xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง “จัดฉาก”-“สร้างข่าว”

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีการประชุมประจำเดือน และได้ออกประกาศเรื่อง การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

“ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่กำลังมีความสับสน และมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น จนอาจจะนำพาประเทศไปสู่สภาวะวิกฤตยิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแขนงอื่น ย่อมตกอยู่ในภาวะถูกบีบคั้นในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนอย่างรอบด้าน ทำให้ยากต่อการนำไปสู่ความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองของหนังสือพิมพ์ได้ประชุมคณะกรรมการแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อมวลชนทุกแขนง จะต้องนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ในการนำเสนอข่าวดังกล่าว สื่อมวลชนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด

นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อการแสดงความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการเมืองในปัจจุบัน ต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าสื่อมวลชนเสนอข่าวไม่เป็นกลาง หรือสื่อมวลชนด่วนพิพากษาเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหาโดยเลื่อนลอยและปราศจากมูลความจริง

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอเรียกร้องให้ผู้กล่าวหาสื่อมวลชนอย่างมีอคติหยุดพฤติกรรมของตน เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนและตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน และขอเรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบด้วย”

ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองว่า มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ก็เห็นจะจริง เพราะมีสิ่งบ่งชี้ว่าหลายกรณีเกิดจากนักการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งอยู่ขณะนี้พยายามใช้กลไกอำนาจรัฐ และคนในเครือข่ายก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นเอง แต่กลับพยายามสร้างภาพเรียกร้องความสมานฉันท์กับภาคประชาชน

ขณะที่การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในส่วนนี้ควบคุมได้จนการทำหน้าที่สื่อขาดความสมบูรณ์รอบด้าน รวมทั้งบางส่วนที่ยอมเบี่ยงเบนประเด็นสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองผู้กุมอำนาจรัฐ

อย่างกรณีมีกลุ่มประชาชนที่ไปตะโกนขับไล่รักษาการนายกรัฐมนตรี... “ออกไป” และก็มีอีกกลุ่มหนึ่งร้องเชียร์ให้ “สู้...สู้” ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างแสดงออกอย่างสันติต่อนักการเมืองซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ”ได้ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เจ้าหน้าที่ตำรวจหากจะทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ก็เพียงแต่กันไม่ให้ทั้ง 2 กลุ่มอย่าทำอะไรรุนแรงมากไปกว่าการตะโกนใส่กัน หรือขอให้กลุ่มคนยืนห่างออกไปเพื่อไม่ให้ก่อกวนจนทำลายงานที่จัด ณ สถานที่นั้น

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค. นี้ เมื่อมีเสียงเด็กตะโกน “ทักษิณ...ออกไป” กลุ่มคนบนชั้น 2 ของศูนย์การค้าสยามพารากอน ก็พากันตะโกนขานรับ แล้วตำรวจที่คุมสถานการณ์อยู่บริเวณนั้นกลับปล่อยให้มีคนเข้าไปรุมทำร้ายประชาชน รวมทั้งนักศึกษาที่ถูกเข้าใจว่าร่วมวงตะโกนขับไล่นักการเมืองกับเขาด้วย แม้แต่ชายคนที่เข้าไปช่วยห้ามก็พลอยถูกชกหน้าด้วย

แล้วอีก 3 วันต่อมา เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเป็นประธานเปิดงานที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก

คราวนี้มีรายการกระทืบคนชรา และทำร้ายผู้หญิงด้วยการออกแรงของ 3 คนที่เล่นบทอันธพาล แล้ววันต่อมา 2 คนที่เข้ามอบตัวกับตำรวจก็อ้างว่าทำไปเพราะ “รักทักษิณ”จึงไม่พอใจที่เห็นคนตะโกนขับไล่

แต่เพราะการสื่อข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งจากช่องทางสื่อของรัฐที่ถูกทำให้ขาดความอิสระในวิชาชีพ และความสับสนของบางสื่อ จนมีการเบี่ยงเบนประเด็นเหตุการณ์ว่าเป็น “ม็อบปะทะม็อบ”

ทั้งๆ ที่นี่ไม่ใช่เป็นการ “ปะทะ” แต่เป็นการกระทำของอันธพาล “รุมทำร้าย” คนที่ต่อต้านนักการเมืองต่างหาก

ซ้ำร้ายยังเกิดขึ้นจากการรู้เห็นเป็นใจของตำรวจที่รับใช้นักการเมืองจนละเลยคุณธรรม

ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้สังคมต้องการสื่อสารมวลชนที่ดีมีประสิทธิภาพ และมีเสรีภาพในการทำหน้าที่

อย่างเหตุการณ์ครั้งนี้ ASTV โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้รับคำชมมาก ทั้งจากภาคประชาชนและวงการสื่อเองว่า ได้รายงานหลักฐานความจริงชัดเจนทั้งภาพและเสียง ถึงขนาดมีการถอดเทปคำพูดการสั่งงานของ พ.ต.อ.เทพจันดา กับ 2 คนที่ทำตัวเป็นอันธพาลไปทำร้ายประชาชน

ผู้ที่ติดตามข่าวสารทางจอคอมพิวเตอร์จากเว็บไซต์ “ผู้จัดการออนไลน์” และหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ก็ได้เห็นภาพนายตำรวจ และ 2 คนที่ทำร้ายคนแก่และผู้หญิงพร้อมการพูดจาสั่งการของนายตำรวจลูกเขยเมืองโคราชผู้นี้ชนิดคำต่อคำเป็นหลักฐาน

ป่านนี้ลูกเมียและเครือญาติของนายตำรวจผู้นี้คงต้องพลอยเสียใจที่ถูกสังคมคนโคราชประณามคนทำลายอุดมการณ์ความเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ทั้งที่เคยร้องเพลงมาร์ชตำรวจไทยที่มีคำมั่นสัญญาว่า “...เราอยู่ไหนประชา อุ่นใจทั่วกัน”

แต่ทุกวันนี้ภาพลักษณ์ตำรวจที่ดีได้ถูกตำรวจที่เอาใจนักการเมืองที่ขาดคุณธรรม เพราะเห็นแก่ลาภยศทำลายสถาบันจนย่อยยับ

นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า การทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ มีจริยธรรมจะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงได้

หากสื่อสารมวลชนถูกแทรกแซงและครอบงำจนขาดเสรีภาพในการทำงานตามวิชาชีพ ย่อมหมายถึงเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ความจริง ก็ถูกคุมคามไปด้วย

เหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนตะโกนขับไล่ทักษิณแล้วถูกทำร้าย หรือถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา “ส่งเสียงอื้ออึง”ขณะที่กลุ่มที่ตะโกนเชียร์ทักษิณกลับไม่โดนข้อหาด้วย

สังคมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ตำรวจดำเนินการแบบลำเอียงและทำให้การเดินเกมของผู้นำพรรคไทยรักไทยเสียคะแนนมาก

ยิ่งมีการดิ้นรนของฝ่ายกฎหมายของพรรคการเมืองที่จะเล่นงานคนแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน โดยอ้างมาตรา 397 ของกฎหมายอาญา โดยหาว่า “เป็นการทำให้ผู้อื่นอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ” นั้น นับว่าขัดกับหลักรัฐธรรมนูญซึ่งคุ้มครองการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อบุคคลสาธารณะที่ต้องพร้อมรับเสียงวิจารณ์

ดังนั้น คนที่มีแผนจะสร้างฉากสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความรุนแรงเล่นงานคนต่อต้านเพื่อหวังข่มให้กลัวซึ่งเป็น “ความคิดแบบเก่า” เพราะบทบาทของสื่อและเทคโนโลยีหลากหลายประเภทที่มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพของ “สื่อยุคใหม่”

ผู้นำรัฐบาลรักษาการจึงถูก “รู้ทัน” จนเสียคะแนนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ล่าสุดการเกิดกรณีข่าวจับรถเก๋งบรรทุกระเบิดร้ายแรง พร้อมกับการเปิดประเด็น “เป็นแผนลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรี” เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้ กำลังถูกจับตาพร้อมด้วยข้อสงสัยว่าเป็นการ “จัดฉาก” เพื่อ “สร้างข่าวใหม่” กลบข่าวติดลบหรือไม่

เพราะแม้จะมีนายตำรวจระดับสูงหลายคนออกมายืนยันว่าเป็นแผนระเบิดสังหารผู้นำ แต่ก็ยังมีคำถามย้อนกลับและข้อมูลคำแถลงที่ขัดแย้งกันอยู่

เรื่องนี้ยังต้องพิสูจน์และทำให้สังคมเห็นว่าสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องมีเสรีภาพที่ไม่ถูกครอบงำ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และไม่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่มีการปั่นเพื่อใช้เป็นเกมการดิ้นรนต่อสู้
กำลังโหลดความคิดเห็น