xs
xsm
sm
md
lg

กกต.และการเลือกตั้งมิใช่หลักประกันประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมหยุดเขียนหนังสือไปเกือบหนึ่งเดือน เพราะเกิดความเซ็งขึ้นมาอย่างแสนสาหัส ทำให้นึกถึงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง คือนายศุขเล็กหรือคุณประยูร จรรยาวงศ์ นักเขียนการ์ตูนและสื่อแนวหน้า รางวัลแมกไซไซยุคต้นๆ ในบั้นปลายชีวิตยุคหลังการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม ท่านเกิดเซ็งวิบัติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจนหมดอาลัยตายอยาก เวลาเจ็บป่วยก็ไม่ยอมรักษาพยาบาล

ท่านเป็นผู้เดียวที่ยืนหยัดอยู่ข้างผม ไม่ยอมอนุมัติงบก้อนโตให้ศูนย์นิสิตฯ ไปเผยแพร่ประชาธิปไตย ผมถูกผู้นำนักศึกษาเกลียดเสียพอแรง

ผมไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเผยแพร่ได้โดยคนที่ยังไม่เคยใช้ชีวิตอยู่อย่างประชาธิปไตย หรืออยู่ภายใต้องค์กรที่เป็นประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับที่ผมไม่เชื่อในขณะนี้ว่า กกต.จะสามารถดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยได้ หรือจะเป็นหลักประกันอะไรให้กับประชาธิปไตยได้เลยแม้แต่น้อย

โอกาสที่ กกต.จะทำลายประชาธิปไตยมีมากกว่าโอกาสที่ กกต.จะช่วยสร้างประชาธิปไตย

ความเชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ความสามารถ ความตั้งใจจริงของผู้ได้รับการคัดเลือก กระบวนการสรรหา หรือแม้กระทั่งข้อกล่าวหาที่ว่ามีวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นทาส พากันโหวตเป็นบล็อก เพื่อกีดกันบุคคลที่เชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคไทยรักไทย

แต่เป็นความเชื่อดั้งเดิม ที่ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย การมีองค์กรอิสระ เช่นก กต.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อได้เห็นองค์ประกอบและการปฏิบัติของ กกต.ชุดแรก ที่เลือกที่รักมักที่ชังและมีการต่อรองกันเอง ผมก็ยิ่งแน่ใจ และได้เขียนทักท้วงไปแล้วหลายครั้ง ผมเข้าใจดีว่าการที่สังคมไทยพากันโมทนาสาธุการ กกต.นั้นเป็นเพราะสังคมไทยขี้เกียจคิดและมีความลำเอียงเป็นอุปาทาน

สำหรับเหตุการณ์ปัจจุบัน ความเชื่อดั้งเดิมของผมก็ยิ่งหนักแน่นขึ้น ถ้าหากจะไม่นับปรากฏการณ์ทักษิณกับปรากฏการณ์สนธิ ซึ่งทำให้สังคมไทยหูตาสว่างและเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น ความเห็นที่ผมได้จากการสนทนาเร็วๆ นี้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญ 2 ท่าน คือรักษาการประธานรัฐสภา กับพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ก็ยิ่งทำให้เรามีความเห็นคล้อยตามกันว่า การเลือกตั้งรังแต่จะทำให้ประเทศไทยหายนะ และโอกาสจะคืนตัวเป็นประชาธิปไตยจะยิ่งยากขึ้น ไม่ว่า กกต.ที่เลือกขึ้นมาใหม่จะเก่งกล้าสามารถขนาดไหนก็ตาม

ผมจะอ้างคำพูดของพลเอกจารุภัทรแต่ผู้เดียว ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า พลเอกจารุภัทรเป็น กกต.หนึ่งเดียวที่ลาออกจากกลุ่ม กกต.ที่เหลืออยู่จนถูกศาลสั่งจำคุกทั้ง 3 คน แต่ท่านผู้อ่านอาจจะไม่ทราบว่าพลเอกจารุภัทรนอกจากจะจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.แล้ว ยังได้รับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์จากแคลร์มอนต์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาในแคลิฟอร์เนีย และยังเป็นน้องคนสุดท้องของคุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภา นักการเมืองประชาธิปไตยชั้นนำของภาคอีสาน ที่มีกิตติศัพท์เป็นที่รู้ทั่วกันว่าชอบด่าชาวบ้านที่มาขอเหล้ากินแลกคะแนนเสียงว่า “กูไม่ให้ พวกมึงจะเอาประชาธิปไตยหรือประชาธิปตีน” พี่จารุบุตรเป็นผู้อุปถัมภ์พานายแพทย์กระแส ชนะวงศ์มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ พลเอกจารุภัทรเล่าให้ผมฟังว่าได้ตามพี่จารุบุตรไปหาเสียงทุกหนทุกแห่งตั้งแต่จำความได้ จึงน่าจะนับว่าพลเอกจารุภัทรเป็นผู้มีความรู้เรื่องการเลือกตั้งดีทั้งในทางทฤษฎีและในภาคปฏิบัติ

พลเอกจารุภัทรสรุปให้ผมฟังว่า การเลือกตั้งที่เขารู้จักมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบจนถึงทุกวันนี้ มีแต่เลวลง ยังไม่เคยเห็นมีดีขึ้นเลย

สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป พลเอกจารุภัทรสลัดคราบอดีต กกต.และนายพลแห่งกองทัพบกมาวิเคราะห์ให้ผมฟังอย่างนักรัฐศาสตร์ โดยใช้วิธี Input-Output Analysis ที่ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า วิธี “เอาอะไรใส่เช้าไป-อันนั้นก็กลับออกมา” (ถ้าหากไม่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลาที่ใหญ่พอมาเป็นตัวแปร) ท่านบอกลองให้ผมคิดดูเอาเองว่าอะไรบ้างที่เปลี่ยน ผู้เลือกตั้งก็ยังเหมือนเดิม ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอยู่ 2-3 พันคนก็หน้าเดิมๆ ชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ พรรคหรือภาวะผู้นำพรรคการเมืองก็เดิมๆ กกต.ทั้งจังหวัดทั้งภาคก็เดิมๆ กลไกของรัฐที่ว่านอนสอนง่ายและเลียมือเลียเท้า ก็เดิมๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่เกิดวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ต่อให้กกต.ที่เลือกมาใหม่ 5 คนเป็นเทวดา ก็อย่าหวังว่าอะไรจะเปลี่ยน

ผมจึงสรุปเอาเองว่า เราอย่ามัวหวังลมๆ แล้งๆ ว่า

ทุกอย่าง + 5 กกต. = ประชาธิปไตย เลย

ทีนี้เรามาพูดกันถึงเลือกตั้งสักเล็กน้อย ผมอยากจะพูดถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่พวกหนึ่งมีความเห็นว่า รีบๆ เลือกตั้งเสียเถอะ บ้านเมืองจะได้สงบเสียที อีกพวกหนึ่งกลับมีความเห็นว่า เลือกให้โง่เหรอ เลือกก็เข้าล็อกทักษิณนะซี กูขี้เกียจประท้วงแล้วโว้ย ขืนรีบเลือก คราวนี้จะต้องประท้วงกันจนถึงลูกหลานแน่ๆ

นอกเหนือไปจากนี้ ยงมีสงครามวาทกรรมของบุคคลอีก 2 กลุ่ม ต่างก็อ้างว่าตนมีความรอบรู้และบริสุทธิ์เกินกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือเรื่องทฤษฎีการเมืองตะวันตก ผมเองอยู่นอกวงของคนพวกนี้ แต่มักจะถูกอ้างหรือเตะเข้าไปเป็นพวกนี้บ้าง พวกนั้นบ้าง แล้วแต่เงื่อนไขและเงื่อนเวลาของสถานการณ์ จริงๆ แล้วผมเบื่อหน่ายทั้ง 2 พวก ผมเชื่อว่าความจริงในทางการเมืองนั้น หากมีเสรีภาพมากๆ และมีการเปิดเผยความจริงให้หมดเปลือก คนที่จบ ป.4 ก็อาจจะเข้าใจได้ไม่แพ้คนจบปริญญาเอก และทุกคนย่อมมีสิทธิตัดสินใจอย่างลำเอียงเข้าข้างผลประโยชน์ของตน

ผมจะไม่อธิบายอะไรให้ยืดยาว แต่อยากจะพูดว่า ระหว่างกลุ่ม “เมินกษัตริย์-กำหนัดเลือกตั้ง” กลับกลุ่ม “หน่ายเลือกตั้ง-คลั่งกษัตริย์” นั้น เราไม่ควรเชื่อทั้งคู่ เรามาช่วยกันคิดดีกว่าว่า ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขได้

แน่นอนที่สุด ประชาธิปไตยจะต้องมีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตย

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะนอกจากจะเป็นการเลือกตั้งระบบพรรคเดียวแล้ว ศาลยังพิพากษาว่า กกต.ทำลายประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้งแบบไม่สุจริตเที่ยงธรรมและเข้าข้างพรรคไทยรักไทย

ถ้าหากพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด ป่านนี้ประเทศไทยกลายเป็นการเมืองระบบพรรคเดียวอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

เป็นแบบที่พล.ต.อ.วาสนา ประธาน กกต.ออกมาสวนพระราชดำรัสว่า ผู้สมัครพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทำไม “น่าเสียดาย อยากจะพูดอะไรก็พูด”

เป็นแบบที่ทักษิณพูดอย่างไม่อายฟ้าว่า “มีที่ไหนในโลกนี้ที่เรียกรัฐบาลพรรคเดียวว่าเผด็จการ มันจะผิดตรงไหนในเมื่อประชาชนมีความเชื่อในตัวผม”

เพราะเชื่อว่าประชาชนยังบูชาตนอยู่ทักษิณกับคณะจึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งวันแล้ววันเล่า อ้างว่า การเลือกตั้งคือหลักประกันสุดท้ายและอย่างเดียวของประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงว่า เมื่อเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลแล้ว รัฐบาลทักษิณและตัวทักษิณเองได้ทำลายประชาธิปไตย บทบัญญัติรัฐธรรมธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ อีกจนจะนับไม่ถ้วน ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ ไม่ยอมตอบคำถามใดๆ ว่าตนและรัฐบาลกระทำการฉ้อโกงและฝ่าฝืนกฎหมายกว่า 40 ข้อหา คงตั้งหน้าทำลายองค์กรและกลไกของรัฐธรรมนูญเพื่อจะให้ตนพ้นผิด และจะใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือฟอกตัวลูกเดียว

ผมขอยกตัวอย่างทักษิณทำลายรัฐธรรมนูญและพระราชอำนาจตามมาตรา 224 เรื่องเดียว คือการจงใจลงนามสนธิสัญญาการค้าเสรี โดยไม่ผ่านรัฐสภา ปิดโอกาสมิให้ในหลวงทรงท้วงติงหรือแนะนำก่อนลงพระปรมาภิไธย ทำให้พระองค์ไม่สามารถคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ มันเทศ มันฝรั่ง กะหล่ำปรีหรือผลิตผลเกษตรอื่นๆ ปล่อยให้ผลผลิตราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาโจมตีตัดราคาจนย่อยยับเป็นต้น เรื่องอื่นๆ ยังมีอยู่นับไม่ถ้วน

มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะปราศจากการครอบงำด้วยอำนาจและเงินของทักษิณและคณะอีก เพราะกลไกอื่นๆนอกจาก กกต.ใหม่ได้ถูกวางไว้เรียบร้อยและทำงานอยู่แล้ว มีอะไรเป็นหลักประกันว่าทักษิณจะไม่ทำลายรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอีก

ดูแต่การใช้บล็อกโหวตในวุฒิสภาเพื่อเลือก กกต.ชุดใหม่ ดูแต่ผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกใหม่เพียง 2 สัปดาห์ไล่หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่โมฆะครั้งที่แล้ว อันเป็นแบบซื้อเหล้าแถมเบียร์ โดยใช้การหาเสียงของ ส.ส.อุ้มลูกเมียและชู้เข้าสภาตามโผไทยลักไทยไปอย่างสง่างาม ศาสตราจารย์ดร.บุญทัน ดอกไธสง อดีตรองประธานวุฒิสภาให้ฉายาวุฒิสภาชุดที่แล้วว่า “ทายาทอสูร” อดีตประธานวุฒิอีกท่านหนึ่งบอกว่าชุดนี้ “โคตร” จะยิ่งกว่า หากไม่มีเสียเลย จะเป็นบุญแก่บ้านเมือง

เราเข้าใจความกระเหี้ยนกระหือรือของพรรคไทยลักไทย และบรรดา “กระสือผีห่า” ที่คอย “ชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ” ที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันในพรุ่ง การแอบอ้างทฤษฎีประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การนำเอาพระเจ้าอยู่หัวมาแอบอ้างว่าพระองค์ทรงต้องการเลือกตั้งเร็วหรือเลือกตั้งช้าของแต่ละฝ่ายไม่บังควรกระทำ และคนระดับประธานหรือสมาชิกวุฒิสภาก็มิควรเชื่อผู้ใด ที่อ้างว่าใกล้ชิดพระยุคลบาท ที่นำกระแสพระราชดำริมาบอกครั้งแล้วครั้งเล่า

การเลือกตั้งนั้นสมควรและจำเป็นต้องมีแน่เมื่อถึงเวลา เมื่อไรจึงจะถึงเวลา ตอบว่าเมื่อมีความน่าเชื่อถือพอสมควรว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เสรี มีความยุติธรรม มีผลอันเกิดจากคะแนนเสียงที่แน่นอน มีภาวะแห่งความเป็นตัวแทนพอดี ปราศจากการแทรกแซงที่เงินและอำนาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดในระบอบทักษิณ

วาระเช่นนั้นจะมาถึงก็ต่อเมื่อสังคมไทยมีความกล้า ทักษิณและบริวาร ทหารและประชาชน นักวิชาการ กลุ่มอาชีพ พันธมิตรและศัตรูรับจ้าง ต่างก็มีความกล้าที่จะช่วยกันสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่กำลังถูกทำลายให้ฟื้นฟูกลับมาเสียก่อนด้วยการปฏิรูปอย่างจริงจัง

ปฏิรูปเสียก่อนจึงเลือกตั้ง มิใช่เลือกตั้งแล้วจึงปฏิรูป

ถ้าหากเลือกตั้งแล้วจึงปฏิรูป เราก็จะได้การปฏิรูปตามแบบหรือความเชื่อของทักษิณ ชินวัตร กับ บรรหาร ศิลปอาชา

การปฏิรูปแบบทักษิณ ชินวัตร กับ บรรหาร ศิลปอาชาเป็นอย่างไร เราควรจะเดาได้จากปากของคนทั้งคู่นี้

ทักษิณเคยบอกว่า “ประชาธิปไตยมิใช่เป้าหมายของผม ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น”

และบรรหาร ศิลปอาชาเคยบอกว่า “เป็นฝ่ายค้าน ต้องพากันอดอยากปากแห้งทุกข์ทรมานเหลือเกิน”

ใครยังต้องการระบอบทักษิณกับระบอบหูฉลามอยู่อีกบ้าง โปรดยกมือขึ้น

ยังมีบทเพลงง่ายๆ อยู่บทหนึ่ง

“เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้งทั้งที ต้องเลือกให้ดี ให้มีประชาธิปไตย

เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้ง หากมันสังคังจะเลือกทำไม ดีไม่ดีพวกมันได้ใจ แอบทำจัญไรทำร้ายพ่อเรา”

ใครอยากให้ลูกหลานหัดร้องเพลงนี้ โปรดยกมือขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น