xs
xsm
sm
md
lg

คมช.-รัฐบาล เลือกบทได้

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านไปแล้ว แม้มีการอภิปรายจากสมาชิกบางคนที่ฝากประเด็นจี้ได้โดนใจสังคม แต่รัฐบาลก็คงได้แต่ "รับฟัง" ไม่ตื่นเต้นอะไร

ประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังจับตาและวิพากษ์วิจารณ์มากก็คือ บทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)และรัฐบาลหลังการยึดอำนาจ

ภารกิจการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นในทางสากลและหลักการประชาธิปไตย ย่อมคัดค้านและต่อต้านอยู่แล้ว

จึงมีทั้งคนบางกลุ่มที่ติดยึดในหลักการออกมาคัดค้าน โดยไม่คิดว่าที่รัฐบาลก่อนชนะเลือกตั้งมาก็โดยใช้อำนาจเงิน และอิทธิพลทางการเมืองครอบงำองค์กรจัดการเลือกตั้งและกลไกของรัฐให้เอื้อประโยชน์ อีกทั้งตลอดเวลาการครองอำนาจ ก็มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ ครอบงำเสรีภาพการทำหน้าที่สื่อของรัฐ และกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเสมอภาค

คมช.จึงยังเผชิญกระแสกดดันให้ชี้แจงผลทางปฏิบัติตามเหตุผลที่อ้างในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อตอนที่เข้ายึดอำนาจ ซึ่งสังคมเห็นด้วยว่าเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องเข้าระงับความเลวร้าย

แม้ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายจนมีรัฐบาลเข้าบริหารประเทศและได้ระดับความเชื่อมั่นคืนมาจากสถาบันจัดอันดับความเชื่อถือแล้วก็ตาม

เรื่องที่ต้องตระหนักก็คือ รัฐบาลนี้อยู่ในตำแหน่งประมาณ 1 ปี เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งมีหน้าที่สานต่อภารกิจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ (คปค.) ซึ่งแปลงสภาพเป็น คมช.ในปัจจุบัน

อุปมาการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่ถูกเปิดโปงการทุจริต และกระทำไม่เหมาะสมต่อสถาบันสำคัญของชาติ จนมีกระแสสังคมขับไล่ ก็เสมือนการพังประตูเข้าไปช่วยคนที่อยู่ในบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ จากนั้นก็ต้องช่วยกันดับไฟและจัดการเอาคนมือเพลิงมาลงโทษ

รัฐบาลและ คมช.จึงนับเป็นกลไกร่วมของกระบวนการ “ปฏิรูปประเทศ” มีภารกิจสำคัญคือการทวงคืนผลประโยชน์ของรัฐ ทั้งการโกงภาษี การผลาญงบประมาณ และการฉ้อฉลต่างๆ รวมทั้งเอาคนผิดมาลงโทษ

ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกฎระเบียบใหม่ ก็คือ ล้างความสกปรกของระบบและคนที่รับใช้ความฉ้อฉลของระบอบทักษิณ อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างกฎระเบียบใหม่ให้มีธรรมาภิบาลทั้งในระบบการเมือง ระบบราชการ และวงการธุรกิจเอกชน โดยมีนโยบายที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งเสริมประสิทธิภาพและคุณธรรมเป็นแนวทาง

นโยบายที่รัฐบาลนี้กำหนดน่าจะมีทั้งภารกิจเฉพาะหน้าที่มุ่งตอบโจทย์ปัญหาวิกฤติตามข้ออ้าง 4 ข้อ ในการปฏิวัติเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่แล้ว ได้แก่

1.การสร้างความแตกแยกของผู้คนในสังคม

2.การทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

3.การแทรกแซงองค์กรอิสระ

4.การหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ส่วนภารกิจในเชิงสร้างกฎระเบียบเป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้นในระยะยาว ก็สามารถดำเนินการควบคู่ไปเพื่อป้องกันมิให้สภาพสังคมและการเมืองกลับไปสู่วงจรอุบาทว์อีก

แต่รัฐบาลนี้และ คมช.มีความคิดที่จะใช้ผลจากการปฏิวัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเป็นสังคมเพียงไร

การเคลื่อนไหวของคนในเครือข่ายอำนาจเก่าที่แพร่ข่าวสารโจมตีการยึดอำนาจ ขณะที่มีกลุ่มคนซึ่งอ้างว่าไม่ได้เชียร์ทักษิณแต่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ก็กลายเป็นแนวร่วมโดยปริยาย รวมถึงกรณีคนขับแท๊กซี่ผูกคอตายพิสูจน์อุดมการณ์รักประชาธิปไตย

อย่ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมประชาธิปไตย ที่ย่อมจะมีคนมีความเห็นแตกต่าง

ประเด็นก็คือ คมช.และรัฐบาลนี้ยังมิได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นทางการในการระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสมุนบริวารเลวร้ายอย่างไร จึงจำเป็นต้องล้ม

การทุจริตที่ถูกเปิดโปงมากมาย ก็ไม่มีการอายัดทรัพย์ และดำเนินการให้พิสูจน์ที่มา แต่กลับใช้การสอบสวนตามกติกาที่ค่อนข้างปกติซึ่งย่อมกินเวลา และไม่รู้ว่าจะได้เรื่องแค่ไหน

แสดงว่าอำนาจบารมีของระบอบทักษิณ ยังมีฤทธิ์เดช ขนาดให้ที่ปรึกษากฎหมายแถลงแย่งพื้นที่ข่าวได้บ่อยๆ

ยิ่งมีการอ้างถึงแนวคิดเรียกร้องให้สามัคคี และสมานฉันท์ ก็น่าเป็นห่วงว่าอาจหลงประเด็น หากไม่แยกแยะ

เพราะการโกงภาษีหรือการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเรื่องความผิดกับกระบวนการลงโทษ ไม่ควรจะอ้างเรื่องสามัคคี อ้างความสมานฉันท์

แต่ถ้าเป็นเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะคนบางกลุ่มได้รับข้อมูลด้านเดียว และหลงผิดว่าผลประโยชน์ที่ได้เป็นเรื่องบุญคุณที่ต้องทดแทนก็ต้องแก้ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และชี้ให้เห็นว่าการเอาเงินของรัฐของหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพวกตัวนั้นไม่ถูกต้อง

ก็เพราะวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางนั้น ตลอด 5-6 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนองประโยชน์ของรัฐบาลในการให้ข้อมูลด้านเดียว จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางกันใหม่

การตีบทให้แตก เพื่อแสดงให้สมจริง กับแผนการใช้สื่อที่มีคุณภาพ และการเผยแพร่ที่ประชาชนยอมรับ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น