xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ดูเหมือนเพียงพอแต่ไม่พอเพียง

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

ผมมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อไปถ่ายทำรายการใหม่ ที่ชื่อว่า รายการสภาท้องถิ่น ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV 5 ช่องสุวรรณภูมิ เวลาประมาณ 20.30 - 22.30 น.

บรรยากาศที่ผมสัมผัสตั้งแต่จะขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานราชพฤกษ์ 2549 หรือมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่มากมายทำให้ผมอยากจะเข้าไปชมงานสักครั้ง

การเดินทางไปเชียงใหม่คราวนี้ มีประเด็นหลักๆ น่าสนใจที่ผมจำเป็นต้องเข้าไปทำรายการด้วย

เมื่อนั่งรถเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเมือง บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ตลอดเส้นทางคันคลองชลประทานมีที่พัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ เกิดขึ้นเพื่อรองรับงานมหกรรมพืชสวนโลกอย่างมากมาย ถนนเส้นทางที่จะไปงานดีเยี่ยม มีป้ายบอกทางตลอดหาได้ไม่ยาก

เชียงใหม่เปลี่ยนไป ผมนึกในใจ

เมื่อเข้าสู่งานราชพฤกษ์ 2549 เห็นร้านค้า ซุ้มแสดงสินค้าของชาวบ้านที่นำสินค้าพื้นเมืองหรือ OTOP ของฝาก ตลอดจนอาหารการกินมากมายไปจนสุดงาน แต่คนซื้อน้อยจนน่าใจหาย อาจเป็นเพราะการจัดงานดังกล่าวไม่อนุญาตให้นำรถเข้าไป ต้องจอดไว้หน้างานและถ้าจอดรถไว้บริเวณร้านค้าต้องเดินไปไกลมากหลายกิโลเมตร แต่ 2-3 วันหลังจัดงานเจ้าหน้าที่คงเห็นใจประชาชนหรืออาจจะเบื่อที่ต้องฟังเสียงบ่นจึงอนุญาตให้จอดรถส่งผู้โดยสารได้

โครงการพืชสวนโลกเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นรายวันในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ยังมีโครงการสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีที่ประสบปัญหาขาดทุนอยู่ทุกวันนี้ โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าหรือเคเบิลคาร์ไปยังดอยสุเทพ โครงการอุทยานช้าง โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาและกระจายสินค้า SME โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมแสดงสินค้านานาชาติที่ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่

เชียงใหม่กลายเป็นเซ็นโตซ่าของสิงคโปร์ไปแล้วหรือ

โครงการเหล่านี้สร้างปัญหาที่เป็นผลกระทบกับชาวเมืองเชียงใหม่มากมาย เช่น ปัญหาเรื่องน้ำที่ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นปัญหาที่วิกฤตที่สุด เพราะมีทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ขยะก็เป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญใจให้กับชาวบ้านและจังหวัดใกล้เคียง นี่ยังไม่นับรวมถึงการขยายเมืองสร้างถนน ตัดถนนจนการจราจรที่เชียงใหม่สาหัสพอๆ กับที่กรุงเทพฯเหมือนกัน

โครงการเมกะโปรเจกต์หลายโครงการแฝงไปด้วยความไม่โปร่งใส ดังเช่น การดำเนินงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้

เริ่มตั้งแต่การเริ่มโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการกำหนดความต้องการของนักการเมืองร่วมกับข้าราชการ เพราะแต่เดิมโครงการนี้จะดำเนินการที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติคลองหลวง จ.ปทุมธานี แต่เพราะต้องการเอาใจทักษิณ ผู้รับผิดชอบขณะนั้นจึงย้ายโครงการมาที่ จ.เชียงใหม่ เขตตำบลแม่เหี๊ยะ บนพื้นที่ 470 ไร่ และตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

การออกแบบ การก่อสร้างเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น กรมวิชาการการเกษตรจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการออกแบบและควบคุมงาน วงเงิน 35 ล้านบาท

ข้อที่น่าตกใจคือ สัญญาจ้างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างอยู่บ้านเลขที่ 50 พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เหมือนกัน

ในสัญญาระบุห้ามมิให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ผู้อื่นรับเหมาช่วงงานหรือโอนงานให้ผู้อื่น แต่ม.เกษตรได้ให้บริษัทร่วมค้า CKNNL คือบริษัท ช.การช่างร่วมกับสวนนงนุช ชนะการประมูลไปด้วยราคา 1,259,850,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,259,850,100 บาท อยู่ 100 บาท

ปัญหาต่อมาคือการนำพันธ์พืชต่างถิ่นเข้ามาในเขตอุทยานนั้นจะทำให้เกิดการปนเปื้อนจากพันธุกรรมจากต่างถิ่น หรือเกิดความเสียหายของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการนำพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาโดยไม่ผ่านด่านกักพืชหรือตรวจสอบก่อน

ปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่เป็นผลกระทบจากโครงการดังกล่าว คือ ปัญหาน้ำแล้งและการแย่งชิงน้ำ การดำเนินโครงการนี้ผสมกับโครงการไนท์ซาฟารี ใช้น้ำจำนวนมาก โดยมีการต่อท่อจากบ้านแม่เหี๊ยะใน มีการขุดสระขนาดใหญ่เพื่อใช้กักเก็บน้ำ เจาะน้ำบาดาลจำนวนมากถึง 14 บ่อ สูบน้ำจากคลองชลประทานแม่แตง ทำให้เกิดปัญหาของชาวบ้านทั้งที่อยู่ต้นน้ำ (บนดอยปุย) กลางน้ำ (บ้านปง) และปลายน้ำ (หนองควาย. บ้านแหวน, น้ำแพร่. หางดง) จึงต้องมีการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้ง

โครงการที่กำลังสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านต่อมา คือ โครงการสร้างอุทยานช้าง 2,650 ไร่ โครงการนี้อยู่ในระนาบเดียวกัน เป็นพื้นที่เชิงเขาผืนใหญ่ที่ปิดกั้นทางน้ำจากดอยสุเทพในฤดูฝน น้ำจะหลากท่วมเมืองเชียงใหม่ ตัดถนนใหม่สร้างผนังคันคลองชลประทาน ทำให้น้ำไหลไปตามถนนแทนท่อระบายน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน และเอ่อล้นคลองชลประทานเข้าท่วมบ้านจัดสรรและตัวเมืองได้รับความเสียหาย

มีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ทั้งระบบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

การเตรียมการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เคเบิลคาร์ขึ้นดอยสุเทพ เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์

ผมมีคำถามว่า การดำเนินโครงการเมกะโปรเจกต์นี้เป็น เศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอก รองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำ

หลักแนวคิดที่รัฐบาลชุดเก่าเน้นไปที่แนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ผลประโยชน์ตกแก่ผู้มีอำนาจมีกำลังมากทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้ด้อยโอกาสขาดกำลังและความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร

ต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาที่เหมาะสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำที่เหมาะสม

แต่สิ่งที่ชาวเชียงใหม่ได้รับ กลับกลายเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยม วัตถุนิยม น่าเสียดายที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้โต้แย้งรัฐบาลชุดเก่า ไม่ได้นำกระแสพระราชดำรัสมาปรับใช้อย่างเหมาะสม

แล้วเราจะปรับปรุงแก้ไข ดูแลรักษากันอย่างไรต่อไปหนอ

ทำไมการพัฒนาจึงต้องตกเป็นภาระมากมายเช่นนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น