xs
xsm
sm
md
lg

ให้สื่อเป็นกลางแบบไหน

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ คำว่า “เป็นกลาง” เป็นประเด็นที่มีการพูดถึง และผู้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

วันก่อนคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนในการแสดงปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูปสังคมและการเมืองครั้งใหม่” ตอนหนึ่งว่า

“ขอประกาศตัวเลยว่า ผมไม่เป็นกลาง ในชีวิตผมไม่เคยเป็นกลาง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความถูกต้องและความผิด ไม่เป็นกลางระหว่างความถูกกับความชั่ว ระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคยเป็นกลางระหว่างวิชากับอวิชชา หรือระหว่างกติการัฐธรรมนูญที่ถูกต้องกับกติกาที่จัดตั้ง”

“ไม่เคยเป็นกลางระหว่างอิสรภาพของสื่อกับการกีดกันอิสรภาพ ไม่เคยเป็นกลางระหว่างหลักนิติธรรมกับการใช้ความอยุติธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความดีและความไม่ดี ผมอยู่ฝ่ายหนึ่งเสมอไป และตลอดชีวิตเชื่อว่าฝ่ายที่ผมอยู่นั้นถูกต้อง”

คุณอานันท์บอกว่า สังคมไทยใช้คำว่า เป็นกลางเฟ้อเกินไป สังคมต้องมีจุดยืน แต่ต้องเป็นจุดยืนที่มาจากข้อเท็จจริง และมีเหตุผล

“ต้องแน่ใจว่าจุดยืนที่เราเลือกนั้น ระหว่างฝ่ายไม่ใช่ระหว่างบุคคล จะเป็นจุดยืนที่ถูกต้องและเหมาะสม”

ชัดเจนครับ สำหรับคนที่ชอบอ้างว่า “เป็นกลาง” สมควรตั้งสติพิจารณาว่า ที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางนั้น หมายถึงไม่รู้จักคิดหรือไม่กล้าแสดงออกที่จะเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายที่ถูกต้องหรือไม่

ตลอด 3 ปีกว่าที่คุณอานันท์ ทำหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดแรก ผมก็มักได้ยินคำย้ำเตือนเมื่อมีสมาชิกบางคนพูดถึง “ความเป็นกลาง”

คุณอานันท์บอกว่า “ความถูกต้องเป็นกลางไม่ได้” ขณะเดียวกัน ก็ชี้ว่าสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญต้องมีจุดยืนในการทำหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นกลางคือไม่เข้าใครออกใคร กลัวว่าชี้ถูกผิด เพราะไม่ใช่เป็นฝ่ายรัฐบาล และก็ไม่ใช่ฝ่ายค้าน

แต่น่าสังเกตการพูดที่ชี้ให้เห็นปัญหาวิกฤตของประเทศ และปลุกความคิดของสังคมให้มีจุดยืนในการใฝ่คุณธรรม ยึดหลักความถูกต้องเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญโดยบุคคลสำคัญหลายคนนับว่าแรงขึ้นตามลำดับ ทั้งจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นพ.ประเวศ วะสี และคุณอานันท์ ปันยารชุน

โดยมิได้เอ่ยถึงชื่อบุคคลที่เป็นจุดรวมของปัญหา

แต่บรรดาคนที่แวดล้อมรักษาการนายกรัฐมนตรี ก็พากันแสดงบทเอาใจนาย ออกรับและตอบโต้เพราะเข้าใจว่า กระทบถึงผู้นำของตัว

ทั้งๆ ที่มีวิจารณญาณปกติและรู้ผิดชอบชั่วดีย่อมเห็นพ้องด้วยว่า เป็นการพูดด้วยเจตนาดีต่อสังคมและประเทศชาติ

แต่เพราะมีคนที่แวดล้อมหรือที่คอยแนะหรือยุให้สู้ต่อด้วยมิจฉาทิฐิ เพื่อหวังประโยชน์จากการห้อยโหนอยู่ในอำนาจ จึงมีการสร้างกลุ่ม สร้างสื่อ สร้างข่าว ตอบโต้ ปลุกปั่นจนเกิดความแตกแยกมากขึ้น

ขณะที่พวกนี้ลืมไปว่า ยุคโลกาภิวัตน์ด้านข่าวสารที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีการกระจาย และการเข้าถึงข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหลากหลายวิธีการยากที่จะปิดกั้นหรือครอบงำได้หมด

ขณะที่ขบวนการหลักของฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นั้น บัดนี้พฤติการณ์นักธุรกิจการเมืองที่ก่อความไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายของการเมืองภาคประชาชนเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ประสานงานเกิด “เครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ” ก็ประกาศว่าวันที่ 9 เดือนนี้ จะนำกลุ่มไปยื่นหนังสือต่อ “ป๋าเปรม” เพื่อขอให้ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนแนวปฏิบัติของประธานองคมนตรีที่จะไม่คบค้าคนไม่สุจริต และให้กำลังใจข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยคุณธรรมความดี

นี่เป็นการกระตุ้นสังคมให้เกิดค่านิยมว่าในระบอบประชาธิปไตย ผู้นำของประเทศจะต้องมีคุณธรรม และจริยธรรมอย่างที่สุด เพื่อจะนำพาสังคมให้อยู่อย่างสงบสุข และทำให้คนดีมีกำลังใจทำงาน

หรือปรากฏการณ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดการประสานงานเครือข่ายวิชาการถึง 43 เครือข่าย ที่มีทั้งด้านสังคมศาสตร์ แพทย์ เภสัช พยาบาล นักสาธารณสุข ทั้งในกรุงเทพฯ และชนบทออกแถลงการณ์ชี้ให้เหตุปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง และแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง

มีการเรียกร้อง 3 ข้อคือ

1. ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุติบทบาททางการเมืองโดยเด็ดขาดและทันที กับเปิดโอกาสให้องค์กรตรวจสอบเข้าพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่างๆ

2. เรียกร้องให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงศักดิ์ศรีว่าไม่ใช่ข้าพนักงานของบริษัทรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม และขอให้อดทนเข้มแข็งกับคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจทางการเมือง และไม่หวั่นไหวต่ออามิสและผลประโยชน์ใด

3. เรียกร้องให้ประชาชนรักสามัคคี อดทนรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองฉ้อฉล และอย่าเคารพกราบไหว้บุคคลที่ไร้ศีลธรรม อย่าต้อนรับให้ความสำคัญกับบุคคลประเภทนี้ ไม่ว่าจะปรากฏกาย ณ สถานที่ใดๆ และร่วมกันแสดงพลังคัดค้านโดยสันติอย่างต่อเนื่อง

เห็นปฏิกิริยาที่เป็นกระแสแผ่ขยายไปทั่วเช่นนี้แล้วก็น่าคิดว่า คุณทักษิณจะทนอึดไปอีกแค่ไหน

แต่ด้วยความแตกต่างของระดับการรับรู้ข่าวสารของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองมีมากกว่ากลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูล หรือถูกปลุกปั่นด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์พร้อมการใช้อำนาจและผลประโยชน์ ความแตกแยกจึงเกิดขึ้น

นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองง่ายๆ แล้วร้องเพลงเรียกร้องว่าอย่าทะเลาะกัน แต่การแสดงออกเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติกำลังเสียหาย เพราะมีนักการเมืองใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอีกฝ่ายก็มีสิทธิเชียร์ได้
หากมีความเห็นอย่างมีสติ และตำรวจของรัฐก็ต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคไม่ลำเอียง

ขณะที่สื่อมวลชนก็มีหน้าที่กรองข้อมูล และติดตามตรวจสอบที่มาที่ไปเพื่อรายงานความจริง “ความเป็นกลาง” ในแง่ข่าว จึงไม่ใช่แค่การเอาคำพูดหรือข้อมูลที่เขาอยากจะบอกมาแจ้งต่อเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น