xs
xsm
sm
md
lg

คำขอโทษ

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

คนที่จะเอ่ยคำขอโทษออกมาได้นั้น ในเบื้องต้นแล้วคนที่จะเอ่ยจะต้องรู้สึกตนว่าได้ทำผิดอะไรไป ซึ่งเป็นความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กระทำผ่านกาย วาจา ใจ

คำขอโทษนี้ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง หากกับสัตว์เดียรัจฉานหรือวัตถุธรรมอันเป็นที่รัก (ของตนหรือของใครอื่น) ก็อาจได้รับคำขอโทษได้ด้วยเช่นกัน

เช่น ใครเผลอไปทำให้สัตว์ที่เชื่องๆ ต้องได้รับความทุกข์ ใครคนนั้นก็อาจขอโทษสัตว์นั้นได้ หรือที่เห็นๆ กันก็คือ การที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เราได้ขอขมาต่อน้ำ หลังจากที่ได้ล่วงละเมิดน้ำไปทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวในแต่ละปี เป็นต้น

คำขอโทษเมื่อถูกเอ่ยเอื้อนออกมาแล้ว โดยทั่วไปจะต้องมีความสัตย์ซื่อจริงใจและบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่สักแต่ขอโทษให้พ้นๆ ไปโดยไร้สำนึก

ฉะนั้น คำขอโทษจึงสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เป็นคำอุทานเบาๆ หากเราได้ไปเดินชนใครเขาเข้าโดยไม่ตั้งใจ ไปจนถึงต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนมาขอโทษ (ขอขมา) กันให้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปก็มี อย่างหลังนี้ต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร

ด้วยเหตุนี้ คำขอโทษที่เกิดจากใจจริง ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่เอ่ยคำขอโทษนั้นมีความสำนึกผิดต่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป และเมื่อสำนึกว่าตนมีการกระทำที่ผิด ย่อมรู้สึกเสียใจต่อการกระทำนั้น

สำนึกเช่นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในคำขอโทษ เพราะหากไม่สำนึกเช่นนั้นแล้ว คนผู้นั้นก็ย่อมคิดและเชื่ออยู่เสมอว่า ที่ตนทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกที่ชอบแล้ว

หากสำนึกเช่นนั้นต่อไป คนผู้นั้นก็ย่อมที่จะกระทำในสิ่งที่ผิดต่อไป เพราะไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งผิด

และจะเลวร้ายเพียงใด ถ้าหากคนผู้นั้นคิดว่าสิ่งผิดที่ตนกระทำอยู่นั้นคือสิ่งถูก

คำขอโทษจึงมีค่าในแง่ที่เป็นสิ่งสะท้อนคุณค่าทางจริยธรรมของคนผู้นั้นไปด้วยในตัว

และก็ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดจีนและเกาหลีจึงพร่ำเรียกร้องให้ญี่ปุ่นขอโทษต่อการกระทำในอดีตที่ผ่านมาร่วมร้อยปี คือนับแต่บุกยึดเกาะไต้หวันของจีน บุกยึดเกาหลี (ในสมัยที่ประเทศนี้ยังไม่แบ่งเป็นเหนือ-ใต้ดังปัจจุบัน) แล้วก็ทำสงครามกับจีนอีกก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี จนเมื่อสงครามยุติไปแล้ว ญี่ปุ่นจึงหยุดพฤติกรรมของตนในฐานะผู้แพ้สงคราม กล่าวเฉพาะจีนแล้ว จีนกล่าวหาญี่ปุ่นว่าได้เข่นฆ่าชาวจีนจากการรุกรานนานนับ 40 ปี (1895-1945) กว่า 30 ล้านคนเลยทีเดียว

คือเข้าใจว่า ตราบเท่าที่ญี่ปุ่นไม่กล่าวคำขอโทษต่อจีนและเกาหลี ญี่ปุ่นก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะหวนกลับมามีพฤติกรรมแบบเดิมๆ อีก เพราะญี่ปุ่นไม่ได้สำนึกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งผิด

และก็คงด้วยเหตุนี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงได้กล่าวคำขอโทษในนามของรัฐบาลที่แล้วต่อการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะเดียวกัน ผู้นำทางศาสนาที่เป็นมุสลิมที่ได้ฟัง พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวคำขอโทษในวันนั้นก็ตอบสนองในทำนองเดียวกัน เพราะท่านเหล่านี้ต่างก็มีศาสนธรรมประจำใจ

ประเด็นคำถามจึงมีว่า แล้วเหตุใด คุณทักษิณ ซึ่งควรเป็นผู้กล่าวคำขอโทษตัวจริงจึงไม่กล่าวคำคำนี้เลยตลอดระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?

มิหนำซ้ำ เรายังอาจขยายความไปถึงกรณีอื่นๆ ที่ คุณทักษิณ ควรขอโทษ แต่ไม่ขอโทษ อีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นฆ่าตัดตอนในการแก้ปัญหายาเสพติด การที่ร่างกฎหมายที่ตนเสนอถูกศาลตัดสินว่าเป็นร่างที่มีกระบวนการอันไม่ชอบ การขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษี การกล่าววาจาในลักษณ์ที่หลงตนหลายครั้งหลายครา ฯลฯ

ถ้าจะตอบว่าเป็นเพราะ คุณทักษิณ ไม่ได้สำนึกว่าตนผิด ก็คงจะถูก แต่ก็เป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป

แต่ถ้าจะตอบโดยยึดหลักศาสนาพุทธกันแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะความรู้สึกนึกคิดภายในใจของคุณทักษิณ ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดให้ คุณทักษิณ มีสำนึกเช่นที่เราเห็น

ความรู้สึกนึกคิดภายในใจของคุณทักษิณ คือความรู้สึกนึกคิดของอะไร?

คำตอบพื้นฐานคือ ความรู้สึกนึกคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของโลภะ โทสะ และโมหะ โลภะนั้นคือ ความโลภ โทสะนั้นคือ ความคิดประทุษร้าย และโมหะนั้นคือ ความหลง

โลภะ โทสะ และโมหะ ทั้ง 3 ประการนี้ในหลักศาสนาพุทธถือกันว่าหากเกิดแก่ผู้ใดแล้ว ก็จะทำให้ผู้นั้นเกิดภาวะที่มีมลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน และข้าศึกภายใน

สิ่งที่ดำรงอยู่ “ภายใน” เหล่านี้ล้วนคือ ความรู้สึกนึกคิด “ภายใน” ใจของคุณทักษิณ และเป็นเหตุให้เขาเห็นมลทินไม่เป็นมลทิน มีมิตรกลับไม่เห็นเป็นมิตร เห็นใครที่ตนระแวงเป็นศัตรู เห็นการฆ่าคือการแก้ปัญหา และเห็นใครทักท้วงตักเตือนก็ว่าเป็นข้าศึกไปหมด

แท้ที่จริงแล้ว คุณทักษิณ ได้ถูกความรู้สึกนึกคิด “ภายใน” ใจดังกล่าวรุมเร้าอย่างหนัก หาใช่ใครอื่นมารุมเร้าแม้แต่น้อย คนอย่าง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กลุ่มพันธมิตรฯ หรือแม้แต่ผู้ก่อการรัฐประหารล้วนแต่เป็นปลายเหตุทั้งสิ้น แต่ในเมื่อ คุณทักษิณ รู้สึกนึกคิดเช่นนั้นเสียแล้ว คุณทักษิณ จึงไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าตนจะต้องขอโทษใคร และยังเชื่อว่าตนถูกอยู่เสมอ และเมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้ว คุณทักษิณ ก็ย่อมทำในสิ่งที่ตนเชื่อต่อไป

ฉะนั้น ตอนที่ คุณทักษิณ ป่าวประกาศว่า ตนเป็นผู้ศึกษาหลักคำสอนของท่านพุทธทาสด้วยความดื่มด่ำนั้น ผมจึงได้แต่สงสัยอยู่ในใจว่า หลักธรรมข้อไหน (ว่ะ) ที่ทำให้ คุณทักษิณ เป็นได้ขนาดนี้?

แต่ที่ผมไม่สงสัยเลยก็คือว่า ในเมื่อคำขอโทษเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนคุณค่าทางจริยธรรมของบุคคลดังที่ผมกล่าวไปแล้วนี้เอง คุณทักษิณ จึงถูกมองว่าเป็นผู้ไร้จริยธรรม

ผมไม่รู้ว่าหลังจากที่ พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวคำขอโทษไปแล้ว เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมรู้แต่เพียงว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะรัฐบาลของ คุณทักษิณ ได้ทำผิดจริง

แต่ที่น่าเศร้าสำหรับผมก็คือ เหตุใดคำขอโทษจึงต้องหลุดออกจากปากของ พลเอกสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจรัฐประหารอันเป็นระบอบเผด็จการ แต่กลับไม่ออกจากปากของคุณทักษิณ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งอันเป็นระบอบประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น