xs
xsm
sm
md
lg

ดาบสองศาลอาญาผูกมัดไทยรักไทย

เผยแพร่:   โดย: แสงสุริยา

คำพิพากษาของศาลอาญาในคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องอดีต กกต.สามคนเป็นจำเลย ซึ่งตัดสินเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 นั้น มีผลผูกพัน กกต.ใหม่และพรรคไทยรักไทยที่น่าจับตาและน่าติดตามอย่างยิ่ง

ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสามทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 24 และ 42 ประกอบกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี แต่ลดโทษให้หนึ่งในสาม

คงจำคุกคนละ 2 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี

รวมสองคดีที่ศาลตัดสินแล้วอดีตกกต.ทั้งสามคนต้องคำพิพากษาให้จำคุกรวม 6 ปี และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปีด้วย

เหตุผลของคำวินิจฉัยอันเป็นที่มาของการพิพากษาดังกล่าวมีความสำคัญมาก เพราะมีผลผูกพันและอาจนำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ง่ายที่สุดในเหตุผลของศาลที่พิพากษาดังกล่าว จึงขอสรุปเหตุผลของการวินิจฉัยของศาลเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่ายเท่าที่จะทำได้

ประเด็นที่หนึ่ง เหตุผลที่ศาลวินิจฉัยว่าอดีตกกต.ทำความผิดคือการเตะถ่วงไม่ดำเนินการตามผลการสอบสวน โดยวินิจฉัยว่า

"นับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2549 ที่โจทก์ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ทำหนังสือร้องเรียนต่อจำเลยทั้งสาม จนกระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในคดีนี้เป็นเวลานานถึง 66 วัน แต่จำเลยทั้งสามก็ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด ทั้งที่คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนที่มีนายนามเป็นประธานคณะอนุกรรมการได้เสนอรายงานการสืบสวนสอบสวนต่อจำเลยถึงสองครั้งแล้ว ... แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาตามข้อร้องเรียนของโจทก์โดยพลัน"

ประเด็นที่สอง ข้อเถียงของจำเลยที่ว่ามีงานอื่นมากไม่อาจวินิจฉัยข้อร้องเรียนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ ฟังไม่ขึ้นเพราะ

"หากจำเลยทั้งสามพิจารณาเห็นว่าปัญหาตามข้อร้องเรียนของโจทก์เป็นเรื่องสำคัญอันมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติแล้ว จำเลยทั้งสามสามารถนำปัญหาตามข้อร้องเรียนของโจทก์เข้าสู่วาระการประชุมได้เสมอ"

การที่จำเลยทั้งสามไม่นำปัญหาข้อร้องเรียนและผลการสืบสวนสอบสวนเข้าพิจารณาวินิจฉัยจนเวลาล่วงเลยไปถึง 66 วัน จึงแสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการวินิจฉัยที่ชี้ขาดปัญหาโดยพลัน

ประเด็นที่สาม คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนได้สืบสวนสอบสวนในประเด็นเรื่องพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยซึ่งเป็นพรรคเล็กแล้ว โดยวินิจฉัยว่า

"พิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวแล้วจะพบว่า ... ในตอนท้ายคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนได้พิเคราะห์พยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงแล้วจึงวินิจฉัยเชื่อว่าพรรคพัฒนาชาติไทยโดยนายบุญทวีศักดิ์ อมรสิน นายชวกานต์ โตสวัสดิ์ และนายสุขสันต์ ชัยเทพ ส่วนพรรคแผ่นดินไทยโดยนายบุญอิทธิพล ชินราช และนางฐิติมา ภาวลี ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยเพื่อให้นำมาจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ"

ประเด็นที่สี่ วินิจฉัยว่ามีหลักฐานควรเชื่อว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของพรรคไทยรักไทย มีผลผูกพันเสมือนเป็นการกระทำของพรรคไทยรักไทยเอง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสมควรจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยมีเหตุผลของการวินิจฉัยว่า

"ตามรายงานการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวมีข้อเท็จจริง รวมถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดสรุปไว้อย่างชัดแจ้งว่าพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วันให้ครบ 90 วัน และร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ... เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ได้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ...

ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยมีนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิทของพลเอกธรรมรักษ์ เป็นตัวแทน ส่วนพรรคแผ่นดินไทยมีพลเอกไตรรงค์ อินทรทัต และพลโท ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอก ธรรมรักษ์ เป็นตัวแทน

ซึ่งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนเห็นว่าพลเอก ธรรมรักษ์ มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนนายพงษ์ศักดิ์มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย เงินที่ให้การสนับสนุนดังกล่าวก็เป็นจำนวนมาก ประกอบกับผลที่ได้รับก็เป็นประโยชน์แก่พรรคไทยรักไทย ...

จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว แต่มีหลักฐานควรเชื่อว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนพรรคไทยรักไทย"

ประเด็นที่ห้า
ไม่จำเป็นต้องมีรายงานการประชุมหรือมติพรรคก็ฟังข้อเท็จจริงได้ โดยวินิจฉัยว่า

"ตามรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการได้ให้เหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ... การทุจริตการเลือกตั้งที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง คงไม่มีหัวหน้าพรรคคนใดสั่งการเป็นหนังสืออย่างชัดแจ้ง หรือมีมติพรรคให้กระทำการเช่นนั้นอย่างแน่นอน"

ศาลอาญาได้สรุปในท้ายที่สุดว่าจากเหตุผลดังได้วินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า "จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการเลือกตั้ง มีหน้าที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลัน ... แต่จำเลยทั้งสามหาได้ดำเนินการวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลันไม่ จึงเป็นการประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดตามมาตรา 24 และจะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42

จากคำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าวนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้แถลงว่าจะได้คัดเอาคำพิพากษาไปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่มีการร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทยด้วย

ดังนั้นเมื่อศาลยุติธรรมโดยศาลอาญาได้รับฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาดังกล่าวแล้ว คำพิพากษานี้จึงสามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

และเมื่อประกอบเข้ากับคำพิพากษาที่ศาลอาญาเคยพิพากษาจำคุกผู้บริหารพรรคเล็กที่รับจ้างโกงเลือกตั้งแล้ว ก็จะทำให้ความจริงว่าการที่พรรคเล็กได้รับจ้างนั้นพรรคไหนที่เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีความผิดอันจะต้องยุบพรรคด้วย

ดูไปแล้วคดีในเรื่องการยุบพรรคจึงออกจะน่าเป็นห่วงพรรคไทยรักไทยอยู่ไม่น้อย เพราะมีคำพิพากษาหลายฉบับเป็นหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหานั้น


และเมื่อศาลอาญาพิพากษาเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าผู้บริหารพรรคไทยรักไทยบางคนเกี่ยวข้องกับการทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก

ที่สำคัญคือผลของคำพิพากษานี้ผูกมัด กกต.ชุดใหม่ให้ต้องเร่งดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่ทำความผิดดังกล่าวด้วย เพราะเมื่อการว่าจ้างพรรคเล็กให้โกงเลือกตั้งเป็นความผิดแล้วและในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองก็ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคแล้ว จึงต้องดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเลือกตั้งกับตัวผู้บริหารพรรคด้วย

หาก กกต.ชุดใหม่ไม่รีบดำเนินการก็ต้องมีความรับผิด ซึ่งคำพิพากษาอาญาฉบับนี้ก็ได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วว่าการเตะถ่วงไม่ดำเนินการ 66 วันเป็นความผิดและมีโทษจำคุกด้วย

จึงต้องจับตาดูกันให้ดีว่า กกต.ชุดใหม่จะดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารพรรคไทยรักไทยตามอำนาจหน้าที่ หรือว่าจะยอมติดคุกแทนตามรอยอดีต กกต.สามคนที่ถูกศาลอาญาจำคุกไปแล้ว

ถ้าหาก กกต.ชุดใหม่จะดำเนินคดีอาญาตามผลการสอบสวนและตามคำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าว ก็น่าคิดว่ามีใครบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา

คนแรกคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยมติเอกฉันท์ว่า "สมควรจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามระเบียบ"

คนที่สองและคนสามคือพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ซึ่งถูกระบุว่า "ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วันให้ครบ 90 วัน และร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย"

คนที่สี่ ที่ห้า และที่หกคือนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิทของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต และพลโทผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นตัวแทนของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในการดำเนินการดังกล่าว

รวมความว่าทั้งหกคนนี้คือผู้ที่จะต้องถูกดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายเลือกตั้ง

คาดหมายได้ว่า กกต.ใหม่ทั้งห้าคนคงไม่ยอมเสี่ยงติดคุกแทนคนอื่น และคงจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้นหลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กกต.ใหม่แล้ว คงจะได้เห็นข่าวการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้งหกคนดังกล่าวนี้

และมีเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าคนที่ถูกกกต.กล่าวหาในลักษณะเช่นนี้แล้ว จะยังมีหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไปหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น