xs
xsm
sm
md
lg

คนดี คนเก่ง คนกล้า

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชหัตถเลขามีความตอนหนึ่งถึง “moral courage” ซึ่งหมายถึง “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” ทรงถือว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก

ในโลกนี้มีคนสามจำพวกคือ “คนดี” “คนเก่ง” และ “คนกล้า” คนสามจำพวกนี้มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับคนทั่วๆ ไป ยิ่งคนที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามประการคือ ทั้งดี เก่ง และกล้าด้วย ยิ่งมีน้อยลงไปอีก

ส่วนย่อยของสังคมให้น้ำหนักความดี ความเก่ง และความกล้าต่างกันไป ในหมู่นักรบ ความกล้ามีความสำคัญกว่าความดีและความเก่ง ทางธุรกิจ แต่ก่อนเน้นเฉพาะความเก่ง ส่วนความดีเพิ่งมาพูดถึงกันในรูปของ “ธรรมาภิบาล” เมื่อเร็วๆ นี้เอง

ในทางการเมือง คุณสมบัติสามประการนี้ออกจะสับสน โดยเฉพาะการคำนึงถึง “ความดี” คนดีและคนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนกล้า จะว่าไปแล้ว คนดีและคนเก่งของสังคมไทยมักไม่กล้า แต่จะระมัดระวังประคับประคองตัวไปเรื่อยๆ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมจารีตนิยม ไม่ชอบการกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

การที่คนดีและคนเก่งขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมและศีลธรรมนั้น ทำให้คนเก่งที่เป็นคนชั่วสามารถคุมอำนาจได้ และทำให้บ้านเมืองมีปัญหามากขึ้นจนยากที่จะแก้ไข

สังคมไทยยกย่องผู้ซึ่งมีความสำรวมไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่ท้าทายอำนาจ การเงียบและการวางเฉยเป็นอุปนิสัยที่ผู้ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต มีตำแหน่งสูงต้องปลูกฝังไว้ ผู้ใดที่ดีเก่งแต่กล้า แม้จะมีคนยกย่อง แต่ก็ไม่อยากยุ่งด้วยหรือมอบหมายงานสำคัญให้ทำ ลึกๆ แล้วคนทั่วไปมักจะกลัวคนดีที่เก่งและกล้าว่ามีความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป และจะ “พูดกันไม่รู้เรื่อง”

สถานการณ์บ้านเมืองสมัยทักษิณ ทำให้เราได้สัมผัสกับคนดี คนเก่ง และคนกล้ามามาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง และคนกล้า แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่คนดี และแวดล้อมไปด้วยคนชั่ว ไม่เก่งแต่กล้ามากมายจนทำให้พังในที่สุด

เหตุที่รัฐบาลทักษิณล้มลงได้นั้น ไม่ใช่เพราะการรัฐประหาร แต่เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของคนดี คนเก่ง และคนกล้า โดยผู้เข้าร่วมอาจมีความดีและความเก่งแตกต่างกันไป แต่ทุกคนเป็นคนกล้า ส่วนคนดีและคนเก่งที่นิ่งเฉยอยู่ระมัดระวังตัว และต้องรอคอยจนมั่นใจแล้ว จึงตัดสินใจทำรัฐประหารนั้น เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง

คนกลุ่มนี้ เมื่อได้อำนาจแล้วก็จะมีความระมัดระวังอีกตามอุปนิสัย คือไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับคนกล้ามากนัก ผู้ที่เป็นคนดีและคนเก่งที่ไม่ใช่คนกล้า (ทางการเมือง แต่กล้าทางการรบ) ก็จะเลือกผู้ร่วมงานที่มีบุคลิกภาพแบบเดียวกัน และเมื่อได้อำนาจแล้วก็จะไม่อยากให้ผู้กล้าเข้ามาร่วมงาน จนในที่สุด กลุ่มคนที่ปูทางในการโค่นล้มรัฐบาล ก็จะถูกกันออกไป และเกิดความแปลกแยก หากกลุ่มทักษิณเกิดฮึดต้านกลับ กลุ่มพันธมิตรฯ ที่เกิดความรู้สึกว่าได้รับความรังเกียจจากผู้มีอำนาจ ก็จะวางเฉย ปล่อยให้รัฐบาลสู้กับกลุ่มต่อต้านแทน

นี่คือสัจธรรมของการเมืองไทยที่ผมรู้มาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แล้ว นิสิต นักศึกษา นักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างระบอบเก่าได้ปูทางให้คนดี คนเก่งที่รักนวลสงวนตัวก้าวขึ้นมาได้ดิบได้ดีกันไปมากมาย คนดีคนเก่งที่อยู่กับทุกระบอบได้ จึงกลายเป็นแบบอย่างสำหรับคนดี คนเก่งรุ่นหลัง

อุปนิสัยที่น่ากลัวที่สุดก็คือ คนเก่งที่ไม่กล้าและไม่ใช่คนดีจริง คนเหล่านี้อาศัยภาพพจน์มีตำแหน่ง และได้ผลประโยชน์ไปมากมาย ถ้าจะถามว่า พวกเขาทำงานให้ใคร คำตอบก็คือ เขาทำให้ตัวเขาเอง และมีผลประโยชน์ของตัวเอง

คนดีที่ไม่เก่งแต่กล้านั้น ยังดีกว่าคนเก่งที่ไม่กล้า บ้านเมืองเราต้องการคนกล้า เพราะคนชั่วนั้นเต็มไปด้วยพลังที่จะรวมหัวกัน เนื่องจากคนดี แต่ไม่มีความกล้าหาญมีแยะ คนชั่วจึงสามารถปกครองประเทศได้

ผมเห็นความจริงข้อนี้มานานแล้ว ในสถานการณ์การต่อต้านทักษิณ ดร.วุฒิพงศ์ เพรียบจริยวัฒน์ ก็เป็นตัวอย่างของคนดี เก่ง และกล้า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นอีกคนหนึ่ง บนเวทีพันธมิตรฯ เราเห็นผู้กล้ามากมาย คนเหล่านี้ควรมีบทบาททางสาธารณะมากขึ้น และจะเป็นที่น่าเสียดาย หากเขาเหล่านี้มีความแปลกแยกกับคณะผู้มีอำนาจ

เพราะนั่นหมายถึงจุดอ่อนที่สุดของรัฐบาลนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น