xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์สมเด็จตอนที่ 36 ค่าของคนอยู่ที่ความเชื่อถือได้ (ตอน 2-จบ)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

ครูบุญยังย้ำอยู่เสมอว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การสร้างความเชื่อถือ และความเชื่อถือนี่แหละคือทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ฐานะสูงส่งหรือต่ำต้อยประการใด หากผู้นั้นเป็นผู้ที่ผู้คนเชื่อถือก็จะเป็นคนที่มีค่าและสามารถทำการใดๆ ได้สำเร็จ แต่ถ้าหากสูญเสียความเชื่อถือหรือไม่เป็นที่เชื่อถือของใครแล้วก็ยากที่จะทำการใดๆ ให้สำเร็จได้

เพราะเหตุนี้ครูบุญยังจึงมักย้ำนักย้ำหนาว่าเกิดเป็นคนสูญเสียอะไรก็สูญเสียได้ แต่อย่าได้สูญเสียความเชื่อถือเป็นอันขาด เพราะถ้าหากผู้คนไม่เชื่อถือแล้วก็เหมือนกับสิ้นแล้วซึ่งความเป็นคน และหาคุณค่าใดๆ ไม่ได้อีก

บางวันครูบุญยังพร่ำสอนศิษย์อยู่ดีๆ ก็สั่งให้ครูทั้งโรงเรียนมาเตรียมพร้อมอยู่ข้างหน้า แล้วให้ค้นนักเรียนทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก

แต่ปรากฏเสมอว่าการค้นแทบทุกครั้งจะได้สิ่งของที่สามารถใช้เป็นอาวุธตามมากตามน้อย บางวันได้มากเป็นเข่งก็มี ผมทราบภายหลังว่าครูบุญยังเอาใจใส่เป็นธุระดูแลความเป็นไปของศิษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่นักเรียนต่างโรงเรียนยกพวกตีกันบ่อยๆ และหลายครั้งก็มีนักเรียนโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เข้าผสมโรงตีกับเขาด้วย

ดังนั้นในแต่ละวันอาจารย์ใหญ่จึงจัดครูเข้าเวรยืนสังเกตการณ์อยู่หน้าโรงเรียน 2-3 จุด ครั้นพบพิรุธว่านักเรียนพกพาสิ่งที่อาจเป็นอาวุธได้ก็จะรายงานให้อาจารย์ใหญ่ทราบ จึงเป็นเหตุให้มีการค้นนักเรียนเป็นระยะๆ และเห็นเป็นผลดีอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถป้องกันหรือป้องปรามการตีกันได้เป็นอย่างดี

ผมได้รับความเมตตาจากอาจารย์ใหญ่เป็นพิเศษตั้งแต่ครั้งมาขอเข้าเรียนตลอดมา ทุกเดือนครูบุญยังจะเรียกเข้าไปหาที่ห้องอาจารย์ใหญ่แล้วไต่ถามผลการเรียน ผมก็รายงานให้ทราบตามความเป็นจริง บางครั้งท่านก็ลองสอบถามแบบทำนองสอบปากเปล่า ผมก็ตอบได้อย่างแคล่วคล่อง ท่านก็มีความยินดี

การทั้งนี้คงเป็นเพราะผมเข้ามาเรียนในลักษณะที่ผิดปกติกว่าคนอื่น เพราะมาเรียนในขณะที่โรงเรียนเปิดเรียนไปหลายวันแล้ว และครูบุญยังเป็นผู้รับผมเข้าเรียนด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงย่อมต้องรับผิดชอบในผลการเรียนและในการประพฤติปฏิบัติของผม หรือมิฉะนั้นก็เกิดแต่จิตใจของความเป็นครูที่มีความเมตตาต่อศิษย์บ้านนอกว่าจะเรียนทันคนอื่นหรือไม่

ความน่าแปลกของครูบุญยังอยู่ตรงที่ท่านให้ความสนใจในภาษาไทยเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เรียกผมเข้าไปพบก็จะถามเรื่องความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยและวรรณคดีไทย แทนที่จะสอบถามผมในเรื่องภาษาอังกฤษซึ่งครูใหญ่รู้ดีตั้งแต่ต้นแล้วว่าผมอ่อนภาษาอังกฤษ

ผมรักภาษาไทยและสนใจภาษาไทยมาแต่น้อย และมักอ่านหนังสือเรียนที่เกี่ยวกับภาษาไทยไว้ล่วงหน้าเสมอ จึงสามารถตอบครูใหญ่ได้โดยไม่ติดขัด เหตุนี้ผมจึงได้รับความเมตตาและได้รับความสนิทสนมจากครูใหญ่เป็นพิเศษ

ในเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยนี้ ครูบุญยังสอนว่าเกิดเป็นคนไทยจะเรียนสรรพวิชาใดหรือภาษาใดก็ตามทีแต่อย่าได้ทิ้งภาษาไทย เพราะเป็นสิ่งซึ่งแสดงความเป็นไทยและความเป็นคนไทย นอกจากนั้นภาษาไทยยังมีอรรถรส มีความงดงามประณีต และบ่งบอกถึงอัชฌาสัย ใจคอ วัฒนธรรม และคติสอนใจชนิดที่คาดคิดไม่ถึง

วันหนึ่งครูบุญยังได้ท่องโคลงบทหนึ่งให้ผมฟังว่า

“น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยวยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงามว่าหญ้า
ตาทรายยิ่งนิลวาวพรายเพริด
ลิงว่าหว้า หวังว่าหว่าดิ้นโดดโดย”


พอท่องโคลงจบครูใหญ่ก็ถามว่าผมเข้าใจความหมายของโคลงบทนี้หรือไม่ และให้ผมลองแปลความหมายโคลงบทนี้ให้ฟัง

ผมกราบเรียนตอบครูใหญ่ว่าคิดว่าพอเข้าใจ และได้แปลความหมายโคลงบทนี้ไปตามที่เข้าใจในขณะนั้น

ครูบุญยังก็ว่าที่ผมแปลความหมายนั้นเป็นความหมายพื้นๆ แท้จริงโคลงบทนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง อย่างตื้นที่สุดแปลตามตัวหนังสือหรือแปลตามพยัญชนะก็แปลได้ว่า แม่น้ำเคี้ยวคด นกยูงซึ่งบินอยู่สูงสำคัญผิดคิดว่าเป็นงูจึงบินตาม กวางทรายมองเห็นหางนกยูงที่เขียวสดงดงามสำคัญผิดคิดว่าหญ้า ตาทรายดำสนิทดุจดังนิล ลิงสำคัญว่าเป็นลูกหว้ากระโดดไขว่คว้าไล่ตาม

ครูบุญยังบอกว่าความหมายที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ในโคลงบทนี้เป็นคำสอนสำคัญ ที่ควรเป็นคติเตือนใจและนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์

ครูบุญยังอธิบายว่าสิ่งที่เห็นด้วยตาและเข้าใจตามที่เห็นนั้น กับความเป็นจริงของสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่อย่างเดียวกัน สิ่งที่เห็นว่าเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงอาจเป็นอีกอย่างหนึ่งและอาจไม่ใช่อย่างที่เห็นก็ได้ ดังนั้นอย่าได้มั่นใจในสิ่งที่เห็นจนเกินไปต้องใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาโดยถ่องแท้ว่าความจริงของสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร

ครูบุญยังยังขยายความต่อไปด้วยว่า คนเราเป็นสิ่งที่มองได้โดยยาก บางคนดูรูปลักษณะภายนอกและท่วงท่ากิริยาเจรจาพาทีอาจนึกว่าเป็นคนดี แต่แท้จริงอาจเป็นคนชั่วช้าเลวทรามก็ได้ บางคนดูรูปชั่วตัวดำแข็งกระด้างหยาบคาย แต่แท้จริงอาจจะเป็นคนที่มีความดีงามก็ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้ คนเป็นสิ่งที่ดูยากและเข้าใจยากที่สุด

คำสอนของครูบุญยังในเรื่องนี้ผมยังจดจำและฝังใจแน่นแฟ้นไม่เคยลืมเลือนเลย ยิ่งวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด ก็ยิ่งรู้สึกซึ้งถึงพระคุณครูที่สู้อบรมพร่ำสอนศิษย์ โดยไม่คิดเห็นแก่ความเหนื่อยยาก

ศิษย์ใดได้ครูอย่างครูบุญยังหรือครูท่านอื่นที่เคยสอนผมในขณะนั้นแล้วย่อมถือได้ว่าเป็นศิษย์ที่มีบุญ เพราะท่านเหล่านั้นล้วนเป็นครูแท้ คือเป็นผู้แบกภาระอันหนักในทางจิตวิญญาณที่ทำหน้าที่ยกระดับสติปัญญา ความรู้ และคุณธรรมของศิษย์ ทำคนให้เป็นคน พูดง่ายๆ ก็คือหน้าที่ของครูนั้นคือการสร้างคนให้เป็นคน โดยมิได้หวังผลตอบแทนหยาดเหงื่อแรงงานใดๆ เลย

เพราะครูมีคุณธรรมล้ำเลิศฉะนี้ ศิษย์ของครูบุญยังส่วนใหญ่จึงเป็นคนดี และความเป็นคนดีนั้นก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสุขสบาย แม้ว่าบางคนจะมีฐานะที่ลำบากยากจนในภายหลังก็ตาม

ครูบุญยังล่วงลับดับสูญไปนานช้าแล้ว แต่ถึงวันนี้ศิษย์ทุกคนของครูบุญยังยังคงรักเคารพศรัทธาและรำลึกถึงพระคุณครู โดยได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อครูผู้มีพระคุณอยู่เสมอๆ

ครูรุ่นนั้นต่างกับครูรุ่นปัจจุบันนี้จนแทบเทียบกันไม่ได้ หาไม่แล้วปัจจุบันนี้ที่ไหนเลยจึงมักปรากฏข่าวครูข่มขืนศิษย์ ครูทุบตีศิษย์ ครูหลอกลวงศิษย์ ครูขายยาบ้าให้ศิษย์อยู่เสมอ หากครูขาดคุณธรรมเสียเองแล้ว ไหนเลยจะสามารถสั่งสอนศิษย์ให้มีคุณธรรมได้ เพราะแบบพิมพ์ที่ชั่วช้าหาคุณธรรมไม่ได้ก็ย่อมเป็นเบ้าหล่อหลอมให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ชั่วช้าหาคุณธรรมไม่ได้อย่างเดียวกัน

ดังนั้นเมื่อจะปฏิรูปหรือจะปฏิวัติการศึกษาก็ต้องปฏิวัติที่ตัวครูนั้นก่อน จะไปปฏิวัติปฏิรูปกันที่ระบบการเรียนการสอนหรืออุปกรณ์การศึกษาย่อมไม่มีวันสำเร็จได้

แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะความศิวิไลซ์ของบ้านเมืองได้ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในวัตถุจนลืมความงดงามทางจิตใจไปหมดสิ้น ครูก็ถูกกระแสตะวันตกที่หลากไหลพัดพาไปในทางต่ำ ก่อเกิดเป็นเบ้าหลอมที่ให้ผลิตผลดังที่เห็นๆ กันอยู่ เมื่อกล่าวกันให้ถึงที่สุดแล้วจึงมีแต่ต้องพร้อมหน้าพร้อมใจกันกลับไปสู่สังคมแบบอดีตที่ถือคุณงามความดีและจิตใจเป็นใหญ่กันเสียใหม่ เห็นจะดีกว่าที่จะปล่อยให้กระแสศิวิไลซ์ชักพาไปดังที่เป็นอยู่นี้.

โปรดติดตามตอนที่ 37 “ความถูกต้องกับความถูกใจ ตอน 1” ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2549
กำลังโหลดความคิดเห็น