xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแม่ (ทัพ) หมดอำนาจโผทหารถึงคราว “พลิกผัน”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

ดูเหมือนว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ จะหมดความเมตตาสงสารเสียแล้ว เมื่อได้สาปแช่งนักการเมืองที่พยายามจะยึดชาติบ้านเมืองเป็นของตน ให้เป็นคนที่อยู่ในห้วงของความทุกข์ตลอดไป และได้กล่าวว่า การยกย่องหรือยอมรับคนรวย คนมีเงินนั้น ต้องพิจารณาว่า เงินทองของเขาได้มาโดยสมมติหรือไม่? ได้มาโดยวิธีใด

พล.อ.เปรม ยังได้กล่าวว่า ทหารนั้น เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์จอมทัพไทย และเป็นทหารของประเทศชาติ มิใช่ทหารของนักการเมืองหรือบุคคลอื่นใด


ในการไปบรรยายพิเศษให้แก่นักเรียน โรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อวานนี้ (ที่ 31 สิงหาคม) ในหัวข้อ “ตามรอยพระยุคลบาทกับการมีส่วนร่วมของทหารอาชีพ” ครั้งนี้, จะเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายแก่โรงเรียนนายทหาร หลังจากที่ได้บรรยายมาแล้วที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โดยที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้น น่าจะอยู่นอกภารกิจ หรือความประสงค์เพราะมิใช่ทหาร, แต่ถ้าหากทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะมีการเชื้อเชิญและเกิดการบรรยายพิเศษเช่นนี้ขึ้น ก็น่าจะเป็นมงคลอย่างยิ่งที่จะเป็นมงคลแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบัน และแก่นักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้ ที่จะได้ความคิดว่า พล.อ.เปรม มีความคิดหรือมองทางตำรวจเป็นอย่างไร?

คำสาปแช่งของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นี้ มีต่อผู้ที่คิดหรือทำดังกล่าว คือความพยายามที่จะยึดชาติบ้านเมืองมาเป็นของตน และต้องดูกันต่อไปว่า จะมีคนกลุ่มใด หรือใครอยากมาแอ่นอกรับ หรือแก้ต่างให้ หรือจะไม่มีการพูดจาในทำนองกระทบที่ว่า คนอายุ 70-80 แล้ว เหตุใดจึงแต่งเครื่องแบบทหารอยู่ เพราะป่านนี้ คงจะมีการสำนึกแล้วว่า เครื่องแบบของนายทหารนั้น สามารถแต่งกายได้ชั่วชีวิต เพราะเป็นเครื่องแบบสำหรับการประดับพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” สำหรับผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์สืบไป การแต่งเครื่องแบบนั้น-รวมทั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นการแต่งเครื่องแบบตามพระบรมราชโองการ และเครื่องแบบ พล.อ., พล.ร.อ., หรือพล.อ.อ.ซึ่ง พล.อ.เปรมได้แต่งเมื่องานนี้นั้น เป็นเพราะได้รับพระราชทานยศ 3 เหล่าทัพ คือเป็นทั้งพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก จึงมีสิทธิในการแต่งเครื่องแบบตามยศดังกล่าว

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ต้องรับภาระทั้งหลายของบ้านเมืองอยู่ ในฐานะแห่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นปราการด่านสุดท้ายมิให้สิ่งทั้งหลายไปรบกวนพระราชหฤทัยระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงถือว่าเป็นที่พึ่งของปวงชนอย่างสามัญ และเป็นที่หวังของคนทั้งหลายด้วยว่า มีความอบอุ่นใจที่ พล.อ.เปรม ยังมีฐานะซึ่งเข้าถึงตัวได้ และในทางทหารก็เช่นเดียวกัน ที่พล.อ.เปรม ก็เป็นที่พึ่งที่หวังในการที่จะให้กองทัพเป็นกองทัพของชาติ และทหารก็เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตลอดไป, ดังนั้น-การที่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 4 คน ทำหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปี 2549 ที่กำลังวุ่นวายกันอยู่นี้ มีการวางตำแหน่งหรือการจัดตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม

ต้องยอมรับกันว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปี 2548 ที่ผ่านมา หากว่าไม่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยหน้าที่แล้ว แถวทหารระดับบนสุดของแต่ละเหล่าทัพจะไม่เป็นอย่างนี้ ก็คงจะเป็นไปตามความต้องการของทาง “การเมือง” ทุกตำแหน่ง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงได้เกิดปรากฏการณ์เป็นครั้งแรกว่า มีนายทหารระดับสูงยื่นหนังสือเชิงขอความเป็นธรรม ซึ่งมิใช่แก่ตัวเอง แต่ขอความเป็นธรรมให้กับกองทัพเพื่อที่กองทัพจะได้ไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง โดยหวังว่า พล.อ.เปรม คงจะใช้อำนาจหน้าที่อันมีอยู่นั้น จัดให้เกิดความถูกต้อง และเหมาะควรเสียก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว โดยเห็นว่ากระบวนการพิจารณาที่ทำกันอยู่นั้น มีความไม่ถุกต้อง

การที่นายทหารผู้ใหญ่ทั้ง 4 ท่านทำดังนั้น น่าจะถือว่าเป็นการเสียสละเพื่อกองทัพอย่างแท้จริง

คำตอบของ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศกับผู้สื่อข่าวที่ว่า กรณีมีผู้ร้องขอความเป็นธรรมกับ พล.อ.เปรม ครั้งนี้ น่าจะเป็นความไม่ถูกต้อง เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายทหารนั้น มีขึ้นตอนอยู่ตามระบบ เป็นเรื่องของคนที่ “ผิดหวัง” ควรจะให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามระบบปกติจะดีกว่า...น่าจะเป็นคำตอบที่อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศผู้นี้ มีความรู้สึกทางการเมืองครอบงำจะหมดสิ้น จึงไม่ได้มองย้อนไปถึงความรู้สึกเมื่อครั้งที่เป็นทหารประจำการ ซึ่งต้องเคยมีประสบการณ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ หรืออาจจะยังมีความรู้สึกเดิมๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยมีการ “เปลี่ยน” ผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.อ.คงศักดิ์ เสนอไป

ดังนั้น, จึงมีคำถามสำหรับ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตามระบบปกติที่ได้กล่าวถึงนั้น เป็นความปกติเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วหรือไม่? และการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเช่นนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าได้เกิดการกระทำที่ถือว่าเป็น “ปกติ” เช่นเมื่อปีที่แล้วเกิดขึ้นมาอีกหรือ? จึงต้องการให้ความเป็นปกตินั้น ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขอะไร

หรือโดยใคร?


ย้อนกลับไปถึงการแต่งตั้งโยกย้ายในอดีต โดยเอาความเป็นจริงมาพูดกัน และเมื่อเป็นความจริง ก็อย่ามีเรื่องปฏิเสธว่า-ไม่จริง

การแต่งตั้งโยกย้ายทหารนั้น ขอเริ่มต้นสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี, การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามอำนาจที่อยู่ในตัวของ พล.อ.เปรมคือ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ในช่วงหนึ่งก่อนเป็น พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรี การวางตำแหน่งใดๆ จึงอยู่ในอำนาจทั้งหมด โดยไม่ถือว่าการเมืองเข้าล้วงลูกหรือแทรกแซงการโยกย้ายทหาร, ต่อมาสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีความเป็นไปเช่นเดียวกัน แต่พล.อ.ชาติชาย มอบให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในระยะหนึ่ง จนต่อเมื่อพล.อ.ชวลิต แยกตัวออกไปตั้งพรรคความหวังใหม่ พล.อ.ชาติชาย ก็ให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ครั้นมาถึงช่วง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ก็มอบความไว้วางใจให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.วิจิตร สุขมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีก็คุมกลาโหม และจัดบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเอง, ก่อนหน้านั้นสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา มีความเปลี่ยนแปลงไปเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างที่นายชวน หลีกภัย คือได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าการกระทรวงกลาโหมแท้ๆ แต่มีการควบคุมดูแลบัญชีด้วยตนเอง โดยมี พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท เป็นคู่ปรึกษา และได้เกิดวาทะที่ว่า “ศุกร์-สามารถ” และ “จันทร์-อมร” ที่เกี่ยวกับ พล.อ.อ.สามารถ โสตสถิตย์ และ พล.อ.อ.อมร แนวมาลี

ครั้งมาถึงรัฐบาล “ชวน 2” ที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งหมดเป็นของทหารทำกันเองทั้งสิ้น ถือว่าเป็นยุคที่มีความปลอดโปร่งมากที่สุด

แต่ในรัฐบาล “ทักษิณ” มาตั้งแต่ยุคแรกที่เฟื่องฟู จนถึงวาระเสื่อมโทรม


การแต่งตั้งโยกย้ายทหารนั้น มีการแทรกแซงออกมาโดย “พรรค” มีความสลับซับซ้อนกันอยู่มาก และคาดไม่ถึงว่าจะมีบุคคลที่อยู่นอกพรรค แต่เป็นผู้สั่งการได้ในพรรคสามารถชี้นำหรือจัดเก้าอี้ให้ได้ และหากสามารถเข้าถึงผู้หญิงที่อยู่นอกพรรคนี้ได้แล้ว ก็จะประสบผลสำเร็จ โดยที่ไม่มีใครกล้าขัดขวางหรือขัดใจ

ในปีนี้, ก็เช่นเดียวกันที่มีใบสั่งจากนอกพรรคเข้ามาในพรรค และพรรคก็ส่งต่อมายังผู้เกี่ยวข้องว่า มีความต้องการอะไร อยากจะเห็นใครเป็นอะไร

คำว่า “แม่ทัพ” นั้น น่าจะมีความหมายที่เป็นความตั้งและตรงตัวอย่างนี้ เพราะผู้เข้ามามีส่วนในการจัดกระบวนทัพเป็น “ผู้หญิง” และเป็น แม่ (ทัพ) จริงๆ

การแต่งตั้งโยกย้ายทหารปีนี้, พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นผู้เปิดเผยเองว่า บัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายยังไม่ถือเป็นข้อยุติอยู่ในระดับบนอีก 2-3 ตำแหน่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ลงตัวหมดแล้ว และรมว.กลาโหม จึงพูดด้วยว่า เป็นเพราะหน่วยของเขา เขาก็มีคนของเขาอยู่ และไม่ยอมรับคนอื่น ซึ่งจะต้องมีการคุยกันอีก แต่คิดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างลงตัวได้ และทันเวลาของการแต่งตั้งโยกย้ายที่ยังมีเวลาอยู่อีก 1 เดือน

แม้ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ จะไม่ได้เปิดเผยอะไรมากไปกว่านี้ แต่ก็เหมือนกับจะเป็นการยอมรับว่า การไม่ลงตัวในระดับบน 2-3 ตำแหน่งนั้น จะหมายถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย โดยที่ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เป็นผู้ที่ทำให้รู้ว่า ผู้ที่จะเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมแทนคนที่เกษียณอายุนั้น คงจะเป็น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสถือครองยศในอัตราจอมพลเรือมานาน 2 ปี การที่กองบัญชาการทหารสูงสุด จะขอตำแหน่งนี้ให้กับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เสนาธิการทหารนั้น พล.อ.สิริชัย ไม่เปิดทางให้ ยันตรงกับที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ บอกว่าทางหน่วยของเขาก็มีคนของเขาอยู่ ก็คือทางสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม มีพล.ร.อ.บรรณวิทย์ อยู่แล้วที่จะขึ้นไปได้ ทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ไม่ต้องส่งคนมาลงตำแหน่งนี้

โดยที่รายงานเกี่ยวกับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมระหว่าง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นี้ได้เป็นรายงานของ “ลึก-หกสิบ-ลับ-สี่สิบ” ไปเมื่อฉบับวันศุกร์ที่แล้ว จึงไม่น่ามากล่าวถึงอีก แต่จะขอรายงานถึงสิ่งที่ลึกกว่า และเป็นข่าวสารที่ได้รับมาสดๆ ร้อนๆ ว่า

ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นตำแหน่งที่เกิดการพลิกได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่จากแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ที่สมควรต้องเทน้ำหนักให้ ก็ทำให้เห็นว่า อาจจะมีการพลิกได้จริงๆ คือ ทั้งพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช จะไม่ได้ตำแหน่งนี้ทั้ง 2 คน

โดยที่จะมีผู้ถูกจัดเป็น “อาวุโส” เหนือกว่ามาดำรงตำแหน่งนี้แทน โดยมีความชอบธรรม มีความสามารถและเป็นผู้ที่ปรากฏชื่อ หรือปรากฏตัวแล้วจะยอมรับกันได้ แล้วทุกอย่างก็จะอยู่ในความสงบและลงตัว

การแต่งตั้งโยกย้ายทหารนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ ที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียก่อน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยที่การแต่งตั้งโยกย้ายจะ “ทำไปก่อน แล้วค่อยบอกทีหลัง ทำอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว...” อย่างที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งหลุดออกมาว่าทำกันอย่างนั้น, เพราะว่า กกต.ชุดใหม่นี้คงจะไม่ยอมเป็นตรายางเช่นนั้น และดูเหมือนว่าจะเป็นหน้าที่อย่างแรกสำหรับ กกต.ชุดใหม่ที่อยู่ในกระบวนการคัดสรรตัวกันอยู่ โดยจะต้องมีการขอความเห็นชอบและได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เสียก่อน มิใช่จะปฏิบัติกันเหมือนครั้ง กกต.ชุด “3 หนา” นั้น ที่รัฐบาลรักษาการจะทำอะไรก็ได้

เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นที่วางใจได้ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายจะมีความเป็นธรรม และถูกต้องมีอำนาจการเมืองเข้ามาแทรกน้อยที่สุด เพราะบรรดาข่าวสารทั้งหลายที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนี้ ก็เชื่อว่า กกต.ชุดใหม่จะต้องรับรู้อยู่แล้วว่า มีความตื้นลึกหนาบางประการใดอยู่กับการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร

อีกทั้งทีท่าของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่แสดงออกมาจนเกือบจะเป็นที่ชัดแจ้ง ก็แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ จะเลือกวิถีทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และจะฝากความดีงามครั้งนี้ไว้ให้กับทหารบ้าง โดยมีความหวังว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจขั้นสุดท้าย พล.อ.ธรรมรักษ์ จะอยู่กับทหารมากกว่าการเมือง

สำหรับข่าวสารที่ว่าปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ จะมิใช่ทั้ง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน หรือพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช แต่จะเป็นผู้อื่นนั้น แหล่งข่าวบอกว่า การตกลงใจของ พล.อ.ธรรมรักษ์ ในขณะนี้ ก็เห็นด้วยกับแนวทางเช่นนั้น โดยมีเหตุผลที่จะอธิบายได้ถึงความเหมาะสมของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง และที่สำคัญที่สุดคือ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ และพล.อ.เลิศรัตน์ ก็ต้องยอมรับในอาวุโส และความเหมาะสมของผู้ที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้ ทั้งอาวุโส ชั้นยศ และตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ก่อนจะมาสู่ตำแหน่งนี้

ย้อนกลับไปสู่คำพูดของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อีกครั้ง, ที่ว่ามีตำแหน่งในระดับบนที่ยังไม่ลงตัวอยู่ 2-3 ตำแหน่งนั้น ก็ต้องมองไปตามคำพูดที่ว่านี้ และจับทิศทางตามไปคือ น่าจะมิใช่ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงตำแหน่งเดียว, แต่จะต้องมีการสับเปลี่ยนทดแทนกันให้ลงตัว คือจากตำแหน่งเต็มที่จะมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ก็จะต้องมีการจัดคนที่จะไปดำรงตำแหน่งแทน ก็จะมีการสับเปลี่ยนกันอยู่ใน 2-3 ตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเมื่อทางสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจัดลงตัวแล้ว ก็จะมีการปรับตำแหน่งทางกองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพอีกเพียงเล็กน้อย แล้ว “โผทหาร” ปีนี้ ก็จะยุติความยุ่งยากทั้งปวง

สำหรับอำนาจทางการเมืองนั้น ก็จะต้องถอยออกไปโดยปริยาย เพราะพลังอำนาจไม่เป็นอาญาสิทธิ์เช่นเดิมอีกแล้ว อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่นี้ ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ต้องอยู่นอกเหนือจากการครอบงำทางการเมืองอย่างแน่นอน ถ้าหากว่า กกต.ไม่เห็นชอบด้วยอำนาจที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหาอีก ทางการเมืองสู้ถอยออกไปจากเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร และไปบูรณะปฏิสังขรณ์ตัวเองจะเป็นการดีกว่า เมื่อโดยสภาพนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว มิใช่จะมาตามใจแม่ (ทัพ) ได้อีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น