xs
xsm
sm
md
lg

‘ชัยอนันต์-สุรพล’ปัดร่วมชิงประธานประชุมสภานิติบัญญัตินัดแรก24ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ทยอยรายงานตัววันที่ 2 แล้ว114 คนจาก 242 คน เลขาธิการวุฒิสภา เตรียมประสานสมาชิกฯมาประชุมนัดแรก 24 ต.ค. โดยมีวาระเลือกประธานสภานิติบัญญัติ “ชัยอนันต์” ปฎิเสธรับเก้าอี้ประมุขสภานิติบัญญัติ เช่นเดียวกับ “สุรพล” ระบุงานในตำแหน่งอธิการบดีมากอยู่แล้ว ขณะที่หลายเสียงบอก “มีชัย” เหมาะสม ส่วน “ปุระชัย” เตรียมเสนอประเมินการใช้กฎหมายที่มีอยู่ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ระบุที่ผ่านมาออกกฎหมายมาแล้วแต่ไม่ได้ใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา วานนี้ (13 ต.ค.) ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่างทยอยเข้ามารายงานตัวอย่างคึกคัก เป็นวันที่ 2 เช่น ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา นาย สมบัติ เมทะนี ร.ต.อ. นิติภูมิ นวรัตน์ นาย สังศิต พิริยะรังสรรค์ พล.ต. ประภาส สกุนตนาค นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายชัยอนันต์ สมุทรวานิช พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน นายพิชัย วาสนาส่ง เป็นต้น โดยตลอดทั้งวันที่ยอดผู้เข้ารายงานตัวทั้งหมด 114 ท่าน จากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ 242 ท่าน

ด้าน สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ส่งหนังสือที่ คมช.0002/66ลงนามโดย พล.อ. วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. ถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเรื่องการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยระบุว่า ตามที่มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทาง คมช.พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้การปฎิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติสภาร่างรัฐธรรมนูญและสมัชชาแห่งชาติดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยจึงมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฎิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฎิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสมัชชาแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ด้าน นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่าจะให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ประสานสมาชิกเพื่อให้มีการประชุมสภานิติบัญญัติครั้งแรกที่รัฐสภา ในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ซึ่งการประชุมที่รัฐสภา ได้จะต้องรอให้ผ่านรัฐพิธีเรียกประชุมสภานิติบัญญัติที่พระที่นั่งอนันตสมาคมก่อน ซึ่งการประชุมนัดแรกที่รัฐสภา จะเป็นวาระการเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสมาชิกที่มีอาวุโสสูงสุด คือคุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ อดีตปลัด กทม.หญิงคนแรก ที่มีอายุ 88 ปี จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราวจนกว่าจะได้ประธานสภานิติบัญญัติ

มีรายงานว่าได้มีการประสานมายังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร จะทรงเสด็จเปิดการประชุมในเวลา 17.00 น.วันที่ 20 ตุลาคมนี้

นายชัยอนันต์ สมุทวนิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า เป็นสมาชิกดีรู้แล้ว อยากให้เข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ภายใน 1 ปี ก็คงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากช่วยผลักดันและปรับปรุงกฎหมาย การกลั่นกรองจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

สำหรับสภานิติบัญญัติชุดนี้ก็คงเหมือนชุดเมื่อ 2516 -2517 ที่ทุกคนทำงานเรียบๆ ไม่หวือหวา เพราะเป็นข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติชุดนี้มีความหลากหลายมากพอสมควร จึงเชื่อว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีองค์ประกอบที่หลายหลายมากกว่านี้อีก

“ที่วิจารณ์ว่าผู้ได้เป็นสมาชิกสภาฯ ล้วนเป็นผู้ที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณนั้น ผมเห็นว่าเขาไม่ได้ต่อต้านเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการต่อต้านนโยบายและการทำงาน จึงไม่น่ามีปัญหา อยากให้เรียกว่าผู้สนใจการเมืองดีกว่า อย่าเรียกเป็นผู้ต่อต้านเลย”

ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวถึงกระแสข่าวถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ ว่า ไม่พร้อม เพราะมีงานประจำโดยเฉพาะงานที่มหาวิทยาลัย ที่สำคัญประธานสภาฯไม่ควรเป็นข้าราชการประจำ เพราะมีภารกิจมากมาย ดังนั้น ผู้เป็นปลัดกระทรวง อธิบดี และอธิการบดี จึงไม่ควรทำหน้าที่นี้ ความจริงแล้วยังมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คนที่มีความเหมาะสม โดยนายมีชัย ก็เป็นหนึ่งในนั้น คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างนายมีชัย หากไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นเรื่องแปลก ส่วนจะได้รับการเสนอชื่อหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

นายสุรพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายทหารที่เกษียณอายุราชการบางคน ก็เหมาะสมด้วย แต่ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ในสภา ส่วนที่วิจารณ์กันว่า สภาฯชุดนี้เต็มไปด้วยนั้นทหารนั้น ความจริงแล้วจำนวนเพียง 30-40 คน จาก 242 คน ถือว่ามีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ถือเป็นพัฒนาการการเมืองที่เกิดขึ้น ในเวลารวดเร็ว และคิดว่าไม่น่าเป็นสภาตรายางอย่างที่วิจารณ์กัน เพราะกฎหมายฉบับไหนที่ไม่สามารถผ่านได้ในสภาปกติ จะสามารถผ่านได้ในสภาชุดนี้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีกว่าสภาเลือกตั้ง เพราะประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กล่าวว่าพร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯแล้วแต่มติที่ประชุมจะเลือกใคร ที่ผ่านมาสภาฯ เน้นเรื่องการออกกฎหมายแต่ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้กฎหมายหลายฉบับออกมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ก็ไม่มีความต่อเนื่อง แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เช่นกันควรประเมินว่ากฎหมายที่เราใช้มา 9 ปีมีข้อดีอะไรบ้าง มีข้อเสียอะไรบ้างแต่อยากจะเน้นย้ำเรื่องการประเมินผลกฎหมายอย่างเช่น พ.ร.บ.สถานบริการ เหตุใดจึงปล่อยให้สถานบริการเปิดเลอะเทอะอีก หากเรามีกฎหมายแล้วไม่บังคับใช้ก็ไม่มีประโยชน์

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้อีกหนึ่งปีการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ร.ต.อ.ปุระชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ตอบยากเพราะยังอยู่อีกไกลเมื่อวานกับวันนี้ของตนยังไม่เหมือนกัน ดังนั้นอีกหนึ่งปีคงตอบยาก เมื่อว่ามีความเห็นอย่างไรที่มีผู้มองว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสภาพที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร.ต.อ.ปุระชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงเป็นความเห็น แต่ก็ควรรับฟังอะไรที่จริงก็ควรแก้ไข อะไรไม่จริงก็รับฟังแล้วแก้ไขตนคิดว่าวันนี้สภานิติบัญญัติได้เดินทางมาไกลแล้วคงต้องทำหน้าที่กันต่อไป

พล.ต. ประภาส ศกุนตนาค สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่านอกจากจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แล้วจะต้องควบคุมการประชุมในแต่ละครั้งได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เห็นว่านาย มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ที่เหมาะสม เพราะเคยทำงานใหญ่ ๆ มาแล้ว และเห็นว่าไม่ควรมอง เรื่องกระแสต้าน แต่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า

ด้านนายสมบัติ เมทะนี กล่าวถึงการทำหน้าที่ว่า จะต้องเน้นเนื่องซื่อสัตย์สุจริต ส่วนประธานสภาฯ ตนคิดว่าทำหน้าที่ได้ทุกคน ท่านมีชัยก็เก่งด้านกฎหมายอยู่แล้ว เพราะประธานสภานิติบัญญัติต้องเก่งด้านกฎหมายและต้องมาแก้ไขกฎหมายที่บกพร่อง

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา สมาชิกสภาฯ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่ ควรเป็นคนที่มีความชำนาญด้านกฏหมายมีความเข้าใจในข้อบังคับการประชุม มีประสบการณ์ไม่ควรไปตั้งข้อรังเกียจบุคคลท่านนั้นท่านนี้แต่ควรดูที่ควรสามารถโดยส่วนตัวเห็นว่านาย มีชัย ฤชุพันธุ์ มีความเหมาะสมที่สุด

ร.ต.อ. นิติภูมิ นวรัตน์ กล่าวถึงภาพรวมของสมาชิกสภาฯว่า มีความหลากหลายครบทุกสาขาอาชีพและรู้สึกดีใจที่อาชีพสื่อสารมวลชนเข้ามามาก เกือบครบทุกฉบับ ทุกสำนักข่าวความแตกทางความคิดน่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่ทุกคนทั้งสภาควรจะคิดเหมือนกันหมด ดังนั้นคิดว่าเราน่าจะมาระดมสมองกันเพื่อออกกฎหมายในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลส่วนตัวอยากจะเข้ามาดูแลกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกระดับชั้นไม่ใช่เฉพาะนายทุนหรือต่างชาติเท่านั้น

สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯขณะนี้ตนมองไว้ 2 คน คือนายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ส่วนจะมีคนอื่นที่เหมาะสมหรือไม่ คงขอเวลาตรวจสอบประวัติอีกครั้งหนึ่งอย่างไรก็ตามสังคมอาจมีข้อสงสัยว่าบางท่านเป็นร่างทรงของอำนาจเก่าอยู่

ร.ต.อ.นิติภูมิ กล่าวถึงกรณีที่ต่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกว่าส่วนตัวเห็นด้วยที่จะยกเลิก ซึ่งประชาชนก็อยากให้ยกเลิกเช่นกันแต่ขณะนี้มีข่าวการเคลื่อนไหวของมวลชนในต่างจังหวัดตลอดเพราะฉะนั้นคงต้องชั่งน้ำหนักดูระหว่างความต้องการของนานาประเทศกับความปั่นป่วนภายในชาติ ซึ่งหากยังไม่สงบเรียบร้อยมันก็จำเป็นที่ต้องคงไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น