xs
xsm
sm
md
lg

คมช.อย่าหลงคลื่นใต้น้ำ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

การที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ พล.อ.อู๊ด เบื้องบน ประสานการให้เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีได้ ต้องถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว

แม้ว่ามีการแจกแจงต่อมาว่า 15 นาทีที่อยู่ในบ้านสี่เสา เมื่อหักลบเวลาเดินเข้าบ้านและเวลารอพบภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้พูดคุยกับ “ป๋าเปรม” แค่ 5 นาที ก็ตาม

แต่ภาพที่สังคมได้รับรู้ก็คือ ความไม่ธรรมดาของผู้หญิงคนนี้ แม้จะยืนยันว่ามิได้พูดกันเรื่องการเมือง หรือการขอเจรจาเพื่อเปิดทางให้คุณทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาเมืองไทยก็ตาม

ขณะที่สังคมแม้จะเข้าใจดีว่า ประธานองคมนตรีเป็นผู้ใหญ่ที่มีเมตตาธรรม แต่เมื่อคิดด้วยเหตุและผล ย่อมเห็นว่าไม่เหมาะที่จะมีผู้ยอมประสานให้เข้าพบในช่วงนี้

เพราะถึงอย่างไรก็มีผลทางการเมือง โดยที่ พล.อ.อู๊ด อย่ามาโทษว่า เป็นเพราะสื่อมวลชนเขียนอย่างมีเป้าให้เป็นประเด็นข่าวตามที่คาดคะเนเป็นเป้าเลย เรื่องแบบนี้สื่อย่อมสะท้อนข้อสงสัยของสังคมและต้องติดตามความจริงให้ปรากฏอยู่แล้ว

ยิ่งขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองมีประเด็นให้สังคมสงสัยและสับสนอยู่แล้วว่า ดูเหมือนกลุ่มอำนาจคณะทหารผู้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลรักษาการลงไปนั้น มีบางส่วนแกรงใจกันอยู่ จนไม่ดำเนินการเชิงรุกอย่างที่ควรจะเป็น

จนดูไม่สมกับการอ้างปัญหาวิกฤติ 4 ข้อ ในการเข้าทำรัฐประหาร เพราะปฏิบัติการผ่านมาแล้ว 40 วัน ยังไม่มีการตีแผ่ข้อเท็จจริงความเลวร้ายและรายงานความคืบหน้าในการจัดการเอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง

นี่เอง จึงเป็นเหตุให้ขบวนการคลื่นใต้น้ำของเครือข่ายกลุ่มผู้เสียอำนาจเก่าในภาคเหนือกล้าท้าทายเคลื่อนไหวกระจายเสียง และแจกใบปลิวโจมตีคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

เพราะพวกนี้มั่นใจว่า ผลประโยชน์เฉพาะหน้าจากโครงการต่างๆ ที่ได้รับจากนักการเมืองของรัฐบาลชุดที่แล้ว และข่าวสารที่ประชาชนได้รับทางเดียวมาตลอด 5 ปี ผ่านวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐที่ถูกครอบงำสนองประโยชน์ของพรรครัฐบาลจนเกิดความเชื่อถือศรัทธา

แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯ สืบทอดมาถึงรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นก็ยังไม่คิดที่จะสั่งการให้ปรับรายการให้มีเนื้อหาสนองเป้าหมายการปฏิรูปให้คุ้มค่ากับการได้ปฏิวัติ

เรื่องเร่งด่วนการตีแผ่ความจริงอีกด้านซึ่งรายการวิทยุโทรทัศน์ที่รัฐคุมอยู่ยังไม่สื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ถึงขั้นวิกฤติจนต้องยึดอำนาจเพื่อหยุดยั้งความเลวร้ายทั้ง 4 ข้อ คือ

1. การสร้างความแตกแยกแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงในสังคมไทย

2. การบริหารส่อไปทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

3.องค์กรอิสระถูกครอบงำ

4.หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อสถานีโทรทัศน์เคยจัดรายการนายกทักษิณคุยกับประชาชนทุกวันเสาร์มาล้างสมองมาหลายปี

ถ้ามีการชี้แจงชำแหละความเลวร้ายของระบอบทักษิณผ่านสื่อโทรทัศน์อย่างน้อยก็ช่องที่รัฐคุมใกล้ชิดอย่างช่อง 9 ช่อง 11 และ ช่อง 5

ถามว่าคนที่ยังเชียร์ทักษิณจะด้วยเห็นแก่อำนาจและประโยชน์ที่เคยได้และหวังอยากได้อีก

เมื่อรับรู้ถึงข้อเท็จจริงความเลวร้ายทั้ง 4 ข้อ ดังที่เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังจะยืนอยู่ข้างคนผิด สนับสนุนคนที่เป็นภัยต่อสังคมและสถาบันสำคัญของชาติอยู่หรือ

แต่สิ่งสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่ท่าทีในการพิสูจน์ความจริงใจในการเข้ายึดอำนาจเพื่อ “ปฏิรูปอย่างแท้จริง” มิใช่ทำเพื่อรักษาอำนาจและมีแผนสืบทอดอำนาจอย่างคณะปฏิวัติหลายยุคในประวัติศาสตร์

รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งสืบทอดอำนาจจากคณะผู้ยึดอำนาจอยู่แล้ว ก็ต้องมีเป้าหมายเพื่อ “ปฏิรูปสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง”

ถ้าเอาวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์สังคม ดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรมเป็นพันธกิจ ที่ต้องมีนโยบายและกลไกทางกฎหมายสนับสนุนให้บรรลุผล

การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องปรับเปลี่ยน “คน” คณะผู้คุมนโยบายและผู้บริหารองค์กรใครที่เคยมีความคิดเห็นและพฤติการณ์รับใช้ความฉ้อฉลของรัฐบาลที่แล้วก็ต้องสอบสวนลงโทษเพื่อเปลี่ยนตัว

ถ้ามัวท่องคำว่า “สมานฉันท์” ในกรณีนี้ก็เป็นการรักษาคนเก่าที่ใช้ไม่ได้เอาไว้

ตัวอย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลไกใกล้ชิดประชาชนอย่าง “ตำรวจ” ก็เป็นที่วิจารณ์ส่ายหน้ากันทั่ว พิสูจน์ด้านพฤติการณ์เลืือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมมีให้เห็น

ทั้งการเลื่อนตำแหน่งเหมือนให้รางวัลคนผิดที่มีหลักฐานชัดว่าร่วมมือสั่งการให้อันธพาลทำร้ายประชาชน แต่กลับดำเนินคดีคนในฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้

แล้วคมช.จะตอบคำถามสังคมอย่างไรว่าตกลงที่ทำไปต้องการปฏิรูปการปกครองแท้จริงหรือไม่

คมช.ต้องตระหนักว่า ได้ดอกไม้และกำลังใจจากประชาชนเพราะต้องการให้แก้ไขสิ่งเลวร้ายและรัฐบาลต้องสืบทอดภารกิจการสร้างสรรค์กลไกและบุคคลที่สร้างความถูกต้องเป็นธรรมแก่สังคมและประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น