xs
xsm
sm
md
lg

พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 22)

เผยแพร่:   โดย: สุวิินัย ภรณวลัย

22. อวโลกิเตศวร

“ถ้าจิตไม่หยั่งเห็นสุญญตา ความเป็นโพธิสัตว์ก็ยากที่จะเกิดกับบุคคลนั้น”


พุทธทาสภิกขุ

เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เซอร์ แรฟเฟิลส์ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษ ได้ยินชาวพื้นเมืองพูดกันถึงสิ่งลึกลับที่สุดใจกลางเกาะชวา เป็นแดนต้องห้าม ไม่มีใครกล้าเข้าไปที่นั่น เขาจึงเกิดความสนใจเดินทางไปสำรวจพร้อมคนงานอีกสองร้อยคน ใช้เวลาสองเดือนเต็มหักร้างถางพง เขาจึงได้พบ “โบโรบูดัว” (Borobudur)

โบโรบูดัว คือ มหาสถูป ที่สร้างตามแบบศิลปะของ ศรีวิชัย ภายใต้การนำของราชวงศ์ไศเลนทร์ เกาะชวาตั้งอยู่ ณ ที่เส้นศูนย์สูตรของโลกพาดผ่านตรงกลางจุดที่สร้างโบโรบูดัว คือ ใจกลางของเกาะ จึงเห็นได้ว่า การเลือกสถานที่สร้างมหาเจดีย์แห่งนี้ เป็นการเลือกอย่างพินิจ โบโรบูดัว เป็นสถูปที่ใหญ่มากเพราะใช้หินก้อนใหญ่จำนวนกว่าสองล้านก้อน แต่ละก้อนถูกสลักโดยฝีมือช่างอันวิจิตรบรรจง มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ประมาณ 500 องค์ ชาดก 500 เรื่อง ภาพฉากที่แกะสลักจากหินเป็นพันๆ ภาพ ประมาณกันว่า การสร้างสถูปที่ใหญ่และวิจิตรบรรจงขนาดนี้ ถ้าใช้ช่างสักหมื่นคน ยังต้องใช้เวลาถึงร้อยปีจึงสำเร็จได้ แต่สิ่งนี้ถูกสร้างก่อนนครวัดถึง 300 ปี แรงงานช่างก็เป็นแรงงานศรัทธากับแรงงานเกณฑ์ ซึ่งต่างจากแรงงานทาสในการสร้างพีระมิด ซึ่งมิได้สะท้อนวิญญาณบริสุทธิ์ของผู้สร้าง เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เกาะชวาในขณะนั้น มิได้มีประชากรมากพอสมควรกับขนาด และความวิจิตรของโบโรบูดัว จึงน่าสงสัยว่า งานขนาดมหึมานี้ ไปเอาแรงงานที่ไหนมา?

มันจึงเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า โบโรบูดัว คือ ผลผลิตของความมั่งคั่ง และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา เป็นมหาอำนาจสำคัญสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญสุดในดินแดนแถบนี้เมื่อสองพันปีก่อน โบโรบูดัว เป็นเครื่องหมายของพลังศรัทธาอันล้นเหลือที่ชุมชนหนึ่งมีต่อพุทธศาสนา มีต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต คือพระศรีอาริยเมตไตรย และปวงพระโพธิสัตว์ จึงสามารถสร้างงานขนาดมหึมาด้วยฝีมือล้ำเลิศราวกับเป็นงานของคนคนเดียวทำได้...

ปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) อินทปัญโญ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งดูเป็นเรื่องแปลกที่พระอย่างเขากลับกลายมาเป็น นักโบราณคดี ได้ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่ย้อนไปได้ถึงปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943)

ในตอนนั้น อินทปัญโญได้ถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่วังวรดิศ กรุงเทพฯ โดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นผู้เชื่อมผู้ประสานงานให้อินทปัญโญได้เฝ้าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องโบราณคดีเมืองไชยา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พาอินทปัญโญไปดู รูปปั้นอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ อันเป็น ศิลปะแบบศรีวิชัย ที่สมเด็จทรงพบเมื่อคราวเสด็จเมืองไชยา ในอดีตชาวศรีวิชัยนิยมบูชาปฏิมาอวโลกิเตศวร เป็นรูปเคารพทั้งในบ้านและในวัด มีหลายขนาดต่างๆ กัน

อินทปัญโญมองรูปปั้นอวโลกิเตศวรองค์นั้นอย่างตกตะลึง เขาไม่เคยเห็นองค์ที่งามที่สุดขนาดนี้มาก่อน อินทปัญโญยืนชมรูปปั้น อวโลกิเตศวรองค์นั้นอย่างนิ่งและนาน จิตของเขาสงบและรู้ถึงใบหน้าที่มีเมตตาธรรมอย่างเปี่ยมล้นจากรูปปั้นที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่วัดพระธาตุไชยานี้

อินทปัญโญรำพึงในใจว่า

“ใบหน้าของรูปปฏิมาอวโลกิเตศวรนี้ แสดงอารมณ์สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติอย่างสมบูรณ์พร้อม ช่างน่าทึ่งจริงๆ เพราะจะดูเป็นคนบริสุทธิ์ทางจิตใจก็ได้ จะมองให้เห็นเป็นคนยอดทางปัญญาก็ได้ จะมองในทางมีเมตตาก็ได้ หรือจะมองว่ามีความอดทนเป็นเลิศก็ได้ เยี่ยมยอดจริงๆ ศิลปินที่ปั้นรูปปฏิมานี้ จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก จิตใจสงบมาก มีความรู้ทางธรรมสูงเป็นเลิศ และเป็นยอดศิลปินในทางปั้นด้วย ถึงจะทำหน้าที่นี้ได้”

ความสนใจในโบราณคดีที่เกี่ยวกับศิลปะแบบศรีวิชัยของอินทปัญโญมีขึ้นนับตั้งแต่ที่ตัวเขาได้เห็นรูปปฏิมาอวโลกิเตศวร องค์นั้นเป็นต้นมา พร้อมกันนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ฝากฝังให้อินทปัญโญ คอยตรวจดูร่องรอยที่สงสัยว่าจะเป็นเมืองเก่าที่ทางตำบลปากหมากด้วย หนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 เป็นหนังสือที่รวบรวมการค้นคว้าทางโบราณคดีของ อินทปัญโญ ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วคณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเครื่องสมนาคุณ แก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารสำหรับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่วัดพระธาตุไชยา นั้นเอง

รูปปฏิมาอวโลกิเตศวรองค์นั้น ประทับอยู่ในความทรงจำของอินทปัญโญอย่างลึกซึ้ง และลึกล้ำ เขาคำนึงในใจว่า

อุดมการณ์พระโพธิสัตว์ สามารถสืบย้อนไปได้ถึง สำนักมัธยมกะ ของ นาคารชุน ผู้วางรากฐานคำสอนว่าด้วยเรื่องของความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันและกันมีอยู่ของสรรพสิ่ง และเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ค้นพบ “มหาปรัชญาปารมิตาสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรชิ้นสำคัญของสำนักพุทธมหายานในเวลาต่อมา

พระสูตรนี้เผยให้เห็นถึงความไร้แก่นสารของสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรที่ใครจะยึดถือได้ จึงเข้าได้กับกฎไตรลักษณ์ซึ่งเป็นคำสอนสำคัญของพุทธศาสนา พระสูตรนี้ย้ำว่า ไม่ใช่แค่ยึดถือสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แม้แต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยึดถือไม่ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาปารมิตา จึงได้ชื่อว่าเป็นคำสอนที่ประกาศ “ความว่างในธรรม” (ธรรมสุญญตา) ซึ่ง ลึกซึ้งกว่าคำสอนพุทธทั่วไป ที่ประกาศ “ความว่างในตัวตน” (บุคคลสุญญตา) เท่านั้น

ส่วนของพระสูตรปรัชญาปารมิตาที่เก่าแก่ที่สุด มีชื่อเรียกว่า ศตสาหัสริกา พระสูตรส่วนนี้ระบุชัดเจนว่า ธรรมทั้งหลายว่างจากลักษณะที่มีอยู่เป็นอยู่ได้เอง เหล่าพระโพธิสัตว์จะต้อง ฝึกฝนจิต เพื่อหยั่งให้ถึงสภาพเช่นนี้ คือต้องหยั่งให้ถึงสภาพที่ว่า

“บุคคลจะต้องมองทุกอย่างด้วยจิตที่ปล่อยวาง

ขันธ์ห้าคือ ความว่าง ปัญญาบารมีก็ ว่าง

ไม่มีการฝึกฝนตนเอง และไม่มีโพธิสัตว์ที่ได้รับการฝึกฝน

ไม่มีเป้าหมายใดๆ ที่รออยู่ทั้งสิ้น”

ในการฝึกฝนปัญญาบารมีตามหลักปรัชญาปารมิตา
นั้น จิตของผู้ฝึกจะต้องพิจารณาตลอดเวลาว่า ไม่มีแก่นสารในธรรมทั้งหลาย ไม่มี ทวิภาวะ ใดๆ เกิดขึ้นระหว่างจิตกับธรรม ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างรู้กับไม่รู้ ไม่แยกระหว่างจิตกับธรรม ปล่อยวาง ทวิภาวะ ทุกอย่าง

ผู้ฝึกฝนตนเป็นโพธิสัตว์ ดุจ อวโลกิเตศวร จะต้องหมั่นพิจารณาความจริงที่ว่า แม้ว่าโลกนี้จะมีสัตว์อุบัติขึ้นมากมาย หน้าที่ของโพธิสัตว์คือช่วยให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นโดยไม่ละเว้นใคร และแม้จะช่วยสัตว์ให้หลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ ความจริงคือ ไม่มีสัตว์ใดที่โพธิสัตว์ช่วยให้หลุดพ้น ไม่มีผู้ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้น ไม่มีกระทั่งการหลุดพ้น โพธิสัตว์จะต้องมองทุกอย่าง ว่างหมด เพราะไม่เช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเขากำลังสร้างทวิภาวะระหว่างตนกับคนอื่น หรือระหว่างจิตกับธรรมอันเป็นการแบ่งแยกในระดับละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดี-ชั่วในระดับศีลธรรม

อุดมการณ์สู่ความเป็นโพธิสัตว์ จึงเป็นพัฒนาการต่อเนื่องมาจากการหยั่งเห็นความว่าง มันเป็นขั้นตอนที่ดำเนินไปเองตามธรรมชาติ ในกระบวนการยกระดับทางจิต ของบุคคลหนึ่งๆ เพราะบุคคลที่ได้หยั่งเห็นความว่างอย่างสมบูรณ์แล้ว เขาย่อมกลับคืนสู่โลก กลับคืนสู่สังคม เพื่อทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต

ความจริงสมมติ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ความจริงอำพราง บัดนี้ความจริงสมมตินั้นได้กลายเป็นเรื่องของความเมตตา กรุณา และการเสียสละเพื่อคนอื่น

เมื่อหยั่งสู่ความว่าง และข้ามพ้นทวิภาวะได้เมื่อนั้น การใช้ชีวิตอยู่ในโลกของผู้รู้แจ้งแล้ว ย่อมเป็นการใช้ชีวิตตาม แนวทางแห่งโพธิสัตว์ดุจอวโลกิเตศวร เขาย่อมอยู่กับความจริงสมมติอย่างเป็นสุขด้วยจิตกรุณา ผู้รู้แจ้งแล้ว ย่อมมีสภาพจิตใจเป็นแบบโพธิสัตว์ไปโดยปริยาย...

รูปปฏิมาอวโลกิเตศวรองค์นั้น ประทับอยู่ในความทรงจำของอินทปัญโญอย่างลึกซึ้ง และลึกล้ำ เขาคำนึงในใจอีกว่า

โพธิสัตว์ คือ ผู้มีศักยภาพที่จะหลุดพ้นแต่กลับเลือกที่จะอยู่ในโลก ถ้านิพพานกับสังสารวัฏฏ์ ไม่แตกต่างกันในสายตาของโพธิสัตว์ การอยู่ในโลกของโพธิสัตว์ ก็คือ การหยั่งเห็นความว่าง นั่นเอง เพราะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างอิงอาศัยกันและกันมีอยู่ การแบ่งแยกตัวเขาตัวเรา ย่อมไม่มีเพราะต่างก็ไร้ซึ่งแก่นสารในตัวเองทั้งคู่ การทำหน้าที่ของผู้ที่รู้แจ้งแล้ว ย่อมไม่มีการเลือกปฏิบัติ บุคคลที่หยั่งเห็นแล้วซึ่ง ทางสายกลาง ย่อมมีธรรมชาติเป็นโพธิสัตว์โดยอัตโนมัติ เรียกว่าเป็นโพธิสัตว์ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกตัวเองว่า โพธิสัตว์

โพธิสัตว์ คือ ผู้รู้แจ้งที่ยังข้องเกี่ยวกับทางโลก การกลับมาทำหน้าที่ของโพธิสัตว์ในทางโลกคือ การหยั่งถึงแล้วซึ่งทางสายกลางระหว่างความจริงสมมติกับความจริงปรมัตถ์ ถ้าจิตหยั่งไม่เห็นสุญญตา ความเป็นโพธิสัตว์ก็ยากที่จะเกิดกับบุคคลนั้นได้

บุคคลจะเกิดความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อเห็นความเห็นเขาในตัวเอง และเห็นตัวเองในตัวเขา ถ้าหยั่งเห็นเช่นนี้ไม่ได้ ผู้นั้น ก็จะไม่สามารถทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ ความว่าง เท่านั้น ที่จะทำให้บุคคลสามารถทำหน้าที่ต่อผู้อื่นได้อย่างปราศจากอคติ และทำให้จิตมีความกรุณาอย่างแท้จริง

ฆราวาส ที่จะสามารถเป็น โพธิสัตว์ หรือ เคหโพธิสัตว์ ได้คือ ผู้ครองเรือนที่หยั่งเห็นสุญญตาแล้ว เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น