xs
xsm
sm
md
lg

การทูตยุคใหม่?

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เวลาที่พูดถึงหลักการทูตโดยทั่วไปนั้น คนที่อยู่ในวงการทูตหรือทำงานด้านการต่างประเทศจะเข้าใจอยู่ 2 นัย

นัยหนึ่ง เป็นเรื่องของหลักการที่ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามต่างก็รู้กันดีว่า สิ่งใดควรหรือไม่ควรในทางการทูต บางคนอาจเรียกความควรไม่ควรนี้ว่ามารยาททางการทูต แต่ผมเห็นว่ามันน่าจะกว้างกว่าคำว่ามารยาทมากมาย เพราะบางทีมันยังเกี่ยวกับเรื่องของธรรมเนียมการปฏิบัติอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักการทูตจะรู้สิ่งที่ว่านี้ได้ดีก็โดยผ่านการอบรมสั่งสอนกันมาหรือได้ศึกษากันมาโดยตรง กับรู้โดยผ่านประสบการณ์

อีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดำเนินการต่างประเทศหรือการทูต เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจหรือทำได้ง่ายๆ เพราะเวลาที่มีปรากฏการณ์ทางการทูตขึ้นมาใหม่ๆ เราจะต้องไม่ลืมว่ามันมีทั้งผู้ส่งสารกับผู้รับสารจากปรากฏการณ์นั้นๆ ดำรงอยู่ ด้วยเหตุนี้ ผลจากปรากฏการณ์นั้นเองที่จะเป็นตัวฟ้องไปในตัวว่า การทูตนั้นเป็นการทูตที่ควรจะได้รับการสรรเสริญหรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ประณาม

ที่สำคัญก็คือว่า การทูตทั้งสองนัยข้างต้นมักจะเดินควบคู่กันไป จะขาดนัยใดนัยหนึ่งไปไม่ได้

เช่น นักการทูตหรือการต่างประเทศที่รู้หลักการทางการทูตดีว่าอะไรควรไม่ควรนั้น ต่อให้รู้ดีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถพัฒนาสิ่งที่ตนรู้ให้เป็นกลยุทธ์ในการต่างประเทศแล้ว ความรู้ที่ว่าก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ในขณะเดียวกัน คนที่มีความเจนจบในทางการทูตหรือการต่างประเทศนั้น ก็จะไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้อย่างแน่นอนถ้าหากไม่รู้ว่าอะไรคือหลักการทูตอันพึงประสงค์ หรืออะไรคือหลักการทูตที่ควรหรือไม่ควร

จากนัยในหลักการทูต 2 ข้อดังกล่าว (เป็นอย่างน้อย) ทำให้การทูตของประเทศต่างๆ สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือว่า ในทางปฏิบัตินั้นโดยมากจะมีเป้าหมายตั้งเอาไว้ด้วยคำถามง่ายๆ ว่า การทูตนั้นเพื่อใคร?

ฉะนั้น แม้นักการทูตจะทำอะไรสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ต่างก็รู้ร่วมกันประการหนึ่งว่า สิ่งที่ตนทำไปภายใต้หลักการทูตและประสบการณ์นั้น มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ตรงทำเพื่อประเทศชาติของตน กับทำเพื่อสังคมโลกโดยส่วนรวม

ที่ว่าทำเพื่อชาตินั้นผมคิดว่าเราคงเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ที่ว่าทำเพื่อสังคมโลกโดยส่วนรวมนั้นผมตั้งใจจะให้หมายถึงการทูตที่ประเทศใดประเทศหนึ่งทำโดยที่ตนเองอาจไม่ได้ประโยชน์ แต่คนอื่นได้ประโยชน์ หรือถ้าตนได้ประโยชน์ด้วย ประโยชน์นั้นก็เป็นประโยชน์ในทางที่อ้อมเอามากๆ พูดง่ายๆ ก็คือว่า เป้าหมายทางการทูตที่แท้จริงไม่ว่าของประเทศไหนก็ตาม ไม่ใช่เป้าหมายที่เริ่มจากโจทย์ที่ว่าตนเองต้องการอะไร แล้วใช้การทูตนั้นมาเป็นประโยชน์ให้แก่ตนเอง แต่เริ่มจากโจทย์ที่ว่าประเทศของตัวต้องการอะไร หรือสังคมโลกต้องการหรือกำลังมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้

ประเด็นคำถามต่อมาคือ จากหลักการทูตดังกล่าว มีบ้างไหมที่มีการใช้หลักการทูตที่ว่ามาสร้างในสิ่งที่เรียกว่า “การทูตยุคใหม่”

คำตอบคือ มี

เพื่อให้เห็นว่ามี ผมขอยกตัวอย่างการทูตสมัยที่ คุณชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ นั่นคือ เรื่องที่รัฐบาล คุณชาติชาย ประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

คงจำกันได้ว่า ตอนที่ คุณชาติชาย ประกาศนโยบายนี้นั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยิ่งในทางปฏิบัติด้วยแล้ว คุณชาติชาย ถึงกับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้ทำผิดหลักการทูตในบางระดับอีกด้วย

แต่ภายหลังจากที่นโยบายดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่ง คุณชาติชาย ถูกโค่นล้มลงโดย รสช. แล้ว ก็ปรากฏว่า การทูตจากนโยบายที่ว่าก็ยังคงได้รับการอ้างอิงกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งจากผู้ที่เห็นกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย การทูตจากนโยบายดังกล่าวจึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในขณะนั้นจริงๆ

ข้อสำคัญในประการต่อมาคือ แม้จะมีบางคนเห็นว่านโยบายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อคนที่เป็นพ่อค้านักธุรกิจเสียมากกว่า เกี่ยวกับประเด็นนี้หากดูเผินๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า หาก คุณชาติชาย ไม่ใช้ “การค้า” มาเป็นกลไกแล้ว ยังจะมีอะไรอื่นอีกหรือไม่ (ในขณะนั้น) ที่สามารถนำมาใช้เป็นกลไกเพื่อทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาคอินโดจีนที่รบราฆ่าฟันมานานนับสิบปี?

เหตุฉะนั้น หากการค้าคือกลไกหนึ่งที่สามารถทำให้คนหยุดการฆ่าฟันกันได้ การใช้การค้าเพื่อการดังกล่าวในการต่างประเทศก็ควรเรียกได้ว่าเป็น “การทูตยุคใหม่” ไม่ใช่หรือ?

ที่น่าสังเกตก็คือว่า ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทูตที่ว่า แต่ที่ยอมรับกันในระดับหนึ่งก็คือว่า การทูตนั้น คุณชาติชาย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองคนเดียวเดี่ยวโดด เช่นเดียวกับที่ไทยเองก็ไม่ได้ประโยชน์แต่เพียงประเทศเดียวเช่นกัน ตรงกันข้ามกลับมีหลายประเทศที่ได้รับผลสะเทือนจากการทูตดังกล่าวด้วย

จากตัวอย่างที่ว่า ผมมีข้อสรุปที่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ผมเห็นว่าการทูตของคุณชาติชาย พอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการทูตยุคใหม่นั้น ผมมีเงื่อนไขเปิดอยู่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง ถึงแม้จะผู้ที่เห็นด้วยก็ตาม แต่ผมคิดจากผลในบั้นปลาย (ปัจจุบัน) ที่มีการยอมรับและอ้างอิงกันอยู่เสมอ และสอง การทูตที่ว่า คุณชาติชาย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

ดังนั้น หากว่ากันตามเงื่อนไขที่ว่า แล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทูตของ คุณทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังอ้างว่าการต่างประเทศของตนคือ “การทูตยุคใหม่” แล้ว ผมว่ามันคนละเรื่องกันเลยทีเดียว เริ่มจากเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เองที่ คุณทักษิณ ทำหนังสือถึงประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ภายในของไทยตามมุมมองของตน หรือการเดินทางไปพบผู้นำมหาอำนาจอีกบางประเทศในช่วงที่ตนกำลังเว้นวรรคทางการเมือง จนถึงการดอดไปพบผู้นำพม่าอย่างกะทันหัน และการไปเจรจากับผู้นำเขมรท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น มีตรงไหนบ้างที่พอเรียกได้ว่าเป็น “การทูตยุคใหม่?”

ที่ทำจดหมายถึงบุช นั้น ผมบอกได้คำเดียวว่า คุณทักษิณ ทำเพื่อตัวเองคนเดียวเดี่ยวโดด ซึ่งผิดหลักการทูตโดยสิ้นเชิง ส่วนเรื่องที่ไปพม่าและเขมรนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะมีวาระพิเศษอันใดที่จะต้องเร่งรีบขนาดนั้น ทำเป็นวาระปกติและโดยเปิดเผยก็ย่อมทำได้ถ้าไม่มีเลศนัยจริง แต่ถ้าให้ดีก็ไม่ควรทำในระหว่างรักษาการเลยก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้เห็นว่า คุณทักษิณ เป็นคนมีมารยาทและความสง่างาม (แต่นี่ไม่)

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า จะเป็นตอนที่ คุณทักษิณ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันปีใหม่ 2548 (ปีที่แล้ว) หรือเมื่อตอนที่รับตำแหน่งนายกฯ รอบสอง (ปีเดียวกัน) ไม่แน่ใจนัก ว่ามีใจความอยู่ตอนหนึ่ง คุณทักษิณ ได้พูดทำนองสัญญาว่าจะนำพาประเทศไทยและคนไทยให้ยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจให้ได้

แต่ดูจากการทูตที่เราเห็นแค่ช่วงเดือนสองเดือนนี้ (ยังไม่ต้องนับก่อนหน้านี้ก็ได้) แล้ว ผมไม่เพียงจะไม่รู้สึกว่าตนเองในฐานะคนไทยจะมีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจตรงไหนเท่านั้น ตรงกันข้าม ผมกลับมีแต่ความรู้สึกอับอายขายหน้าต่อมิตรประเทศที่ประเทศของเรามีผู้นำอย่างคุณทักษิณ

และยิ่งให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้นเมื่อ คุณทักษิณ บอกว่าที่ทำไปนั้นคือ “การทูตยุคใหม่” ทั้งที่ถูกแล้วควรเรียกว่า “การทูตยุคแม้ว” เสียมากกว่า

ผมรู้สึกเช่นนั้นยังไม่สู้กระไรหรอกครับ สงสัยก็แต่คนที่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นแหละครับว่าไม่รู้ รู้สึกยังไง? เหมือนที่ผมรู้สึกไหมครับ?
กำลังโหลดความคิดเห็น