xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ลูกศิษย์ผมที่เคยสมัคร ส.ส.และเวลานี้ทำไร่อยู่ต่างจังหวัดมาเล่าว่า ตามบ้านนอกนั้น การขายเสียงเป็นเรื่องที่แพร่หลายมาก และยากที่จะขจัดให้หมดไป ถ้าเป็นเช่นนั้น การให้สิทธิเลือกตั้งจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อผู้มีสิทธิกลับขายสิทธิเสียเอง

แต่ถ้าเรายึดถือหลักประชาธิปไตย ก็จำต้องมีการเลือกตั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะขายสิทธิ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการหาทางแก้ไขป้องกันจะดีกว่า

ทางหนึ่งก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมถึงผลเสียของการขายสิทธิ อีกทางหนึ่งก็คือ การมีบทลงโทษตัดสิทธิการเลือกตั้งผู้ขายสิทธิ 5 ปี 10 ปี หรือตลอดชีวิต

การซื้อเสียงนำไปสู่การถอนทุน เมื่อผู้ซื้อสิทธิเข้าไปเป็นรัฐบาลก็จะหาทางโกงต่างๆ นาน การจัดการกับนักการเมืองที่ฉ้อฉลทุจริตอย่างเด็ดขาด ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการลดการซื้อเสียงลงได้

การใช้เงินกับกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน ประเทศที่ใช้ระบอบนี้มีประสบการณ์ของการซื้อเสียงมาก่อน ต่อมาประชาชนมีรายได้ดีขึ้น และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีกลวิธีในการหาความสนับสนุนจากประชาชนได้หลายทาง จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการซื้อเสียงอีกต่อไป

เคยมีผู้เสนอให้จำกัดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ไม่ให้เกินสองสมัย จะได้ลดการทุ่มเงินลงเพราะจะไม่คุ้มค่า แต่สองสมัยก็เป็นเวลานานพอที่จะให้นักการเมืองถอนทุนคืน และยังทำกำไรได้ ไปๆ มาๆ วิธีนี้ก็ไม่ได้ผล ผมเห็นว่าเหลือวิธีเดียวคือ การให้การศึกษาควบคู่ไปกับการตรวจสอบลงโทษอย่างเด็ดขาด คือสร้างระบบการตรวจสอบลงโทษให้เข้มแข็ง อาศัยทั้งสื่อมวลชน องค์กรเอกชน และองค์กรอิสระร่วมมือกัน

หากรัฐบาลและคณะผู้ตรวจสอบที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการกับการทุจริตฉ้อฉลในโครงการต่างๆ ได้แล้ว ก็จะเป็นการตัดตอนการหาผลประโยชน์ไปได้ และควรมีการประโคมข่าวให้ประชาชนรู้เห็นเป็นอุทาหรณ์ โดยเฉพาะในหมู่คนต่างจังหวัด

การที่องค์กรอิสระจะทำงานได้ผลนั้น การคัดสรรตัวบุคคลเข้าทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในอดีตเราเห็นแล้วว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญนั้น เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงได้ ดังนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรหาหนทางที่จะให้มีการคัดเลือกบุคคลโดยอาจผ่านทางการคัดสรรของศาลยุติธรรม และให้รัฐสภารับรองโดยไม่ต้องให้รัฐสภาเลือก หากรัฐสภาจะไม่รับรองผู้ใดก็จะต้องมีเหตุผลอย่างชัดเจน

ประเทศไทยเรามีระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลาไม่นาน หนำซ้ำก็ยังขาดความต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนั้น ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในระบอบก็ไม่ใช่ผู้ที่มีน้ำจิตน้ำใจเป็นประชาธิปไตยไปเสียทุกคน การลองถูกลองผิดจึงจำเป็นต้องมี

ระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วง ได้เกิดการรับรู้และเรียนรู้มากมาย น่าสังเกตว่าคนหนุ่มคนสาวเข้าร่วมไม่มากนัก นิสิตนักศึกษาสมัยนี้สนใจการเมืองน้อยลง อาจเป็นเพราะเวลานี้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งกลายเป็นบริษัทค้าขายใบปริญญากันเสียหมด สมัยก่อนผู้เรียนมหาวิทยาลัยจะมีอุดมคตินึกถึงบ้านเมือง ผิดกับเวลานี้ทั้งอาจารย์ ทั้งศิษย์ต่างตั้งหน้าหาเงิน

อีกเรื่องหนึ่งที่สถาบันการเมืองจะต้องรีบแก้ไข ก็คือ ความเข้าใจและความคาดหวังที่คนชนบทมีต่อบทบาทของรัฐบาล การให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีเงินที่กู้ได้เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย แต่น่าจะทำผ่านระบบสหกรณ์ และไม่จำเป็นจะต้องทำเหมือนกันทุกหมู่บ้าน ควรใช้เงินกองทุนเป็นเหตุจูงใจกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกัน และการใช้เงินเพื่อการผลิตที่คุ้มค่า หมู่บ้านใดที่ยังไม่มีความพร้อม ก็ให้การศึกษาอบรมเสียก่อน

การปกครองระบอบประชาธิปไตยเน้นความเป็นอิสระและความมีเหตุผล ความรับผิดชอบในตัวเองของประชาชน เพราะเป็นการปกครองตนเอง หากประชาชนขาดความรับผิดชอบ การมีสิทธิเสรีภาพก็ทำให้เกิดผลร้ายแทนที่จะเป็นผลดี

เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ก็ควรจะรีบส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกของความพอเพียงด้วย และใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีทุนพอที่จะฟื้นตัวเอง และฟื้นสภาพความเป็นอยู่ได้

ผมหวังว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนจะได้สอนครูและนักเรียนให้รู้จักดำเนินวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ ที่วชิราวุธวิทยาลัย มีการอบรมครูและพนักงานทั้งโรงเรียนเพื่อนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปสอนนักเรียน และร่วมกันขับเคลื่อนวิถีชีวิตแบบพอเพียงทั้งโรงเรียน

ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอันตรายคือ ประชาธิปไตยที่ให้ทุนและบริโภคนิยมเป็นตัวนำ-ตัวเร่ง เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งความเกินพอดีของทุนนิยมได้ หากจะมีระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ แล้ว ก็น่าจะเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง และความพอเพียงทางเศรษฐกิจส่วนใดที่พอเพียงเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถแข่งขันในโลกทุนนิยมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น