xs
xsm
sm
md
lg

แถวทหารที่ตั้งโดยทหารเกิดขึ้นได้แล้วหมดยุค “นายพัน” (ตำรวจ) ตั้งนายพลทหาร

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

ก่อนจะมีการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน และรัฐบาล “ทักษิณ” พ้นอำนาจไปนั้น สิ่งที่ค้างคาอยู่ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปีในตุลาคม 2549 นี้ ดูเหมือนว่าจะมองได้ทั้ง 2 ทาง คือ มีความต้องการจะให้เสร็จช้าอย่างจงใจอย่างหนึ่ง และเป็นเพราะมีเหตุให้เกิดการโต้แย้งกันในเรื่องของตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม อีกอย่างหนึ่ง หรือเหตุอย่างที่สองนั้น ไป “เข้าทาง” ของความต้องการที่จะดึงเวลาให้ช้าอยู่แล้ว และได้นำเรื่องนี้มากำบังความต้องการของตนเอง ที่ต้องการดึงให้ช้าอยู่แล้ว

พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บอกว่า เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร อย่าเอาไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยทางราชการต้องแยกกับการเมือง และเวลานี้เป็นเรื่องของทางราชการ คำพูดของผู้บัญชาการทหารสูงสุดนี้ มีทั้งถูกและผิด โดยขอกล่าวในสิ่งที่ผิดก่อน คือ ที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ยากที่จะเห็นเป็นจริงได้ เพราะการเมืองได้เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วเปิดเผยตัวด้วยการเมืองเอง ว่าเป็นผู้มีอำนาจ หรือเป็นเจ้าบุญนายคุณเหนือทหาร มีการแต่งตั้งวางตำแหน่งทหารไว้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงอย่างหนึ่งของรัฐบาล, การเมืองขอตำแหน่งและสั่งตำแหน่งได้ก็เป็นที่รู้กันอยู่ การขอได้ สั่งได้ ก็อยู่ที่คนรับปฏิบัติ ว่าจะสนองตอบหรือไม่ ถ้าหากว่า ทหารมีเอกภาพอันเหนียวแน่น และมีที่มาของตำแหน่งโดยไม่ได้มีการเมืองมาสร้างบุญคุณไว้ให้ ทหารก็ย่อมเป็นตัวของตัวเองได้ และก็พิจารณากันโดยแบบธรรมเนียมหลักเกณฑ์ของทหาร

ในส่วนที่เป็นข้อถูก ในคำพูดของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็คือ การที่บอกว่า เวลานี้เป็นเรื่องของทาง “ราชการ” ไปแล้ว ก็ต้องมองกันทางราชการ ที่ข้อนี้จะต้องมีการขยายความกันว่า พล.อ.เรืองโรจน์ หมายถึงอะไร เป็นการส่งสัญญาณ หรือนัยอย่างใดหรือไม่?

บัญชีหรือ “โผ” การแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ถือว่าผ่านขั้นตอนสมบูรณ์ทางกระทรวงกลาโหมแล้ว เมื่อ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กห.ได้ลงนามในหนังสือนำส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในฐานะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ผู้ปฏิบัติในขั้นตอนนี้คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่จะต้องนำส่งราชเลขาธิการ เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ลงนามแล้ว การเปลี่ยนแปลงหรือจัดรายชื่อใหม่ในขั้นตอนที่ทำเนียบรัฐบาลจะไม่มี เพราะได้ผ่านการพิจารณาของกลาโหมผู้มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อ จะต้องส่งกลับให้ทางกระทรวงกลาโหมทำใหม่ โดยทางการเมืองที่ทำเนียบฯ จะเป็นหน่วยผ่านไปถึงราชเลขาธิการ โดยบัญชีที่มาจากกระทรวงกลาโหมนี้ จะขอหรือสั่ง จะบัญชาอย่างไรว่าใครต้องได้ตำแหน่งอะไร ทำกันเสียให้สำเร็จเสร็จไปเสียตั้งแต่ที่กลาโหม ซึ่งตามปกติแล้ว ทางปลัดกระทรวงกลาโหม จะไม่ได้เข้ามากำกับบัญชี เพราะเป็นเรื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และไม่มีที่จะให้ปลัดกระทรวงกลาโหมลงนาม แต่ก็มีสมัย พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามกำกับอยู่ข้างล่างกระดาษบัญชีรายชื่อทุกแผ่นไว้ เพราะกลัวมีการยัดไส้หรือทำบัญชีปลอม

บัญชีรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายนี้ ไม่ถือเป็นความลับอะไรทางกลาโหม เพราะต้องผ่านหลายมือ รู้ว่าใครได้ตำแหน่งอะไร เป็นการยากที่จะเก็บไว้เป็นความลับ ดังนั้น จึงรู้ว่าใน “โผ” นั้นเป็นอย่างไรก่อนจะมีการประกาศ และเมื่อไปถึงทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่รักษาการนายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว “โผ” ก็ไม่เป็นความลับอะไรอีก แม้ว่าจะตีตราลับ เพราะต้องมีการจัดสำเนาให้ทางโรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี จัดเตรียมไว้เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ประกาศเป็นการเปิดเผยต่อไป

บัญชีรายชื่อทหารครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ลงนามไว้ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเป็นที่รู้กันว่า จะกลับมาลงนามหลังกลับจากต่างประเทศ และทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป ในการส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการ และนี่แหละคือจุดที่เป็น “เรื่องของทางราชการ” ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ดังคำพูดของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่อาจจะพูดโดยมีความหมายตามนัยนี้

คือเป็น “ราชการ” จริงๆ

ไม่มีการเมืองและอำนาจการเมืองใดๆ จะมาเกี่ยวข้องกับ “ราชการ” นี้ได้เลย และนี่เป็นการกล่าวย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เป็นอยู่ก่อนมีการโค่นระบอบ “ทักษิณ” และเป็นหมากกลอย่างหนึ่งก็ได้ ที่จะต้องตามดูกันต่อไปว่าวางหมากอะไรไว้!

การกล่าวถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) ว่าจะต้องให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายทหารนี้ มิใช่ถือเป็นเรื่องพิเศษ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กกต.มีอำนาจหน้าที่เช่นนั้น จากการที่รัฐบาลจริงได้พ้นไปแล้ว เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลรักษาการ มิใช่รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มจะทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนั้น รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง คนงานทั้งหลายที่มีเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลรักษาการจะแต่งตั้งโยกย้ายได้ ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เสียก่อน, จึงไม่ต้องมีการตีความในเรื่องนี้ นอกเสียจากจะมีเจตนาละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ได้รับความสนใจในอำนาจของของตนแบบ กต.ที่ผ่านมา

หาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงนามแล้ว เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่ง “โผ” ไปยังราชเลขาธิการ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีเสียงคัดค้านโต้แย้งออกมาอย่างแน่นอน หรืออาจจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ ที่สำนักราชเลขาธิการจะส่งเรื่องกลับมา ให้มีการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะเป็นความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล หรือทางสำนักราชเลขาธิการ ส่งให้คณะองคมนตรีเป็นผู้พิจารณาตามหน้าที่ ทางคณะองคมนตรีจะเป็นผู้แนะนำให้ทางสำนักราชเลขาธิการ ติดต่อกลับมาทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ปฏิบัติเสียให้ถูกต้องตามแบบแผนราชการ ที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมเป็นได้ โดยไม่ต้องพิจารณาสิ่งอื่นๆ คือ ผู้ที่มีตำแหน่งตามบัญชีรายชื่อนั้นเลย เป็นแต่เพียงทำให้เสียถูกต้องตามราชการ

ทั้งหมดนี้, อาจจะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของเวลา ที่อาจจะมีเหตุผลทางทำเนียบรัฐบาลว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ “ความเห็นชอบ” ได้ หรืออาจจะอ้างห้วงเวลาจำกัดด้วยเหตุผลว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทหารเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความมั่นคงสูงสุด ทหารจะต้องมีการเข้านั่งในหน้าที่ผู้บังคับบัญชากองทัพตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันขึ้นต้นปีงบประมาณ 2550

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เรื่องของเวลากลายเป็น “เงื่อนไข” คือเหลือเวลาอีกสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น ที่แถวทหารจะต้องเข้าสู่การบังคับบัญชา

จากการที่ทอดเวลามาจนถึงระยะสุดท้าย เพื่อที่จะให้เป็นเงื่อนเวลาให้เหลือจำกัด เป็นการตัดทอนเวลาอย่างมิบังควรกระทำ คือ การส่งจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปยังสำนักราชเลขาธิการนั้น หากว่าไม่มีการเข้าสู่ที่ประชุมคณะองคมนตรี หรือไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ กกต.ก็จะมีเวลาเพียงพออยู่ แต่ทางทำเนียบรัฐบาล จะรู้หรือว่าเมื่อเป็น “ราชการ” อย่างแท้จริง เมื่อถึงราชเลขาธิการแล้ว จะมีการปฏิบัติเช่นใดอีก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทางราชการ และเป็น “ราชการในพระองค์” อีกด้วย

จึงเห็นว่าเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งที่ใช้เงื่อนเวลาต่อ “ราชการในพระองค์” เช่นนั้น

การแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปีใน พ.ศ. 2548 คือเมื่อปีที่แล้ว บัญชีรายชื่อเข้าสู่สำนักราชเลขาธิการตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และเมื่อมีการกล่าวถึงความไม่เหมาะควรต่างๆ ออกมามากมายเกี่ยวกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางความพรึงเพริดว่า เป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้ โดยที่ผู้รับพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มิใช่ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่จัดทำขึ้นในระดับการเมือง และการบริหารทั่วไป

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง ที่ได้นำเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วมาเป็นข้อกำหนด ว่าเมื่อมีการจัดทำเสร็จแล้ว ก็มีเวลาที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ จึงจัดเงื่อนเวลาใหม่ให้อยู่ในเวลากระชั้นชิด ใกล้กับวันที่ 1 ตุลาคมมาก เพื่อที่จะเป็นการบีบรัดไว้ด้วยความจำเป็นดังกล่าวที่ว่า แถวทหารจะต้องมีแถวใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 จะขาดตอนการบังคับบัญชา แม้เพียงวันเดียวก็ไม่ได้ และหากว่าการใช้เงื่อนเวลาเช่นนี้ มีผลได้จริงก็จะเห็นว่า แถวทหารนั้นเป็นแถวทหารที่ทางการเมืองทำไว้และมีความพึงใจ

ถือว่าเป็นการแก้เกมกัน และขอย้ำว่าเป็นการใช้วิธีการซึ่งไม่บังควร ซึ่งคิดทำกันไว้โดยไม่รู้ว่าจะมีปฏิวัติ

นอกจากจะคิดถึงประเด็นอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้ได้ “ช้า” แล้ว ยังถือว่าใครก็ตามที่คิดทำท่าและคาดหมายเช่นนี้ มีความ “ต่ำช้า” ด้วย มิได้ช้าแต่เพียงอย่างเดียว

ยังมีอะไรอยู่อีกหรือที่เหนือกฎเกณฑ์ของห้วงเวลา และจะเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งเข้าสู่สมองของพวกต่ำช้านี้ด้วย, แน่นอน ยังมีอีกหลายสิ่งที่อยู่เหนือความต่ำช้านั้น และเป็นสิ่งที่คาดกันไม่ถึงด้วย

เช่นสิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คือแผนการที่อยู่ในการ “ปฏิวัติซ้อน” คือทำกันหลังจากได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว โดยที่การปฏิวัติซ้อนนั้น จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 กันยายน คือให้ผลของการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเครื่องตั้งรับสถานการณ์โดยทั่วไปแล้วเพียงวันกว่าๆ ก็จะมีการปฏิวัติตัวเอง คือการปฏิวัติซ้อนขึ้นมาแล้ว และบัญชีรายชื่อทหารที่มีอยู่นั้น จะไม่มีผลอะไรเลย เพราะในทางปฏิบัติ บัญชีนั้นอยู่ในระดับการดำเนินการของฝ่ายการเมือง ยังไม่เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทำบัญชีรายชื่อกันใหม่ในระดับหัวแถว คือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือแม้แต่ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งมีการวางตัวกันไว้แล้ว

มีการทำบัญชีเช่นนั้นไว้แล้วด้วย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่จะเป็นใคร และบัญชีถูกซุกไว้ หรือเป็นบัญชีส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะใช้บัญชีรายชื่อนี้ เมื่อได้ผ่านขั้นตอนการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว คือได้คิดกันว่า ถ้าหากการประกาศภาวะฉุกเฉินสามารถระงับเหตุ หยุดการปฏิวัติครั้งนี้ได้ ก็จะไม่ต้องปฏิวัติซ้อน หรือปฏิวัติตัวเอง และแถวทหารจะถูกจัดใหม่โดยระบอบทักษิณทั้งสิ้น

นั่นเป็นการคิดและเตรียมไว้ก่อนแบบแผนหลัก และแผนรอง และแผนย่อย

แต่เมื่อเหตุการณ์และห้วงเวลาบีบบังคับว่าต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และการปฏิวัติซ้อนต้องทำกันอย่างต่อเนื่องกันโดยทันที, บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายทหารที่ว่านี้ ก็ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นโดยอำนาจการปฏิวัติ ในการดำเนินการต่อไป โดยที่หากรัฐบาลหลังจากปฏิวัติตัวเอง หรือการปฏิวัติซ้อนนี้ ไม่สามารถจะดำเนินการได้ทันการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ได้เพราะตำแหน่งดังกล่าวจะสั่งหรือตั้งโดยประกาศใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น

นอกจากโดยพระบรมราชโองการฯ

ก็ต้องทอดเวลาออกไป โดยที่การบังคับบัญชาของทหารนั้น ใช่ว่า เมื่อมีการเกษียณอายุ มีตำแหน่งว่างแล้ว จะต้องมีการทดแทนกันทันที เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้ว เมื่อยังไม่มีผู้มานั่งในตำแหน่ง ทางทหารมีการจัดลำดับผู้รักษาการแทนอยู่แล้ว คือ ผู้มีหน้าที่ในระดับรองลงไปจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกันโดยอัตโนมัติ ตามหลักการจัดของสายกำลังพลที่มีบรรทัดฐานอยู่ การบังคับบัญชาก็จะไม่ขาดตอนอย่างแน่นอน

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อ “ทักษิณ ณ กรุงลอนดอน” และความคิดทั้งหลายที่วางแผนซ้อนแผนกันไว้หลายชั้น ไม่สำเร็จ...หลังการปฏิวัติของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแต่งตั้งโยกย้ายทหารจะให้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็คงจะไม่ทัน และการรักษาการจะเกิดขึ้น คือผู้ที่เกษียณอายุก็เกษียณไปตามคำสั่งกลาโหมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อ และผู้ที่จะรักษาการในตำแหน่งก็จะเป็นไปตามบัญชีกำลังพล คือพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม อาวุโสคนที่ 1 เป็นรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหมแทน พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ และ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ รองบัญชาการทหารสูงสุดอาวุโสคนที่ 1 เป็นรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด แทน พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ โดยพล.อ.เรืองโรจน์ ที่เกษียณอายุราชการแล้ว จะยังเป็นประธานที่ปรึกษาของคณะปฏิรูปฯ ต่อไป และโดยประกาศของคณะปฏิรูปฯ ที่ให้ หัวหน้าคณะปฏิวัติคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ทำหน้าที่ตามอำนาจของรัฐมนตรีว่าการของแต่ละกระทรวงนั้น ก็เป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้เกิดการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายทหารขึ้นมาใหม่เสียก็ได้ หากว่าต้องการจะให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม จริงๆ ก็ย่อมจะทำได้เช่นกัน คือ ในเมื่อ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ หลังทำหน้าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม และทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถที่จะทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายได้ใหม่ทั้งหมด และหาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ซึ่งทำหน้าที่และใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี จะเห็นชอบด้วยในหลักการนี้ ก็ย่อมทำได้คือ พล.อ.สนธิ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการทูลเกล้าฯ โดยไม่ต้องรอการมีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใหม่ในช่วงการปฏิรูป หรือจะรอการมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็จะมีผลในทางปฏิบัติเช่นเดียวกัน

โดยที่การแต่งตั้งโยกย้ายนี้จะเป็นธรรม เป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหาร โดยการเมืองจะมาสั่งหรือแต่งตั้งอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น หมดยุคสมัยนายพัน (ตำรวจ) มาตั้งหรือสั่งนายพลแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น