xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งแบบอเมริกัน ฝันค้างแบบไทย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ทุกๆ 2 ปี ในวันอังคาร สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน อเมริกาจะต้องมีการเลือกตั้ง วันนี้ อังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ชาวอเมริกันจะพากันไปลงคะแนนเลือกผู้แทนของตนทุกระดับ ยกเว้นประธานาธิบดี ที่ 4 ปีจึงจะเลือกครั้ง ครั้งที่ไม่เลือกประธานาธิบดี เรียกว่า “การเลือกตั้งนอกฤดู” ซึ่งบางครั้งก็เนือยๆ

แต่การเลือกตั้งนอกฤดูวันนี้ ตื่นเต้นแล้วยังหวาดเสียวอีกด้วย นี่พูดเฉพาะการเลือกสมาชิกสภาคองเกรส ประกอบด้วยผู้แทนราษฎรทั้งหมด มีเทอมแค่ 2 ปี กับวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งในสามที่ต้องผลัดกันออกทุกๆ 2 ปีเมื่อครบเทอมของตนคือ 6 ปี สมาชิกวุฒิสภานี้มีทั้งหมด 100 คน คือรัฐละ 2 คนเท่าๆ กัน ไม่ว่ารัฐเล็กหรือใหญ่ ไม่ถือประชากรเป็นหลัก

อาการของพรรครีพับลิกัน ที่มองอย่างไทยๆถือว่าเป็นพรรครัฐบาลกำลังซึมเศร้า เพราะพรรคตกต่ำที่สุดพอกับยุควอเตอร์เกตที่ประธานาธิบดีต้องลาออก สาเหตุคราวนี้ก็คือ ประชาชนจับโกหกบุชได้หลายเรื่อง เรื่องใหญ่คือสงครามอิรัก ที่รัฐบาลจัดการผิดอีกด้วย ผู้คนเบื่อหน่ายความบ้องตื้นและทึ่มของท่านประธานาธิบดี

โพลสำรวจคะแนนล้วนแต่บ่งชี้ว่ารีพับลิกันจะล่องจุ๊นแน่ๆ ในสภาผู้แทนที่มีทั้งหมด 435 ที่นั่ง (น้อยกว่า 500 ของพี่ไทย ทั้งๆ ที่ประชากรมากกว่ากัน 3 เท่า) คาดกันว่าพรรคเดโมแครตจะได้แน่ๆ 198 ที่นั่ง น่าจะได้อีก 16 ที่นั่ง ที่สูสีกันแค่จมูกมี 16 ที่นั่ง รีพับลิกันได้แน่ๆ 180 ที่นั่ง และน่าจะได้อีก 25 ที่นั่ง

รวมแล้ว รีพับลิกันอาจจะเสียตั้งแต่ 12 ขึ้นไปถึง 25 ที่นั่ง ยังไงๆ ก็หลุดจากอำนาจในสภาล่างแหงๆ แต่ในวุฒิสภายังพอลุ้น อาจจะบวก 3 ลบ 3 ก็ได้

จะพลิกล็อกหรือไม่ พรุ่งนี้รู้ แต่แค่นี้ท่านผู้อ่านคงรู้แล้วว่าระบบการเมืองของอเมริกันเป็นระบบ 2 พรรค ผลัดกันแพ้-ผลัดกันชนะ ทั้งศึกชิงทำเนียบขาว และศึกคุมสภาคองเกรส ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่มีพรรคอื่นสมัคร มีเยอะแยะเลย แต่ 99 ใน 100 ไม่มีสิทธิลุ้น

เวลาผู้แทนตาย ลาออกหรือถูกไล่ออก(น้อยมาก) จะมีเลือกตั้งซ่อมก็ได้หรือไม่มีก็ได้ ส่วนมากไม่มี ผู้ว่าการมลรัฐมีอำนาจแต่งตั้งแทนได้เลย ตามกฎหมายเลือกตั้งของแต่ละรัฐ ซึ่งไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศ

สภาคองเกรสเป็นสถาบันที่สำคัญมาก มีอำนาจมาก การตัดสินใจของสภาคองเกรสกระทบกระ เทือนถึงชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นประจำวัน ต่างกับประธานาธิบดี

จึงมีคำพังเพยว่าในการบริหารประเทศ ประธานาธิบดีมีสิทธิเพียงแค่ “ขอ” แต่สภาคองเกรสมี “อำนาจ” ที่จะให้หรือไม่ให้

โดยเหตุฉะนี้ เมื่อประมุขประเทศคือประธานาธิบดีเข้าไปในสภาคองเกรสครั้งใด แทนที่จะวางก้ามได้เหมือนนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา ก็กลับจะต้องจ๋อง เวลาเรียก ส.ส.หรือวุฒิสมาชิกก็จะต้องใช้คำว่า “ฯพณฯ” เวลาขานรับก็จะต้อง “ขอรับกระผม” ในขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสเรียกประธานาธิบดีเหมือนคนทั่วไปคือ “มิสเตอร์เปรซิเดนท์” และไม่มีอาการพินอบพิเทา แม้จะให้เกียรติก็ตาม

ดังนั้น เขาจึงเรียกการปกครองอเมริกันว่าเป็น Congressional Government หรือรัฐบาลสภาคองเกรส ผู้แทนในสภาทั้งสองต่างก็มีเอกสิทธิ์และอิทธิฤทธิ์มาก จะเปลี่ยนพรรคเมื่อใดก็ได้ (แต่เขาไม่ค่อยเปลี่ยน) ลงคะแนนแหกพรรคก็ได้ ค้านประธานาธิบดีพรรคของตนก็ได้ ไม่มีใครถูกประณามหรือขับไล่ จะผิดถูกอย่างไรประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในเวลาเลือกตั้ง พรรคการเมือง 2 พรรค เวลาลงมติในสภา กลายเป็นหลายพรรค เรียกว่า congressional parties หรือพรรคในสภาของพรรคนั้นพรรคนี้ และพรรคของประธานาธิบดี ซึ่งรวมคนทั้ง 2 พรรค

ทีนี้ ฝันค้างแบบไทยเป็นอย่างไร ผมอยากจะเล่าที่มาของฝันค้างเสียก่อน ฝันค้างก็คือสิ่งบรรดานักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายไทยที่อยากจะลอกเลียนการเมืองแบบอเมริกัน โดยหามีความเข้าใจถึงแก่นแท้ของเขาไม่ จึงหยิบเอามาได้แต่กระพี้ เอามาได้แต่ชื่อ เอามาได้แต่ความหลงผิด เพราะว่านักรัฐศาสตร์ และนักกฎหมายเหล่านั้นได้ปริญญาดีๆ มีตำแหน่งสูงๆ สังคมไทยจึงเห็นท่านเป็นอัจฉริยะ ท่านเองก็นึกว่าทุกอย่างถ้าเขียนลงในกฎหมายในรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร มันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างฝันค้าง 2 อย่าง ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเมืองไทย สิ่งที่พึงปรารถนาที่อ้างว่าจะเกิด เชื่อว่าจะเกิด ก็ไม่ได้ไม่เกิด สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ที่คิดไม่ถึงหรือไม่ตรวจสอบ ดึงดันไม่ยอมให้ใครท้วงติงคัดค้าน ก็เกิดจนบ้านเมืองเสียหาย

1. อวิชชาหรือความหลงว่าระบบประธานาธิบดี ซีอีโอแบบอเมริกาเป็นแบบที่ผู้บริหารเข้มแข็ง เมื่อเห็นนายกรัฐมนตรีไทยอ่อนแอ จึงนึกว่าระบบรัฐสภาทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ ถ้าจะให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งต้องเอาแบบประธานาธิบดี โดยหารู้ไม่ว่าประธานาธิบดีถูกจำกัดอำนาจ เกือบทุกอย่างจะต้องขออนุมัติจากสภา มีการศึกษาเปรียบเทียบความฉับไวเด็ดขาดในการใช้อำนาจระหว่างนางมาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กรณีส่งทหารไปฟอล์กแลนด์ กับกรณีของประธานาธิบดีเรแกน เป็นที่ประจักษ์ชัดว่านายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภามีอำนาจมากและเด็ดขาดกว่า เพราะเป็นผู้คุมเสียงในสภาด้วยพรรคของตนเอง การใช้อำนาจของทักษิณนั้นเป็นการ (หลอก) อาศัยความตื้นเขินของนักวิชาการ จึงใช้อำนาจผิดๆ และอ้างตัวอย่างผิดๆ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุดมอวิชชา

2. อวิชชาเกี่ยวกับวุฒิสภาของอเมริกัน เป็นเหตุให้นำระบบการเลือกตั้งวุฒิสภาแบบอเมริกามาใช้ เมื่อเป็นดังนี้จึงดูสมเหตุสมผลที่จะมอบอำนาจแต่งตั้งถอดถอนข้าราชชั้นผู้ใหญ่ของอเมริกานั้นระบบราชการต่างกับของเรา วุฒิสภาเขาอนุมัติการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลสูง ทูต ผู้ว่าการธนาคารชาติ หัวหน้าซีไอเอ พวกนี้บ้านเราแตะต้องไม่ได้ จึงหันไปตั้งองค์กรอิสระแทน โดยต่างฝ่ายต่างก็ไม่เคยรอบรู้วัฒนธรรมขอบเขตการงานซึ่งกันและกัน นอกจากที่กฎหมายจะเขียนเอาไว้ การแทรกแซงครอบงำจึงเกิดขึ้นเกือบทั้งหมด ของเขานั้นครอบงำยาก เพราะวุฒิเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องถูกตรวจสอบทั้งทางตรงทางอ้อมโดยพรรค โดยท้องถิ่น และกลุ่มผลประโยชน์ที่สัมพันธ์กับพรรคและสนับสนุนการเลือกตั้ง เขาจึงสามารถสร้างอำนาจการตัดสินใจที่มีดุล โดยอาศัยข้อมูลที่ครบถ้วนจากทุกแหล่งมาตรวจสอบและชี้วัด ของเรามิได้สังกัดพรรค และระบบพรรคยังอ่อนแอ เรื่องนี้จึงล้มเหลวสิ้นเชิง

ผมเคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2516 เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญปี 2518 ไม่เคยมีความประสงค์จะเป็นอะไรต่อไปอีก แต่ผมเป็นหนี้บุญคุณภาษีอากรที่ส่งไปเรียนวิชารัฐธรรมนูญถึง 3 ประเทศ กับทั้งชะตากรรมทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศประชาธิปไตยทั้ง 2 แบบ คืออเมริกาและอังกฤษรวมแล้วกว่า 20 ปี ถ้าหากผมจะนิ่งเฉยเสีย ก็จะเสมือนกับดูดาย ไม่กระทำ ผมจึงได้เขียนบทความ และมีข้อเสนอถึงคณะกรรมการผู้มีอำนาจทุกครั้ง

ผมทั้งเขียนส่งไปให้ ทั้งพูดกับพลเอกสุจินดา ท่านประธานมีชัย และผู้มีปัญญาประจำ รสช.คือดร.ทินพันธุ์ นาคตะ จปร.รุ่น 5 ผู้เป็นเพื่อนรักและนับถือ ผมไม่ต้องการให้ท่านเชื่อผมหรอก แต่อย่างน้อยอยากให้ท่านถี่ถ้วนตรวจสอบ ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสำนึกว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยของท่านถูกต้องและดีพอแล้วหรือ

ความรู้เรื่องเมืองไทยนี้สำคัญกว่าความรู้ที่ลอกเลียนมาจากต่างประเทศ เพราะพืชเมืองหนาวไม่ว่าจะเอาเม็ดหรือตอนกิ่งมาปลูกในเมืองไทย หากไม่รู้ว่าเนื้อดินของเรา ย่อมจะป่วยการ

เมื่อ ครป.หรือคมช.คณะนี้ขึ้นเถลิงอำนาจ ผมมีความเห็นว่า ไม่ควรจะรีบร้อนออกธรรมนูญการปกครองใหม่ให้รัดตัว และไม่จำเป็นต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ เพียงแต่ยกเลิกหรืองดใช้บางมาตราตามความจำเป็นของสถานการณ์เท่านั้น

เมื่อมีข่าวว่าจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมา ผมได้ขอให้ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ รีบมาสรุปย่อให้ตัวแทนนายกรัฐมนตรีคือพลเอกพงษ์เทพทราบ ก่อนหน้านั้น คณาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญได้เข้าพบและชี้แจงให้พลเอกสนธิ ฟัง ดูๆ คล้ายพลเอกสนธิจะเข้าใจ แต่ท่านประธานมีชัยออกจะไม่สบอารมณ์และตัดบทว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากจะปลดล็อกให้ตั้งนักวิชาการเข้าไปสมทบอีก 10 นาย ผมทราบว่าได้มีการต่อว่ากันว่าใครทำข่าวรั่ว ปล่อยให้คณาจารย์เห็นร่าง ซึ่งไม่สมควรจะเปิดเผย

ถ้าเป็นอย่างว่าจริง จะให้ผมทำอย่างไรได้ นอกจากประณามว่า งานนี้ไม่โปร่งใส เป็นเผด็จการ (ในกลุ่ม) ทั้ง คมช.และนายกรัฐมนตรีสมควรหามาตรการทางบริหารมาแก้ไขด่วน

หันกลับไปที่อเมริกา เราไม่จำเป็นต้องเอาอย่างเขาทั้งหมดหรอกครับ เป็นไปไม่ได้ และไม่สมควรด้วย แต่เราควรเอาอย่างเขาตรงที่ผู้มีอำนาจต้องยอมรับและเคารพนับถือประชาชนและตัวแทนของประชาชน

ตอนผมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอยู่ในสภานิติบัญญัติฯ 2517 นั้น สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดก็คือการไม่นับถือ ซ้ำดูถูกประชาชนและตัวแทนประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญจึงเต็มไปด้วยภยาคติ หาทางจะจำกัด บีบคั้น ตรวจสอบและลงโทษผู้แทนของประชาชน ตัวแทนของชนชั้นปกครองไทยไม่ไว้ใจประชาชนและผู้แทนราษฎรเลย

จึงสรรหาทฤษฎี และสร้างกลไกทุกอย่างที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรอ่อนแอ และให้ผู้แทนราษฎรอยู่ในอาณัติบังคับบัญชาของพรรคและผู้บริหารจนกระดิกตัวมิได้

ผมเสนอว่าเราส่งเสริมพรรคการเมืองได้ โดยมิต้องสังกัดพรรค แต่ให้ส่งเสริมพรรคด้วยเงินอุดหนุน ตำแหน่งกรรมาธิการ แม้กระทั่งเบอร์เลือกตั้งก่อนผู้สมัครอิสระ และให้กำหนดคะแนนขั้นต่ำเกือบหรือกึ่งหนึ่งของผู้ลงคะแนนเสียง ผู้สมัครในนามพรรคจะได้เปรียบ ผู้สมัครอิสระถ้าไม่ดีเด่นจริงๆ จะไม่ผ่าน หากใครได้คะแนนไม่ถึงต้องลงคะแนนใหม่แบบ run off ระหว่างคนได้ที่ 1 กับที่ 2 ทำอย่างนี้จะซื้อเสียงยากขึ้นคุณสมบัติด้านการศึกษาของผู้สมัครก็ไม่ต้องจำกัด จำกัดเฉพาะผู้ลงคะแนนว่าต้องจบ ม. 3 ถ้าไม่จบต้องผ่านการลงคะแนนการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก่อน

ผมถูกฮาป่าว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มีตัวอย่างหรือทฤษฎีที่ไหน ผมขี้เกียจเล่าว่า ค่อนศตวรรษที่แล้ว ผู้หญิง คนไม่รู้หนังสือ ผู้ไม่เสียภาษีไม่มีสิทธิลงคะแนนทั้งในยุโรปและอเมริกา

ผมมิใช่คนบ้าทฤษฎี แต่ผมไม่เชื่อมือคนที่รู้ทฤษฎีสุกๆ ห่ามๆ ที่นึกว่าเขียนกฎหมายอย่างไร ผลก็จะต้องออกมาอย่างนั้น ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมี 3 มาตราหรือไม่มีรัฐธรรมนูญเลย เราก็เป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าเรารู้จักคิดอย่างเป็นประชาธิปไตย ประพฤติอย่างเป็นประชาธิปไตย และมีวิถีชีวิตอย่างเป็นประชาธิปไตย

อินเดียซึ่งมีคนยากจนไม่รู้หนังสือมากมายมหาศาลเป็นประชาธิปไตยได้ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนแม้จะจบแค่ ป. 4 หรือต่ำกว่า ก็มีสิทธิช่วยกันสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ

ซ้ำเรายังมีเอกลักษณ์คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของปวงชนกับมหากษัตริย์ที่มีทศพิธราชธรรมอีกด้วย ที่อื่นไหนๆ ก็ไม่มี

ผมจึงเรียกร้องให้ คมช.และ สนช.หันกลับมาหาราชประชาสมาสัย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกชั้นจนถึงรากหญ้าและบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงบุญบารมีของปวงชนชาวไทย

อย่านำพระองค์ไปอ้าง เพื่อกรุยทางสะดวกสำหรับอำนาจของตนถ่ายเดียว.
กำลังโหลดความคิดเห็น