xs
xsm
sm
md
lg

ช่องทางปลูกยางพาราในเมืองลาว

เผยแพร่:   โดย: ช่อแก้ว ประสงค์สม

ไม้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งของประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศ แต่ที่ผ่านมาจากปัญหาสภาพพื้นดินที่เริ่มเสื่อมโทรม รวมถึงปัญหาพื้นที่อันจำกัดทำให้การส่งออกไม้ยางพาราเริ่มลดลง แต่ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้มีนักลงทุนไทยบางกลุ่มกำลังขยายฐานการปลูกไม้ยางพาราไปที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ประเทศ สปป. ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ซึ่งลาวมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง และจะทำเช่นไรหากสนใจเข้าไปลงทุน วันนี้มีคำตอบ

สปป. ลาว เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ทรัพยากรธรรมชาติของลาว แทบจะยังไม่ถูกทำลาย ซึ่งไม่เพียงลาวจะมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกจำนวนมากแล้ว พื้นที่ยังมีความสมบูรณ์อย่างยิ่ง ด้วยมีปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะ และมีแร่ธาตุในดิน จึงเหมาะอย่างยิ่งในการเพาะปลูก รวมทั้งการที่ลาวมีพรมแดนติดต่อกับไทย จีน เวียดนาม พม่า และกัมพูชา จึงสามารถใช้เป็นประตูทางการค้าและช่องทางส่งออกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ลาว ยังเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 1 ใน 10 ประเทศ จึงทำให้ได้รับสิทธิพิเศษจากนานาประเทศ และแรงงานส่วนใหญ่ยังมีราคาถูกจึงสามารถประหยัดต้นทุนแรงงานได้มาก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอมีหน้าที่นอกจากชักจูงให้เกิดการลงทุนภายในประเทศแล้ว ยังสนับสนุนส่งเสริมให้นักลงทุนไทยขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) และบีโอไอเล็งเห็นว่ายังมีลู่ทางอีกมากในในหลายอุตสาหกรรมใน 4 ประเทศข้างต้น สำหรับลาวนั้นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคืออุตสาหกรรมปลูกไม้ยางพารา

จากการศึกษาพอจะสรุปสาระขั้นตอนการเข้าไปลงทุนปลูกไม้ยางพาราได้ดังนี้ รูปแบบการลงทุนในลาว จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ (1) การร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น โดยผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องถือหุ้นอย่างน้อย 30% (2) การลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ 100% ซึ่งจะเลือกรูปแบบใดนั้น นักลงทุนต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะการลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นนั้น นักลงทุนท้องถิ่นจะลงทุนในรูปของแรงงาน ที่ดิน แต่นักลงทุนต่างชาติต้องลงกำลังเงิน ซึ่งต้องตัดสินใจให้ดีว่าหากมีการขยายการลงทุนที่ต้องใช้เงินอาจต้องหาแหล่งเงินทุนสำรองไว้

ยางพาราเป็นพืชที่ต้องการน้ำฝนในปริมาณมาก เฉลี่ยประมาณ 1,250 -4,000 มิลลิเมตรต่อปี บริเวณแขวงที่น่าสนใจจึงเป็นแขวงทางใต้ของลาว เช่น แขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีความสะดวกเพราะแขวงสะหวันนะเขตจะเป็นแขวงที่เชื่อมต่อกับจังหวัดมุกดาหารของไทยโดยผ่านสะพานไทย-ลาวแห่งที่ 2 ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จในอีกไม่นานนี้ สำหรับแขวงคำม่วนเป็นแขวงที่อยู่ติดกับแขวงสะหวันนะเขต จึงสามารถเดินทางได้สะดวกเช่นกัน

สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและสัมปทานต้องขออนุมัติผ่าน DDFI (Department of Domestic and Foreign Investment) เท่านั้น ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่แขวงเวียงจันทน์ ทั้งนี้ นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตาม Zoning ดังนี้

1. เขต 1 (ความเจริญน้อย) จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 7 ปี และหลังจากนั้นต้องจ่ายภาษีในอัตรา 10%

2. เขต 2 (ความเจริญปานกลาง) จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นต้องเสียภาษีในอัตรา 7.5% เป็นระยะเวลา 3 ปี และเสียภาษีในอัตรา 15% จากนั้นเป็นต้นไป

3. เขต 3 (ความเจริญมาก) จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นต้องเสียภาษีในอัตรา 10% เป็นระยะเวลา 2 ปี และเสียภาษีในอัตรา 20% หลังจากนั้นเป็นต้นไป

(รายละเอียดของการจัดแบ่ง Zoning สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.boi.go.th เลือกหัวข้อภาษาไทย หัวข้อ “ข่าวใหม่”)

ทั้งนี้ การปลูกยางพาราการได้รับยกเว้นภาษีจะเริ่มนับจากวันที่นักลงทุนสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลเพื่อทำกำไร

นักลงทุนต้องขอรับเอกสารเพื่อกรอกและยื่นขอรับการส่งเสริมที่ DDFI หรือที่ว่าการแขวงทุกแขวง โดยคณะกรรมการจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 15-45 วัน แล้วแต่ขนาดการลงทุน โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมในการขออนุมัติลงทุนคือ (1) ใบขออนุญาตการลงทุน (2) ใบจดทะเบียนบริษัท (3) เอกสารข้อตกลงการร่วมทุน (ถ้ามี) (4) แผนการลงทุนของบริษัท (5) เอกสารทางการเงินของบริษัท

เมื่อได้รับอนุมัติให้ลงทุนแล้วจะได้รับเอกสารเพิ่มเติมคือ (1) ใบอนุญาตลงทุนของต่างชาติ (2) หนังสือรับรองการจดทะเบียน (3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนภาษี ขั้นตอนการขออนุมัติจึงถือได้ว่าสมบูรณ์ครบถ้วน

สำหรับเรื่องที่ดิน รัฐธรรมนูญแห่ง สปป. ลาว กำหนดให้ที่ดินทั้งหมดใน สปป. ลาวเป็นของชาติลาว แต่นักลงทุนสามารถเช่าที่ดินได้ เป็นระยะเวลา 30 ปี 50 ปี หรือ 75 ปี และสามารถต่ออายุได้ โดยพื้นที่ที่สนใจทางนักลงทุนอาจเข้าไปติดต่อกับที่ว่าการแขวงซึ่งจะมีหน่วยงานคล้ายๆ กรมที่ดินตั้งอยู่ และขอตรวจสอบที่ดินได้ว่าพื้นที่ที่สนใจเป็นของรัฐหรือเอกชน หากเป็นเอกชนนักลงทุนต้องติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง แต่หากเป็นของรัฐสามารถขอเช่าพื้นที่ได้ ค่าเช่าที่ดินประมาณ 2-9 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อ 1 เฮกเตอร์ (1 เฮกเตอร์ ประมาณเท่ากับ 6.25 ไร่)

สำหรับเรื่องแรงงานนั้น ลาวมีแรงงานค่อนข้างจำกัด คือประมาณ 2.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 6 ล้านคน แต่หากบริษัทต้องการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใช่คนลาว สามารถว่าจ้างได้ไม่เกิน 10% ของแรงงานทั้งหมด โดยนักลงทุนสามารถว่าจ้างแรงงานผ่านทางหน่วยงาน Department for Planning and Investment ของทุกๆ แขวง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของลาว คือ ลาวเป็นพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบสูงเสียมาก และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทำให้การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก ปัญหาเงินกีบขาดเสถียรภาพ ทำให้ยากต่อการวางแผนด้านการตลาดและการลงทุน ปัญหากฎหมายการลงทุนของลาวเป็นกฎหมายเชิงคุ้มครองมากกว่าการส่งเสริม และขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาแรงงานขาดทักษะ ดังนั้นก่อนการไปลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ถี่ถ้วน อาจต้องเดินทางไปอยู่ในแขวงที่สนใจเข้าไปลงทุน เพราะแม้ว่าวัฒนธรรม ภาษาจะคล้ายกับไทย แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ เช่น แรงงานลาวไม่สนใจเรื่องการทำ OT เท่าใดนักเพราะพื้นฐานประเทศลาว เป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ประชากรยังดำรงชีวิตอย่างเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เงินไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเช่นประเทศเสรีนิยม จึงต้องใช้การสร้างความรู้จักมักคุ้นมากกว่าที่จะใช้เงินเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

นักลงทุนที่สนใจจะเข้าไปขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการลงทุน ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.boi.go.th คลิกหน้าภาษาไทย อยู่ในหัวข้อ “ข่าวใหม่” หรือโทรศัพท์สอบถามมายังกองประสานการลงทุน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2537-8111 ต่อ 2040-2050 จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น