xs
xsm
sm
md
lg

เผยเบื้องหลังข่าว"น้ำท่วม/ดินแยก/หินถล่ม"เมืองสองแคว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - แฉเบื้องหลังข่าว "น้ำท่วม-แผ่นดินแยก-หวั่นหินยักษ์ถล่มบ้านเรือนชาวบ้าน" เมืองสองแคว ที่ดูเหมือนจะปรากฏบนข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์/ข่าวพาดหัวหน้าจอทีวีต่อเนื่องยาวนานมากว่าสัปดาห์ ที่ไม่เพียงสร้างผลกระทบให้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่ทำให้คนมาเยือนพิษณุโลกน้อยลงแล้ว ยังนำมาซึ่ง "งบฯช่วยเหลือ" ทั้งจากภาครัฐ-เอกชน ที่ทยอยหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

ถ้าย้อนกลับไปดูหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ช่วงรอยต่อระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายนของทุกปี ส่วนใหญ่จะพบข่าวจากพิษณุโลก-ภาคเหนือตอนล่างบางจังหวัด เต็มไปด้วยข่าวคราวความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม ที่ข้อเท็จจริงบางจุด บางพื้นที่ เช่น อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จะมีน้ำท่วมขังเป็นแรมเดือนเป็นประจำอยู่แล้ว และถือเป็นช่องทางทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด

ปีนี้ ปัญหาน้ำท่วมเมืองสองแควบนหน้าหนังสือพิมพ์-จอโทรทัศน์ ดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าปีก่อน ๆ หลายเท่าตัว

ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้ำป่าทะลักเข้าท่วมที่โรงเรียนปลวกง่าม อ.เนินมะปราง, น้ำจากแม่น้ำวังทองไหลบ่าเข้าท่วม ต.แม่ระกา อ.วังทอง ก่อนไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่ ต.วัดตายม อ.บางกระทุ่ม, น้ำจากเทือกเขาภูหินร่องกล้าไหลท่วมพื้นที่ไร่นา ที่ อ.นครไทย และไหลบ่าเข้าท่วมถนนสาย อ.ชาติตระการ - นครไทย, น้ำจากแม่น้ำแควน้อยไหลเข้าท่วม ต.หินลาด และเขตอ.วัดโบสถ์

น้ำยมจากสุโขทัยผันสู่พื้นที่เกษตรท่วมที่ อ.พรหมพิราม และน้ำน่านทะลักเข้าท่วมเขตเทศบาลอำเภอเมืองพิษณุโลก ,ย่านหอพักนักศึกษาหลัง มน.ถูกน้ำท่วมมิด ต้องใช้เรือท้องแบนรับ-ส่ง นศ. ,น้ำยังท่วมขังที่อำเภอบางระกำ รวมถึงข่าวหวั่นหินยักษ์ถล่มบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน ที่บ้านบ่อโพธิ์ อ.นครไทย และท้ายสุด คือ ข่าวแผ่นดินแยกยาวเป็นกิโลที่เนินมะปราง เป็นต้น

จนนำมาซึ่งเสียงเล่าลือในแวดวงราชการของพิษณุโลกว่า นายอำเภอหลายรายเมื่อเจอนักข่าวช่วงน้ำท่วม ต้องกระซิบว่า "เบา ๆ หน่อย" หัวหน้าส่วนราชการบางคน ถึงกับบ่นว่า "น้ำท่วมพิษณุโลกทุกวัน" รวมถึงนักธุรกิจ-ภาคเอกชนในพื้นที่ ถึงกับบอกว่า เศรษฐกิจช่วงนี้แย่ เพราะไม่มีใครมาเที่ยวสองแคว เนื่องจากเห็นข่าวน้ำท่วมต่อเนื่องทุกวัน

เรียกว่าน้ำท่วมพิษณุโลกบนหน้าหนังสือพิมพ์-หน้าจอทีวี หนักหนาสาหัสจนถึงขั้นที่ต้องทำให้ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล อาทิ คุณหญิงหน่อย นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องลงพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แทนที่จะไปตรวจดูการช่วยเหลือชาวบ้านที่จังหวัดน่าน - พิจิตร ที่หนักหนาสาหัสอย่างแท้จริงแทน

แต่ดูเหมือนคำปรารภเหล่านี้ ไม่ได้รับการตอบสนองนอกเหนือไปจากใบหน้า "อมยิ้มเล็กน้อย" จากสื่อมวลชนบางราย ที่ยังคงยึดมั่นว่า ฤดูน้ำหลากพิษณุโลกต้องถูกน้ำท่วม

ทั้งที่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ว่ากันว่า บางระกำ ปีไหนน้ำไม่ท่วม นั่นคือสัญญาณความแห้งแล้ง , น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก ทั้งที่เป็นน้ำท่วมขังพ้นหลังเท้ามาไม่มากนัก , หอพักนักศึกษาหลัง มน.มีน้ำท่วมขังเพราะระบบระบายน้ำมีปัญหา แต่ก็แห้งภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 วัน ฯลฯ แต่ภาพที่ปรากฏหน้าสื่อยักษ์ - จอทีวี บางจุดมีน้ำท่วมมิดหลังคาศาลพระภูมิ ฯลฯ

หรือแม้แต่ข่าวหวั่นหินยักษ์กลิ้งลงทับบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือนที่หมู่ 1 บ้านบ่อโพธิ์ อ.นครไทย พิษณุโลก ที่ท้ายที่สุดนายสันติ กรุสวนสมบัติ รองผู้ว่าฯ ที่เข้าไปดูในพื้นที่ ถึงกับบอกว่า "หินมันอยู่ดี ๆ แต่มีคนไปแหย่ให้มันกลิ้ง" พร้อมกับอาการส่ายหัวเล็กน้อย

มิพักที่ต้องพูดถึงข่าว "แผ่นดินแยกยาวเป็นกิโลเมตรที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก" ที่ทัพสื่อมวลชนทุกสำนักที่มีตัวแทนในพื้นที่ตั้งแต่ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 เดลินิวส์ ไทยรัฐ ผู้จัดการ มติชน คมชัดลึก ฯลฯ ไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา ที่บ้านเผ่าไทย หมู่ 8 ต.ชมพู เมื่อ 9 กันยายน 2549 ซึ่งได้พบกับ "น้าราญ" คนในหมู่บ้านที่อาสาพาทัวร์แผ่นดินแยก ซึ่งจนแล้วจนรอด ไม่เจอรอยแตกแยกของแผ่นดินใด ๆ ทั้งสิ้น แต่รุ่งขึ้นอีกวัน ข่าวที่ปรากฏตามสื่อยักษ์ - ทีวี บางช่อง กลับกลายเป็นว่า "มีรอยแผ่นดินแยกที่เนินมะปรางยาวกว่า 1 กม."

ล่าสุดแม้แต่หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับวันนี้ (16 ก.ย.49) ยังคงยืนยันสภาพน้ำท่วมกระจายเป็นวงกว้างถึง 9 อำเภอของเมืองสองแคว บางฉบับก็บอกว่า นักศึกษา มน.กว่า 5 พันคนยังต้องโดยสารเรือท้องแบนไปเรียน ทั้งที่ภาพที่เป็นจริงก็เพียงแค่ "ท่วมหลังเท้า บริเวณครึ่งซีกของถนนก่อนเข้าประตู มน.เท่านั้น"


แน่นอนว่า หลังข่าวเหล่านี้ปรากฏต่อสาธารณะชนในวงกว้าง สิ่งที่ตามมานอกจากจะเป็นงบประมาณช่วยเหลือ - ถุงยังชีพจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีงบฯช่วยเหลือจากภาคเอกชน-สื่อมวลชน ที่ไหลมาเทมา เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะถึงมือชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ก็ต้องผ่าน "คนกลาง" ที่ทำหน้าที่เหมือน "คนคั้นน้ำผึ้ง" ที่แม้ว่าบีบน้ำผึ้งให้ปลายทางมากมายอย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังมีที่ติดไม้ติดมืออยู่ไม่น้อยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น