xs
xsm
sm
md
lg

วิศวจุฬาฯ ไม่เชื่อฮับการบิน ระบบไม่พร้อมเปิดใช้วุ่นแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"วิศว จุฬาฯ" เปิดตำนานโกงหนองงูเห่า ฉาวโฉ่ทั่วโลก ทั้งถมทรายยันซีทีเอ็กซ์ จ่ายค่าโง่จ้างอ่านแบบเหนาะ ๆ ร้อยล้าน ผลาญงบประมาณชาติสูญสิ้นกว่า 1.5 แสนล้าน ซ้ำระบบขนส่งยังไม่คลอดส่อโกลาหล งามหน้ากระสันอยากเป็นการบินโลจิสติกส์ แต่ไร้กึ๋นวางยุทธศาสตร์ ไม่พร้อมสักด้านดันทุรังเปิดโชว์เอาหน้า ด้านการทดสอบระบบเช็คอิน 460 เคาน์เตอร์และสายพานลำเลียงกระเป๋า แบบเต็มรูปแบบครั้งแรก ยังโกลาหล พบปัญหาเพียบ ทั้งการเชื่อมต่อระบบข้อมูลของสายการบินกับระบบสนามบิน ยังไม่ลื่นไหล การติดต่อสื่อสารคลาดเคลื่อน ทำให้หลายสายการบินพบปัญหาในการทำงาน หวั่นส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการ ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ จี้ไม่พร้อม "ไม่ควรเร่ง" ด้าน"เพ้ง"ติวเข้มแก้ปัญหาจราจรรับเปิดสุวรรณภูมิ ยกเลิกเก็บเงินด่านทับช้าง 6 เดือน


วานนี้ (7ส.ค.) ที่อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมนักเรียนทุนอานันทมหิดล ได้จัดเสวนาเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หัวข้อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในมุมมองวิศวกรไทย”

นายปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า บทเรียนจากโครงการสนามบินสุวรรณภูมิได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากวิศวกรและสถาปนิก ว่า เป็นโครงการที่ค่อนข้างแพง และมีความไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น การใช้ช่วงอาคารที่ยาวถึงช่วงละ 120 เมตร ซึ่งถือเป็นความห่างระหว่างช่วงเสาที่ยาวมาก แบบที่วิศวกรที่อื่นไม่ทำกันและตนก็ไม่เคยเห็น โดยอาจจะยาวที่สุดในโลกก็ได้ การออกแบบเช่นนี้ทำให้ค่าการก่อสร้างแพงมาก ทั้งที่สามารถก่อสร้างแบบช่วงสั้นได้แต่ก็ไม่ทำ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุที่ทำจากกระจกจำนวนมาก วัสดุเหล่านี้ทำให้ค่าก่อสร้างแพง และยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น การสิ้นเปลืองพลังงาน มีเสียงก้อง ผู้ที่ออกแบบได้คิดการแก้ไขปัญหาไว้หรือไม่ หากมีการแก้ไขคนที่ออกแบบจะคิดค่าปรับปรุงเพิ่มหรือไม่ รวมทั้งกรณีการติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 มากถึง 26 เครื่อง ก็ไม่เหมาะสม เพราะอากาศยานใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ก็ไม่ใช้ถึงขนาดนี้

“โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังมีเรื่องอื้อฉาวมากในเรื่องคอร์รัปชัน ตั้งแต่การถมทราย การเสียค่าโง่ในการจ้างผู้ออกแบบมาช่วยอ่านแบบในขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่จ้างผู้ออกแบบให้แล้วยังต้องจ้างให้มาอ่านแบบที่ต้องเสียเงินจ้างกว่า 100 ล้านบาทให้ระหว่างก่อสร้างอีก” นายปณิธาน กล่าว

นักวิชาการผู้นี้ กล่าวอีกว่า โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้วางแผนในการก่อสร้างในยุคฟองสบู่ คณะกรรมการจึงเน้นการก่อสร้างที่ใช้วัสดุหรูหรา ดังนั้น ขั้นตอนการออกแบบจึงไม่คำนึงถึงความประหยัด ทั้งที่สถาปนิกที่เป็นคณะกรรมการหลายคน ก็ทักท้วงว่า เราสามารถสร้างให้ประหยัดได้ แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าเราสามารถทำให้คุ้มทุนได้โดยการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน

“ขณะนี้สนามบินยังไม่มีระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไขข้อกระจ่างนี้ให้กับประชาชนที่จะเป็นผู้ใช้บริการ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ว่าวิธีการปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างไร เพราะความปลอดภัยไม่ได้เกิดขึ้นจากการทดสอบเพียงครั้งเดียว แต่ต้องทำตามมาตรฐานของการบินนานาชาติ ถ้าเปิดเผยความจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ และต่อสายตาของชาวต่างชาติ” นายปณิธาน กล่าว

ขณะที่ นายอนุกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าสาขาวิศวกรรมขนส่งและจราจร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่กว่าท่าอากาศยานดอนเมืองกว่า 6 เท่า และเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงมากที่สุดในประวัติการณ์ ถึง 1.5 แสนล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการถึง 45 ปี และจะมีการเปิดใช้ในวันที่ 28 กันยายนนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ยังไม่มีการแก้ไข อาทิ การออกแบบที่เป็นอาคารเดี่ยวขนาดมหึมา ระยะทางในการสัญจรมีระยะยาว หากวัดจากปลายอาคารเทียบเครื่องทิศเหนือถึงปลายอาคารเทียบเครื่องทิศใต้ มีระยะประมาณ 3 กิโลเมตร หากผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนเครื่องผู้โดยสารจะต้องเดินทางประมาณ 800 เมตร - 1 กิโลเมตร การแก้ไขปัญหานี้ควรมีรถไว้บริการเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารเพื่อความรวดเร็ว

นายอนุกัลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังทราบว่า รัฐบาลได้วางแผนว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้าจากสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ใช้งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท แต่เคยมีผู้ศึกษาวิจัยแนวทางโดยสารที่ประหยัดกว่า คือ การใช้รถรางแบบสปรินเตอร์ที่มีต้นทางอยู่สนามบินสุวรรณภูมิ และมีปลายทางอยู่ที่มักกะสัน ที่ใช้เวลาเพียง 20 นาที และใช้งบประมาณเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีปัญหาการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ที่สถานีเทียบรถประเภทนี้อยู่ห่างไกลจากอาคารที่พักผู้โดยสารหลายร้อยเมตร ดังนั้น การให้บริการรถประเภทนี้ก็ต้องใช้รถขนถ่ายผู้โดยสาร (Shuttle Bus) ไปยังจุดหมายตามที่ผู้โดยสารต้องการ คาดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์โกลาหลและวุ่นวายพอสมควร

นอกจากนี้ ยังมีความไม่พร้อมในด้านระบบความปลอดภัย ความสะดวกสบาย จากการลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร, ห้องน้ำที่ยังไม่เพียงพอ และถือว่าด้อยกว่าสนามบินดอนเมือง และสนามบินคู่แข่งอื่นๆ การบริการที่ไม่ฉับไว อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะนำพาความไม่น่าเชื่อถือมาสู่สนามบินได้

“สนามบินสุวรรณภูมิมีหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก คือ สูงถึง 132.2 เมตร และเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ เพราะในบริเวณเขตทางร่อนขึ้น-ลง มีสิ่งกีดขวางยื่นเข้ามา ถึงแม้ไม่มีผลถึงขั้นคอขาดบาดตายต่อความปลอดภัย แต่ก็มีผลในระดับหนึ่ง เพราะทำให้เครื่องต้องปรับมุมร่อนขึ้นและลงให้ชันขึ้น ในทางปฏิบัติเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน และความสบายของผู้โดยสาร หากนักบินที่ไม่คุ้นเคยกับสนามบินก็ต้องระมัดระวังพอสมควร” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการขนส่งและจราจร จุฬาฯ กล่าว

นายอนุกัลย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากผู้บริหารต้องการแก้ไข เพราะเดินมาถึงจุดนี้แล้ว เงินทองค่าก่อสร้างก็เสียไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมองย้อนกลับไปในอดีตที่ยุ่งเหยิง สับสน แม้ความเป็นมาของสนามบินจะเต็มไปด้วยข่าวฉาวโฉ่ทางด้านการทุจริต ฉ้อฉล แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์ได้ แม้วันที่ 28 กันยายนนี้ สนามบินอาจจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ทางด้าน นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ คณะทำงานด้านคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักการแล้วการจะเป็นศูนย์กลางจะต้องมีวิธีการดำเนินการแบบ Transit หากใช้วิธีนี้ก็จะประสบปัญหา เพราะการขนส่งตามวิธีนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก แต่ถ้าจะดำเนินตามวิธี Gateway ที่เป็นประตูทางผ่านของการขนส่งทางอากาศให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบประเทศไทย ประเทศเราก็จะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร และแนวทาง Transshipment ที่เป็นการดำเนินการรองรับสินค้าเปลี่ยนถ่ายลำเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก หากต้องการใช้วิธีนี้ปัจจัยภายในประเทศก็ยังไม่ถึง โดยต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศทางเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางอยู่ก่อนแล้ว ส่วนอีกหนึ่งแนวทาง คือ การเป็นศูนย์กลางในฐานะที่เป็นศูนย์กระจายสินค้ากลาง โดยนำสินค้าจากประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าให้บริการพักสินค้าชั่วคราว รวมถึงบริการเพิ่มมูลค่าต่างๆ ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า หากจะเป็นศูนย์กลางในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่าน หรือจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มากนัก อาจก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการจ้างงานบ้าง และให้ค่าบริการขนส่งที่เข้าสู่ หรือออกจากประเทศลดลง หากใช้แนวทางนี้อย่างเดียวโดยไม่มียุทธศาสตร์ด้านการผลิต การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมเพื่อรองรับอาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดผลด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในวงกว้างตามที่คาดหวัง ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นศูนย์กลาง หากต้องการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าจะให้ประโยชน์มากกว่า เพราะจะสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ เกิดการสร้างงานและดึงดูดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนและจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

“ตอนนี้ผมงงมาก ว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะพัฒนาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ และจะเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ได้อย่างไร เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เสนอแนวทางที่ชัดเจน หากจะเป็นฮับเราจะต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งความสะดวก ค่าใช้จ่ายที่โปร่งใสเปิดเผยได้ เครื่องบินลำเลียงสินค้า แต่ที่กล่าวมาไทยยังไม่พร้อม ซึ่งถือว่าเสียเปรียบประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางระบบลอจิสติกส์แบบบูรณาการในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก” คณะทำงานด้านลอจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรม กล่าว

**แฉจ้างรปภ.สนามบินปีละ 500 ล้าน

ในวันเดียวกันนี้ (7ก.ย.)ที่ร้านบีทูเอส เซ็นทรัลเวิล์ด มีการเปิดตัวหนังสือและจัดเสวนาเรื่อง "รวยได้ ไม่ต้องโกง" มีวิทยากรประกอบนักวิชาการชื่อดัง นักวิจัย นักสื่อสารมมวลชน ท่ามกลางประชาชนให้ความสนใจมากมาย

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า สตง.ได้ไปตรวจเจอเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ คือ มีจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย ที่สนามบินแห่งหนึ่งเป็นเวลา 10 ปีล่วงหน้า ทำไมบริษัทนี้ถึงได้ เงินที่จ้างทั้งหมด 5,000 ล้านบาท เฉลี่ยออกมาตกปีละ 500 ล้านบาท ปีหนึ่งประเทศชาติต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัย 500 ล้านบาท เดือนละ 40 ล้านบาท

"เคยพูดกับลูกน้องว่าเขามีสเต็ป ขั้นที่ 1 จ้างที่ปรึกษา มาจากไหนไม่สำคัญแต่ เมื่อเป็นที่ปรึกษา พอบอกให้ซื้อยี่ห้อนี้ก็ต้องซื้อ ขั้นตอนต่อมามีคณะกรรมการบริหารก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ซื้อยี่ห้อนี้ ก็ส่งมาให้กรรมการผู้จัดการ ก็ซื้อยี่ห้อนี้ พอ สตง.เข้าไปตรวจสอบ ถามว่าทำไมซื้อยี่ห้อนี้ ก็อ้างว่ามติกรรมการบอก สตง. ถามว่า คณะยี่ห้อนี้ เพราะเสียเปรียบทุกประตู แพงกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า มันเหมือนเรื่องบางเรื่องที่ดิฉันกำลังผจญอยู่ น่าเป็นห่วงหรือไม่บ้านนี้ เมืองนี้"คุณหญิงจารุวรรณ กล่าว

**สายการบินงงระบบเช็คอินไม่เชื่อมโยง

นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน ) หรือทอท กล่าวว่า การทดสอบระบบเช็คอินและสายพานลำเลียงกระเป๋า พร้อมกันทั้ง 460 เคาน์เตอร์ โดยมีกระเป๋า 10,000 ใบภายในเวลา 1 ชม.นั้น จะมีการประเมินผล และเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดระบบและให้ทำงานร่วมกัน1-2 ชม. โดยก่อนหน้านี้มีการทดสอบระบบร่วมกันประมาณ 10-20 นาที และในสัปดาห์คาดว่าจะสามารถเปิดระบบให้มีการเชื่อมโยงกันตลอด 24 ชม. ได้ นายสมชัย สวัสดิผล ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกล่าวว่า การทดสอบระบบเช็คอินและสายพานลำเลียงกระเป๋า พร้อมกันทั้ง 460 เคาน์เตอร์เช็ค มีปัญหาบ้าง โดยจะจะทดสอบใหญ่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพราะในภาพรวมเจ้าหน้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเตรียมความพร้อมได้ทันก่อนเปิดใช้ในวันที่ 28 ก.ย.นี้แน่นอน

**สายการบินบ่นไม่พร้อมไม่น่าเปิด

นายสมคิด งามศิริอุดม Traffic Supervisor of Kuwait Airways กล่าวถึงปัญหาในการทดสอบการทำงานของสายพานลำเลียงกระเป๋าว่า ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีผิดพลาดทางด้านข้อมูลการบิน ซึ่งวันที่แจ้งไปยังสำนักงานใหญ่ที่ประเทศคูเวต กำหนดการทดสอบในวันที่ 8 ก.ย. แต่ทอท.ทำการทดสอบในวันที่ 7 ก.ย.ทำให้ระบบข้อมูลการบินไม่สามารถทำงานได้

ทั้งนี้ เรื่องระบบข้อมูลของสายการบินในวันที่เปิดทำการบินจริง วันที่ 28 ก.ย.นี้ จะไม่มีปัญหา เพราะระบบข้อมูลการบินจะเป็นไปตามตารางการบินที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบการทำงานของ ทอท.ที่จะต้องมีการต่อระบบกัน ซึ่งอาจต้องมีการทดสอบการทำงานอีกก่อนที่จะเปิดให้บริการ แต่ยังเป็นห่วงในการเปิดอาจจะมีปัญหาหลายประการเกิดขึ้น นางสาว Jislada Srijampa , Services manager of United Airlinesกล่าวว่า การทดสอบระบบสายพานลำเลียงนั้นโดยรวมถือว่าเป็นไปด้วยดี มีปัญหาติดขัดในส่วนของเชื่อมต่อเข้ากับระบบข้อมูลของทอท. แต่เชื่อว่าในวันที่เปิดให้บริการทางยูไนเต็ดแอร์ไลน์ได้มีการเตรียมระบบสำรองไว้พร้อมรองรับและมีเจ้าหน้าที่เสริมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีหากระบบของ ทอท.เกิดขัดข้อง

นายปิง ณ. ถลาง Vice President Information System Department สายการบินบางกอกแอร์เวย์ กล่าวว่า ระบบการทำงานของบางกอกแอร์เวย์ใช้ระบบเดียวกับที่สนามบินดอนเมือง และมีการเตรียมความพร้อมฝึกความชำนาญมาตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการผลักเปลี่ยนหมุนเวียนพนักงานมาฝึกความชำนาญที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำให้อุปสรรคปัญหาต่างๆที่พบได้รับการแก้ไขมาโดยตลอดส่วนการทดสอบระบบการทำงานในครั้งนี้ อาจมีความขัดข้องบ้างเนื่องจากข้อมูลด้านการบินเป็นข้อมูลสมมุติขึ้นทำให้มีปัญหาความล่าช้าในการป้อนข้อมูลหรือการใส่รหัสต่างๆ

รวมทั้งการโหลดกระเป๋าก็ต้องใช้เวลามากกว่าที่สนามบินดอนเมืองเล็กน้อยเนื่องจากระบบสายพานลำเลียงที่ยาวกว่า ได้มีการทดสอบในทุกสถานการณ์ เช่นกรณีผู้โดยสารทำการเช็คอินพร้อมๆกันจำนวนมากจะรองรับได้เพราะมีเคาน์เตอร์เช็คอินเพิ่มขึ้นจากที่ดอนเมืองที่มี7 เคาน์เตอร์เพิ่มเป็น 14 เคาน์เตอร์ ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารมาช้าหากผ่านระบบสายพานลำเลียงอาจไม่ทันเวลาจึงต้องจัดช่องทางพิเศษแทนเป็นต้น

ด้านเจ้าหน้าที่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อระบบข้อมูลของทอท.ได้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการผ่านเข้าระบบ จึงได้มีการแก้ปัญหาโดยการใช้ระบบ Manual เขียนบันทึกข้อมูลแทน

**ติวเข้มแก้ปัญหาจราจรรับเปิดสุวรรณภูมิ ยกเลิกเก็บเงินด่านทับช้าง 6 เดือน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจร การกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 28 ก.ย. ว่า ให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาการจราจรและเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร โดยให้กรมทางหลวงยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี(สายใหม่) ที่ด่านทับช้าง เป็นเวลา 6 เดือนเพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน

ส่วนกทพ.ให้เพิ่มจำนวนช่องและตู้เก็บเงินเช่น ทางด่วนที่รับรถจากมอเตอร์เวย์และถนนศรีนครินทร์ ซึ่งมาจากสนามบินเข้าเมือง เป็นต้น ในขณะที่ให้ทอท.เร่งประชาสัมพันธ์เส้นทางที่ยังมีผู้ใช้น้อยเช่น ทางเข้าสนามบินด้านบางนา-ตราด โดยจุดที่มีปัญหาจราจรมาก คือแยกกิ่งแก้ว ทั้งขาเข้าและขาออก ให้กรมทางหลวงลดขนาดฟุตบาทจาก 8 เมตรเหลือ 4 เมตร เพื่อทำเป็นที่จอดรถสำหรับตลาด แทนที่ให้ใช้บนผิวถนนเหมือนปัจจุบัน

**เตรียมผลาญงบ!!

นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า จะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อออกกฎกระทรวงยกเลิกการเก็บเงินค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ที่ด่านทับช้างเป็นการชั่วคราว 6 เดือน เพื่อให้มีผลทันการเปิดสนามบิน โดยปัจจุบันด่านทับช้างมีปริมาณจราจรประมาณ 100,000 คันต่อวัน มีรายได้ค่าผ่านทางประมาณ 2.7 ล้านบาท โดยเมื่อสนามบินเปิดคาดว่าจะมีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นอีก 30% ในขณะเดียวกัน กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเสนอขอลงทุนปรับปรุงด่านเก็บค่าผ่านทาง เป็นระบบเปิดเพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ซึ่งคาดว่าจะลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

ด้านนายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า เบื้องต้น กทพ.จะเปิดช่องเก็บค่าผ่านทางบนทางด่วนทั้งหมด 100% เพื่อเร่งระบายการจราจรหน้าด่านส่วนการเพิ่มช่องหรือตู้เก็บเงินนั้น จะเร่งทำแผนเพื่อสรุปเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละด่าน โดยหลักการมี 2 วิธีคือ เพิ่มจำนวนตู้เก็บเงินในช่องเดียวกัน หรือ เพิ่มตู้ในพื้นที่ด้านในซึ่งต้องมีจำนวนช่องจราจรมากพอ โดยจะเร่งดำเนินการภายใน 4-5 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น