xs
xsm
sm
md
lg

น้ำไม่ท่วมดอนเมือง แต่ก็น้ำท่วมถึงปากคนดอนเมือง

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

ในกลุ่มโรงเรียนนายทหารคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (ร.ร.จปร.) โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้น โรงเรียนนายเรืออากาศ ถือเป็นสถาบันที่มีอายุน้อยที่สุดคือ แยกจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ร.ร.จปร.ในปัจจุบัน) มาเป็นโรงเรียนนายเรืออากาศ และมีนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 1 ตามคำสั่งกองทัพอากาศที่ 217/9555 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2496 รับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายเรืออากาศเป็นรุ่นที่ 1 จำนวน 30 นาย โดยบรรจุเข้าเป็น นรอ.ชั้น 1 ร้อย 3 พัน นรอ. ร.ร.นอ. ขึ้นต้นหมายเลข 1 คือ “นายสุธี สมศิริ”

นักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศ จึงมีน้อยรุ่น และเพราะในจำนวนน้อยนี้ จึงมีความผูกพันกันค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าเหล่าทัพอื่นๆ ที่ได้เป็นมาและเป็นไปในอนาคต รวมทั้งเป็นผลต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเหตุการณ์ในการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาครบ 1 เดือนนี้ด้วย

พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ได้เขียนไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อมกราคม 2501 ว่า
“CRANWELL ผลิตผู้บัญชาการทหารอากาศให้อังกฤษได้ในเวลา 36 ปี “ดอนเมือง” ของเราก็ควรจะผลิตผู้บัญชาการทหารอากาศให้ไทยได้ ในเวลาไม่นานกว่านั้น...”

ท่านผู้นี้, เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศ และท่านยังเป็นผู้ทำนายไว้ว่า นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 1 จะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศได้ถึง 3 คน ซึ่งก็ยังคลางใจกันอยู่ เพราะเป็นรุ่นเดียวกัน มีอายุราชการใกล้เคียงกัน เหตุใดจะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศถึง 3 คนได้ แต่แล้ว ก็เป็นความจริงในเวลาต่อมา ที่นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 1 นี้เป็น ผบ.ทอ.ได้ 3 คนตามที่ พล.อ.อ.หะริน ได้ระบุชื่อไว้คือ พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี เลขประจำตัว 5 พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เลขประตัว 6 และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ เลขประจำตัว 11

พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ เมื่อเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศได้ตั้งแนวทางไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศในอนาคต ควรจะเป็นไปตามลำดับรุ่นสืบทอดกันไป และนั่นคือการที่ พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 2 เลขประจำตัว 36 ได้เป็น ผบ.ทอ.ต่อไป และ พล.อ.อ.อมร แนวมาลี นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 5 เลขประจำตัว 452 พล.อ.อ.ธนนิตย์ เนียมทันต์ เลขประจำตัว 437 พล.อ.อ.สนั่น ทั่วทิพย์ เลขประจำตัว 425 ซึ่งเป็น นนอ.รุ่น 5 รุ่นเดียวกัน เป็น ผบ.ทอ. 3 คนในรุ่นนี้

นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 7 เป็นรุ่นที่มีจำนวนน้อยที่สุดคือ 19 คนเท่านั้น และรุ่นต่อมาคือ รุ่น 8 ก็มีจำนวนน้อยอยู่คือ 20 คน แต่ก็ได้เป็น ผบ.ทอ. 1 คนคือ พล.อ.อ.ปอง มณีศิลป์ เลขประจำตัว 635 แล้วข้ามมาถึงรุ่น 12 คือ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา เลขประจำตัว 714 และรุ่น 13 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เลขประจำตัว 808 ผู้บัญชาการทหารอากาศในปัจจุบัน

สำหรับนักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 5 ที่มี ผบ.ทอ.อยู่ 3 คนในรุ่นนี้นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่คือ พล.อ.อ.นิพนธ์ สาครเย็น เลขประจำตัว 457 เป็นผู้มียศและอาวุโส รวมทั้งความเหมาะสมที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศได้ แต่พล.อ.อ.นิพนธ์ เปลี่ยนเส้นทางมาเป็นผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก่อน และรุ่นนี้มีผู้ที่ได้อัตราจอมพลอากาศอยู่อีกหลายคน เช่น พล.อ.อ.มหินทรา เทียมทัศน์ พล.อ.อ.ปรีชา ศักรณรงค์ พล.อ.อ.เสริมยุทธ บุญศิริยะ พล.อ.อ.ประวิช พจน์ประพันธ์ รุ่นนี้จึงถือว่าเป็นรุ่นรวมมือมหากาฬรุ่นหนึ่ง

นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 12 เกือบจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศอีกคนหนึ่ง นอกจาก พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ที่ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของรัฐบาล “ทักษิณ” ยุคสุดท้าย ก่อนจะถูกเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการปกครองจากระบอบ “ทักษิณ” มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา จะให้เพื่อนร่วมรุ่น 12 คือ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ เลขประจำตัว 705 เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศแทน แต่เกิดปัญหาดังที่ทราบกันอยู่ ทำให้ไม่เป็นผลสำเร็จและตำแหน่ง ผบ.ทอ.มาตกอยู่ที่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข โดย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี นนอ.รุ่น 13 เลขประจำตัว 766 ที่เป็นคู่ชิงกับ พล.อ.อ.ระเด่น ไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วนพล.อ.อ.ระเด่น ไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พล.อ.อ.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 12 นี้ โดยทรงมีหมายเลขประจำพระองค์คือ 752

รุ่นที่ 12 นี้ มีผู้ที่ได้ครองอัตราจอมพลอากาศ นอกจาก พล.อ.อ.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แล้ว ก็มี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ พล.อ.อ.อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา พล.อ.อ.อัครชัย สกุลรัตนะ พล.อ.อ.ณพฤกษ์ มัณฑะจิตร

นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 13 คือรุ่น พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศนี้ นอกจาก พล.อ.อ.ชลิต และพล.อ.อ.ธเรศ ซึ่งอยู่ในอัตราจอมพลอากาศแล้ว ผู้ที่ได้ครองอัตราจอมพลอากาศคนแรกของรุ่นคือ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช รองสมุหราชองครักษ์ ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวังศุโขทัย ประจำพระองค์ พล.อ.อ.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สำหรับ พล.อ.อ.โยธิน นี้ เป็นลูกผู้น้องของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยคุณแม่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นพี่สาวคุณแม่ พล.อ.อ.โยธิน และพล.อ.สุรยุทธ์ อยู่ในความดูแลของ “ลุงเขย” คือ พ.อ.ประกอบ ประยูรโภคราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยที่ พ.อ.ประกอบ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ “ป๋าเปรม” และนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นนี้ เป็นเพื่อนสนิทกันอย่างยิ่งอยู่ 4 คนคือ พล.อ.อ.โยธิน พล.อ.อ.ชลิต พล.อ.อ.ธเรศ และ พล.อ.อ.ไพโรจน์ รัตนพล ทั้ง พล.อ.อ.ชลิต พล.อ.อ.ธเรศ และ พล.อ.อ.ไพโรจน์ ได้สมรสกับ “ชาวจุฬาฯ” สาวจากรั้วจามจุรีทั้ง 3 คน

ความโยงใยของนักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 13 กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ในปัจจุบัน ยังมีสิ่งที่น่าจะร้อยเรียงให้เห็นกันคือ

พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นนี้ มีเลขประจำตัวคือ 788

“ทักษิณ” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น (เตรียมทหารรุ่น 10) กับ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม และอดีตผู้อำนวยการกองสลากฯ ได้ขอยืมตัว พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ จากกองทัพอากาศมาอยู่ที่การบินไทยเป็นการชั่วคราว โดยมติของคณะรัฐมนตรี พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บังคับการกองบิน 1 (นครราชสีมา) ผู้ช่วยทูตทหารอากาศที่ออสเตรเลีย และเจ้ากรมข่าวทหารอากาศ จึงยังมีฐานะเป็นทหารอากาศอยู่ จะกลับไปกองทัพอากาศเมื่อใดก็ได้ และยังเป็นผู้ที่ได้รับความเอ็นดูมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย จากการที่สมัย พล.อ.เปรม เป็นพล.อ.ตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี บิดาของ พล.อ.ณรงค์ศักดิ์ และพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ คือ พล.ท.อรุณ สังขพงศ์ เป็นเสนาธิการศูนย์การทหารม้า มีบ้านพักใน ค่ายอดิศร (ค่ายเก่า) ที่บ้านด้วย อยู่ติดกับบ้านพัก พล.อ.เปรม และการที่พล.อ.เปรม เป็นคนโสด การดูแลบ้าน และอาหารการกินทุกอย่าง จึงเป็นหน้าที่ของภรรยา พล.อ.อรุณ

เมื่อเหตุการณ์และสถานการณ์มีควมผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างที่ทราบกันอยู่ ทั้งพล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ และพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ อยู่กับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง 2 พี่น้องก็วางตัวลำบาก และมีความอยากอย่างยิ่งที่จะไปเป็นหลาน “ลุงเปรม” อย่างสนิทใจ

แต่สำหรับ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ นั้น ยังอยู่ในอัตรากำลังพลเอกกองทัพอากาศ การมาอยู่ที่การบินไทย เป็นการขอยืมตัวมาชั่วคราว และบรรดาเพื่อนร่วมรุ่น นนอ. 13 อย่าง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี รองปลัดกระทรวงกลาโหม ก็ยังดูแลเพื่อนที่มีชื่อเล่นว่า “เล็ก” นี้อยู่ด้วยความผูกพันจากการเป็นเพื่อนในรุ่นและเป็น “นักบินไอพ่น” มาด้วยกัน

โอกาสที่จะกลับกองทัพอากาศ ก็มีอยู่อย่างเต็มที่ เพราะเพื่อนร่วมรุ่นก็เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น สำหรับ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์

ที่ได้กล่าว่าเป็น “นักบินไอพ่น” ด้วยกันนั้น ก็มีความหมายและความสำคัญต่อทหารอากาศ

คือในการเป็น “เหล่านักบิน” ก็ยังมีการดูกันที่ฝีมือการบินว่าเป็นนักบินอะไร? คือเป็น นักบินขับไล่ไอพ่น ซึ่งถือว่าสุดยอดของการเป็นนักบิน เป็นนักบินเครื่องยนต์ใบพัด หรือเป็น นักบินเฮลิคอปเตอร์

พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี เป็นนักบินไอพ่น เช่นเดียวกับ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ส่วน พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล นั้น แม้ว่าจะเคยบินไอพ่น แต่ตำแหน่งหน้าที่จะอยู่ทางเครื่องบินลำเลียง เครื่องบินใบพัดมากกว่า

ขณะนี้ พล.อ.อ.วรนาถ มีปัญหาทางสุขภาพ ดังนั้น “พี่ใหญ่” ของนักบินขับไล่ไอพ่นจึงมีแต่ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ และผู้บัญชาการทหารอากาศคนต่อๆ มา จนถึง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.ในปัจจุบันก็เป็นนักบินขับไล่ไอพ่น ดังนั้น พล.อ.อ.กันต์ จึงเป็น “นาย” หรือเป็นพี่ใหญ่ของผู้บัญชาการทหารอากาศทั้งหลาย ที่นับถือกันโดยตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นรุ่นพี่และนับถือกันด้วยฝีมือการบิน

การวางตัวและวางตำแหน่งของ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ นั้น ได้เป็นที่กล่าวกันอยู่แบบ “วงใน” ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความคาดหวังว่า ผู้ที่จะเป็น ผบ.ทอ.ต่อจาก พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา เมื่อลาออกมาสู่การเมืองคือ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ จะกลับมารับหน้าที่ในกองทัพอากาศ คือเป็นเสนาธิการทหารอากาศสัก 2 ปี แล้วเขยิบขึ้นไป เปิดทางให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 17 เลขประจำตัว 1058 เป็นเสนาธิการทหารอากาศแทน และเมื่อ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศแล้ว ผู้ที่จะมารับหน้าที่ต่อคือ พล.อ.อ.สุกำพล

แต่การวางหมากนี้เกิดพลิกผัน เมื่อปี 2548 พล.อ.อ.ระเด่น ไม่ได้ตำแหน่งจึงต้องดัน พล.อ.อ.สุกำพล จากรองเสนาธิการทหารอากาศเป็นเสนาธิการทหารอากาศแบบลัดคิวข้าม พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ แต่ก็ตั้งความหวังว่า พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ จะกลับกองทัพอากาศในตุลาคม 2549 นี้ ในเก้าอี้ที่สำคัญ และพล.อ.อ.สุกำพล นั้น ถูกวางตัวไว้ว่าต้องเป็น ผบ.ทอ.ในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ “ทักษิณ” ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ส่ง พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งเป็น เตรียมทหารรุ่น 10 มีความผูกพันกันมายาวนานมาเป็นพิเศษให้ถึงที่หมายได้ ทำให้เป้าหมายของ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องเปลี่ยนไป

การลาออกจากประธานกรรมการบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ของ นายศรีสุข จันทรางศุ ซึ่งลาออกพร้อมกับกรรมการหรือบอร์ดทั้งหมดนั้น, พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม น่าจะมีคำตอบอยู่แล้วในใจ และเป็นคำตอบเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ว่า ประธานบอร์ดบริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) คนใหม่นั้น จะต้องให้ทางกองทัพอากาศ โดยเฉพาะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการคัดสรรหาผู้เหมาะสมมานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด ทอท.-นี้ เพราะร้อยละ 85% ของผู้ปฏิบัติงานระดับสูงใน ทอท.เป็นอดีตทหารอากาศ และทหารอากาศเป็นผู้ก่อตั้งรับผิดชอบ ทอท.มาตั้งแต่ครั้งเป็น การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

มีข่าวลั่นสนั่นทุ่งดอนเมืองว่า พล.อ.อ.ชลิต ก็มองเห็นแล้วว่า จะเชื้อเชิญผู้ใดมารับตำแหน่งนี้ โดยคาดการณ์หรือมองไปว่า พล.อ.อ.ชลิต จะต้องเลือกทหารอากาศ และกระแสก็ดังขึ้นมาตามลำดับว่า จะเป็น พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ทุกด้าน

รายงาน “ลึก 60 ลับ 40” จากทุ่งดอนเมืองวันนี้, สะท้อนภาพในอดีตและนำสู่เหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่ให้ความแจ่มชัดรอบด้านในลักษณะหนึ่ง และบางอย่างก็เป็นการบอกกล่าวแทนคนทุ่งดอนเมืองได้ แม้ว่าในยามน้ำหลากมากมายมหาศาลของ พ.ศ. 2549 นี้ น้ำไม่ท่วมดอนเมืองแต่คนดอนเมืองก็อยู่ในลักษณะของคนน้ำท่วมถึงปาก พูดจาอะไรได้น้อยกว่าคนอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น