xs
xsm
sm
md
lg

สภาการ นสพ.อัดรัฐบาลแม้ว สร้างสื่อเทียมตอกลิ่มแตกแยก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ ประกาศจุดยืนให้สื่อผนึกกำลังบนพื้นฐานของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ จวกเครือข่ายนักการเมืองสร้าง"สื่อเทียม"ตัวการสร้างความแตกแยก ด้านประธานสภาการ นสพ.ห่วงสถานการณ์อาจนำไปสู่หายนะ ขณะที่นายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์ไทย เตรียมหารือกับผู้ดำเนินรายการวิทยุ-โทรทัศน์ ให้ควบคุมปาก ช่วยดูแลสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม ชี้สังคมมีทั้ง"สื่อแท้"-"สื่อเทียม"ประชาชนต้องพิจารณาให้ดี

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) องค์กรวิชาชีพด้านสื่อ ประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์ร่วม เตือนภัยประชาชนเรื่อง"บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน"

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพสับสน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความแตกแยกที่รุนแรงยิ่งขึ้น

คณะกรรมการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลนอกจากการเข้ามาควบคุม และใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์แล้ว ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะสร้างสื่ออื่นที่ที่รัฐไม่ได้ควบคุมอย่างทั่วถึง อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อข้อความสั้น (SMS) ซึ่งถือเป็นการสร้าง"สื่อเทียม" ที่เครือข่ายนักการเมืองพยายามใช้ประโยชน์สนองตอบเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง มากกว่าประโยชน์สาธารณะ จนสร้างความสับสนให้หลงเชื่อว่า สื่อมวลชนมีความแตกแยกเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อันเป็นพฤติกรรมที่เคยเกิดขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงในชาติมาแล้วหลายครั้งในอดีต

ที่ประชุมจึงมีมติให้ออกแถลงการณ์ดังต่อไปนี้ 1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสาม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าท้าทายของฝ่ายต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อันจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

2. องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ตระหนักถึงภาระหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ข้อมูลและนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ภายใต้สถานการณ์อันสลับซับซ้อน เพื่อนำเสนอความเป็นจริงของปัญหามาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้มากที่สุด

3. องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ตระหนักดีว่า สื่อมวลชนที่ยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ได้ปฎิบัติหน้าที่ตนอย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรายงานเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือการรุมทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลของการทำหน้าที่ดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าของการข่มขู่ คุกคาม การใช้กำลังคนปิดล้อมสำนักพิมพ์ และการกล่าวร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน โดยนักการเมือง และข้าราชการประจำที่ตกอยู่ใต้อำนาจของนักการเมือง

4. สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นตอกย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทุกองค์กร จะต้องผนึกกำลังกัน ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บนพื้นฐานของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นที่ตั้งเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยสันติวิธี

นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวภายหลังอ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันจะใช้สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมมาตอบโต้กับสื่อหลัก แล้วยังสร้างสื่ออื่นๆขึ้นมา ทำให้สถานการณ์เกิดความแตกแยก และเข้าสู่ภาวะความรุนแรงเหมือนอดีตที่เคยผ่านมา

"ดิฉันมั่นใจว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่วิทยุโทรทัศน์รายงานข่าวตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากมาย บทเรียนนั้นน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชน และยึดถือความเป็นจริงเป็นหลัก หวังว่าผู้บริโภคสื่อทั้งหลายจะใช้วิจารณญาณอย่างดีในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ เพราะเราผ่านวิกฤตการณ์แบบเดียวกันนี้มาหลายครั้งด้วยกัน ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้" นายกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าว

นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า หากนักข่าวสื่อข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีความเห็นส่วนตัว หรือพยายามต่อต้านความรุนแรง ก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ หลังจากนี้สมาคมฯจะกลับไปทำความเข้าใจกับบรรณาธิการข่าววิทยุและโทรทัศน์ ว่า สถานการณ์เช่นนี้เราควรจะกำหนดแนวทางร่วมกันในการทำข่าว

"ผมอยากเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เหมือนที่เคยทำได้เมื่อตอนรายงานข่าวการชุมนุมของประชาชนในนามพันธมิตรฯ ตอนนั้นกองบรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ได้ยืนยันที่จะเปิดพื้นที่ของประชาชนให้มากขึ้น และต่อสู้ได้สำเร็จ ขอให้นักข่าวทุกคนทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไป"

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สังคมไทยมีทั้งสื่อแท้ และสื่อเทียม อยากให้ประชาชนพิจารณาจากเนื้อหาของสื่อเป็นหลัก ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสร้างหนังสือพิมพ์ขึ้นมาบางฉบับ ซึ่งชัดเจนว่าสร้างขึ้นมาเพื่อเชียร์รัฐบาล นอกจากควบคุมโทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับดูแลแล้วยังไปสร้างสถานีโทรทัศน์ เคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมขึ้น โดยนักจัดรายการชื่อดังที่เคยพยายามจัดที่ อสมท.แต่ไม่เป็นผล เคยเป็นกระบอกเสียงช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 โดยใช้วิทยุยานเกราะเป็นสื่อ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กำลังทำวิจัยเพื่อเตรียมผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 ที่จะให้อิสระในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้สื่อมีเสรีภาพไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของรัฐ หรือนายทุน

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 40-41 ให้อิสรภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ถูกบีบจากเจ้าของ เราต้องการย้ำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสือมวลชนได้ตระหนักถึงความเป็นอาชีพ จรรยาบรรณ จริยธรรม และอาชีวปฎิญาณ แห่งอาชีพไม่ว่าจะอยู่ในสื่อไหน ต้องรายงานตามข้อเท็จจริง และตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกลัวเจ้าของจนเกินเหตุ เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว

"สื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีเวลานำเสนอจำกัด การนำเสนอจำเป็นต้องรอบคอบ ไม่ใช้ความคิดเห็น หรือชี้นำความรู้สึกคนรับข่าว นอกจากนี้ต้องควบคุมการให้ส่ง เอสเอ็มเอส เข้าไปในรายการโดยไม่มีการควบคุม มีถ้อยคำ สามารถสร้างอิทธิพลให้กับผู้ฟังที่มีความหลากหลายสูง ทำให้แบ่งแยกแบ่งฝ่าย เกิดความแตกแยกกันในที่สุด คำพูดที่ออกจากวิทยุโทรทัศน์นั้นมีอิทธิพลสูง ยิ่งถ้าพื้นฐานของประชาชนไม่รอบด้าน ถูกชี้นำโดยกระบวนการของรัฐ"ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าว

นายสุวัฒน์ ทองธนากุล กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การรวมตัวกันของสามสมาคมครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำงานของเราไม่โดดเดี่ยว รัฐธรรมนูญให้หลักประกันในการทำงาน แม้แต่เจ้าของก็ไม่สามารถบังคับให้บิดเบือนได้ ดังนั้นต้องทำหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องมีสติในการรับสื่อเพราะขณะนี้มีสื่อที่ดำเนินการโดยเครือข่ายนักการเมืองเพื่อสนองเป้าหมายของนักการเมือง ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่สื่อตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพ

"สื่อมักจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง หรือไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาล ขอชี้แจงว่า คำว่าเป็นกลางไม่ใช่แค่เอาคำพูด หรือสิ่งที่รัฐบาลจัดให้มาบอกต่อเท่านั้น แต่คำว่าเป็นกลางนั้นคือ การไม่ย้อมสี ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ลำเอียง เป็นกลางหมายถึง การทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ระหว่างความถูกต้อง กับความไม่ถูกต้องนั้นไม่มีกลาง สื่อต้องยืนข้างความถูกต้อง ถ้าเป็นกลางแสดงว่าไม่ใช้สมอง ดังนั้น สื่อที่รัฐควบคุมได้มักจะระมัดระวังในการนำเสนอ อาจจะด้วยการบีบ หรือควบคุม ครอบงำ ไม่ให้เสนอปรากฎการณ์ที่มีผลกระทบในทางลบต่อผู้มีอำนาจในทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน"นายสุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวบริษัท รีพอร์ตเตอร์ ซึ่งทำงานทางด้านสื่อ โดยมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ วิทยุ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยมีจุดมุ่งหมายในการโจมตีสื่อ และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล บริษัทดังกล่าวก่อตั้งโดยนายทองเจือ ชาติกิจเจริญ อดีตผู้สื่อข่าว ซึ่งทราบกันว่าเป็นคนใกล้ชิดของ นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น