xs
xsm
sm
md
lg

สมศักดิ์ใช้อำนาจมิชอบศาลชี้คดีกองทุนฟื้นฟูฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “สมศักดิ์” แพ้คดีในศาลปกครอง หลังคำพิพากษาศาลชี้ชัดใช้อำนาจมิชอบ บีบ “สุริยันต์” เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรออกจากตำแหน่งสมัยที่เป็น รมต.เกษตรฯ จี้รับผิดชอบเหตุผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แฉถูก "สมศักดิ์" ร้องขอให้ช่วยลิ่วล้อที่ทุจริตแต่ไม่ยอมจึงถูกปลดจากตำแหน่งฯ

รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเลขที่ 1108/2549 พิพากษา เพิกถอนคำสั่ง แต่งตั้งให้ นายสากล สถิตยวิทยานันท์ ดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลงวันที่ ที่ 331/2547 ลงวันที่ 9 ก.ย.2547 โดยอาศัยอำนาจตามมาตร 4 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถนำไปลงในราชกิจจานุเบกษาได้ตามกฎหมาย ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำพิพากษาเพิกถอน

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแต่งตั้งให้นายสากล สถิตยวิทยานันท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ แทนนายสุริยันต์ บุญนาคค้า อดีตเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ถูกขับออกให้พ้นจากตำแหน่ง

“ผลจากคำสั่งดังกล่าว นายสุริยันต์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง”รายงานข่าวระบุ

ทั้งนี้ ตามคำฟ้อง นายสุริยันต์ ระบุว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน บังคับและข่มขู่ให้ลาออก และยังได้เตรียมหนังสือลาออกมาให้เซ็น โดยตนเองได้เซ็นใบลาออก แต่ไม่ได้ลงวันที่ ต่อมาภายหลังได้ตนเองจึงได้ทำหนังสือปฏิเสธการลาออกจากตำแหน่ง 3 ฉบับ ฉบับแรก ยื่นต่อ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และอยู่ในฐานะเป็นประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ฉบับที่ 2 ยื่นต่อ นายอำนาจ ธีระวนิช ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ และยื่นต่อนายสมศักดิ์ เป็นฉบับที่ 3

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ศาลฯ ได้รับคำร้อง และมีการพิจารณาแล้ว ศาลจึงพิเคราะห์ว่านายสุริยันต์ไม่ได้มีความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง หนังสือลาออกดังกล่าว ก็ไม่มีผลให้นายสุริยันต์ ลาออกจากตำแหน่ง นั่นคือ การลงคำสั่งแต่งตั้ง นายสากล ดำรงตำแหน่งแทน จึงเป็นมติที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อาจมีคำสั่งให้ นายสุริยันต์ เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ตามเดิมได้ เพราะล่วงเลยสัญญามาแล้ว นอกจากนี้ นายสุริยันต์ ไม่ได้ร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

ด้านนายสุริยันต์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การออกคำสั่งของนายสมศักดิ์ เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 303 304 และ 305 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่จะต้องถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง สำหรับสาเหตุที่ทำให้ตนถูกขับออกจากตำแหน่ง เพราะมีการขัดใจกัน เนื่องมาจากตนเองไม่ยอมช่วยเหลือคนของนายสมศักดิ์ที่ถูกสอบสวนเกี่ยวกับการทำผิดในหน้าที่

ทั้งนี้ ตามรายละเอียดในคำแถลงคดีของศาลปกครองกลาง ระบุว่า นายสมศักดิ์ได้ร้องขอให้นายสุริยันต์ให้ความช่วยเหลือนายอมร อมรรัตนานนท์ รองเลขาธิการฯ ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งรักษาการเลขาธิการฯ มีการทุจริตเรียกรับเงินโดยมิชอบในการบรรจุแต่งตั้งพนักงาน แต่นายสุริยันต์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพักงานนายอมรโดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ได้เรียกไปพบ และขอให้ช่วยปกป้องนายอมร แต่นายสุริยันต์ได้ยืนยันว่าหากไม่ดำเนินการจะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้นายสมศักดิ์ไม่พอใจ และบังคับให้ลงนามในหนังสือลาออกตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น