xs
xsm
sm
md
lg

หลักนิติธรรม (the rule of law) และหลักนิติวิธี (the rule by law)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะประกอบด้วยหลักใหญ่ๆ 4 ประการ คือ 1) มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2) มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3) การมีส่วนร่วมของประชาชน 4) การปกครองบริหารต้องใช้หลักนิติธรรม ในส่วนนี้ความแตกต่างระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบการปกครองแบบเผด็จการอยู่ที่การออกกฎหมาย และการใช้กฎหมาย กล่าวได้ว่า ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะมุ่งเน้นที่หลักนิติธรรม (the rule of law) แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หรือแม้แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่บกพร่องจะใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ซึ่งได้แก่ การใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือ เพื่อความชอบธรรมและ เป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่กฎหมายที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (the rule of law)

หลักนิติธรรม หรือ the rule of law เริ่มต้นจากการออกกฎหมายนั้นจะต้องเป็นกฎหมายที่โดยเจตนารมณ์และโดยลายลักษณ์อักษรเพื่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า มีความเป็นสากลไม่เลือกปฏิบัติ และการออกกฎหมายนั้นจะต้องออกโดยสถาบันที่มีอำนาจ ซึ่งได้แก่สถาบันที่มีตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง

ในส่วนที่สอง ในการบังคับใช้กฎหมายจะต้องมีกระบวนการที่มีความชอบธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ มีกลไกที่จะถ่วงดุลป้องกันไม่ให้การลุแก่อำนาจ

ในส่วนที่สาม ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้นำกฎหมายไปใช้ จะต้องมีความรู้ในกฎหมายนั้นๆ อย่างแท้จริง มิใช่ตีความโดยไม่มีความกระจ่างทั้งในเจตนารมณ์และในลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นจะต้องมีจิตใจที่เป็นกลาง มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ผู้ใช้กฎหมายซึ่งเป็นผู้ตีความกฎหมายถ้าหากขาดความรู้หรือขาดจริยธรรม มีการตีความกฎหมายในลักษณะตะแบงแบบศรีธนญชัย ถึงแม้กฎหมายจะมีการตรากฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าการตีความนั้นตีความผิดพลาดหรือมีอคติ ก็จะทำให้หลักนิติธรรม (the rule of law) ถูกกระทบได้

ในส่วนที่สี่ กระบวนการบังคับกฎหมายนั้นจะต้องมีกระบวนการยุติธรรม (due process of law) ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่มีผู้ละเมิดนั้นจะต้องมีกระบวนการสืบสวน สอบสวน จับกุม ฟ้องร้อง โดยตำรวจหรืออัยการ และต้องพิจารณาโดยศาลซึ่งจะต้องมีทนายคอยแก้ต่าง ปลอดจากการข่มขู่คุกคาม กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องประกันหลักนิติธรรม (the rule of law) ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายส่วนหนึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้คือสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติธรรม (the rule of law)

ในส่วนของหลักนิติวิธี (the rule by law) คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและเป็นข้ออ้าง โดยกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐ ลักษณะของ the rule by law ก็คือการก้าวจากการใช้อำนาจโดยคน (the rule by men) โดยคนซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดสั่งการในลักษณะที่เป็นกฎหมายในตัวมีคำสั่งอะไรออกมาก็จะกลายเป็นกฎหมายทันที มาเป็นการปกครองบริหารโดยการออกกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกนั้นจะไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) ซึ่งจะมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

1) กฎหมายที่จะนำมาใช้โดยฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐนั้นจะตราโดยคณะกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ หลังการยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จโดยการใช้กำลังและออกกฎหมายสั้นๆ น้อยมาตรา เช่น ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น มีเพียง 20 มาตรา และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร หลังการยึดอำนาจมีเพียง 23 มาตรา และมีอยู่มาตราหนึ่งคือมาตรา 17 ในกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมาตรา 17 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการโดยเด็ดขาด ซึ่งมีการสั่งให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ การวางเพลิง การค้ายาเสพติด เป็นต้น นี่คือลักษณะของ the rule by law เพราะกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยกระบวนการที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนมีส่วนร่วม

อีกกรณีหนึ่งคือ การตรากฎหมายนั้นอาจตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการแต่งตั้งตามอำเภอใจหลังการได้อำนาจรัฐโดยการใช้กำลังทำการรัฐประหาร สภานิติบัญญัตินั้นก็คือเครื่องมือของผู้ที่ต้องการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) โดยอ้างได้ว่าเป็นกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่สภาดังกล่าวมาจากการแต่งตั้งของตน ในกรณีเช่นนี้ก็คือ the rule by law หรือหลักนิติวิธี

2. ในแง่เนื้อหา กฎหมายที่ตราขึ้นมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมเกินกว่าห้าคน ห้ามมิให้ประชาชนออกนอกบ้านโดยมีการกำหนดระยะเวลา ฯลฯ การออกกฎหมายเช่นนี้ในตัวของกฎหมายเองเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (the rule of law) เพราะข้ออ้างที่จะยกเว้นหลักนิติธรรมนั้นไม่มีน้ำหนักพอในหลายกรณี ดังนั้น ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ กระบวนการออกกฎหมายก็ดี ตัวกฎหมายเองก็ดี ล้วนแล้วแต่ขัดหลักนิติธรรม (the rule of law) ทั้งสิ้น

3. กระบวนการยุติธรรมและการบังคับกฎหมายในระบอบการปกครองที่ใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) นั้น ย่อมขัดกับหลักนิติธรรม (the rule of law) ตัวอย่างเช่น การจับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันธพาลไปกักขังโดยไม่มีโอกาสได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย และละเมิดสิทธิขึ้นมูลฐานของประชาชน การสั่งประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยศาล เพื่อแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดโดยใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปกครองบริหารที่ใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ซึ่งย่อมจะแตกต่างจากการปกครองที่ใช้หลักนิติธรรม (the rule of law)

4. การตีความกฎหมายในลักษณะตะแบง อคติ เป็นฝักเป็นฝ่าย โดยขาดจริยธรรมแห่งวิชาชีพกฎหมาย ละเมิดต่อหลักนิติปรัชญา เป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ผู้ซึ่งตีความตะแบงกฎหมายโดยยึดลายลักษณ์อักษร มองข้ามเจตนารมณ์และไม่นำหลักจริยธรรมมาพิจารณา ก็คือการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) นั่นเอง นักกฎหมายที่พยายามเสนอแนะการใช้กฎหมายให้กับผู้ดำรงตำแหน่งบริหารเพื่อออกกฎหมาย เพื่อวางนโยบาย เพื่อกระทำการในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม ก็คือผู้ส่งเสริมการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่นักกฎหมาย (lawyer) แต่เป็นนักเทคนิคทางกฎหมาย (legal technician) บุคคลเช่นนี้ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้รู้กฎหมายเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและรับใช้ผู้มีอำนาจ

แต่ข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ แม้ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้ากระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจของสถาบันการเมืองต่างๆ รวมตลอดทั้งองค์กรที่เป็นกลไกในการตรวจสอบไม่เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถึงแม้ในรูปแบบจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ใช้หลักนิติธรรม (the rule of law) แต่ในความเป็นจริงและโดยเนื้อหาคือการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law)

ที่กล่าวมาเบื้องต้นจะขยายความได้ดังต่อไปนี้ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงสภานิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ในการออกกฎหมายจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง มีความเที่ยงธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยเพื่อตรากฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจโดยการสนับสนุนของพรรคการเมือง และพร้อมที่จะตรากฎหมายที่แม้จะขัดแย้งกับความยุติธรรมและหลักนิติธรรม (the rule of law) กฎหมายดังกล่าวก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายบริหารซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฝ่ายบริหารนั้นมาจากพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าพรรคอื่นๆ เมื่อฝ่ายบริหารซึ่งมาจากพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดสามารถจะออกกฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรม (the rule of law) ได้โดยสภาซึ่งตนเป็นผู้ควบคุม กฎหมายนั้นก็จะมีสภาพเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับฝ่ายบริหารนั้น การอ้างความถูกต้องตามกฎหมายในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายที่ตราโดยคนกลุ่มเดียวกันและขององค์กรการเมืองเดียวกัน นี่คือตัวอย่างของการปกครองบริหารโดยหลักนิติวิธี (the rule by law) ถึงแม้ในรูปแบบจะมีการเลือกตั้ง มีสภา มีฝ่ายบริหารที่มาตามครรลองก็ตาม ในกรณีเช่นนี้หลักนิติธรรม (the rule of law) ก็ยังไม่เกิดขึ้นในส่วนของเนื้อหาและความเป็นจริง

และในกรณีที่จะประกันหลักนิติธรรม (the rule of law) โดยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร รวมตลอดทั้งการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นถูกกระทำให้เป็นหมันด้วยการทำให้จำนวนไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยกลวิธีรวมพรรคก็ดี ด้วยการใช้เงินซื้อเสียงให้ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดก็ดี ก็คือการทำลายการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ ในกรณีเช่นนี้หลักนิติธรรม (the rule of law) ย่อมถูกทำลายโดยหลักนิติวิธี (the rule by law)

ในส่วนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องคัดสรรจากตัวบุคคลที่เป็นกลางทางการเมือง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินซื้อเสียง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ละเมิดกฎหมาย แต่ถ้าองค์กรเหล่านี้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่เป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในอาณัติของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารก็จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ครองอำนาจรัฐ ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้ต้องผ่านการคัดสรรจากวุฒิสภาซึ่งโดยเจตนารมณ์และกฎหมายจะต้องเป็นกลางทางการเมือง ซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงตรง แต่เมื่อใดก็ตามที่วุฒิสภาแปรเปลี่ยนไปจากคุณลักษณะดังกล่าวระบบทั้งระบบก็จะล้มเหลว เสมือนหนึ่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขา เมื่อต้นสายธารไม่สะอาด น้ำที่ไหลลงมาข้างล่างก็ย่อมจะไม่สะอาดด้วย จะนำมาใช้ดื่มหรือทำอย่างอื่นย่อมมีปัญหา เมื่อกระบวนการทางการเมือง การปกครองบริหารทั้งหมดนี้ อันได้แก่ การตรากฎหมาย การบังคับกฎหมาย การตีความกฎหมาย การควบคุมการใช้อำนาจด้วยการถ่วงดุลโดยการอภิปราย และโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องแต่งตั้งจากวุฒิสภาที่เป็นกลาง ฯลฯ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นในการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือของผู้ซึ่งใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และความอ่อนแอของสังคมเพื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ระบบทั้งระบบก็จะประสบความล้มเหลวในทุกขั้นตอนและในทุกกระบวนการ

หลักนิติธรรม (the rule of law) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะถูกทำลายลง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็จะกลายเป็นหลักนิติวิธี (the rule by law) ในเนื้อหาและความเป็นจริง การอ้างกฎหมาย เช่น การพูดว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามกติกา ก็จะกลายเป็นเพียงข้ออ้างซึ่งไม่มีน้ำหนักใดๆ ทั้งสิ้น สังคมใดก็ตามที่มีสภาพดังกล่าวย่อมไม่ใช่สังคมที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย โดยมีหลักนิติธรรม (the rule of law) เป็นฐาน หากแต่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อครองอำนาจรัฐด้วยกระบวนการต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จ และนี่คือระบบที่ใช้หลักนิติวิธี (the rue by law) และไม่ใช่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น