xs
xsm
sm
md
lg

ชูแก้ รธน.ใช้ 50 เสียงซักฟอกนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” ประกาศนโยบายปฎิรูปการเมือง ดันแก้ ม. 313 ตั้ง กก.พิเศษ ยกร่างแก้ไข รธน.โดยมาจากผู้ทรงคุณวุฒิฯ ตัวแทนฝ่ายตุลาการและภาคประชาชน เสนอแก้ไขให้ซักฟอก นายกฯ ด้วยเสียงเพียง 50 คน ห้ามเมีย-ลูก ถือหุ้น คดีนักการเมืองทุจริตไม่มีอายุความ หลังแก้ไขแล้วห้ามสภาฯแก้หากไม่เห็นชอบส่งประชาชนลงประชามต ิเชื่อปีครึ่งเสร็จ ด้านทรท.ซัดทันที ปชป.หาเสียงล่วงหน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเปิดตัวนโยบายวาระประชาชนด้านการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปสื่อมวลชน วานนี้ (31 ส.ค.) ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีเป้าหมายในการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปสื่อมวลชน และการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ระบบการศึกษา/ระบบราชการ โดยทั้งหมดจะยึดหลัก คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นสังคมคุณธรรม และจะเน้นการเพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุล การสร้างความเข้มแข็งการเมืองภาคประชาชน และการปฏิรูปจริยธรรมนักการเมือง

สำหรับการปฎิรูปการเมืองนั้น พรรคจะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 313 แต่จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 เรื่องบททั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และ หมวด 2 ที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ รวมทั้งบทบาทองค์มนตรีที่ไม่ควรแก้ไข ส่วนมาตราอื่นจะเปิดให แก้ไขได้เต็มที่ โดยจะตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีหลักสำคัญคือ 1. เป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง 2. มีความเป็นอิสระและไม่ถูกครอบงำทางการเมืองและ 3. ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเต็มที่ ซึ่งคณะกรรมการมาจากการสรรหาฝ่ายต่างๆ จะมีจำนวน 30-50 คน คิดว่าหากจำนวนน้อยเกินไปก็จะขาดความหลากหลาย แต่มากเกินไปจะเกิดปัญหาความล่าช้าอุ้ยอ้าย โดยมีที่มาจาก 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ สาขารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ 2. ตัวแทนจากฝ่ายตุลาการศาล และ 3. ตัวแทนภาคประชาชน

ส่วนกระบวนการทำงาน เมื่อสภาผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 ขั้นตอนแรกคือการสรรหาคณะกรรมการพิเศษ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน จากนั้นจะมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการพิเศษ ใช้เวลา 90 วัน เสร็จแล้วจะมีการนำร่างดังกล่าวมารับฟังความคิดจากประชนทั่วไป ควบคู่กันกับรัฐสภา โดยจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน ต่อมาคณะกรรมการพิเศษ จะจัดทำร่างปรับปรุงรอบ 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน พร้อมกับเสนอร่างปรับปรุงแก้ไขให้สภาเห็นชอบ โดยที่สภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน

อย่างไรก็ตามหากสภาไม่ให้ความเห็นชอบให้นำร่างชุดนี้เสนอประชาชน เพื่อให้ลงประชามติ โดยกรอบเวลาประมาณ 60 วัน หากประชาชนให้ความเห็นชอบ ก็นำขึ้นทูลเกล้าลงนามในประกาศราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีอำนาจบังคับใช้ หลังจากนั้นจะต้องมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และมีความจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งจะใช้เวลา 180 วัน รวมกรอบระยะเวลาการทำงานทั้งหมด 15-18 เดือน หรือประมาณปีเศษถึงปีครึ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้พรรคจะยกระดับมาตรฐานทางการเมือง ซึ่งถือเป็นนโยบายของพรรคคือรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยใช้เสียง ส.ส. ในสภา 1 ใน10 หรือ 50 คน โดยนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องพร้อมรับการตรวจสอบในกลไกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งสั้นหรือยาว

นอกจากนี้จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 209 ให้ครอบคลุมภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ช่องโหว่ ไปสร้างผลประโยชน์ทับซ้อนและทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึง แก้ไขกฎหมายให้คดีทุจริตไม่มีอายุความและเปิดให้ประชาชนเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีทุจริตนักการเมืองโดยตรง รวมทั้งแก้ไขกฎหมายการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองโดยจำกัดให้บุคคล นิติบุคคล ต้องไม่บริจาคเงินให้พรรคการเมือง เกิน 10 ล้านบาทต่อปีต่อบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองซึ่งเป็นสถาบันของประชาชนอยู่ภายใต้การครอบงำ ของบุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมถึง ส.ส.และรัฐมนตรีจะต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเสนอเหมือนกับภาคประชาชนทั่วไป

ส่วนนโยบายการปฏิรูปสื่อ พรรคประชาธิปัตย์จะมีแนวทางในการปฏิรูป 4 ด้าน คือ 1. สร้างหลักประกันในการทำหน้าที่ของสื่อ 2. สร้างโอกาสในการเป็นเจ้าของสื่อ 3. ส่งเสริมสื่อคุณภาพ 4. จัดทำสื่อรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและสื่อชุมชน ในประเด็นความอิสระมีกลไก 3 ส่วนคือ 1. ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมาตรา 41ของรัฐธรรมนูญ 2. ยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ ในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อย่างเช่น กฎหมายการพิมพ์ 2484 และ 3. สนับสนุนให้มีสภาวิชาชีพควบคุมดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ เข้าไปบิดเบือนแทรกแซง

นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า เมื่อคณะทำงานพิเศษจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสร็จและเป็นผู้กำหนดว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะให้มีการยุบสภา เพราะไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในอำนาจ หรือยื้อเพื่อไม่ให้การปฏิรูปการเมืองเดินต่อไป แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญที่จะออกมาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เช่น กกต. , ส.ว. หรือ ส.ส. ซึ่งอาจจะกำหนดก่อนหรือหลังการเปลี่ยนแปลงบางองค์กร ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องเทคนิคของขั้นตอน ส่วนการเปิดเผยข้อมูลถือครองหุ้นในธุรกิจ รัฐมนตรีทุกคนของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเปิดเผย หากใครไม่พร้อม ก็จะไม่ได้เป็น ส.ส.

ส่วนจะเสนอแก้มาตรา 313 เมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคการเมือง ควรจะเสนอทันที ไม่ต้องรอว่าใครจะเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าย เพราะเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง ตนคิดว่าฝ่ายที่จะเสนอแก้น่าจะมีเสียงในสภาเกิน 1 ใน 5 แน่นอน แต่ยังไม่ควรไปทำนายผลการเลือกตั้งล่วงหน้า หากได้เสียงเกินเราจะเสนอทันที แต่ไม่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีพรรคการเมืองใดได้ถึง350 เสียง จึงจำเป็นที่จะต้องเปิดช่องว่างเอาไว้ว่ารายละเอียดบางเรื่องต้องมีการปรับเข้ากันได้ แต่จะยืนหลักเรื่องคนกลางและประชาชนมีส่วนร่วมและมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

“ผมไม่เชื่อว่าความเข้มแข็งของผู้นำเกิดจากการไม่ถูกอภิปราย เพราะเห็นแต่ผู้นำที่อภิปรายไม่ได้ อยู่ไม่ได้ จึงไม่ได้ช่วยเรื่องความเข้มแข็งหรือเสถียรภาพ เพราะในระบอบประชาธิปไตย ความเข้มแข็งที่แท้จริง คือ ถูกตรวจสอบได้ และอธิบายได้ รัฐบาล 377 เสียง ถ้าถูกตรวจสอบได้ วันนี้คงไม่อยู่ในสภาพแบบนี้ ผมยืนยันว่าถ้าได้เป็นผู้นำ ก็พร้อมให้ตรวจสอบและไม่คิดว่าจะทำให้ผมอ่อนแอ”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทย แถลงถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในการอภิปรายนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนฯ จะใช้เสียงเพียง 1 ใน 10 หรือ 50 คนว่า แนวทางของเราแตกต่างกันตั้งแต่ต้น พรรคไทยรักไทยชัดเจนว่าจะให้คนกลางเข้ามาทำโดยที่เราไม่ยุ่งเกี่ยว แต่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นแม้จะอ้างว่าเอาคนกลางมาเหมือนกัน แต่ก็มีการชี้นำ กำหนดเอาไว้ก่อน ถือเป็นการหาเสียงเฉพาะหน้าไว้ก่อน พรรคไทยรักไทย ไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางชี้นำ ของพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ชี้นำเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งหลังมีการเลื่อนวันเลือกตั้งนั้น นายจตุพร กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อธิบายความบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ได้ไปพูดชี้นำว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ถ้าลองไปดูข้อเสนอของหัวหน้าพรรคประชาราช ที่ให้เลื่อนออกไป 120 วันนั้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ต้องการให้เลื่อนแบบมีวาระซ่อนเร้น โดยต้องการให้มีการปลดล็อค 90 วันรอบสอง
กำลังโหลดความคิดเห็น