xs
xsm
sm
md
lg

ลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: ภคภาส ศิริสุข

เราเชื่อกันว่า แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวนี้ เป็นแผ่นดินที่มีภัยธรรมชาติน้อยที่สุดแล้วหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

แต่ตลอดปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมว่า น่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นการประเมินจากงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้เพื่อการซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ระบบประปา ระบบสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภัยธรรมชาติที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี

อะไรเกิดขึ้นกับประเทศที่สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมแห่งนี้

เรื่องเล่าผ่านอินเทอร์เน็ตเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า พระเจ้ามักจะประทานความสมดุลมาให้ทุกเผ่าพันธุ์เสมอกัน หากไม่ให้ทรัพยากรอันสมบูรณ์ ก็จะให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทดแทนเสมอ

เรื่องตลกร้ายก็คือ สำหรับประเทศไทย พระองค์พลาด ทรงสร้างทุกอย่างให้ประเทศไทย เหลือเฟือ และเพียงพอที่จะเป็นแดนสวรรค์ อย่ากระนั้นเลย เพื่อความเท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ พระองค์จึงได้สร้าง ‘คนไทย’ ขึ้นมาด้วย?

45 ปี นับเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2504 ปีไหนน้ำมากก็แทบจะท่วมฟ้า ปีไหนน้ำน้อยก็แทบแห้งขอดถึงนรก ก็ยังกลายเป็นชีวิตซ้ำซากที่คนไทยต้องเผชิญและนับวันๆ จะหนักหน่วงขึ้นตามจำนวนปีของการพัฒนา

อย่าลืมเชียวว่า ตัวเลขความเสียหายจากปัญหาเรื่องน้ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยคิดรวมทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งนั้นเฉลี่ยเท่ากับ 7,032 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่างกันมหาศาลกับการประเมินความเสียหายเฉพาะจากน้ำท่วมข้างต้น

เมื่อเราเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ เรามักจะคิด (กอบโกยความนิยม) ด้วยการประกาศวงเงินแก้ปัญหา เช่น การประกาศ ‘เมกะโปรเจกต์ 200,000 ล้านบาท’

แต่เงินก็เหมือนทรัพยากรของพระเจ้าในเรื่องเล่าข้างต้น ยามมาก็ท่วมทับผู้คน ยามไปก็แห้งขอดไม่เหลือหรอ หากไร้ซึ่งการบริหารจัดการที่ดีพอของคน

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงเป็นโจทย์แรกที่สังคมไทยต้องคิด โดยเริ่มต้นที่การการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเสียก่อน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2549) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดทำรายงานที่ชื่อว่า ‘การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เพื่อให้ภาครัฐใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดทำแผนการจัดการ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้เกณฑ์ในการจัดลำดับ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง มูลค่าความเสียหายของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สอง การสำรวจทัศนคติของประชาชน

ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 12 เรื่องตามลำดับ ได้แก่ ป่า น้ำ ดิน ขยะ อากาศ ทรัพยากรพลังงาน ทะเลและชายฝั่ง ป่าชายเลน มลพิษจากสารอันตรายของเสียอันตราย ทรัพยากรธรณีหรือแร่ และเสียง โดย 5 อันดับแรก เป็นข้อมูลที่ควรจะได้รับบันทึกเผื่อการเผยแพร่และอ้างอิงต่อ ดังนี้

ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ประเทศไทยมีแนวโน้มการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ป่าร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศในปี พ.ศ. 2504 ลดลงเหลือร้อยละ 33.09 ในปี พ.ศ. 2543 และในปี พ.ศ. 2547 พื้นที่ป่าของประเทศลดลงอีกเหลือร้อยละ 32.65 คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียพื้นที่ป่าเฉลี่ยเท่ากับ 80,813 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 16.3 ให้ความสำคัญปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่า หรือเป็นลำดับ 2 รองจากเรื่อง ‘น้ำ’

ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ประเทศไทยมีปริมาณน้ำท่าเพียงพอต่อความต้องการ แต่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน โดยมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเท่ากับ 7,032 ล้านบาทต่อปี จำแนกเป็นมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัย 6,443 ล้านบาทต่อปี และมูลค่าความเสียหายจากน้ำแล้ง 588 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจทัศนคติของประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.7 ให้ความสำคัญกับปัญหาทรัพยากรน้ำโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของปัญหาด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ปัญหาคุณภาพดินและการใช้ที่ดิน ประเทศไทยสูญเสียคุณภาพทรัพยากรดินจากปัญหาหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินทำให้สูญเสียธาตุอาหารของพืช ปัญหาดินเค็ม และปัญหาดินถล่ม โดยการสูญเสียธาตุอาหารจากการพังทลายของดิน ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี 0.51 ล้านตันในปี พ.ศ. 2518 เพิ่มขึ้นเป็น 4.03 ล้านตันในปี พ.ศ. 2546 ปัญหาการสูญเสียคุณภาพดินคิดเป็นมูลค่าความเสียหายด้านทรัพยากรดินและการใช้ที่ดินโดยรวมเฉลี่ย 7,477 ล้านบาทต่อปี

ปัญหาจากขยะ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี จากปริมาณขยะชุมชนที่เกิดขึ้น 13.2 ล้านตันในปี พ.ศ.2539 เพิ่มขึ้นเป็น 14.3 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2548 ทั้งนี้การจัดการขยะชุมชนสามารถเก็บขนได้เพียงร้อยละ 84 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 16 เป็นขยะตกค้าง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากมลพิษขยะเฉลี่ย 4,797 ล้านบาทต่อปี

ปัญหาคุณภาพอากาศ คุณภาพอากาศของประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน และก๊าซโอโซนที่ยังมีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในรูปของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเฉลี่ยเท่ากับ 5,866 ล้านบาทต่อปี

เพียง 5 อันดับแรกจากการคำนวณของทีดีอาร์ไอ ก็นับเป็นมูลค่าความเสียหายรวมนับแสนล้านบาท ภายใต้ทรัพยากรและเงินอันจำกัด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การลงทุนที่เน้นความคุ้มค่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่างๆ มาตรการทางภาษี ฯลฯ และที่สำคัญคือการพัฒนาดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ

สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้คนไทยหลุดพ้นจาก ‘คำสาป’ ของพระเจ้า และเป็นหลักประกันว่า เงินที่จะหว่านพรมลงไป จะไม่มาแบบน้ำในยามท่วมและไม่เหลืออะไรเลยในยามแล้ง.

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น