xs
xsm
sm
md
lg

แฉ"3 หนา"สั่งทำลายหลักฐาน สตง.ไล่บี้เลขาฯกกต. เคลียร์งบเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตง.จี้ เลขาฯกกต.ชี้แจงการใช้งบเลือกตั้งส.ส.-ส.ว.เพิ่มใน 8 ประเด็น ที่ส่อผิดวินัยการเงินการคลัง ฟุ่มเฟือย ไม่รักษาประโยชน์หน่วยงาน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่รับงาน การใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง ความคุ้มค่าในการลงทุน ด้าน 3 อดีตกกต.สั่งขนเอกสารทำลายหวังปกปิดความผิด ขณะที่ เลขาฯศาลฎีกา มั่นใจการคัดเลือก 10 ว่าที่กกต.ชุดใหม่ ไม่มีบล็อกโหวต

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้เข้ามาตรวจการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ต่อเนื่องการสั่งเลือกตั้งใหม่ 23 เม.ย.และ 29 เม.ย. ที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งเพิกถอนไป และการใช้จ่ายเงินเพื่อจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. รวมวงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และคุ้มค่าหรือไม่นั้น

ปรากฏว่า เมื่อ31 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจสอบการบริหารพัสดุ และสืบสวนที่ 4 ในสำนักตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้มีหนังสือถึง พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการกกต.เพื่อขอให้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาพัสดุที่ใช้ในการเลือกตั้งรวม 8 ประเด็น คือ

1. การประมาณการปริมาณวัสดุ เช่น ตรายางพร้อมตลับหมึก หีบบัตรเลือกตั้งและคูหา บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งส.ว. แถบกั้นพื้นที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ปลอกแขนพลาสติกแสดงตำแหน่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง สายรัดหีบบัตร เต้นท์ คู่มือ วัสดุสำนักงาน เป็นต้น ที่ใช้ในการเลือกตั้ง มีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร

2. การประมาณการงบประมาณหรือวงเงินในการจัดหาวัสดุเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง อาศัยหลักเกณฑ์หรือวิธีการกำหนดราคาวัสดุดังกล่าวไว้อย่างไร 3.การประมาณการเกี่ยวกับงบประมาณด้านกิจการการมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ อาศัยหลักเกณฑ์ หรือวิธีการกำหนดวงเงินไว้อย่างไร และมีการประเมินผลเกี่ยวกับความคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร 4.มีการประเมินการใช้ประโยชน์ของวัสดุที่ใช้ในการเลือกตั้งเกี่ยวกับความคุ้มค่า สมประยชน์และประหยัดหรือไม่อย่างไร วัสดุที่ส่งให้กกต.จังหวัดมีการแจ้งตอบรับวัสดุจากกกต.จังหวัดหรือไม่อย่างไร

5.การจัดหาพัสดุโดยวิธีพิเศษ มีการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้มีอาชีพอย่างไร มีการจัดทำทะเบียนผู้มีอาชีพที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการหรือไม่อย่างไร และกรณีการสั่งจ้างที่มีวงเงินสูงๆ เมื่อมีการก่อหนี้ผูกพันโดยใช้ใบสั่งจ้างซึ่งไม่ได้ให้ผู้รับจ้างแนบหลักประกัน หากมีการส่งมอบของไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ตามที่ตกลงกันไว้ มีหลักประกันอย่างไรในการเกิดความเสี่ยงดังกล่าว 6. การจัดหาพัสดุที่มีวงเงินสูงๆ และปริมาณมากๆ เช่น บัตรเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้ง คู่มือโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมิได้กระจายความเสี่ยงโดยจัดหาจากผู้มีอาชีพมากรายทำให้มีกรณีส่งของไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา หรือส่งของล่าช้าไม่ทันใช้ หรือ ส่งของใกล้ถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้งานอื่นๆ เกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ไม่เป็นไปตามแผน มีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหา

7.มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับ จ่ายวัสดุ การเก็บรักษาและการควบคุมตรวจสอบการใช้วัสดุ รวมทั้งการรายงานวัสดุคงเหลือไว้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากมีการเลือกตั้งวัสดุคงเหลือได้มีการควบคุมเก็บรักษาและรายงานไว้อย่างไร 8. วัสดุซึ่งสำนักงานกกต.จัดหาแล้วได้จัดสรรให้กกต.จังหวัดและกกต.กทม.มีการจัดการควบคุมเก็บรักษาหรือไม่อย่างไร โดยทางสตง.ขอให้กกต.ชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบกลับไปภายในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ทั้งนี้หลังจากที่สตง.ได้เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าวของกกต.ปรากฏข่าวในเวลาต่อมาว่า สตง.มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆของกกต.ว่า เหตุใดจึงใช้วิธีพิเศษเกือบทั้งหมด อีกทั้งเหตุใดบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงเป็นบริษัทเดิมๆ เช่น การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว.หรือท้องถิ่น คู่สัญญา จะเป็นบริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด เป็นผู้จัดพิมพ์ หรือบางบริษัท ก็พบว่าไม่ได้ดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับงานที่กกต.ว่าจ้าง อย่างบริษัท เจ เจ กรุ๊ป 45 จำกัด ที่รับงานจัดทำปลอกแขนพลาสติกแสดงตำแหน่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ก็พบว่า ชื่อจดทะเบียนดำเนินธุรกิจขายเคมีภัณฑ์ปราบศัตรูพืช จึงต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่จะมารับงานจาก กกต.

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว กกต.กล่าวว่า ประเด็นที่ สตง.ขอให้กกต.ชี้แจงเพิ่มนั้นสะท้อนว่าต้องการพุ่งเป้าไปที่ตัวเลขาธิการ กกต.ในฐานะหัวหน้าสำนักงาน ที่แม้การดำเนินการต่างๆ จะต้องเป็นไปตามมติของ กกต.แต่อำนาจการเซ็นอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง เป็นของเลขาธิการกกต.โดยตรง ยิ่งสตง.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง และการคัดเลือกบริษัทที่จะมารับงาน ทำให้กกต.อาจถูกมองว่า ใช้จ่ายงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไปอย่างฟุ่มเฟือย การอนุมัติสั่งจ่ายของเลขาธิการ กกต.ผิดวินัยการเงินการคลังหรือไม่ เพราะในฐานะหัวหน้าสำนักงาน กกต.ที่เป็นหน่วยเบิกจ่าย ต้องมีแผนในการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจน ถูกต้อง และยึดหลักประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด

**แฉ 3 หนาสั่งทำลายเอกสารหลักฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนำเอกสารจำนวนหลายสิบกล่อง ออกจากสำนักกฎหมายและคดี และนำออกไปจากสำนักงานกกต. โดยมิได้มีการเปิดเผยว่า นำไปที่ใด โดยมีการตั้งข้อสังเกตของพนักงานกกต.ว่า เอกสารที่นำออกไปนั้นเป็นการนำออกไปทำลาย เพื่อปกปิดความผิดของ กกต.ที้ง 3 คน ที่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ เพราะเอกสารหลายชิ้นที่อยู่ในสำนักกฎหมายและคดี อาจจะถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาความผิดของกกต.ได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่กกต.จะขึ้นศาลและถูกพิจารณาคดีให้จำคุก ก็มีการนำเอกสารออกจากสำนักงานไปทำลายข้างนอกในลักษณะเดียวกันกับครั้งนี้

พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา กล่าวถึงกรณีที่อดีตกกต.ทั้ง 3 ขนเอกสารจำนวนมากกลับไปว่า สามารถทำได้ หากว่าเป็นเอกสารส่วนตัว หรือเอกสารสำเนา แต่หากว่าเป็นเอกสารในการทำหน้าที่ของกกต.ที่เป็นตัวจริง ที่มีการรับรองสำเนาถูกต้อง มีลายเซ็น อย่างนี้ถือว่าเป็นเอกสารราชการ จะนำออกไปหรือทำลายไม่ได้

ด้านนายพีระพงษ์ ไพรินทร์ ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบข้อมูลเรื่องนี้จึงขอเวลาไปตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน แต่เท่าที่ทราบตนไม่เห็นคำสั่งที่ให้นำเอกสารออกไปจาก สำนักงานกกต. และไม่เคยเห็นการทำลายเอกสารแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการทำลายเอกสารนั้น กกต.ก็มีเรื่องระเบียบสารบรรณไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในกรณีที่ทางสำนักงานกกต.แจ้งว่า เห็นควรส่งเอกสารให้กับ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง 3 กกต.ในคดีกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ได้บางรายการ โดยในส่วน 3 รายการ คือ 1.การขอเบิกเงินปฏิบัติการลับ 2. คำวินิจฉัยสั่งการเลือกตั้งอบจ.สกลนครใหม่(ใบเหลือง) และ 3. สำเนาคำวินิจฉัยสั่งการและฉบับร่าง 2 ฉบับที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่ อบต.เหนือเมือง จ.ร้อยเอ็ด เห็นควรแจ้งว่า ไม่พบเอกสารตามที่โจทก์อ้างนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ ในการประชุมวันนั้น เมื่อสำนักกฎหมายและคดี เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม กกต.ก็ได้ตรวจสอบตามที่มีการขอมา ซึ่ง 3 รายการที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น เรื่องการขอเบิกเงินปฏิบัติการลับ มีการขอเอกสาร ที่ ลต 0102/277 ลงวันที่ 12 ม.ค.49 แต่ปรากฎว่า เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ไม่มีเอกสารลงวันที่ดังกล่าวจริง ซึ่งเข้าใจว่า จะมีเอกสารเรื่องนี้ลงวันที่ 12 ม.ค. 48 แต่สำหรับทางธุรการแล้ว ก็ไม่สามารถให้ไปได้ เพราะขอมาคนละฉบับกัน

ส่วนเรื่อง คำวินิจฉัยสั่งการเลือกตั้ง อบจ.สกลนครใหม่ (ใบเหลือง)ที่ขอเอกสารหมายเลข 1027 /2547 ลงวันที่ 15 มิ.ย.47 เมื่อสำนักกฎหมายไปตรวจดูเลขที่ดังกล่าว ก็ไม่มีอีกเช่นกัน ขณะที่สำเนาคำวินิจฉัยสั่งการและฉบับร่าง 2 ฉบับ ที่มีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่ อบต.เหนือเมือง จ.ร้อยเอ็ด มีการขอเอกสารหมายเลข 689/2546 ก็ไม่มีอีกเช่นกัน แต่เรื่องดังกล่าวจริงๆ ลงเลขที่ 698/2546 ดังนั้น เมื่อขอเอกสารโดยระบุหมายเลขมาผิด จึงไม่สามารถให้ไปได้ เพราะต้องทำให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งปกติถ้าขอมาแล้วระบุหมายเลขเอกสารตรง สำนักงานกกต.ก็คงให้ไปแล้ว

**ศาลทำเพื่อชาติไม่มีบล็อกโหวต

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมรายชื่อผู้สรรหาเป็นกกต. ว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมควรเป็น กกต.ได้ตรวจคุณสมบัติของทั้ง 42 คนแล้ว ศาลฎีกาได้ติดประกาศรายชื่อบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมกับได้จัดทำบัญชีรายชื่อส่งให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 86 คนพิจารณารายละเอียด ประวัติบุคคลและเกียรติคุณของทั้ง 42 คน เพื่อเป็นข้อมูลใช้ประกอบการลงมติสรรหา กกต. จำนวน 10 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2)(3) ซึ่งศาลฎีกาจะเริ่มประชุมในวันที่ 10 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า กกต.ชุดใหม่จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมได้ เพราะ กกต.จังหวัด ยังเป็นปัญหาต่อการใช้อำนาจวินิจฉัยตรวจสอบแจกใบเหลือง ใบแดงในพื้นที่จังหวัดต่างๆนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าเมื่อมี กกต.แล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ที่จะตรวจสอบกลั่นกรองการทำหน้าที่ กกต.จังหวัดให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังยืนยันว่า การสรรหากกต.จะไม่มีการบล็อกโหวต ทั้งในกระบวนการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เนื่องจากเชื่อมั่นว่าตุลาการทุกคนจะทำเพื่อชาติ โดยมั่นใจว่าอำนาจการเมืองไม่สามารถแทรกแซงการสรรหาของศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเก็ง 10 คน ซึ่งคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เสนอชื่อเป็น กกต.นั้น น่าจะมีกลุ่มผู้พิพากษา และอดีตผู้พิพากษาเกินครึ่งหนึ่ง อาทิ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตประธานศาลอุทธรณ์ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ,นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชน และครอบครัวกลางในศาลฎีกา ,นายอมรศักดิ์ นพรัมภา อดีตผู้พิพากษา ปัจจุบันเป็น รอง กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคดีเลือกตั้ง ของกกต. นอกจากนี้ กลุ่มอดีต กกต.ที่น่าจะติดโผ 1 ใน 10 ด้วยนั้น คือ นายธีรศักดิ์ กรรณสูต อดีตประธานกกต.ชุดแรกปี 40-44 และนายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตกกต.ชุดเดียวกับนายธีรศักดิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น