xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 33 ศาสตร์แห่งชีวิต (1)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

นายเณรเริ่มต้นการสอนหมากฮอสโดยปูพื้นฐานทางความคิดเพื่อเป็นวิธีคิดในการเล่นหมากฮอส ซึ่งดูไปแล้วก็คล้ายกับการปูพื้นฐานกำลังภายในของคนที่ต้องการฝึกวิทยายุทธ์ในหนังสือกำลังภายใน แต่แท้จริงแล้วคำสอนของนายเณรในเรื่องนี้ก็คือศาสตร์แห่งชีวิตอย่างหนึ่งซึ่งผมมีความประทับใจและจดจำไว้ไม่เคยลืมเลือนเลย

นายเณรบอกว่าคนเรามีปกติชอบได้ไม่ชอบเสีย ความจริงในโลกนี้ไม่มีอะไรได้อย่างเดียวหรือเสียอย่างเดียว ยามเสียหาได้มีผลเสียแต่ทางเดียวไม่ แต่จะมีผลได้แฝงฝังอยู่ ยามได้ก็หาได้มีผลได้แต่ทางเดียวไม่ แต่จะมีผลเสียแฝงฝังอยู่เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นความจริงดังกล่าวนี้หรือไม่

นายเณรเตือนว่าคนเราทั่วไปนั้นยามได้มักไม่คิดถึงผลเสียที่จะติดตามมา ครั้นพอเสียเข้าจริงก็รู้สึกผิดหวัง อีกพวกหนึ่งยามเสียก็ไม่เข้าใจว่ามีทางได้แฝงอยู่ด้วยจึงเสียอกเสียใจเป็นทุกข์เป็นร้อน และสูญเสียโอกาสที่จะแสวงหาสิ่งที่จะพึงได้จากการเสียนั้น ซึ่งไม่เข้าท่าทั้งสองทาง

นายเณรสอนว่าไม่ว่าเวลาได้หรือเวลาเสียก็ต้องคิดถึงอีกด้านอีกมุมหนึ่งว่ามีเสียมีได้อะไรแฝงตัวอยู่หรือที่จะติดตามมาบ้าง หากเข้าใจความจริงนี้แล้วยามเสียก็จะไม่ทุกข์ร้อนแต่จะกุมโอกาสและแสวงหาโอกาสที่จะยึดกุมช่วงชิงส่วนที่จะพึงได้ให้ได้มาจริงๆ หรือในยามได้ก็จะไม่หลงตนเหลิงระเริงลมแล้วเกิดความเสียหายโดยที่ไม่ได้คิดอ่านป้องกัน

นายเณรย้ำว่าความคิดในการเล่นหมากฮอสก็เหมือนกัน จะกินเขาก็ใช่ว่าจะกินได้ข้างเดียว ย่อมต้องมีโอกาสถูกเขากิน หรือถ้าเป็นจุดสำคัญก็อาจจะแพ้ทั้งกระดาน หรือในยามถูกเขากินก็ใช่ว่าจะสิ้นเนื้อประดาตัวถึงพ่ายแพ้ หากพึงต้องคิดแก้ไขใคร่ครวญส่วนที่จะได้ว่าอยู่ตรงไหน

แล้วว่าเมื่อได้ใคร่ครวญพินิจพิจารณาทั้งทางได้ทางเสียอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็จะทำให้การตัดสินใจมีความมั่นคงเด็ดขาดและถูกต้องมากขึ้น

นายเณรอธิบายต่อไปอีกว่าจะทำการสิ่งใดใช่ว่าจะต้องทำให้ถึงที่สุด ยามเล่นหมากฮอสได้ก็อย่าคิดเอาได้จนถึงที่สุด ต้องคิดเผื่อเหลือเผื่อขาดให้คู่ต่อสู้ได้มีเงินเหลือพอกลับบ้านได้ จะได้ไม่เดือดร้อนขัดสนอับจนจนสร้างเรื่องร้ายตามมา หรือยามเล่นหมากฮอสเสียก็อย่าให้เสียจนหมดตัว ให้พึงรู้ประมาณ

นายเณรพูดกว้างๆ อีกว่าปรากฏการณ์ที่เห็นในการเล่นหมากฮอสกับความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แล้วยกตัวอย่างนายเป๋ว่านายเป๋นั้นมีฝีไม้ลายมือเหนือกว่าผมมากมายนัก แต่นายเป๋แกล้งเล่นหมากฮอสแพ้และยอมจ่ายค่าพนันหลายครั้งหลายหน หากไม่มีความเฉลียวยั้งคิดก็จะเหลิงระเริงว่ามีฝีมือเหนือกว่าเขา ในที่สุดก็จะหมดเนื้อประดาตัว

นายเณรบอกว่าอย่าประมาทให้กับใครเป็นอันขาด จะเล่นหมากฮอสกับใครที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ว่าจะเห็นฝีมือเป็นประการใดอย่าประมาทคิดว่าเป็นหมูโดยเด็ดขาด ให้คิดเสียว่าเขาอาจะเป็นเซียนซ่อนตัวแบบนายเป๋ก็ได้ หากคิดได้อย่างนี้ก็จะเป็นเกราะคุ้มตัวไม่ให้เสียหายในภายหน้า

นายเณรบอกอีกว่าการไปอ่อนข้อในเชิงต้มตุ๋นผู้คนนั้นนายเณรไม่เห็นด้วยเลย กับที่นายเป๋ได้กระทำมาแต่ก็มิรู้ที่จะว่ากล่าวตักเตือนประการใด เพราะเห็นใจนายเป๋ซึ่งมีฐานะลำบากยากจน มีลูกในอุปการะหลายคน ในขณะที่เงินเดือนก็น้อยนิด จึงต้องหารายได้พิเศษจากการเล่นพนันหมากฮอส

นายเณรกล่าวว่าการเล่นพนันเอาเงินนั้นใครๆก็เล่นได้ จัดเป็นเรื่องคนทั่วไปเขาทำกัน แต่สำหรับซือแป๋ไม่เห็นเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่เห็นความมีมิตรไมตรีที่จะผูกมิตรไมตรีกับใครต่อใครนั้นสำคัญกว่า

นายเณรกล่าวในเชิงรำพึงอย่างภาคภูมิใจว่าชั่วชีวิตของซือแป๋รักนับถือคุณธรรมน้ำมิตรยิ่งกว่าสิ่งใด เล่นหมากฮอสก็เพื่อความสนุกสนาน หากมีพนันบ้างก็ถือเป็นงานอดิเรก แต่จะมุ่งการผูกมิตรไมตรีเป็นสำคัญกว่า

นายเณรกล่าวด้วยเสียงอันหนักแน่นอีกว่า นกกาไม่เคยสั่งสมทรัพย์สิน โบยบินไปในอากาศก็แสวงหาอาหารได้ก็เพราะรู้ว่าไปทิศไหนมีผลหมากลูกไม้อะไรที่กินได้ แต่คนเรากลับไม่สนใจ

ทรัพย์สินเงินทองไม่ใช่ของสำคัญ ความสำคัญอยู่ตรงที่ใครมีอำนาจใช้มันต่างหาก แท้จริงแล้วการมีทรัพย์สินเงินทองมากเป็นภาระในการดูแลรักษา ไหนจะต้องป้องกันโจรผู้ร้ายจะขโมยปล้นชิงเอา ไหนจะต้องป้องกันไม่ให้ลูกหลานล้างผลาญทะเลาะกัน

นายเณรพูดกลั้วเสียงหัวเราะว่าซือแป๋ไม่สนใจเรื่องเงิน แต่สนใจมิตรสหายมากกว่า ขอเพียงรู้จักรักคบมิตรสหายให้ถูกก็เหมือนมีทรัพย์สมบัตินับค่าหาประมาณมิได้เลย

นายเณรโอ่ว่าชั่วชีวิตของซือแป๋มีมิตรสหายมากมาย ไม่ว่าจะไปแห่งหนตำบลไหน ถึงแม้จะไม่มีเงินติดกระเป๋าไปแม้แต่สักบาทเดียว แต่รับรองว่าไม่อดอยากขัดสนเป็นอันขาดเพราะทั่วทุกสารทิศซือแป๋มีมิตรสหายที่รู้ใจ ที่พร้อมจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมิให้อนาทรใดๆ

นายเณรบอกว่าการมีมิตรสหายแบบนี้เหมือนกับคำโบราณที่ว่ามีสหายมีคุณค่าเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน ซึ่งความจริงคงจะเป็นการแปลงสารหรือไม่ก็เป็นการจำคลาดเคลื่อน เพราะคำพังเพยไทยในเรื่องนี้มีว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน”

ผมฟังดูก็เข้าใจในปรัชญาหมากฮอสของนายเณร และคิดเห็นว่าปรัชญาแบบนี้ใช่ว่าจะนำไปใช้ได้กับการเล่นหมากฮอสอย่างเดียวเท่านั้น หากยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงของคนเราได้เป็นอย่างดีอีกด้วย คิดดังนี้แล้วก็เข้าใจความในหนังสือกำลังภายในบางตอนที่ว่า "สูงสุดสู่สามัญ" คือเมื่อบรรลุถึงความสุดยอดแห่งวิชาใดๆ แล้วก็จะพบกับความเป็นสามัญธรรมชาติธรรมดาที่ตรงกันในแทบทุกสาขาวิชา

ผมประทับใจในหลักการคบมิตรของนายเณรตั้งแต่ในขณะนั้น ครั้นโตขึ้นได้เรียนรู้มากขึ้นโดยเฉพาะการได้มีโอกาสเรียนรู้สัมผัสกับพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาแล้ว ก็เห็นว่าคำสอนของนายเณรหลายอย่างนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

โดยเฉพาะคือคำสอนในการคบมิตร ซึ่งคำสอนในมงคลสูตรที่พระตถาคตเจ้าพร่ำสอนแก่ชาวพุทธก็ปรากฏว่าข้อแรกๆ เป็นคำสอนเกี่ยวกับการคบมิตร เพราะเริ่มด้วยมงคลสูตรข้อแรกว่าอย่าคบคนพาล และข้อที่สองว่าพึงคบบัณฑิต.

โปรดติดตามตอนที่ 33 “ศาสตร์แห่งชีวิต ตอน 2 (จบ)” ในวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2549
กำลังโหลดความคิดเห็น