xs
xsm
sm
md
lg

ระบบการศึกษาไทยพังพาบ!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

“ระบบการศึกษาไทย” มีการวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน มิใช่เพิ่งจะเกิดเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ แต่เกิดขึ้นมาอย่างน้อย ต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปีเห็นจะได้ ที่แสดงถึงความห่วงใย “คุณภาพ” ของระบบการศึกษาในบ้านเรา

รัฐบาลไม่รู้กี่รัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยต่างจะต้อง “ชูนโยบายการศึกษา” เป็นอันดับต้นๆ ทุกรัฐบาลไป แต่ก็ไม่เคยเอาจริงเอาจังซักรัฐบาลเดียว ปัญหาระบบการศึกษาก็ยัง “ย่ำต๊อก!” อยู่กับที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก อาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็ในกรณีของ ชื่อวิชา หลักสูตร และพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสื่อการสอนเท่านั้น และก็ “เท่านั้น” จริง ส่วนปัญหาหลักจริงๆ นั้น “หมักหมม-สุม” กองอยู่กับที่เดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายนัก พูดง่ายๆ ก็คือ ปัญหายังคง “สภาพเดิม!”

เพื่อความเป็นธรรม รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา มีความตั้งใจอย่างสูงมากที่จะทั้ง “ปฏิรูป” และ “พัฒนา” ระบบการศึกษาในบ้านเรา แต่ก็มัก “ฟิต!” ในช่วง “คิด-กำหนด” นโยบายและช่วงเริ่มทำงานเท่านั้น ต่อเมื่อวันเวลาผ่านไป อุปสรรคปัญหาคงเดิมไม่สามารถ “ทำลาย-พัง” ให้เกิดการรุดหน้าได้ “ความคิดริเริ่ม” และ “ความพยายาม” เริ่มส่ออาการ “ท้อถอย” ของทั้งรัฐบาลและผู้บริหารระดับรัฐมนตรี เริ่มเกิดขึ้นและในที่สุดก็ “วางมือ”

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้ “แนวคิดและการพัฒนาระบบการศึกษาไทย” จึงไม่เคลื่อนที่ และ/หรือ ดีขึ้นแต่ประการใด ปัญหายังคง “วนเวียน” อยู่ที่เดิม แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นับวัน “เด็ก-เยาวชน” ไทยรุ่นใหม่ มีปัญหามากกว่าเดิม

“ปัญหาหลัก-ปัญหาวนเวียน” ของระบบการศึกษาไทย “หมักหมม-สะสม” มาอย่างยาวนาน ได้แก่

หนึ่ง “ปัญหาหนี้สิน” ของบรรดาครู และผู้บริหาร แต่ปัญหาหนี้สินของ “ครู” จะเป็นปัญหาหลักที่ครูแต่ละคนอาจมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนไม่มี “สมาธิ-จิตใจ” ของความเป็นครูอย่างแท้จริง เพราะจะต้องกังวล ห่วงใยในการมี “อาชีพเสริม” ไม่ว่า ขายประกันภัย ขายเครื่องสำอางมิสทีนตัวแทนแอมเวย์ หรือประกอบอาชีพเสริมด้านอื่นๆ แม้กระทั่ง ทำอาหาร ขนม ข้าวแกงขายเพิ่มเติม ทั้งในเวลาและนอกเวลาจาก “การสอนหนังสือ”

กล่าวง่ายๆ ในกรณี “ปัญหาใหญ่-ปัญหาหนี้สิน” นี้ อาชีพการเป็นครูเป็นอาชีพหลักก็จริง แต่ไม่สามารถดำรงชีพอย่างเพียงพอได้ และมีปัญหาหนี้สินจนต้องมีอาชีพเสริม จึงทำให้ครูนั้นไม่สามารถศึกษา ค้นคว้า ฝักใฝ่ความรู้เพิ่มเติม สร้างเสริมประสิทธิภาพของการเป็นครูได้ เนื้อหาสาระขององค์ความรู้จึงบกพร่องและซ้ำซาก จนถึงขนาด “ความรู้ใหม่” ไม่มีปรากฏเลย เท่ากับว่าครูจำนวนมาก “จมปลัก” กับความรู้เก่าคร่ำครึ!

ขอย้ำอีกครั้งว่า “ปัญหาหนี้สิน” ของบรรดาครูทั้งหลายนั้น เป็นปัญหามาจาก “เงินเดือน” และ “สวัสดิการ” ต่างๆ ได้รับไม่เพียงพอ กอปรกับภาระหน้าที่ในครอบครัวที่ “เงินเดือนไม่พอยาไส้” และ “ค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้นจนทำให้ครูต้องแสวงหาเงินเพิ่มเติมเพื่อ “ดำรงชีพ-ยังชีพ” ให้อยู่ให้ได้ หรือขอกล่าวอีกครั้งว่า สาเหตุนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “คุณภาพครูตกต่ำ!” และนำพาไปสู่ “คุณภาพการเรียนการสอนแย่!”

สอง “หลักสูตร”
ที่ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมามากพอสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของทั้งสังคมไทยและสังคมโลก ที่กระแสโลกาภิวัตน์มีบทบาทและอิทธิสูงมาก โดยเฉพาะ “ยุคข้อมูลข่าวสาร” และ “ยุคฐานความรู้” ที่นับวันจะทวีคูณพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แม้นว่าเราจะมีการปรับปรุงหลักสูตรไปมากเท่าใด แต่ความเป็นจริงก็คือว่า หลักสูตรก็ยังไม่สามารถตามทันได้!

เพื่อความเป็นธรรม โดยตัวโครงสร้างของหลักสูตรแล้วก็น่าจะทันสมัยเพียงพอกับการก้าวทัน “โลกการศึกษาระดับสากล” และภายในประเทศ ปัญหาหลักอยู่ที่ “เนื้อหาสาระ” ไม่ว่าจะเป็น “ความรู้” ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตร แต่ปัญหาจริงๆ น่าจะอยู่ที่ “ครู-ผู้สอน-ผู้ถ่ายทอด” ในการที่จะมีทั้งความรู้ทั้งเก่าและใหม่ให้เพียงพอ ตลอด “วิธีการเรียนการสอน” และ “การถ่ายทอด” ที่ต้องยอมรับว่า “มาตรฐานต่ำ” หรือ “อนุรักษ์” รูปแบบเดิมๆ ที่พูดกันง่ายๆ คือ “ล้าหลัง!”

หลักสูตรจะได้รับการปรับปรุงอย่างไร แต่ถ้า “กลไก” สำคัญคือ “ผู้บริหาร” และ “ครู” ซึ่งเป็น “แก่นแกน” และ “ฟันเฟือง” สำคัญ ไม่ได้รับการพัฒนาหรือพัฒนาน้อย หลักสูตรก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายของการกำหนดหลักสูตรได้!

กรณีหลักสูตรระบบการศึกษาในกลุ่มประเทศตะวันตก ทั้งกรณีโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาสาระ และวิธีการเรียนการสอนจะขออธิบายในช่วงต่อไป!

สาม “วิธีการเรียนการสอน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สำคัญประการหนึ่ง เกิดขึ้นได้ทั้งจากกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายแนวคิดของผู้บริหารโรงเรียน แต่คงไม่สำคัญเท่ากับ “ครู” เอง ที่มิใช่คำนึงถึง “คุณธรรม-จริยธรรม” มากมายนัก เนื่องด้วยปัญหามาตรฐานความรู้ที่อาจจะทั้ง “ล้าสมัย” และ “มาตรฐาน-คุณภาพต่ำ” ตลอดจน “การทุ่มเท” ในการสอนบกพร่อง เพราะต้องดิ้นรนทำมาหากินกับ “อาชีพเสริม” และอีกครั้งคือ “ปัญหาหนี้สิน”

“วิธีการเรียนการสอน”
ของระบบการศึกษาไทย มุ่งเน้น “นกแก้ว นกขุนทอง!” กล่าวคือ “การท่องจำ” จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความรู้ และเพื่อ “การตอบ” กับ “การสอบ” เพราะถ้าผิดไปจากตำรา ครูจะรับแทบไม่ได้ ดังนั้น นักเรียนจะมุ่งเน้นในการท่องจำเพื่อนำมา “ตอบ-สอบ” เพื่อให้ได้คะแนนดี และ/หรือ ผ่านๆ ไปแต่ละวิชา

ถามว่า “การท่องจำ” ผิดหรือไม่ก็ต้องตอบว่า “ไม่ผิด!” ถ้าจะต้องตอบในเชิงคำอธิบายของคำนิยาม แนวคิด ทฤษฎี และสูตรต่างๆ ที่ไม่สามารถบิดเบือนได้ แต่ในขณะเดียวกัน “การคิด-วิเคราะห์” นั้น มีความจำเป็นและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่นักเรียน นักศึกษาจะต้องรู้จัก “สังเคราะห์-แยกแยะ-วิเคราะห์” เพื่อ “แสดงความคิดเห็น” ที่ได้จากการประมวลความรู้ของวิชานั้น โดยต้องตั้งอยู่บน “หลักวิชาการ” และ “หลักตรรกะ-เหตุผล”

แต่เด็กนักเรียนไทย และแม้กระทั่งนักศึกษาปีที่ 1 และ 2 นั้น จะมีปัญหาอย่างมากใน “การคิด” ที่จะแสดงเหตุและผลในเชิงวิชาการ หรือแม้กระทั่ง “แสดงความคิดเห็น” ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม

ประเด็นที่กล่าวถึงนี้ “วิธีการเรียนการสอน” ครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม พร้อมแสดงความคิดเห็นกับประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน และกรณีทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เยาวชนไทยไม่ค่อยกล้าแสดงออก เนื่องด้วยวัฒนธรรมไทยยังเชื่อใน “ระบบอาวุโส” ที่ผู้อาวุโสน้อยและด้อยกว่า ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ “ห้ามโต้เถียงเด็ดขาด!”

ดังนั้น กรณีปัญหานี้ มิใช่จะเอาความผิดทั้งหมดไป “โปะ!” ที่ผู้บริหารและครูอย่างเดียว วัฒนธรรมไทยก็เป็นปัจจัยปัญหาสำคัญเช่นเดียวกัน!

ผู้บริหารและครูมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้าสู่ “กระบวนการฝึกอบรม” ในการมีทักษะที่จะเรียนรู้และปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนใหม่ แต่คงไม่สำคัญเท่ากับ “การเปิดโอกาส” และ “ทำใจให้กว้าง” ในการรับฟังความคิดเห็นของเด็กนักเรียน ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า “อาจผิดถูกบ้าง!” และ “วัยวุฒิ-คุณวุฒิ” ของเด็กนักเรียนยังอาจไม่สมบูรณ์ เนื่องด้วย ความรู้และประสบการณ์ พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า การปรับปรุงและพัฒนาระบบการเรียนการสอนนั้นต้องปฏิบัติแบบ “สองทาง” หรือ “Interactive!” ระหว่างเด็กนักเรียนและ “ครู-ผู้สอน”

เคยมีความคิดว่าจะเอา “เด็กเป็นศูนย์กลาง” หรือ “Child Center” นั้น จะว่าไม่ถูกหรือผิดเสียทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะตามความเข้าใจคงหมายความว่า พุ่ง “เด็กนักเรียน” เป็นเป้าหมายสำคัญ และ/หรือ ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนเป็นหลัก แต่โดยหลักการที่แท้จริงแล้วน่าจะดำเนินการพร้อมๆ กันระหว่าง “นักเรียน-ครู” ที่ครูก็มีความจำเป็นที่ต้องการการพัฒนาเช่นเดียวกัน

สี่ “มาตรฐานครู” ที่เราต้องยอมรับว่า มีครูจำนวนมากที่มาตรฐานและคุณภาพต่ำ เนื่องด้วยปัญหาทางด้านพัฒนาความรู้เพิ่มเติม กอปรกับ ประสบการณ์สอนที่อาจ “นิ่ง” อยู่ที่เดิมมายาวนานจนอาจ “ล้าสมัย” โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับสร้างเสริมทักษะ พัฒนาการเรียนรู้ทางประสบการณ์ ตลอดจนประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่ครูบางคนอาจตามไม่ทัน

นอกจากนี้ “สถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ” ก็เป็นปัจจัยทางมาตรฐานเช่นเดียวกัน ที่ทำให้ครูไม่สามารถ “ก้าวต่อไป” ในการพัฒนาได้ มาตรฐานการสอนจึงต่ำตามไปด้วย ซึ่งกรณีปัญหานี้เกี่ยวโยงกับปัญหาข้อที่หนึ่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

จนล่าสุดทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่ได้มีการประเมินผล การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ระบุว่า มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจำนวนต่ำกว่า 20,000 กว่าโรงเรียน จากทั้งหมด 30,010 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งนี้จำนวนโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน ทุกระดับ แม้แต่โรงเรียนเทศบาลจำนวนทั้งหมด 35,000 กว่าโรงเรียน

จากผลของการประเมินของ สมศ. ในครั้งนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการจะนำมากำหนดเป็นนโยบายในการจะปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอน แต่ที่สำคัญคือ ผลของการประเมินจาก สมศ.ในครั้งล่าสุดนี้ ก็คล้ายๆ กับผลของการประเมินที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว

และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ คุณภาพของการศึกษาในต่างจังหวัดนั้น พบว่ามีจำนวนสถานศึกษาที่มีผลประเมินต่ำกว่ามาตรฐานเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่มีการหยิบยกถึงการประเมินมาตรฐานนั้น ก็คล้ายๆ กับที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีหลักสูตร มาตรฐานการเรียนการสอน การขาดแคลนครู และสภาพของโรงเรียน

รัฐบาลทุกรัฐบาลแทบจะพก “คาถา-คัมภีร์” สูตรเด็ดเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” มาเป็นแกนในการหาเสียง ตลอดจนกำหนดนโยบายนี้ให้เป็นนโยบายหลักทุกครั้ง แต่ก็ “ตกม้าตาย!” ทุกครั้ง เพียงไม่เกินหนึ่งปีของทุกๆ รัฐบาล ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้วผู้บริหารประเทศชาติ “ตระหนัก-รู้ดี” ถึงปัญหาของระบบการศึกษาในบ้านเราที่ “หมักหมม” มาอย่างยาวนาน

แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด “ระบบซีอีโอ (CEO)” ที่สามารถกดปุ่ม ชี้นิ้วบัญชาการได้แทบทุกองค์อณูของระบบราชการไทย แต่คำถามสำคัญคือ ทำไมระบบการศึกษาจึงไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงได้มากกว่านี้ ไม่ต้องกล่าวถึงขั้น “ปฏิรูป” หรอก แม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ยังเคยรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรี ระบบการศึกษาของไทยก็ยัง “ย่ำเท้าอยู่กับที่!”

ปัญหาสังคมไทยทุกวันนี้ของพี่น้องประชาชนคือ “ยากจน-การศึกษาต่ำ” จึงทำให้คนไทยโดยส่วนใหญ่ ยังต้องตกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” หรือ “ทาสนายทุน!” มาตลอดยาวนานนับหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ถูกซื้อ-ถูกหลอก” จาก “ทุนการเมือง” แทบจะโงหัวไม่ขึ้น!

นอกจากนั้น เด็กและเยาวชนไทยปัจจุบันเป็นปัญหาสังคมไปเรียบร้อยแล้ว ในกรณีของ “คุณธรรม-จริยธรรม” ที่สำคัญคือ แยกแยะไม่ออกถึง “ความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” นอกเหนือจากการคิดไม่เป็น แยกแยะไม่เป็น
แถมเป็นคนก้าวร้าวอีกต่างหาก

น่าห่วงใยมากกับ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณค่าอย่างมากในอนาคต!
กำลังโหลดความคิดเห็น