xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องตลกที่ไม่ตลก

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า หนังไทยที่เราดูๆ กันนั้นเป็นหนังที่ลอกเลียนมาจากหนังฮอลลีวูดมาโดยพื้นฐาน

ฮอลลีวูดมาแนวไหน หนังไทยก็มาแนวนั้น ฮอลลีวูดมีเทคนิคพิเศษอะไรใหม่ๆ หนังไทยก็มีกับเขาบ้าง เป็นต้น แต่จะทำได้ดีเท่าฮอลลีวูดหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บนพื้นฐานที่ว่า จะมีที่หนังไทยแตกต่างไปจากฮอลลีวูดอยู่บ้างก็ตรงที่ทำไปทำมาหนังไทยยังไม่อาจสลัดทิ้งวัฒนธรรมบางส่วนของตนไปได้ ถ้าจะมีแง่มุมไหนที่พอจะยกให้เห็นเป็นตัวอย่างได้บ้างแล้ว ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “หนังไทยน้ำเน่า” น่าจะหนึ่งในวัฒนธรรมที่ว่านั้น

ว่ากันว่า เอาเข้าจริงแล้ว “หนังไทยน้ำเน่า” ก็คือ ส่วนเสี้ยวทางวัฒนธรรมที่ยังตัดไม่ขาดไปจากลิเกที่เคยเป็นมหรสพฮิตของคนไทยในอดีต กล่าวอีกอย่างก็คือ หนังไทยน้ำเน่าได้ใช้วิธีเล่าเรื่องในแบบลิเกนั่นเอง

และก็คงเพราะเหตุที่ว่า คนไทยจำนวนมากจึงได้ติดหนึบอยู่กับหนังไทยน้ำเน่ากันมาจนทุกวันนี้ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่หนังไทยน้ำเน่าได้ย้ายตนเองมาอยู่ในละครโทรทัศน์ และก็เพราะเหตุที่ว่าเช่นกันที่ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่คุ้นเคยกับหนังไทยน้ำดี จนหนังไทยน้ำดี “เน่า” กันไปหลายต่อหลายเรื่อง

แต่ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อก็คือว่า แม้หนังไทยจะลอกเลียนหนังฮอลลีวูดมามากน้อยเพียงใด หรือแม้แต่ได้คงความเป็นน้ำเน่าของตนเอาไว้ หรือแม้กระทั่งสร้างขึ้นมาเป็นหนังน้ำดีอย่างไร เอาเข้าจริงแล้วกลับมีหนังไทยอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผมเห็นว่าหลุดออกจากขนบที่ว่ามาอย่างเห็นได้ชัด

คือหลุดออกมาอย่างชนิดที่ไม่มีกลิ่นอายของหนังฮอลลีวูดให้เห็น หรือถ้าจะมีก็มีแค่เทคนิค ที่ซึ่งถึงอย่างไรก็เป็นแค่เครื่องมือให้กับหนังไทยในกลุ่มนี้เท่านั้น และหลุดออกมาอย่างชนิดที่หนังไทยน้ำเน่าอื่นๆ ไม่คิดจะเลียนแบบ

หนังในกลุ่มที่ว่านี้ก็คือ หนังผี

หนังผีไทยนั้นมีเอกลักษณ์ของตนอย่างที่ว่าก็เพราะหลุดออกมาจากขนบที่ว่า โดยเอกลักษณ์ที่ว่านี้เราสามารถเห็นได้จากรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนัง เช่น ฉากวิ่งหนีผี ฉากผีหลอกในลีลาต่างๆ หรือฉากการพูดที่ลากเสียงเย็นๆ ยาวๆ จนน่าขนลุก ฯลฯ ที่ซึ่งจะทำซ้ำกันอย่างไร (เหมือนหนังไทยน้ำเน่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังผี) คนไทยเราก็ยังดูอยู่ได้ไม่รู้จักเบื่อ

ถึงตรงนี้ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องย้ำว่า คนไทยที่ผมพูดถึงนี้ไม่ใช่คนไทยในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ นะครับ แต่เป็นคนไทยทั้งประเทศที่อยู่ตามตรอกซอกซอยตลอดจนชนบทอันไกลโพ้น คนไทยกลุ่มนี้คือตลาดขนาดใหญ่ของหนังไทยน้ำเน่าซึ่งรวมทั้งหนังผีด้วย เมื่อเป็นตลาดตัวจริง คนไทยกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้แก่หนังไทยน้ำเน่ามาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง

ว่ากันเฉพาะหนังผีแล้ว เราอาจเห็นได้จากกรณีหนังชุด “ผีปอบ” ที่เคยสร้างออกมาร่วมสิบตอน ซึ่งหากสังเกตให้ดีแล้วตอนที่หนังผีชุดนี้สร้างเสร็จใหม่แล้วออกฉายนั้น จะฉายอยู่ในโรงหนังชั้น 1 ได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

จากนั้นก็จะย้ายไปสิงสถิตอยู่ในโรงหนังชั้น 2 และ 3 ต่อไป และตอนที่อยู่ในโรงหนังกลุ่มที่ว่านี้แหละที่หนังผีชุดนี้อยู่ได้ยาว ยาวเพราะอะไรน่ะหรือ? ยาวก็เพราะตั๋วหนังถูกกว่าโรงชั้น 1 ตั้งครึ่ง และยิ่งถ้าหากเป็นโรงชั้น 3 ด้วยแล้วยังแถมหนังอีกเรื่องเป็น 2 เรื่องควบอีกต่างหาก

คำถามก็คือว่า แล้วคนไทยดูอะไรในหนังผีที่สร้างกันอย่างซ้ำๆ ซากๆ? คำตอบคงมีหลายทาง แต่ผมขอเลือกตอบทางหนึ่ง นั่นคือ บทหรือฉากการเผชิญหน้ากันระหว่างผีกับนักปราบผีที่มาจากหลากหลายสำนัก...แฮ่ม....รวมทั้งสำนักของศาสนาพุทธด้วยนะครับ

ฉากที่ว่านี้มีทั้งที่ถูกสร้างโดยตั้งใจให้ตลกและดูจริงจัง แต่ที่เป็นเสน่ห์ของหนังก็คือ หนังมักจะปล่อยให้บทดำเนินไปในเวลาที่พอสมควรเพียงเพื่อให้เห็นว่า อำนาจของผีนั้นช่างมีมหาศาลเหลือเกิน คือปราบได้ยากปราบได้เย็น

และที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในหนังก็คือ ผีมักจะแสดงอำนาจเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ เป็นการแสดงที่ไม่เลือกว่านักปราบผีจะมาจากสำนักไหน...แหะๆ...รวมทั้งสำนักพุทธด้วย

เพื่อให้เห็นตัวอย่างสำนักพุทธ เราจะเห็นได้จากหนังเรื่อง “นางนาก” ของ คุณนนทรย์ นิมิบุตร ซึ่งจัดเป็นหนังผีในแนวจริงจัง แต่กล่าวเฉพาะในฉากที่ผมจะยกมาเป็นตัวอย่างนี้เป็นฉากที่ปนตลกเอาไว้ด้วย

นั่นคือ ฉากที่บรรดาภิกษุสามเณรต่างวิ่งหนีผี นางนาก มารวมตัวกันที่ท้องศาลากันโกลาหน และต่างก็นอนคุมโปงอยู่ใต้จีวรเหลืองกันตัวสั่นงันงก

ในฉากนี้มีอยู่ตอนหนึ่งได้มีสามเณรวิ่งหนีมากะจะหลบอยู่ใต้จีวรกับเขาบ้าง และพื้นที่ที่เธอเลือกก็คือ ตอนท้ายๆ ของศาลา (อะไรที่เป็นตอนท้าย สุดท้าย หรือรั้งท้ายในหนังผีนั้น บางครั้งก็หมายถึงความปลอดภัยสูงสุด แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางทีกลับตรงกันข้าม) สามเณรใช้เท้าถีบไปยังใครคนหนึ่งที่นอนคุมโปงอยู่เพื่อขอหลบคุมโปงบ้าง โดยสามเณรร้องว่า “เหยิบๆๆ”

แต่พอคนที่คุมโปงโผล่หน้าออกมากลับกลายเป็นเจ้าอาวาสไปเสียนี่ เท่านั้นแหละครับพี่น้อง เสียงฮาลั่นโรงก็เกิดขึ้น

ฉากถัดมาเป็นฉากที่เมื่อทุกคนหนีผีมารวมตัวกันเรียบร้อยแล้ว สักพักก็มีเสียงฝีเท้าเดินหนักๆ ขึ้นบนศาลา ภาพตัดไปเป็นจุดที่เณรคนเดิมคุมโปงอยู่มีหยดน้ำหยดลงบนผืนผ้า จนเณรทนไม่ไหวเปิดคุมโปงออกมาแล้วมองขึ้นไปข้างบน แล้วพูดเสียงระล่ำระลักว่า “ผีนางนาก” ครับ, ผีนางนากยืนห้อยหัวอยู่บนขื่อของศาลาลงมา และอย่าลืมนะครับว่า ฉากที่ว่านี้อยู่ในศาลาวัดอันถือเป็นเขตสังฆาวาส เหตุฉะนั้น ฉากนี้จึงเท่ากับว่า ผีนางนากได้กำลังแสดงฤทธิ์ของตนท้าทายหมู่สงฆ์และสามเณรนั่นเอง

นอกจากตัวอย่างที่ผมยกมาแล้ว หนังผีอีกหลายต่อหลายเรื่องมักจะปรากฏฉากทำนองนี้อยู่เสมอ คือถ้าผีไม่แสดงฤทธิ์ท้าทายหมอผีก็จะท้าทายพระสงฆ์องคเจ้า

แต่จะเป็นเพราะเหตุที่ผมว่ามาหรือไม่ไม่ทราบ ที่ทำให้ผมได้ยินคำว่า “โกยเถอะโยม” มาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้สึกว่าสถาบันสงฆ์จะเสื่อมเสียตรงไหน ซึ่งจะว่าไปแล้วคำว่า “โกยเถอะโยม” นี้จะให้ความหมายเป็นนัยๆ ว่า สิ่งที่เราจะได้เผชิญต่อไปนั้นหน้ากลัวเอามากๆ ขนาดที่แม้แต่พระท่านเองก็เอาไม่อยู่ และสิ่งที่ว่าในที่นี้ก็คือ ผี

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มันเป็นคำเปรียบเปรยเพื่อสร้างอารมณ์ความน่ากลัวให้กับผี และอารมณ์ที่ว่านี้ก็คือ หนัง ไม่ใช่ชีวิตจริง

ชีวิตจริงที่เราสามารถเห็นได้ว่า มีชาวบ้านชกต่อยกันต่อหน้าพระหรือพูดคำหยาบต่อหน้าพระ มีพระเสพเมถุนกับสตรี มีพระใบ้หวย มีพระที่เจ้ายศเจ้าอย่างแบ่งชั้นกัน มีพระที่เจริญธรรมด้วยการบริโภคแต่สิ่งดีๆ มีพระที่ทำตนเป็นคนทรงเจ้า และมีพระที่...ฯลฯ...

แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่กันได้มาจนทุกวันนี้ โดยหลายกรณีก็ไม่มีใครไปประท้วงด้วยซ้ำ

เหตุฉะนั้น การสกัดกั้นหนังผีสักเรื่องหนึ่งที่ให้บังเอิญว่าได้จำลองเรื่องจริงข้างต้นมาใส่ไว้ในจอ ไม่ว่าจะเพื่อให้คนดูได้เฮฮา หรือเพื่อให้เกิดอนุสติสอนใจตนเองก็ตาม จึงไม่เพียงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเท่านั้น หากยังเท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของชาวบ้านอีกด้วย ทั้งๆ การสกัดกั้นนั้นจะบอกว่าตนเข้าใจก็ตาม

ผมว่า บางทีตัวตลกที่สร้างหนังผีตลกเสียอีกที่เข้าใจวัฒนธรรมที่ว่าได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น