 2-3 แสนตู้ ต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย หากสามารถขยายพื้นที่ใช้บริการให้ครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งภาคใต้ตอนบน เชื่อว่าจะมีสินค้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านตู้ต่อปี ซึ่งในส่วนนี้การขนส่งทางบกอาจได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ก็ต้องมีการปรับตัวรองรับ" นายกิตติพงษ์ กล่าว
นายวิรัช องค์ประเสริฐ บริษัท เอทีที. คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง เมื่อคำนวณแล้วจะถูกกว่าการใช้บริการท่าเรือปีนังมาก เนื่องจากเมื่อส่งสินค้าจากไทยด้วยทางบกต้องไปขึ้นเรือที่ท่าเรือปีนัง แล้วจ่ายค่าธรรมเนียมท่าเรือปีนัง 1 ครั้ง แล้วจึงขนสินค้าไปที่พอร์ตกลาง ชำระค่าธรรมเนียมอีก 1 ครั้ง แล้วจึงขนส่งไปท่าเรือประเทศเป้าหมาย
ทั้งนี้ หากใช้บริการท่าเรือปากบารา แล้วมุ่งตรงไปยังท่าเรือประเทศปลายทางเลย จะสามารถประหยัดค่าเดินทางและเวลาได้มากกว่า นอกจากนี้จากการศึกษาเส้นทางขนส่งทางบกนั้น ในอนาคตการทางรถไฟมีโครงการที่จะขยายและพัฒนาเส้นทางรถไฟจากหาดใหญ่ไปปากบารา พร้อมกันนี้จะได้มีการผลักดันให้ทางภาครัฐพัฒนาถนนให้เป็น 4 เลนต่อไป
เอกชนจี้เดินหน้าท่าเรือปากบารา
นายชำนาญ นพคุณขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่าโดยส่วนตัวนั้นสนับสนุนให้มีการสร้างท่าเรือปากบารา โดยให้มีการแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟส แต่เฟสแรกจะต้องสร้างให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยมีการสร้างเฟสย่อยอื่นๆ เพิ่มเติมเมื่อมีการขยายตัวของปริมาณตู้สินค้ามากขึ้น พร้อมกับสร้างสะพานให้ถึงจุดที่น้ำลึกที่สุด เพื่อความสะดวกต่อการเข้าถึงของเรือขนาดใหญ่
นายจักรกฤษณ์ อมรกิจดำรงค์ บริษัท บลูโกลบอลโลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำธุรกิจส่งออกในปัจจุบันนี้ประสบปัญหาท่าเรือปีนังไม่มีที่ว่างสำหรับวางตู้สินค้า เช่นเดียวกับท่าเรือสงขลา ทำให้บางครั้งตู้สินค้าต้องรอนานถึง 2 เดือนกว่าจะมีการส่งออกไปประเทศเป้าหมาย โดยสินค้าประมาณ 70 % ที่ท่าเรือปีนังเป็นสินค้าที่ไปจากประเทศจากไทย
ทั้งนี้ หากมีบริษัทเข้ามาบริหารท่าเรือปากบาราจะต้องเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด สามารถกำหนดปริมาณสินค้าได้แน่นอน พร้อมทั้งมีอำนาจในการต่อรองราคาด้วย เนื่องจากในปัจจุบันท่าเรือสงขลาไม่มีอำนาจในส่วนนี้ ซึ่งต่างจากมาเลเซียที่สามารถกำหนดราคาต่างๆ ได้ และผู้ประกอบการจะต้องยอมตามเงื่อนไขที่กำหนด
นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายลอจิสติกส์ หอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างท่าเรือปากบารา เพราะจะได้เป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการไม่เสียเปรียบประเทศมาเลเซียอีก แต่ต้องมีการสร้างถนน 4 เลนตัดตรงจากหาดใหญ่ - ปากบาราควบคู่กับทางรถไฟ ให้ตัดตรงมากที่สุด เพื่อให้การขนส่งสินค้าสะดวกและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น
สำหรับข้อมูลที่ว่าปริมาณการส่งออกสินค้าไปทางประเทศฝั่งตะวันตกน้อยกว่าฝั่งตะวันออก ในอัตรา 20 ต่อ 80 นั้น ในอนาคตเชื่อว่าประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก คาดว่าในอีก 10 ปี อินเดียมีโอกาสขึ้นมาเป็นที่ 2 ของโลก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องนำเข้าสินค้าต่างๆ สูงต่อไป ดังนั้นท่าเรือใหม่นี้จะสามารถรองรับการส่งออกได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งน่าจะมีโอกาสที่จะมีผู้ประกอบการจากประเทศมาเลเซียตอนบนมาใช้บริการท่าเรือปากบาราด้วย
นายชิต บันลือศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า อยากให้มองท่าเรือปากบาราเป็นเกตเวย์สำหรับการค้าโลก ควรมองให้เป็นระบบรวม ไม่ใช่เฉพาะเป็นแค่ท่าเรือ แต่ยังเป็นตัวกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน การจ้างงาน และการประกันภัยได้อีกด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา การที่ท่าเรือต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินงานนั้นเนื่องมาจากภาครัฐทำเอง ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และภาคเอกชน ผู้ประกอบการหรือผู้ที่จะใช้บริการมีส่วนร่วมน้อย ไม่ได้มีการระดมความคิด ทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากภาครัฐมองโครงการนี้ในภาพรวมว่าจะเป็นความคุ้มค่าต่อธุรกิจต่อเนื่อง และต่อทั้งประเทศมากกว่าความคุ้มทุนต่อผู้ลงทุนแล้ว จะเห็นว่าควรสร้างท่าเรือปากบาราโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือทางฝั่ง จ.สงขลา แห่งใหม่ เพื่อมาเชื่อมกับท่าเรือปากบารานั้นพบว่าจะต้องรอให้ท่าเรือน้ำลึกปากบาราดำเนินการก่อน และยังไม่มีการสรุปว่าจะใช้พื้นที่ไหนในการก่อสร้าง แต่คาดว่าจะเป็นแถบพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ทั้งนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกมาก