xs
xsm
sm
md
lg

อย่าทำร้าย‘พิณทองทา’

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

นอกจากสังคมช่วยกันเปิดโปงพฤติกรรมของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องยังลุกลามไปยังครอบครัวด้วย สำหรับตัวภรรยาพจมานนั้น พอจะเข้าใจได้ เพราะเธอเข้ามามีบทบาทอย่างชัดแจ้งทางการเมืองในระยะหลัง

แต่ที่น่าเห็นใจคือ ลูกๆ ทั้งสามของครอบครัวนี้ เพราะทั้งสามคนล้วนถูกวิจารณ์ในเรื่องการศึกษา สำหรับพานทองแท้นั้น ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ครับ ไม่ว่าการพกโพยเข้าห้องสอบจะเป็นความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เพราะเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ

ส่วนเรื่อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ก็รู้กันอยู่ครับว่า เธอสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในช่วงที่มีข่าวว่าข้อสอบรั่ว และเธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ด้วยคะแนนที่ดีในวิชานั้นอย่างบังเอิญ

เรื่องสองเรื่องนี้ก็นับว่ากลุ้มแล้วครับ สำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ คนเป็นพ่อนั้นถึงกับเคยหลั่งน้ำตาเพราะเรื่องนี้มาแล้ว

ช่วงระยะหลังมีข่าวของน้องเอม-พิณทองทา เข้ามาอีกคน ซึ่งผมฟังแล้วน่าจะไม่เป็นธรรมกับเธอ

ทั้งนี้เพราะเรื่องนี้ถูกตั้งคำถามมานานแล้ว มีการไปโพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ต่างๆ และวิพากษ์วิจารณ์ร่ำลือกันไปต่างๆ นานา แล้วผลร้ายตกกับใครครับ ถ้าไม่ใช่เด็กสาวชื่อพิณทองทา ที่บังเอิญเกิดมีพ่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนนี้

มีการกล่าวหาพิณทองทา โดยมีการเผยแพร่ข้อความไว้ในเว็บไซต์ต่างๆ ทำนองว่า เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนิสิตชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (ภาคพิเศษ) คณะอุตสาหกรรมเกษตร ในปีการศึกษา 2542 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น คือ นายธีระ สูตะบุตร

ความหมายของภาคพิเศษ ก็คือ เธอไม่ต้องสอบเอนเทรานซ์ตรงตามระเบียบของทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลสถาบันอุดมศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป) โดยมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการศึกษาไว้ หนึ่งในนั้นคือ ต้องเป็นนักเรียนสาขาวิทย์-คณิต แต่มีคนไปกล่าวหาว่า เธอจบมาจากสายศิลป์-คำนวณ ซึ่งผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เธออาจสอบเทียบของการศึกษานอกโรงเรียนมาก็ได้

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เธอเข้าศึกษาในคณะนี้ได้เพียง 1 ปีเศษ โดยมีเกรดเฉลี่ยสะสมในภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ต่ำกว่าเกณฑ์

แต่ปรากฎว่า ในปีการศึกษา 2543 เธอกลับไปปรากฏอยู่ในรายชื่อของนิสิตใหม่คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ ซึ่งเป็นภาคเรียนปกติ(ไม่ใช่ภาคพิเศษ) ซึ่งผู้เข้าเรียนต้องผ่านการสอบเอนทรานซ์เข้ามาโดยตรง นอกจากได้เข้าเรียนแล้วยังมีการเปลี่ยนรหัสนิสิตใหม่ให้อย่างเสร็จสรรพ

นอกจากนั้น คณะและภาควิชานี้ยังถือว่า เป็นคณะและภาควิชาที่มีการแข่งขันสูงคณะหนึ่งและคะแนนก็อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานมาโดยตลอด

คณบดีคณะสังคมศาสตร์ในขณะนั้น คือ นายสมเกียรติ วันทะนะ ซึ่งในปัจจุบัน นายสมเกียรติ ได้ดิบได้ดีเป็นบอร์ด อสมท ที่เจ๊มิ่งขวัญ เพิ่งได้รับการอนุมัติจากบอร์ดให้ต่ออายุผู้บริหารอีกสมัย

บางส่วนของคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ต่างๆ ก็คือ

1 เธอผู้นี้มีคุณสมบัติใด จึงสามารถย้ายคณะได้ทั้งๆที่เธอเข้ามาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยการสอบตรงของคณะอก.และเป็นภาคพิเศษ ในปี 2542 (แน่นอนว่าเธอไม่มีคะแนนสอบเอนทรานซ์ ในปี 2000 ด้วย)

2 การย้ายคณะของเธอกระทำได้อย่างไร ถูกตามหลักเกณฑ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการย้ายคณะหรือไม่? และเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนรหัสนิสิตใหม่? (การย้ายคณะไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พบเห็นบ่อยครั้ง คือ กรณีการย้ายคณะของนิสิตสายวิทย์ เช่น วิทยาฯ มา วิศวะฯ หรือนิสิตคณะเกษตรฯ ย้ายเข้าคณะอก. แต่การย้ายทุกครั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสนิสิตของนิสิตผู้ย้ายคณะแต่อย่างใด เพราะจะมีปัญหาตามมาภายหลังจากทะเบียนนิสิตซ้ำซ้อน การคิดเกรด การตรวจสอบการจ่ายค่าการศึกษา การทำเรื่องขอจบและการอนุมัติการจบการศึกษา)

นอกจากนั้น ยังมีหลักเกณฑ์การย้ายคณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุไว้ คือ ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พุทธศักราช 2521 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) ข้อ 15.1.2 ระบุว่า นิสิตที่เข้าเรียนในคณะเดิม แต่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในปีการศึกษาแรกต่ำกว่า 2.00 "ไม่มีสิทธิย้ายคณะ"

ปัจจุบันเงื่อนไขการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป และได้มีประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2548

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในขณะนั้น สาธารณชนล้วนแล้วแต่รับรู้กันว่า การสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐในภาคเรียนปกตินั้น มีทางเลือกเดียวคือ การสอบเอนทรานซ์เข้าโดยตรง ต่อให้อธิการบดีก็ไม่สามารถอนุมัติให้ใครเข้าเรียนโดยไม่ต้องเอนทรานซ์ได้ และการย้ายคณะยังมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด

ที่ผมพูดเช่นนี้ เพราะกลัวว่าจะมีศรีธนญชัยออกมาพูดว่า ไม่มีระเบียบที่ไหนห้ามไม่ให้นักศึกษาย้ายคณะได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นได้ ใครมีเงินมีทองก็เสียเงินเข้าไปเรียนในภาคพิเศษที่ค่าหน่วยกิตแพง แต่ไม่ต้องเอนทรานซ์ และค่อยย้ายเข้าไปเรียนภาคปกติกับคนที่เอนทรานซ์เข้ามาในปีการศึกษาต่อไป

คำถามก็คือ เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ครับ ทำไมมหาวิทยาลัยไม่ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาต่อน้องพิณทองทา

จำเป็นอย่างยิ่งเลยครับที่คณาจารย์และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ เพื่อยืนยันว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรั้วสถาบันอุดมศึกษาจริงหรือไม่

ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานของมหาวิทยาลัยว่า อยู่ที่ไหน? เพราะการกระทำเช่นนี้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ต่างอะไรกับการสนับสนุนและส่งเสริมในการกระทำทุจริตทางการศึกษา

นิสิตสาวผู้นี้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2546 รับพระราชทานฯในเดือนกรกฎาคม 2547 ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยมอันดับ 2 (เกรด3.25 ขึ้นไป) และมีความพยายามที่จะหาทางมอบเกียรตินิยมให้เธอให้ได้ แต่มิเป็นผลสำเร็จ เมื่อไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ เพราะขาดคุณสมบัติดังที่ปรากฏไว้ข้างต้น

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่เป็นธรรมกับเธอเลยครับ ถ้าหากไม่เป็นความจริง

แม้ว่า เธอจะเป็นลูกสาวของนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมต่างๆนานาก็ตาม

ผมขอวิงวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คณะสังคมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาพูดความจริง เพื่อแก้คำครหาให้ลูกศิษย์ของท่าน และลบความด่างพร้อยของระบบการศึกษาของชาติเถอะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น