xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน ธุรกิจ:ธุรกิจแฟ็กเตอริง (Factoring) : เพื่อนยามยากของ SMEs ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงพอจะคุ้นหูกับคำว่า “ธุรกิจแฟ็กเตอริง” หลายท่านอาจจะเข้าใจอยู่แล้วว่าคืออะไร หลายท่านเคยได้ยินแต่ไม่เข้าใจว่าคืออะไร หรือหลายท่านก็ไม่อยากจะใส่ใจว่าคืออะไร เพราะไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเองเลย จะอย่างไรก็ตามครับ ธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นหนึ่งในรูปแบบการให้บริการทางการเงินของธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (Non Bank) ในต่างประเทศธุรกิจแฟ็กเตอริงมีมานานหลายปี เข้าใจว่าประเทศอังกฤษมีบริการประเภทนี้เกือบร้อยปีมาแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

ปัจจุบันธุรกิจแฟ็กเตอริงมีจำนวนผู้ประกอบทั้งสิ้น 18 ราย โดยเป็นสมาชิกของสมาคมไทยผู้ประกอบการแฟ็กเตอริงไทยจำนวน 11 ราย ที่เหลือยังเป็นหน่วยงานเล็กๆ ซึ่งอยู่ภายใต้สถานบันการเงินที่ตนสังกัด ปี 2548 มูลค่าของธุรกิจดังกล่าวมีมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นมูลค่าที่ไม่มากนักเมื่อเทียบธุรกิจอื่นประเภทอื่น ทว่าในสภาพของความเป็นจริงธุรกิจแฟ็กเตอริงมีบทบาทที่น่าสนใจอย่างมากต่อความอยู่รอดของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน พูดอย่างนี้ผู้อ่านอาจจะยังงงๆ ว่าเข้ามามีส่วนเชื่อมโยงกับเงินทุนของ SMEs ได้อย่างไร เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ...

ธุรกิจแฟ็กเตอริงนั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่มคือบริษัทแฟ็กเตอริง (Factoring Company) ซึ่งรายใหญ่สุดของไทยขณะนี้คือ บริษัท กสิกรไทยแฟ็กเตอริง กลุ่มที่สองก็คือลูกค้าของบริษัทแฟ็กเตอริงหรือบางครั้งเรียกว่า “ผู้ขายบัญชีลูกหนี้” และสุดท้ายก็จะเป็นกลุ่มลูกหนี้การค้า คน 3 กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กันโดยเริ่มจากผู้ขายบัญชีลูกหนี้ทำหน้าที่ขายสินค้าและบริการให้กับลูกหนี้ โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้ในระยะเวลาที่ตกลงกัน อาจจะ 2 หรือ 3 เดือน แต่ผู้ขายสินค้าและบริการมีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อนจึงได้นำสัญญาการจ่ายเงินไปขายให้กับบริษัทแฟ็กเตอริง หากถามว่าบริษัทแฟ็กเตอริงจะได้อะไร คำตอบคือ...บริษัทแฟ็กเตอริงจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายบัญชีลูกหนี้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ที่เรียกว่า “การซื้อลด” ซึ่งก็แล้วแต่จะตกลงกันว่าจะคิดที่อัตราเท่าไร และเมื่อถึงกำหนดการจ่ายเงินของลูกหนี้ตามเวลาเดิมบริษัทแฟ็กเตอริงก็จะได้เงินกลับมาแบบเต็มๆ

หลังวิกฤติเศรษฐกิจธุรกิจ SMEs เริ่มใช้บริการจากบริษัทแฟ็กเตอริงมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆ จะไม่ปล่อยกู้ให้ธุรกิจ SMEs ง่ายๆ หรืออาจมีความล่าช้าในทางปฏิบัติ เพราะการขออนุมัติเงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องใช้หลักทรัพย์มากพอสมควร อีกทั้งต้องอาศัยผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วย จะเห็นได้ว่าการปล่อยเงินกู้แบบสบายๆ จากสถาบันการเงินนั้นเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้เพราะสถาบันการเงินต่างๆ เกรงว่าจะเป็นการก่อหนี้เสียที่มีมากอยู่แล้วให้พอกพูนขึ้นอีก ดังนั้นธุรกิจ SMEs จึงต้องหันไปพึ่งบริษัทแฟ็กเตอริงที่สามารถอนุมัติวงเงินได้ในเวลารวดเร็ว ซึ่งบางบริษัทก็ใช้เวลาในการอนุมัติวงเงินไม่เกิน 1 วันก็มี

แม้ว่าจำนวนธุรกิจ SMEs ที่หันไปใช้บริการบริษัทแฟ็กเตอริงจะมีมากขึ้นก็ตาม แต่เมื่อคิดเป็นตัวเลขแล้วมีประมาณร้อยละ 10 ของจำนวน SMEs เท่านั้น ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือผมก็ไม่มีข้อมูลว่าไปขอรับความช่วยหลือเงินทุนจากสถาบันการเงินมากน้อยแค่ไหน แต่หากประเมินด้วยข้อเท็จจริงที่ผ่านตาอยู่ทุกวี่วันพบว่า เสียงพร่ำบ่นยังคงมีออกจากปากผู้ประกอบการ SMEs ในหลายๆ ธุรกิจ โดยอ้างว่าไม่สามารถหาเงินทุนได้เพียงพอ เพราะฉะนั้น การบริการของธุรกิจแฟ็กเตอริงจึงได้กลายเป็นทางออกของเงินทุนหนึ่งที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนตัวเลขการใช้บริการบริษัทแฟ็กเตอริงที่มีอยู่เพียงหยิบมือเดียวนี้ ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการในธุรกิจ SMEs จะมองว่าเงินทุนขาดแคลน แหล่งทุนเข้าถึงยาก หรือรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือ ผมคิดว่า... การหาทางออกโดยการศึกษาข้อมูลการให้บริการของธุรกิจแฟ็กเตอริงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับท่าน อีกทั้งเท่าที่พูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs พบว่าส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่าการให้บริการแฟ็กเตอริงคืออะไร บางท่านยังถามผมกลับว่าเป็นการตั้งโรงงานหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐฯ ที่รับผิดชอบโดยตรงก็ควรเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจอย่างทั่วถึงควบคู่ไปด้วย นั่นคือการอบรมหรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องเหล่านี้อย่างเข้มข้น และหากประเทศไทยสามารถทำได้ดังที่ผมเสนอแนะ...การให้บริการของธุรกิจแฟ็กเตอริงก็จะเป็นที่พึ่งพายามยากของผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างจริงจังเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น