xs
xsm
sm
md
lg

พล.อ.บุญสร้าง-กับประวัติเมื่อตอนเรียน “เวสต์ป๊อยท์”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

เมื่อเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 10 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วประกาศว่าจะเป็นนายกฯ 2-3 เทอม ก็ทำให้มองกันว่า เตรียมทหารรุ่นพี่ๆ คือตั้งแต่รุ่น 1 ถึงรุ่น 9 คงจะไม่มีใครได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะพ้นเวลาเกินวัยกันไปหมดกว่า “ทักษิณ” จะลงมา แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ 19 กันยายน ซึ่ง เตรียมทหารรุ่น 6 ยกรุ่นทำปฏิวัติแล้วเตรียมทหารรุ่น 1 เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 แม้จะมาช้า ก็เป็นการมาดี และเมื่อตอบจะไปก็ต้องไปดีอย่างแน่นอน

มีบทความคิดมาจากวงสนทนาของทหารว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินั้น, น่าจะจัดไว้ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 และ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นคนที่ 25 เพราะโดยประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฯ นั้น มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในกระทรวงของตนแทนรัฐมนตรีว่าการฯ ไปจนกว่าจะมีรัฐมนตรีมาปฏิบัติหน้าที่ และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยมีอำนาจเท่ากับการเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็น นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยผลของการประกาศฉบับนั้น ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย เป็นนายกรัฐมนตรีโดยระบบแบบแผนการบริหารราชการ โดยที่ประกาศให้หัวหน้าคณะผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ในครั้งก่อนๆ ที่มีการปฏิวัติไม่เคยมีมาก่อน จึงมีการมองข้ามกันไปในจุดนี้

เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการพูดกันในจุดนี้อีกว่า พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นผู้รับงานสนองพระบรมราชโองการนั้น จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ในตำแหน่งใด ทางทหารบอกว่า ควรใช้ตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพราะมีประกาศให้ตำแหน่งและอำนาจนายกรัฐมนตรีแก่ พล.อ.สนธิไปแล้ว ก็ควรจะใช้ตำแหน่งนี้เป็น ตำแหน่งของผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ส่วนตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ นั้น ไม่สมควรจะใช้ แต่ทางฝ่ายกฎหมายแย้งว่า การประกาศเองให้อำนาจกับตัวเองนั้น ไม่ควรจะนำมาใช้ และเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้โปรดเกล้าฯ ทางฝ่ายทหารก็ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็เป็นตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย่อมจะใช้ตำแหน่งนี้ได้ แต่ในที่สุด ทางฝ่ายกฎหมายก็ว่า ใช้ตำแหน่งซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ในยามปกติจะดีที่สุด จึงใช้ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นอกจากจะเป็นผู้ทำการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามประกาศฉบับเดียวกัน ยังให้พล.อ.สนธิ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาด้วย โดยตอนนั้น คาดว่าจะใช้ตำแหน่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่พอถึงเวลากลับไม่ได้ใช้

••••

เป็นผู้ที่นิ่ง และนิ่มอีกคนหนึ่ง สำหรับ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ซึ่งตัดสินใจในทันทีเมื่อได้รับการติดต่อจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่า “จะทำแล้ว...เอาด้วยไหม?” โดยเป็นการตัดสินใจอย่างไม่ลังเลจากกองทัพอากาศ ในวันที่ 19 กันยายนนั้น เท่ากับว่า พล.อ.สนธิ ซึ่งมีทุนอยู่ที่กองทัพบกแล้ว ได้ทหารอากาศมาสมทบก็ถือว่า-ชนะแล้ว

ครอบครัวของ พล.อ.อ.ชลิต เป็น “ชาวจุฬาฯ” และเป็นอักษร-จุฬาฯ ด้วยคือ ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข จบอักษรศาสตร์จุฬาฯ และยังเป็นอาจารย์อยู่ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาว 2 คนคือ ชลาทิพย์ พุกผาสุข จบปริญญาตรีอักษรศาสตร์ และจบปริญญาโทสาขายุโรปศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชลิศา พุกผาสุข ก็จบปริญญาตรีจากคณะเดียวกัน

พล.อ.อ.ชลิต เป็นบุตรของ พล.ท.ชัยยุทธ-สุภรณ์ พุกผาสุข เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ เป็นเตรียมทหารรุ่น 6 แต่เพราะชอบเครื่องบินจึงเลือกเป็นทหารอากาศในโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 13 ซึ่งรุ่นนี้หากถือตามฝรั่ง ก็ว่าเป็นเลขไม่สวย แต่กลับเป็นรุ่นเลขที่งดงามยิ่งสำหรับนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นนี้ คือ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ได้อัตราจอมพลอากาศเป็นรคนแรกของรุ่น ในตำแหน่งรองสมุหราชองครักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ประจำพระองค์ พล.อ.อ.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และเมื่อ พ.ศ. 2548 ได้อัตราจอมพลอากาศพร้อมกัน 2 คน คือ พล.อ.อ.ชลิต เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้ง 3 คน คือ พล.อ.อ.โยธิน พล.อ.อ.ชลิต และ พล.อ.อ.ธเรศ เป็นเพื่อนสนิทกันอย่างยิ่ง พร้อมกับเพื่อนร่วมกลุ่มอีกคนหนึ่งคือ พล.อ.อ.ไพโรจน์ รัตนพล

ฝีมือการบินของ พล.อ.อ.ชลิต นั้น ต้องถือว่าเป็นระดับ “ครู” ได้ผ่านหลักสูตร นักบินลองเครื่อง โรงเรียนเหล่าทหารนักบิน กองบินยุทธการ, ก็ต้องลองคิดดูว่าการเป็นนักบิน “ลองเครื่อง” อยู่ในอากาศนั้น มิใช่การลองเครื่องยนต์หรือเรือยนต์ แล้วไปเข้าหลักสูตร “ครูการบินไอพ่น” โดยทุนของ IMETP หลักสูตร PILOT INSTRUCTOR T-38 ที่ซานแอนโทนิโอ เท็กซัส สหรัฐอเมริกา และเป็นเหล่านักบินที่เข้าฝึกหลักสูตรกระโดดร่มกับอากาศโยธิน ฝีมือทางเหิรเวหาก็อยู่ในระดับที่นักโดดร่มของ 3 เหล่าทัพและตำรวจยกให้เป็นนายกสมาคมโดดร่มแห่งประเทศไทย

ชีวิตการเป็นนักบินวนเวียนอยู่ทางกองบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาตลอดคือ ผู้บังคับฝูงบิน 103 กองบิน 1 นครราชสีมา ผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี และเสนาธิการกองบิน 23 อุดรธานี ก่อนมาเป็นรองผู้บังคับการกองบิน 1 นครราชสีมา ซึ่งเป็นกองบินที่มีเครื่องบิน F-16 ล้วนๆ ไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศที่สถานเอกอัครราชทูตไทยจาการ์ตา อินโดนีเซีย แล้วกลับมาติดยศ พล.อ.ต.ผู้บัญชาการกองพลบินที่ 2 นครราชสีมา

••••

เชื่อไหมว่า-อุทกภัยครั้งนี้ ที่มอบหมายให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านความช่วยเหลือที่ไปจากทหาร โดยสรรพกำลังทั้งหลายของกองทัพที่จะระดมออกไปช่วยเหลือนั้น พล.อ.บุญสร้าง เป็นผู้ควบคุมสั่งการทั้งหมด เป็นการมอบหมายให้กับผู้ที่รู้จักน้ำ และรู้จักอุทกภัยอย่างแท้จริง อีกทั้งถือว่าเป็นผู้ประสบภัยธรรมชาติครั้งนี้ด้วย

พล.อ.บุญสร้าง เป็นคนอำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุดในชื่อของอำเภอคือ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแดนน้ำท่วม จึงรู้จักกันดี คือคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก และจากการเป็นเด็กท้องทุ่งสุพรรณบุรีนี้ พล.อ.บุญสร้าง ยังได้รู้จักว่าความเสียหายจากน้ำท่วมนั้นเป็นอย่างไร เพราะตรงนี้ การเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น เป็นตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ซึ่งได้จัดอาชีพสำรองหลังการเกษียณอายุไว้แล้วคือ กลับไปทำนา...

ผบ.สูงสุด เป็นชาวนาจริงๆ ที่ไปลงมือทำด้วยตัวเอง ในพื้นนาเนื้อที่ไม่มากนัก ที่จังหวัดนครนายก โดยคิดว่าได้เลือกทำเลอย่างดีแล้ว ในการหนีน้ำท่วมจากสองพี่น้อง เมืองสุพรรณฯ ไปอยู่ที่ดอนหน่อย คือจังหวัดนครนายก ได้ทำนามา 2-3 ปีแล้ว แต่ในปีนี้ นาของผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ถูกน้ำเล่นงาน เป็นนาล่มไปด้วย

พล.อ.บุญสร้าง เป็นคนเรียนเก่ง ที่เรียกว่าเรียนเก่งกันทั้งตระกูล พี่ชายเป็นนายแพทย์ถือว่าเรียนเก่งมากสอบได้ที่ 1 ตลอดตั้งแต่ชั้นประถมยันมัธยม พล.อ.บุญสร้าง ก็เรียนเก่งในระดับเดียวกับพี่ชายคือสอบไม่เคยได้ที่ 2 และน้องสาวก็เป็นคนเรียนเก่งเช่นเดียวกัน 3 พี่น้องตระกูล “เนียมประดิษฐ์” นี้เรียนเก่งอย่างขึ้นชื่อ จนอาจารย์ใหญ่ของ โรงเรียนสองพี่น้องวิทยา ชื่อ อาจารย์สนิท ธรรมโกศล ออกปากกับบรรดาครูอาจารย์ในโรงเรียนว่า เวลาสอนพี่น้อง “เนียมประดิษฐ์” นี้ต้องระวังเดี๋ยวนักเรียนถามอะ
ไรมาแล้วครูบาอาจารย์จะตอบไม่ได้

พล.อ.บุญสร้าง เป็นลูกเขยของ พ.อ.สมชาย หิรัญกิจ อดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภรรยาก็เป็นคนที่เรียนเก่งด้วย คือเป็นแพทย์หญิง

เป็นคนซื่อ สมถะ และมีชีวิตเรียบง่ายแบบลูกชาวบ้านจากท้องนา การที่ไปซื้อที่นาไว้ที่นครนายก หลังจะกลับไปเป็นชาวนาหลังเกษียณอายุนั้น เป็นการบ่งบอกได้ดีสำหรับความมาเป็นตัวตนของผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนนี้ และเพราะเป็นลูกทุ่งจากสุพรรณบุรี เมืองเพลง จึงเป็นคนชอบเพลงลูกทุ่ง ร้องเพลงลูกทุ่งได้เก่งขนาดเป็นหัวหน้าได้

มีเรื่องที่เป็นเกล็ดกล่าวกันในวงการทหารว่า ตอนที่ต้องจากเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก “เวสต์ป๊อยท์” สหรัฐอเมริกานั้น เป็นคนที่หลับในชั้นเรียน แต่เมื่ออาจารย์ฝรั่งเรียกถามอะไรก็ตอบได้หมด แสดงว่าหลับไม่จริง เพราะตาหลับแต่หูฟัง พูดกันว่า ทางอาจารย์อนุญาตให้ “บุญสร้าง” จากไทยแลนด์นั่งหลับในห้องเรียนได้ โดยไม่ถือว่าผิดระเบียบ เพราะแม้จะหลับก็ไม่เสียการเรียน

••••

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็พอจะรู้กันแล้วว่า เมื่อครั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.บุญรอด ก็เป็นเสนาธิการทหารบก ครั้น “บิ๊กแอ่ด” ไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ยังตามไปเป็นเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด เรียกว่า พล.อ.สุรยุทธ์กับพล.อ.บุญรอด นั้น ทำงานเข้าขากันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มองกันแต่แรกแล้วว่า พล.อ.บุญรอด จะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทั้งพล.อ.สุรยุทธ์ และพล.อ.บุญรอด ถือว่าเป็นคู่บุญกันมาตั้งแต่เรียน โรงเรียนายร้อย จปร.รุ่น 12 เตรียมทหารรุ่น 1 มาด้วยกัน เป็นทหารเหล่าทหารราบ (ร.) เช่นเดียวกัน ไปอยู่หน่วยรบพิเศษที่ลพบุรีก็ไปด้วยกัน โดยพล.อ.สุรยุทธ์นั้น จะเดินล้ำหน้าเพื่อนอยู่ก้าวหนึ่งคือ พล.อ.สุรยุทธ์ พ้นตำแหน่งใดมา ก็จะมีพล.อ.บุญรอด รับตำแหน่งแทน มีคู่เปรียบเทียบว่า พล.อ.สุรยุทธ์ กับพล.อ.บุญรอดนั้น เป็นคู่เดียวกันมาเหมือน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ “บิ๊กจิ๋ว” กับ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ “บิ๊กจ๊อด” นั่นทีเดียว...

ทั้งสองคนเป็น “น้องเลิฟ” ของ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ที่เป็นพลร่มป่าหวายด้วยกัน ดูเหมือนว่า พล.อ.วิมล จะดูแลน้องทั้งสองคนเป็นพิเศษในช่วงที่ พล.อ.วิมล เป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่พอพ้นยุคของ พล.อ.วิมล ก็ต้องเผชิญมรสุมโต้คลื่นกันอยู่ทั้ง 2 คน เมื่อเวลารุ่งก็รุ่งด้วยกัน ครั้นจะต้องโรยก็ต้องโรยด้วยกัน

ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.บุญรอดนั้น เป็นตำแหน่งที่มีอัตรานายพลอยู่มาก ตั้งแต่ฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการฯ ตำแหน่งนายทหารคนสนิท และตำแหน่งในสำนักงานรัฐมนตรี...ในวันนี้ จึงเห็นความเคลื่อนไหวค่อนข้างมากในการที่จะไปอยู่ใกล้ชิดกับรัฐมนตรี ที่ว่ากันว่า-ถึงขั้นหัวแตกเลือดโชก เพราะวิ่งชนกัน!! ซึ่งเดิมนั้น ผู้ที่อยู่แวดล้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีค่อนข้างมากเรียกว่ามีหลายวง ทั้งวงในสุดและวงนอกสุด ที่อยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แต่เพราะ พล.อ.บุญรอด เป็นคนเรียบ สบายๆ ไม่หวือหวาอะไรนัก ก็ให้นโยบายกับพล.ต.เหมรัฐ ขำนิล ที่มาเป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ให้มีคนน้อยที่สุด เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จากที่เคยมีร่วมร้อยสมัย พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ก็ให้เหลือสัก 20-30 ก็พอแล้ว...สำหรับพล.ต.เหมรัฐ ขำนิล นี้เคยอยู่ที่สำนักงานสมัย พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ เป็นเสนาธิการทหารได้ถูกเรียกตัวมาใช้อีกในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น