xs
xsm
sm
md
lg

ต้องทำให้ “คุ้มที่ปฏิวัติ”

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ถึงวันนี้ ถ้าจะประเมินผล การใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” ว่าคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับประเทศชาติ

ถ้าให้ผมตอบ ผมก็จะขอเอาเหตุผลในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ทั้ง 4 ข้อ ที่เห็นว่าการบริหารประเทศเกิดความเสียหายขั้นร้ายแรง จนจำเป็นต้องทำการปฏิวัติ

ลองทบทวนกันดูจะเห็นว่าปล่อยไว้ไม่ได้

1. การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

2. ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

3. หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมืองจนไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

4. การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง


แค่ข้อ 4 ข้อเดียว สังคมไทยก็รับไม่ได้แล้ว แต่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มัวเกรงกลัวผู้นำรัฐบาลขณะนั้น จึงยอมให้มีการเลือกปฏิบัติไม่สอบสวนดำเนินคดีตามที่มีผู้แจ้งความเอาผิดกรณีการประพฤติปฏิบัติ และคำกล่าวที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันสูงสุดที่ระบุข้างต้น

ส่วนข้อที่ 2 ก็เป็นปรากฏการณ์แห่งยุค ที่มีทั้งข้อมูลและประจักษ์พยานกรณีทุจริตและฉ้อฉลในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐแทบทุกโครงการที่ล้วนคุ้นชื่อ เป็นมูลค่ามหาศาล

แต่กลไกการตรวจสอบและดำเนินคดีก็ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมือง และอำนาจเงินจนไม่สามารถดำเนินการเพื่อเอาผิดกับนักการเมืองระดับนำได้

การทุจริตประพฤติมิชอบนี่เอง ก็เป็นผลให้เกิดปัญหาข้ออื่นตามมา เพราะเงินจากการทุจริตสามารถเป็นทุนในการซื้ออำนาจทางการเมือง และใช้เป็นผลประโยชน์ล่อใจแก่ผู้ยอมรับใช้ทั้งตำแหน่ง และเงินทอง แม้แต่สมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก

ก็เพราะความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายกลไกที่รับใช้นักการเมืองที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” โดยไม่เห็นแก่ความเสียหายเชิงโครงสร้างในระยะยาวทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย

ดังนั้น สังคมส่วนใหญ่ที่รู้ถึงพิษภัยสิ่งที่เป็นอยู่จึงพากันเห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ แม้จะเป็นวิธีการที่หลักการสากลไม่ยอมรับก็ตาม

เพราะถ้าปล่อยให้ระบอบทักษิณยังครองอำนาจต่อไป ย่อมเป็นภัยทั้งสถาบันหลักของชาติ และเศรษฐกิจสังคมที่เกิดความไม่เป็นธรรม ค่านิยมสังคมจะถูกทำให้สวนทางห่างไกลจากหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระราชดำริ

เมื่อเอาต้นทุนทางภาพลักษณ์ของประเทศซึ่งอาจถูกผลกระทบจนสถาบันต่างประเทศ ซึ่งห่างไกลข้อเท็จจริงย่อมตีค่าคำว่า ปฏิวัติในทางที่ติดลบ

แต่ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริง และความจริงใจในการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยมีภาพการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสิ่งยืนยัน ก็จะช่วยให้ความเชื่อมั่นจากนานาประเทศกลับคืนมาโดยเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิบัติการเพื่อ “เช็กบิล” ทวงคืนผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ถูกฉ้อฉลไป และการดำเนินคดีลงโทษนักการเมือง รวมทั้งคนที่ร่วมกันโกงชาติจะเป็นสิ่งยืนยันความเลวร้ายที่ถูกล้มไป

หากทำได้เช่นนี้จริง ก็นับว่า “คุ้ม” แน่นอน

สัญญาณที่ดีเกิดขึ้นเมื่อคณะปฏิรูปฯ ออกประกาศฉบับที่ 30 แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” หรือ คตส.ชุดใหม่ เพื่อให้อำนาจในการตรวจสอบยึดหรืออายัดทรัพย์คนโกงได้กว้างขวางขึ้น มีกลไกและอำนาจกฎหมายหลายฉบับรองรับ

เป็นการยกเลิก คตส.ชุดเดิมของคุณสวัสดิ์ โชติพานิช แต่งตั้งก่อนหน้า และประกาศใหม่ได้อุดช่องว่างเพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเล่นงานคนโกง

บุคคลใน คตส.ชุดใหม่ส่วนใหญ่มีบทบาทแนวทางต่อสู้เพื่อคุณธรรม เช่น คุณกล้าณรงค์ จันทิก คุณแก้วสรร อติโพธิ คุณสัก กอแสงเรือง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา คุณนาม ยิ้มแย้ม และอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติ เป็นต้น

เห็นรายชื่อ คตส.ชุดใหม่ทั้ง 12 คน และอำนาจหน้าที่ซึ่งกว้างขวางคล่องตัวขึ้นกว่าประกาศเดิมแล้วก็เบาใจ แม้บางคนในคณะกรรมการบางชุดในกระบวนการจัดการคนโกงจะมีบางคนจะถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็นประเภท “สีเทา” ซึ่งไม่แน่ใจว่าใครฝากมา และยังมีจิตวิญญาณเอื้อประโยชน์ต่อระบอบทักษิณอยู่หรือไม่

ขนาด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ซึ่งได้พบกับตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อถูกถามถึงตัวบุคคลที่เป็นปัญหาอย่างที่ว่า ก็ยังยอมรับว่าในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็มี อาจแก้ด้วยการเพิ่มกรรมการหรือแก้กติกาการลงมติให้เป็นกึ่งหนึ่งแทนกำหนดเดิม 2 ใน 3 คงหวังจะมีส่วนลดบทบาทของ ป.ป.ช.สีเทากระมัง

แต่เมื่อมีการออกประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีรายชื่อบุคคลระดับสังคมยอมรับ และมีอำนาจเต็มที่ ก็ถือว่าเป็นกลไกลหลักในการปราบทุจริต

อีกทั้งเย็นวานนี้ เราได้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 มีภารกิจการเป็นผู้นำการฟื้นฟูความบอบช้ำของสังคมจากระบอบทักษิณ และเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่

นับว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติน่าชื่นชม หวังว่าจะช่วยเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่แนวทางพัฒนาคู่คุณธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น