xs
xsm
sm
md
lg

มข.ค้นพบพืชเศรษฐกิจใหม่ "แก่นตะวัน" คน-สัตว์บริโภคได้/สกัดเอทานอลดีกว่าอ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย หัวหน้าทีมวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับดอกแก่นตะวัน ที่สวยงาม มีขนาดดอกเล็กกว่าดอกทานตะวันแต่ใหญ่กว่าดอกบัวตอง
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- "แก่นตะวัน"อีกผลงานเด่นทีมคณะวิจัย มข. ปรับปรุงพันธุกรรมพืชเมืองหนาวให้ปลูกในเขตร้อนเมืองไทยได้สำเร็จ เผยปลูกง่ายเหมือนมันสำปะหลัง แต่มูลค่าทางตลาดสูงทั้งใช้บริโภคเพื่อสุขภาพ- สกัดเป็นเอทานอล และส่งเสริมปลูกเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้คล้ายทุ่งทานตะวัน-ดอกบัวตอง

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย หัวหน้าทีมวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ผู้นำสายพันธุ์แก่นตะวัน มาปลูกทดลองในประเทศไทย กล่าวถึง แก่นตะวัน หรือ jerusalem artichoke ว่าเป็นพืชที่ใกล้ชิดกับทานตะวัน มีดอกคล้ายทานตะวัน และดอกบัวตอง แต่มีขนาดเล็กกว่า มีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่ง เพื่อเก็บสะสมอาหาร ซึ่งเป็นน้ำตาล isulin ประกอบด้วยน้ำตาล fracture ต่อกันเป็นเป็นโมเลกุลยาว พืชนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวของสหรัฐอเมริกา แต่สามารถปลูก และปรับตัวได้ดีในสภาพเขตร้อนในประเทศไทย

การใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ คือ ใช้หัวเป็นอาหารคน และอาหารสัตว์ รวมทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ จากรายงานการวิจัยของต่างประเทศ พบว่าการบริโภค แก่นตะวันจะไม่ถูกย่อยในกระเพาะ เป็นสารใยอาหารที่ให้แคลอรีต่ำ ช่วยลดความอ้วน ไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงไม่เป็นปัญหากับโรคเบาหวาน ช่วยลด Cholesterol Triglyceride และ LDL ในร่างกาย จึงลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ ยังพบว่า เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย Bifidobacteria และ Lactobacilli ลดกิจกรรมของแบคทีเรีย ก่อโรค เช่น Coliforms และ E. COli จึงเป็นที่ยอมรับว่าแก่นตะวันเป็น Prebiotic ทำให้ภูมิคุ้มกันทางร่างกายดีขึ้น

รศ.ดร.สนั่นระบุว่าจากการทดลองปลูก แก่นตะวัน เป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี เพราะจะลงหัวได้ง่าย หากมีน้ำขัง แฉะจะทำให้หัวเน่า การปลูกสามารถปลูกได้ในฤดูฝน ในพื้นที่ไร่ เหมือนกับพืชไร่ทั่วไป การปลูกในฤดูแล้งต้องมีระบบน้ำชลประทาน เช่น การปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาดินร่วนทราย เขต ชลประทาน การปลูก โดยใช้หัวปลูก ต้องตัดหัวให้เป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละ 2-3 เซนติเมตร บ่มหัวที่หั่นแล้วในถังมีความชื้น จะกระตุ้นให้เกิดต้นอ่อนบนหัวท่อนพันธุ์ แล้วจึงนำมาปลูก

การปลูกในฤดูฝนต้องใช้ระยะปลูกห่าง ประมาณ 70 คูณ 50 เซนติเมตร แต่ฤดูแล้งอาจใช้ระยะการปลูกแคบขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตน้อยกว่าฤดูฝน 50 คูณ 30 เซนติเมตร การปลูกจากหัวที่มีต้นอ่อน ดินต้องมีความชื้นดีมาก หลังปลูกดายหญ้ากำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง ตามความจำเป็น การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยพืชไร่ สูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม / ไร่ เมื่อมีอายุ 20-30 วัน หลังปลูก ปัจจุบันยังไม่พบโรค และแมลงที่สำคัญของพืชนี้

" พืชนี้จะออกดอกสีเหลืองทองอร่ามเต็มทุ่ง จนอาจขนานนามว่า ทุ่งแก่นตะวันบาน สวยงาม นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ไม่แพ้ทุ่งทานตะวันบาน "

สำหรับพืชนี้จะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 120-140 วัน และสำหรับการปลูกในฤดูแล้งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อายุ 100-110 วัน โดยสังเกตพบว่า หัวขยายเต็มที่ ใช้วิธีขุด หรือถอนเก็บเกี่ยวหัว เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง

โดยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดได้ผลผลิต 2.5-2.8 ตันต่อไร่ ใช้เวลาปลูกเพียง 4 เดือน หากเปรียบเทียบกับมันสำปะหลังระดับเดียวกัน ต้องใช้เวลาปลูก 10-12 เดือน

รศ.ดร.สนั่นกล่าวอีกว่า แก่นตะวันถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย มีโอกาสพัฒนาไปเป็นพืชทางเลือกเป็นการค้าหรือ อุตสาหกรรมในอนาคต ถึงแม้ว่าพืชแก่นตะวันไม่ใช่พืชพื้นเมืองของประเทศไทย แต่นำเข้ามาวิจัยและพัฒนาจนสามารถปลูกได้ดีระดับหนึ่ง อนาคตต้องมีการพัฒนาเพิ่มเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

"พืชนี้เป็นพืชที่อยู่ในเขตหนาว แต่เรานำเข้ามาทดสอบดูแล้ว ปรากฏว่ามีการปรับตัวได้ดีในเขตร้อน มีอายุสั้นประมาณ 120 วัน ให้ผลผลิตสูงประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ เป็นพืชหัว เราสามารถนำเอาหัวมาใช้ประโยชน์ เป็นอาหารได้ทั้งคนและสัตว์ จัดว่าเป็นพืชสมุนไพร ทำอาหารได้หลากหลาย เช่น บริโภคสด ทำเป็นอาหารคาว หวาน เพราะว่าในหัว มีสารสำคัญเรียกว่า อินซูลิน เมื่อคนบริโภคเข้าไป จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น"รศ.ดร.สนั่นกล่าว

โดยเฉพาะมีแบคทีเรียที่อยู่ในระบบลำไส้ที่มีประโยชน์ จะเจริญเติบโตดี เช่น แลกโตบาซิลัส ในขณะเดียวกันก็ทำให้แบคทีเรียตัวที่ก่อโรคมีการเจริญเติบโตต่ำ นอกจากนี้ผลงานวิจัยต่างประเทศชี้ชัดว่า พืชชนิดนี้เมื่อคนบริโภคเข้าไปแล้วจะทำให้ลดคอเลสเตอรอล ลดปัญหาเสี่ยงจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด

ในแง่ของการผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทีมงานวิจัยของ รศ.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาพบว่า เมื่อสัตว์ได้บริโภคหัวแก่นตะวันเข้าไปจะทำให้ลดกลิ่นของมูลสัตว์ เหมาะกับในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงสุกร จะช่วยการลดกลิ่นของสัตว์ และจะทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ดีขึ้นด้วย

อีกประการหนึ่งเนื่องจากหัวแก่นตะวันมีปริมาณน้ำตาลฟรักโทส ออยู่ค่อนข้างสูง และเราสามารถเอาแก่นตะวันไปหมักเพื่อจะเอาเอทานอล หรือแอลกอฮอล์ออกมา โดยหัวแก่นตะวัน 1 ตัน สามารถให้เอทานอล ประมาณ 80 -100 ลิตร มากกว่าการผลิตเอทานอลจากอ้อย เพราะฉะนั้นพืชชนิดนี้ จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพ ในแง่ของการผลิตพลังงานทดแทนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้แก่นตะวันมีดอกสีเหลือง เมื่อออกดอกจะออกพร้อม ๆ กัน เต็มไร่ ซึ่งมีความสวยงามมาก สามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่นเดียวกับทุ่งทานตะวันที่จังหวัดสระบุรี หรือลพบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น