ศูนย์ข่าวขอนแก่น-โครงการ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารรุดหน้า ซิป้าขอนแก่น ดึงหน่วยงานรัฐ/เอกชน 3 จังหวัดเซ็น MOU หวังนำระบบ ERP/Logistic ไปประยุกต์ใช้จริงในทางปฏิบัติ เชื่อมั่นเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตข้าวหอมมะลิ มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการสูงขึ้น ขณะที่ซิป้าเตรียมขยายผลการปฏิบัติไปสู่สินค้าเกษตรอีก 2 ชนิดภายในปีงบประมาณ 2550
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือซิป้า สาขาขอนแก่น จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง ซิป้ากับหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ตามโครงการพัฒนาระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิ กลุ่มร้อยแก่นสาร ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น และมหาสารคาม มีนายพยัต ชาญประเสริฐ ปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นพยานกิตติมศักดิ์ ในพิธีลงนาม ณ ห้องฟ้ามุ่ย โรงแรมโซฟิเทลราชาออคิด จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ ผลการศึกษา ขอบเขตและความเหมาะสมการพัฒนาระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และผ่านการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถึงผลการศึกษาระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิ กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร มาแล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ
ดร.อาวุธ พลอยส่องแสง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการสร้างระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร เป็นอีกโครงการหนึ่งของซิป้า ภายใต้การดำเนินงานของซิป้าขอนแก่น ที่จะก่อให้เกิดการนำเอาระบบและนวัตกรรมด้านไอซีที ไปใช้ภาคการเกษตร
หลังจากที่ดำเนินแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง ใน Logistic Supply Chain ของข้าวหอมมะลิ ถือเป็นโครงการนำร่องต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทย โดยซิป้า จะขยายผลโครงการ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ไปยังพืชสินค้าเกษตรอีก 2 ชนิดในปีงบประมาณ 2550
ประโยชน์ที่ได้จากโครงการ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มร้อยแก่นสาร จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิตั้งแต่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ไปจนถึงผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ สามารถบริหารจัดการผลิต ขนส่ง กระจายสินค้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทุกฝ่ายรู้ข้อมูลการจัดการตั้งแต่วัตถุดิบ การแปรรูป การขนส่ง เชื่อมโยงข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกันจะทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคข้าวหอมมะลิ เชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิในระดับสูง ลูกค้าที่ซื้อข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าตลาดส่งออก ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ลูกค้าสามารถตรวจสอบถึง แหล่งผลิตสินค้า โรงงานผลิต ล็อตผลิต ฯลฯ ได้ สร้างความเชื่อถือในคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้เทคโนโลยี RFID มีการประยุกต์ใช้ในต่างประเทศแล้วตั้งแต่ปี 2005 และเริ่มใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ คาดว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทย น่าจะเริ่มได้ประมาณปี 2008 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ดร.อาวุธ กล่าวต่อว่า ผลต่อเนื่องจากโครงการ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มร้อยแก่นสาร ที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีไอซีที อย่างแพร่หลาย เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นบทบาทหลักของซิป้า ต้องการให้เกิดการใช้ไอซีทีอย่างแพร่หลาย
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้าน Logistics ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร สู่มาตรฐานสากลแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย ผลิตผลงานซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาดสากล จากการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เข้ากับเทคโนโลยี RFID ซึ่งจะเกิดการประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆต่อไป
ด้านนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
(องค์กรมหาชน) สาขาขอนแก่น (ซิป้าขอนแก่น ) กล่าวว่า ซิป้า สาขาขอนแก่น ได้จัดทำโครงการ สร้างระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิ กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร เพื่อต้องการศึกษากระบวนการจัดการสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บรักษาวัตถุดิบ การขนส่งวัตถุดิบ ขั้นตอนการแปรรูป/การผลิต-การเก็บรักษา-การขนส่งกระจายสินค้าสำเร็จรูป ไปจนถึงการขายส่ง/ขายปลีกภายในประเทศ และการส่งสินค้าสำเร็จรูปไปต่างประเทศ
ผลักดันให้มีการใช้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะเทคโนโลยี RFID เข้ารองรับการิตดตามและสอบกลับสินค้า ได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งส่งเสริมให้ผู้พัฒนา/เจ้าของระบบ ERP/Logistics ปรับปรุงระบบงานที่มีอยู่แล้ว ในกระบวนการ Supply Chain และ Logistics ให้สามารถใช้ร่วมกับมาตรฐานสากล และ RFID เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกัน ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เชื่อมโยงระบบงาน เมื่อมีการรับส่งสินค้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ ซิป้า จะนำผลการศึกษามาใช้จริงกับผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรข้าวหอมมะลิกลุ่มร้อยแก่นสาร ในทันทีที่ทุกฝ่ายมีความพร้อม และที่สำคัญซิป้า จะขยายผลการพัฒนาระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ไปเป็นต้นแบบใช้กับสินค้าเกษตรชนิดอื่นด้วย
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ได้วางกรอบการดำเนินงานไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะแรก 1มกราคม -เมษายน 2549 เป็นกระบวนการศึกษาขอบเขตและความเหมาะสมการพัฒนาระบบงาน ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิ ระยะต่อมา เมษายน-กันยายน 2549 จะนำผลการศึกษา มาดำเนินการให้เกิดการนำระบบงาน ERP/Logistics มาใช้จริง กับสินค้าเกษตรข้าวหอมมะลิ
โดยจะแสวงหาความร่วมมือกับผู้ประกอบการข้าวหอมมะลิ ให้ครบวงจรของ Logistic Supply Chain ล่าสุดได้จัดระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายครบถ้วนทั้ง Supply Chain แล้ว นำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ และระยะสุดท้าย ตุลาคม 2549-กันยายน 2550 ขยายผลให้เกิดการนำระบบงาน ERP/Logistics มาใช้กับสินค้าเกษตรอื่น รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID กับการขนส่งข้าวหอมมะลิด้วย