xs
xsm
sm
md
lg

ส่งตีความ 5 ว่าที่ ป.ป.ช. 21 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นิวสุชน” เตรียมส่งศาล รธน. ตีความคุณสมบัติ 5 ว่าที่ ป.ป.ช.21 ส.ค.นี้ ยัน ส.ว.ไร้ปลอกคอตั้งใจรับใช้ประชาชน ขณะที่ ประธาน ศาล รธน.รับลูก พร้อมเร่งรัดชี้ขาดหาก ส.ว.ส่งคำร้องมา ส่วน “สุวรรณ” โยนศาล รธน.ตัดสินให้ร่วมวินิจฉัยหรือไม่หลังถูกวิจารณ์มีส่วนได้ส่วนเสียกับการตีความ “อภิสิทธิ์” แฉฝ่ายการเมืองแทรกแซงตั้งองค์กรอิสระ ดันพรรคพวกขึ้นชั้น ซี 10 ก่อนส่งเข้าสรรหา

นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา กล่าววานนี้ (17 ส.ค.) ถึง การส่งเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบรรทัดฐานของการดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมติที่ประชุมวุฒิสภาว่า ในช่วงบ่ายนี้จะประชุมที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา เพื่อหาช่องทางในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะพิจารณาว่าจะมีช่องทางใดที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266

ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวัน นายสุชน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของประธานวุฒิสภา โดยมีการเชิญฝ่ายกฎหมายจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมหารือ ถึงแนวทางการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่าของผู้ที่ได้การ เสนอชื่อเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีปัญหา 5 คนคือ นายสันติ บางอ้อ รองเลขาธิการ สคช. นางสัจจา ศศะนาวิน รองผู้ว่าฯสตง. นางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองเลขาธิการ กพฐ. พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วย ผบ.ตร. และนายดิลก บุญเรืองรอด อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยใช้เวลาหารือนาน 2 ชั่วโมง

นายสุชน เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ตนในฐานะประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสองสภาร่วมยกร่างคำร้องภายในวันที่ 18 ส.ค. โดยให้เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยในลักษณะเดียวกัน รวมถึงต้องดูกฎหมายประกอบเกี่ยวกับเขตอำนาจ ก่อนจะส่งให้ตนพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 21 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตามหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล่าช้า ไม่ทันการประชุมวุฒิสภาสมัยนี้ ก็จะทำเรื่องให้รัฐบาลขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อเลือกป.ป.ช.อีกครั้ง

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการที่ส.ว. 104 เสียงลงมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะเงินไม่มาโผเลยไม่ไปนั้น ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีแล้ว ตอนนี้ส.ว.ทุกคนเป็นอิสระ ไม่มีใครรับเงินใคร ทุกวันนี้ก็เลือกให้ได้ป.ป.ช.ที่ดีที่สุดเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชน

นายอุระ หวังอ้อมกลาง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ายังไม่ทราบเรื่องที่ ประธานวุฒิสภาจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นการดำรงตำแหน่ง อธิบดีหรือเทียบเท่าของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.มาให้หรือไม่ แต่หากมีการ ส่งคำร้องเรื่องนี้เข้ามาจริงคงจะต้องเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามปกติ ซึ่งเราคงจะต้องรอดูว่าเนื้อหาคำร้องที่สมาชิกวุฒิสภาจะส่งมาเป็นอย่างไร จึงยังไม่ทราบว่าเมื่อส่งมาแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ แต่พยายามจะที่จะเร่งรัดพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถูกรักษาการ ส.ว. พาดพิงว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ไม่เทียบเท่าอธิบดีซึ่งถือเป็นคน ที่มีส่วนได้เสียจึงไม่ควรร่วมพิจารณาในการตีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า หากเรื่องดังกล่าวส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็คงต้องแถลงต่อที่ประชุมว่า เคยเป็น อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเทียบเท่ากับข้าราชการซี 10 พร้อมกับชี้แจงถึงหลักการของการเทียบเคียงที่ กพ. เคยทำเอาไว้ ซึ่งความจริงแล้วในเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติในระดับเทียบเท่าอธิบดีให้สามารถสมัครได้นั้น ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้ผู้คนที่เคยรับราชการที่มีศักดิ์เทียบเคียงดังกล่าวได้ยื่นใบสมัคร คณะกรรมการสรรหาจะได้มีตัวเลือกมากๆ

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาเกียวกับเรื่องดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตนจะให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะให้ร่วมพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ มติออกมาอย่างไรตนก็พร้อมยอมรับ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าเมื่อที่ประชุมวุฒิสภา มีใติให้ส่งตีความเกี่ยวกับคุณสมบัติการเทียบเท่าอธิบดีเช่นนั้นก็อยากให้ดำเนินการ ด้วยความรวดเร็วและได้คำตอบโดยเร็ว ซึ่งความจริงประเด็นนี้มีการทักท้วงมานาน และถือว่า เป็นช่องโหว่หนึ่งที่ทำให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพราะมีกระบวนการเหมือนกัน โดยการเอาคนเข้าไปกินตำแหน่งระดับ10 เพื่อหวังผลให้เข้ามาสู่ กระบวนการสรรหา ฉะนั้นถ้าได้บรรทัดฐานเรื่องนี้มาเร็วก็คงจะเป็นประโยชน์

“ทุกเรื่องในขณะนี้ต้องหาความพอดี หากจะเอาเร็วอย่างเดียวคงไม่ได้ ขณะเดียวกันหากจะให้ทุกอย่างได้อย่างที่ทุกฝ่ายมั่นใจก็จะใช้เวลานานเกินไป ดังนั้น ต้องเดินสายกลาง ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลจะเป็นตัวบอกเองว่าบรรทัดฐานเป็นอย่างไร มี่ผลกระทบอย่างไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของตุลาการฯที่มีส่วนได้เสียในการคัดเลือกครั้งแรก ควรจะเข้าร่วมวินิจฉัยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยหลักหากใครมีส่วนได้เสีย ก็ไม่ควรเข้ามาร่วมพิจารณา นี่คือหลักของกฎหมายปกครองอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น