xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณกับมหาเธร์ : Thailand Dilemma

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

เป็นที่รู้กันว่า ทักษิณอยากจะเป็นมหาเธร์หรือลีกวนยูแห่งประเทศไทย ความสำเร็จของอดีตนายกฯ ทั้งสอง คือเป็นผู้นำอยู่ได้กว่า 20 ปี นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ต่างประเทศให้เกียรติยอมรับนับถือ ถึงแม้ประเทศจะเล็ก ก็นับเป็นพี่เบิ้มในภูมิภาคเวลาไปอเมริกาได้รับเกียรติตามพิธีการต้อนรับระดับหนึ่งจากประธานาธิบดี เทียบเท่านายกฯ อังกฤษและอิสราเอล พันธมิตรหลักของอเมริกัน

ทักษิณเองมีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง เป็นผู้นำที่รวยที่สุดในโลก เป็นรองอยู่คนเดียวคือ อดีตนายกฯ อิตาลีซึ่งเพิ่งจะถูกเขี่ยออกไป และมีโอกาสที่จะติดคุกเสียด้วย ทักษิณน่าจะเหมือนแบรลุสโคนี เพราะทั้งคู่เป็นอภิมหาเศรษฐีโทรคมนาคมเหมือนกัน อเมริกาไม่เคยจัดลำดับให้ทักษิณเท่ามหาเธร์หรือลีกวนยู แต่อยู่กลางๆ ระหว่างระดับ 3 กับ 4 คือให้นั่งคุยกันเฉยๆ ไม่พาออกสื่อ หรือยืนพูดในสวนกุหลาบหรือสภาคองเกรส

กับทั้งทักษิณไม่มีหวังอยู่ในตำแหน่งถึง 10 ปีอย่างเด็ดขาด มีผู้กล่าวหยาบๆ ว่าฝีมือการเมืองของทักษิณไม่เทียบขี้ตีนของลีกวนยูหรือมหาเธร์ และความซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่ติดฝ่าเท้าของทั้งคู่อีกเหมือนกัน

มหาเธร์พาประเทศฝ่าพายุเศรษฐกิจออกมาได้อย่างสวยงาม โดยไม่ก้มหัวพึ่งไอเอ็มเอฟ หรือทุนนิยมตะวันตก นับว่ามหาเธร์เป็นชาตินิยมตัวจริง มิใช่ชาตินิยมจอมปลอม

ชาตินิยมจอมปลอมจะปลุกกระแสชาตินิยม เพื่อกวาดต้อนประชาชนไปเป็นเหยื่อทุนนิยมโลกโดยไม่รู้ตัว เพราะฉายภาพประชานิยมและทุนใหญ่ชาติที่มีความสามารถเป็นที่พึ่งให้เห็น สังคมยังไม่เข้าใจว่าทุนใหญ่ชาติเป็นบริวารของทุนใหญ่โลก

ถึงผมเองจะนิยมคุณสมบัติของลีกวนยูและมหาเธร์หลายอย่าง แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่ทักษิณจะเรียนวิธีกำราบฝ่ายค้านมาจากสิงคโปร์และมาเลเชีย เช่น การใช้สรรพากรหรือตรวจคนเข้าเมืองเป็นเครื่องมือ ปิดปากสื่อ และกดดันศาล ฯลฯ

ทักษิณหารู้ไม่ว่าการที่เขาเลียนแบบระบบพรรคเดียวของลีกวนยู แทนที่จะเอาอย่างพรรครวมกลุ่มแบบอุมโนของมหาเธร์ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาพบจุดจบอย่างรวดเร็วน่าใจหาย อนึ่ง การสร้างระบบพรรคของสิงคโปร์และมาเลเซียนั้น เป็นไปตามขั้นตอนแบบวิวัฒนาการ แต่ของทักษิณเป็นแบบปรากฏการณ์คือใช้อำนาจและเงินบังคับให้พรรคอื่นล่มสลาย ปรากฏการณ์ทักษิณเป็นปรากฏการณ์สายฟ้าแลบ และขึ้นกับความมีเงินของทักษิณเป็นปัจจัยหลัก ทักษิณจึงเป็นผู้นำการเมืองคนเดียวในโลกที่บวชวันเดียวเป็นได้ทั้งสามเณรทั้งพระทั้งเจ้าอาวาสทั้งสังฆราชพร้อมๆ กัน จึงสร้างความขัดแย้งและภาวะแข็งนอกอ่อนในอยู่ตลอดเวลา

มหาเธร์ เกือบจะเป็นรุ่นพ่อของทักษิณ เพราะเกิดในปี 2468 เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในปี 2488 จบแพทย์จากสิงคโปร์ เป็น ส.ส.ครั้งแรก ปี 2505 แพ้เลือกตั้งแล้วเป็นใหม่ปี 2507 คราวนี้ยิงยาวจนกระทั่งได้เป็นนายกฯ ในปี 2528 เป็นอยู่ 21 ปีจึงสละตำแหน่ง เมื่อเทียบกับทักษิณแล้วจะเห็นว่าชั่วโมงบินทางการเมืองเทียบกันไม่ติด

มหาเธร์มีความอื้อฉาวทางการเมือง แต่ว่าน้อยกว่าทักษิณ เริ่มตั้งแต่ถูกขับไล่ออกจากพรรค ในปี 2512 โดยเต็งกู อับดุลราห์มัน นายกรัฐมนตรี กว่าจะกลับเข้ามาใหม่ก็เมื่อเต็งกูตายแล้ว เรื่องอื้อฉาวที่ 2 ก็คือการที่เขาพยายามครอบงำอำนาจศาลและข่มเหงผู้พิพากษา ที่ 3 คือการปลดและจำคุกอันวาร์ รองนายกรัฐมนตรี โดยข้อหาที่โลกไม่เชื่อ เมื่อออกจากนายกฯ แล้ว ไม่กี่เดือนมานี้ก็กลับมาอื้อฉาวอีกโดยการออกมาตำหนินายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเขาสร้างมากับมือต่อจากอันวาร์ ทำให้ถูกโต้กลับอย่างรุนแรง

กล่าวโดยรวมแล้ว มหาเธร์เป็นผู้นำที่คนทั้งประเทศเลื่อมใสในความสามารถ ความเข้มแข็งและเป็นนักคิดที่ล้ำหน้าสังคม ทั้งๆ ที่เป็นแพทย์แต่เขาเป็นผู้ที่รอบรู้มีปัญญาและเป็นปราชญ์ ทักษิณพยายามจะสร้างภาพพจน์อย่างเดียวกัน โดยการพูดและอ่านหนังสือที่ตนเองคุยว่าเป็นคัมภีร์แห่งยุค ภาษาอังกฤษและความลุ่มลึกของทักษิณคงสู้มหาเธร์ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดและการเขียนของมหาเธร์เป็นที่ยอมรับนับถือว่าล้ำยุคและลึกซึ้ง หนังสือที่ทำให้เขาดังไปทั่วโลกตีพิมพ์เมื่อปี 2513 (1970) ชื่อว่า The Malay Dilemma

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว และต่อมาได้มาอ่านบทความใหม่ของมหาเธร์ที่ตีพิมพ์เมื่อ 22 สิงหาคม 2549 นี้เอง ชื่อ The New Malay Dilemma จึงเป็นเหตุให้ผมคิดถึงทักษิณกับประเทศไทย จนต้องเขียนบทความนี้ขึ้นมา

คำว่า Dilemma แปลได้หลายอย่าง เช่น จุดอับบ้าง อุปสรรคบ้าง ทางตันบ้าง ความวิบากบ้าง แต่ผมอยากจะแปลว่าคำสาปมากกว่า

ในขณะที่มหาเธร์พยายามทำลายคำสาปมาเลย์ ผมเห็นว่าทักษิณกำลังสร้างคำสาปไทยขึ้นมาอย่างขะมักเขม้น

ความเชื่อของมหาเธร์สอดคล้องกับแนวทางของพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นให้ประชาชนขยันขันแข็ง พึ่งตนเอง แต่ทักษิณเน้นประชานิยมบริโภคและการรอคอยพึ่งรัฐบาล

ต่อไปนี้ ผมจะแปลหรือเรียบเรียงบทความของมหาเธร์บางตอนที่ผมเห็นว่าน่าขบคิด ท่านที่สนใจอ่านต้นฉบับจริงทั้งฉบับ ผมจะขอโพสต์ในผู้จัดการออนไลน์ให้

“วัฒนกรรมเกิดขึ้นจากระบบค่านิยมใหญ่ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอยู่ในชนชาติ ถึงแม้ว่าจะนำหรือไม่นำมาปฏิบัติก็ตาม จากการวิเคราะห์ตรวจสอบปรากฏว่าวัฒนธรรมของชนชาติหนึ่งๆ เป็นปัจจัยในความสำเร็จหรือล้มเหลวของชาตินั้นๆ”

“ชนชาติยุโรป เอเชียน แอฟริกัน หรืออเมริกันอินเดียน อาจสำเร็จหรือล้มเหลวได้เหมือนกันทั้งนั้น มิใช่เพราะมีเชื้อชาติเป็นปัจจัยตัดสิน แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมต่างหาก”

“เมื่อข้าพเจ้าเขียนเรื่อง The Malay Dilemma หรือ คำสาปมาเลย์ในปลายทศวรรษ 1960 นั้น ข้าพเจ้าตั้งข้อสันนิษฐานว่า ชาวมาเลย์ทั้งมวลขาดโอกาสที่พัฒนาและประสบความสำเร็จ เพราะเขาขาดโอกาสที่จะศึกษาเล่าเรียน ขาดโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้พอเพียงที่จะลงทุนทำธุรกิจ ขาดโอกาสที่จะฝึกฝนอบรมให้ประกอบอาชีพ ขาดโอกาสที่จะรวบรวมทุนที่จำเป็น หรือได้ใบอนุญาตที่ต้องการ หรือมีสถานประกอบการ

ถ้าหากเปิดโอกาสเหล่านี้ให้กับพวกเขา เขาจะพากันประสบความสำเร็จ”

“แต่ในปัจจุบัน ความเชื่อและทัศนคติเปลี่ยนไป การได้ทุนเล่าเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ กลับมิใช่คุณค่าที่ต้องพากเพียรต่อสู้มาให้ได้ แต่กลายมาเป็นเรื่องของสิทธิทั่วๆไปเสียแล้ว”

ซ้ำมิหนำ ผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเช่นนี้ ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ กลับรังเกียจผู้ที่สร้างโอกาสนี้ขึ้นมาให้เสียอีก

ยิ่งกว่านั้น เขากลับไม่ยินดีชื่นชมโอกาสดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ

เขากลับพากันไปสนใจในสิ่งอื่นๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมือง) และสิ่งที่ทำให้เสียการเรียน

ในภาคธุรกิจ คนส่วนใหญ่มองโอกาสที่ได้รับเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้รวยลัดหรือรวยเร็วที่สุด

พวกเขาไม่ยอมเรียนรู้วิถีธุรกิจใดๆ และยิ่งทำธุรกิจเป็นน้อยลงๆ และไม่สามารถทำรายได้ให้คุ้มธุรกิจได้

พวกเขาพากันเป็นหุ้นลมหรือไม่ก็ขายธุรกิจทิ้งจนหมด คอยวิ่งเอาแต่สัมปทาน ใบอนุญาต ประทานบัตร หุ้นหรือส่วนแบ่งจากรัฐบาล

ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น เห็นจะตอบได้ว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมมาเลย์เป็นอย่างนี้ ชนชาติมาเลย์เป็นคนเฉื่อยชาและมักง่าย ชอบหาทางออกง่ายๆ โดยขายทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมี แล้วแบมือขอนั่นขอนี่จากรัฐบาลเรื่อยๆ นี่คือวัฒนธรรมมาเลย์

ทำงานหนัก ยอมเสี่ยง และมานะอดทนไม่ใช่วัฒนธรรมมาเลย์ ดังนั้น ชาวมาเลย์จึงไม่พร้อมที่จะทำงานใดๆ เพื่อสร้างประเทศ ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาแล้ว

อะไรคือคำสาปใหม่ของชนชาติมาเลย์ ถ้าหากคำสาปเก่าคือการช่วยกันบิดเบือนความจริงสักเล็กน้อย เพื่อจะช่วยเหลือมาเลย์ด้วยกัน

คำสาปใหม่ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะออกมาจากเกราะแห่งอภิสิทธิ์ และความหวังพึ่งได้ เพราะเขาต่างก็ติดยึดและภูมิใจในเกราะนั้นเสียแล้ว

คำสาปสำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือความลุ่มหลงบูชาเกราะดังกล่าว

แต่คำสาปสำหรับคนส่วนน้อยที่มีความมั่นใจว่าพวกเขาจะทำลายเกราะนั้นได้ เพื่อจะสร้างสังคมมาเลย์ที่เข้มแข็ง กล้าหาญ และเป็นอิสระ (ไม่หวังพึ่ง) คนส่วนนี้กลับจะถูกมองว่าเป็นพวกทรยศ ไม่มีเสียงสนับสนุน ประชาชนไม่เข้าใจ ในที่สุดก็พ่ายแพ้หมดปัญญาและความสามารถที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและค่านิยมที่จำเป็นต่อความจำเริญพัฒนา

มหาเธร์จบลงด้วยวลีว่า “หากเขาเหล่านี้ถอดใจ วางมือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดังกล่าว ชนชาติมาเลย์จะต้องล้มเหลวแน่นอน!”

ผมอ่านบทความของมหาเธร์และครุ่นคิดไปมาหลายเที่ยว ความจริงวัฒนธรรมไทยต่างกับมาเลย์ คนไทยขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ในหลวงทรงพยายามให้ยึดหลักพึ่งตนเองและเศรษฐกิจพอเพียง แต่รัฐบาลเมกะ(โลเมเนียก)โปรเจกต์กลับเผยแพร่ประชานิยมมอมเมา ทำให้เกิดลัทธิหวังพึ่งและตามอย่าง ทำให้พากันเสียคน

ไม่มีประชานิยมที่ไหนในโลกที่ไม่สร้างลัทธิบูชาผู้นำหรือ personality cult ในที่สุดจะพากันตายตามผู้นำทั้งชาติ

บัดนี้ คำสาปเกินกว่าตั้งเค้าแล้ว ผมอยากเรียกว่าคำสาปทักษิณ ไม่อยากเรียกว่าคำสาปชาติไทย

อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน พลเอกเปรมอายุ 86 ต้องแต่งเครื่องแบบทหารออกพูดเรื่องจริยธรรมและความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่าไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศล้มเหลว วิกฤตที่ในหลวงตรัสว่า “ที่สุดในโลก” กลับรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะคนส่วนน้อยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงตนเป็นคนส่วนมาก มีความกล้าหาญไม่พอ มัวแต่รักษาความเป็นกลาง ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความชั่วกับความดี ความผิดกับความถูก ความคดโกงกับความซื่อสัตย์ ประชาธิปไตยจอมปลอมกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำสาปทักษิณจะทำให้ชนชาติไทยในอนาคตเจ็บปวดยิ่งกว่ามาเลย์ของมหาเธร์อีกหลายเท่า

ปล. ดับเครื่องชนทักษิณ ยังไม่จบครบ 10 ยก กองเชียร์มุมแดงระดมขว้างปาของแข็งขึ้นมาบนเวที จนมุมน้ำเงินศีรษะแตก ขืนรีบขึ้นชกจะต้องถูกจับแพ้เทคนิคัล โปรดอดใจคอยเชียร์ ไม่ล้มมวยแน่ ต้องน็อกให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น