ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ขอนแก่น วางกรอบพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกบินหลักของประเทศ รับศิษย์การบินจากทั่วโลก เผยศักยภาพจังหวัดขอนแก่นเหมาะสมต่อการฝึกภาคอากาศ ทั้งยุทธศาสตร์จังหวัดสอดคล้องกับสบพ. วางกรอบผลิตนักบินพาณิชย์ตรีให้ถึง 300 คนภายในปี 2551 รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กระทรวงคมนาคม ทำพิธีเปิดศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 (จังหวัดขอนแก่น) มีนายบุญญฤทธิ์ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน นาวาอากาศเอกชูศักดิ์ อำไพ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐและเอกชนในจังหวัดขอนแก่น อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ร่วมในพิธีเปิดศูนย์จำนวนมาก ณ ท่าอากาศยานขอนแก่น (อาคารเดิม) อ.เมือง จ.ขอนแก่น
นายบุญฤทธิ์ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ในฐานะประธานพิธีเปิดศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ท่าอากาศยานขอนแก่น เปิดเผยว่า สถาบันการบินพลเรือนได้จัดตั้งศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดการขยายตัวด้านการอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคและเพื่อขยายกำลังการผลิตนักบินของสถาบันการบินพลเรือน
ขณะเดียวกันการตั้งศูนย์ฝึกการบินที่จังหวัดขอนแก่น เป็นการขยายโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีทางเลือกในการก้าวสู่สายอาชีพนักบิน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาต่อของเยาวชนไทยในอนาคต
นายบุญฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เดิมศูนย์ฝึกการบินพลเรือน ณ สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีข้อจำกัดด้านความสามารถการผลิตนักบินได้เพียงปีละ 70-100 คนเท่านั้น ขณะที่ตามแผนในปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นไป สถาบันการบินพลเรือน จะต้องขยายกำลังการผลิตนักบินในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 300 คนภายในปี 2551
ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของสถาบันการบินพลเรือน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ที่มุ่งเน้นด้านการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งจังหวัดขอนแก่น มีศักยภาพสูงด้านการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงมีสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการฝึกบิน สามารถใช้ท่าอากาศยานจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ฝึกหลักร่วมกับท่าอากาศยานในจังหวัดต่างๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยรอบ
ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินว่า มีลู่ทางที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เกิดความต้องการบุคลากรทางด้านการบินสูงมาก จำเป็นที่สถาบันการบินพลเรือน จะต้องผลิตบุคลากรมารับรองความต้องการ ของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งนักบินพาณิชย์ตรี และบุคลากรอื่นๆ อาทิ หลักสูตรภาคพื้นดิน จะมีความต้องการขยายตัวตามไปด้วย
กรอบและทิศทางการพัฒนาศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ฝึกการบินระดับนานาชาติ มีนักศึกษาการบินจากหลายประเทศทั่วโลก เดินทางเข้ามาศึกษาด้านการฝึกบินที่ศูนย์ฝึกการบินจังหวัดขอนแก่น ซึ่งศักยภาพการผลิตนักบินพาณิชย์ตรี และหลักสูตรการบินอื่นของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ได้พัฒนาหลักสูตรด้านการบินครอบคลุมเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สามารถพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคได้
“ที่ผ่านมาสถาบันการบินพลเรือน เป็นสถาบันการศึกษาหลักที่ผลิตบุคลากรด้านการบิน ดำเนินกิจการเกี่ยวกับบริการช่างอากาศยาน บริการอากาศยาน และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการบิน ดำเนินการมากว่า 45 ปี สามารถผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินมากกว่า 20,000 คน ให้กับสายการบินต่างๆจาก 76 ประเทศทั่วโลก”นายบุญฤทธิ์กล่าวและว่า
ศิษย์การบินที่สำเร็จการฝึกอบรมจากสถาบันการบินพลเรือน ทั้งแบบเครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์ มีศักย์และสิทธิ์ ได้รับใบอนุญาตทำการบินจากกรมการขนส่งทางอากาศ โดยไม่ต้องทำการสอบข้อเขียนและสอบภาคปฏิบัติทางอากาศเพิ่มเติม แตกต่างจากศิษย์การบินจากสถาบันอื่นที่ต้องสอบใบอนุญาตทำการบิน จึงจะสามารถทำการบินตามศักย์และใบอนุญาตตามกฎเกณฑ์ของประเทศต่างๆได้ทั่วโลก
ในเบื้องต้นศูนย์ฝึกการบินขอนแก่น มีภารกิจหลักในการฝึกอบรมศิษย์การบินหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเฉพาะแบบ Instrument Rating และแบบ Multi Engine Rating เพื่อแบ่งเบาความหนาแน่นการใช้พื้นที่ฝึกบินบริเวณศูนย์ฝึกการบินหัวหินและรองรับความต้องการของศิษย์ต่างชาติอีกจำนวนมากที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรภาคอากาศของสถาบันการบินพลเรือน
ด้านนาวาอากาศเอกชูศักดิ์ อำไพ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกการบิน สถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า การขยายฐานการฝึกบินมาที่ศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ท่าอากาศยานจังหวัดขอนแก่น มีหลักสูตรหลักประกอบด้วย หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ระยะเวลาการศึกษาอบรม 1 ปี ฝึกบินด้วยเครื่องบินเครื่องยนต์เดียว และสองเครื่องยนต์
เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองการเป็นนักบินพาณิชย์ตรี จากกรมการขนส่งทางอากาศ และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล ระยะเวลาการศึกษาอบรม 6 เดือน ฝึกบินด้วยเครื่องบินเครื่องยนต์เดียว สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองการเป็นนักบินส่วนบุคคล จากกรมการขนส่งทางอากาศและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
“ศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ฝึกการบินหลัก ในหลักสูตรภาคอากาศ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของจังหวัดขอนแก่น เหมาะสมต่อการฝึกการบินมาก ทั้งมีสนามบินจังหวัดใกล้เคียง เช่น สนามบินร้อยเอ็ด ที่ศิษย์การบินสามารถใช้เป็นพื้นที่ฝึกบินขึ้น-ลงเครื่องบินได้” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกการบิน กล่าวและว่า
เบื้องต้นศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ขอนแก่น ได้ทำการฝึกบินให้กับศิษย์การบินหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีขั้นสูง มาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2549 โดยสถาบันการบินพลเรือน ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมการขนส่งทางอากาศ ให้ใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังเดิม ขณะนี้ได้จัดทำผังแม่บท เพื่อจัดสร้างอาคารที่ทำงาน ที่พักศิษย์การบิน ในพื้นที่บริเวณสนามบิน ตามแผนงาน 5 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ศิษย์การบินชุดแรกเข้ามาศึกษาที่ศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ขอนแก่นทั้งสิ้น 15 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนการบินไทย โดยศิษย์รุ่นนี้จะจบการศึกษาประมาณกลางเดือนธันวาคม 2549 นี้ และต่อไปจะมีศิษย์การบินเข้ามาศึกษาที่ขอนแก่นอีกประมาณ 53 คน และภายในเดือนเมษายน 2550 จะมีศิษย์การบินจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาที่ขอนแก่นด้วย
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 จ.ขอนแก่น กลุ่มปัญจมิตร ได้ทำหนังสือประกาศเจตนารมณ์ ให้การสนับสนุนสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัย การบินและอากาศยาน” ที่ จ.ขอนแก่น ลงวันที่ 11 พ.ย.48 โดยได้ยื่นหนังสือสนับสนุนประกาศเจตนารมณ์ให้กับนายบุญฤทธิ์ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือนพิจารณา
โดยกลุ่มปัญจมิตรมองว่า การตั้งศูนย์ฝึกบินจะเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดขอนแก่นสูงมาก จะทำให้ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตบุคลากรด้านการบิน ทั้งยังเป็นโอกาสดีของนักเรียนนักศึกษาในภาคอีสาน ที่จะเรียนต่อในด้านการบินที่จังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินของไทย ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน อาทิ นักบิน วิศวกรการบิน และบุคลากรด้านลอจิสติกส์, หน่วยงานด้านการบินขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องส่งบุคลากรที่มีอยู่ไปอบรมยังต่างประเทศ หรือจ้างบุคลากรต่างประเทศมาทำงาน กระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมบินของประเทศโดยรวม
ขณะที่อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจ โดยอีก 18 ปีข้างหน้า ปริมาณความต้องการอากาศยานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,643 เครื่อง จีนเพียงประเทศเดียว ต้องการอากาศยานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,293 เครื่อง ขณะที่ปริมาณความต้องการนักบินพาณิชย์ตรีในภูมิภาคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 23,500 คน/ปี เฉพาะความต้องการนักบินพาณิชย์ตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 คน/ปี