xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ดันรถไฟฟ้า 3 สาย เรียกคะแนนเสียงคนกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ดันโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ใช้วิธีออกแบบควบคู่ก่อสร้าง หวังปูทางหาเสียงจากคนกรุงอีกรอบ "เพ้ง"ยันทีโออาร์ต้องโปร่งใส มอบคลังรับหน้าที่จัดหาเงินกู้ เล็งเจบิคเป็นหลัก โดยต้องเพิ่มเงื่อนไข PQ ผู้รับเหมาในทีโออาร์ วงในเผยถกรูปแบบหาแหล่งเงินหลายทาง ตปท.เน้นเจบิก ในปท.เล็งออกพันธบัตรขาย "อลงกรณ์"ติงรัฐบาลรักษาการไม่ควรเร่งรัดอนุมัติ เตรียมจับตาความไม่โปร่งใส

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (1 ส.ค.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 3 เส้นทางตามที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ด้วยวิธีออกแบบควบคู่ก่อสร้าง(Design &Built)โดยกระทรวงการคลัง ได้เสนอใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก) ดังนั้นจึงให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ปรับปรุงร่างทีโออาร์ โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขการทำ PQ ตามเงื่อนไขเงินกู้เจบิคด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษาการรมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง โดยสายสีแดงจากรังสิต-พญาไท ซึ่งรวมช่วงบางซื่อ-พญาไท (Missing Link) ระยะทาง 5 กม.เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟเชื่อมสนามบิน(แอร์พอร์ต ลิงค์)ด้วย ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีความเห็นว่า ควรก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินตลอดแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ เนื่องจากเกรงว่าระหว่างการก่อสร้างจะเกิดปัญหาจราจรอย่างมาก โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ศึกษาต้นทุนและความเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยคาดว่าแม้เป็นระบบใต้ดินแต่ระยะเวลาก่อสร้างยังเป็น 3 ปี

ส่วนเรื่องเงินกู้นั้น กระทรวงการคลังจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการประมูล ซึ่งครม.เน้นเรื่องความโปร่งใส ทีโออาร์ต้องเปิดกว้าง ซึ่งเงินกู้จะมีทั้งในประเทศและเจบิค นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการทำ PQ ผู้รับเหมาเพื่อกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนมากขึ้น โดยคณะกรรมการ (บอร์ด)รฟม.และร.ฟ.ท.จะประชุมเพื่อกำหนดเวลาการขายซองประมูลและการคัดเลือกอีกครั้ง โดยผู้เสนอจะต้องแยกข้อเสนอด้านงานโยธา ระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถ ส่วนการพิจารณาจะมีคณะกรรมการ กำหนด ซึ่งจะพิจารณาในภาพรวมเป็น แพคเกจ

นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รักษาการรมช.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังดูแลความเหมาะสมเรื่องของการหาแหล่งเงินทุน รายละเอียดเงินลงทุนประกอบด้วย สายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ- พญาไท วงเงิน 4.56 หมื่นล้านบาท สายสีน้ำเงิน ในช่วงของหัวลำโพง-บางแค และในช่วง บางซื่อ-ท่าพระ วงเงิน 4.95 หมื่นล้านบาท และสายสีม่วง เส้นทางบางซื่อ-บางใหญ่ วงเงิน 4.65 หมื่นล้านบาท รวมทั้งให้พิจารณาถึงแนวทางที่จะกู้เงินกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก)โดยให้ไปศึกษาว่าสามารถดำเนินการขอกู้พร้อมไปกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าได้หรือไม่

**ครม.ชี้แจงตอกย้ำ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบในหลักการตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.คณะที่ 2 ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร และสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร และให้ดำเนินการประกวดราคาในลักษณะของการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้ออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างไปพร้อมกัน หรือ Design and Build ซึ่งเป็นไปตามที่สภาที่ปรึกษาฯได้เสนอ และดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาแบบนานาชาติ

สำหรับการคัดเลือกผู้รับเหมา ก็จะพิจารณาภายใต้เงื่อนไขราคาค่าก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง รูปแบบวิธีการก่อสร้าง และข้อเสนอด้านการเงิน ซึ่งจะรวมถึงข้อเสนอการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบาร์เตอร์เทรด แบบไม่เต็มจำนวนด้วย โดยที่ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายเงินจริง และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และค้ำเงินกู้ดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 103,136 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอด้านการเงินมาประกอบการพิจารณาด้วย

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงพญาไท-ยมราช-บางซื่อ-ดอนเมือง-รังสิต ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนขยาย ที่ ครม.ได้เคยอนุมัติเส้นทางไว้แล้ว ให้ดำเนินการการประกวดราคาในลักษณะการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้ออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างไปพร้อมกัน คือ Design and build เหมือนกัน และดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาแบบนานาชาติ ซึ่งการคัดเลือกผู้รับเหมาจะพิจารณาภายใต้เงื่อนไขราคาค่าก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง รูปแบบวิธีการก่อสร้าง และข้อเสนอด้านการเงิน

ทั้งนี้ รวมถึงข้อเสนอการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบไม่เต็มจำนวนด้วย โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินจริง และกระทรวงการคลังก็จะจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมและค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนค่าก่อสร้าง งานโยธา และระบบเดินรถ รวมทั้งจัดหาตัวรถ รวมทั้งค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคภายในวงเงิน 42,300 ล้านบาท ในส่วนนี้คือ วงเงิน 42,300 ล้านบาท ทั้งนี้ให้ผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอด้านการเงินประกอบการพิจารณามาด้วย

นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ครม.ยังอนุมัติให้ทั้ง รฟม.และ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว โดยยกเว้นขั้นตอน การดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1(การเสนอขออนุมัติโครงการ)ของคู่มือการพิจารณาการจ้างโดยกระทรวงการคลัง และให้ยกเว้นการดำเนินการตามขั้นตอนในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2549 เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามขั้นตอนของการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ

"ซึ่งในส่วนนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีการอภิปรายถึงเรื่องเกี่ยวกับที่มาของแหล่งเงินกู้ แต่ยังไม่มีข้อสรุป ก็ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะได้ไปจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่ระบบสัมปทาน เพราะในช่วงอดีตที่ผ่านมาที่มีการทำโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น รัฐลงทุนสร้างถึงแสนกว่าล้าน แต่เอกชนมาเดินรถโดยใช้เงินหมื่นกว่าล้าน แต่เป็นผลทำให้รัฐไม่สามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ถึงเป็นระบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ เพื่อที่รัฐจะสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารในอนาคตได้ ตามนโยบายที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการโดยสาร" นพ.สุรพงษ์กล่าว

**ถกรูปแบบการกู้เงิน

แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า ครม.ได้นำรูปแบบการกู้เงินจากแหล่งทุนมาถกเถียง เช่น ต้องการให้กู้เงินจากต่างประเทศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าอาจจะมีต้นทุนต่ำกว่าก็ตาม อาทิ การกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก)ที่ให้กู้แบบซอฟต์โลน และถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังได้วางแผนการกู้เงินสำหรับโครงการดังกล่าวเอาไว้ในเบื้องต้น คือในส่วนของการกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ คาดว่าจะกู้จากเจบิกทั้งหมด และส่วนการกู้ในประเทศ ได้แก่ การออกพันธบัตรขายให้แก่นักลงทุนและกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)กองทุนประกันสังคม บริษัทประกันภัย และสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีความสนใจ

"แต่เรื่องนี้ยังคงถกเถียงกันอย่างมาก ดังนั้นนายกฯ จึงขอให้กระทรวงการคลัง ไปเป็นผู้ดำเนินการจัดทำรูปแบบการกู้เงินจากแหล่งทุนทั้งหมด"แหล่งข่าว ระบุ

**รัฐบาลรักษาการไม่ควรเร่งรัด

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการรฟม.3 สาย แต่โดยมารยาทโครงการใดที่เป็นงบผูกพัน รัฐบาลรักษาการไม่ควรจะเร่งรัดอนุมัติ แต่ควรให้รัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการและกำหนดหลักเกณฑ์ เพราะต้องรับผิดชอบต่อการก่อสร้าง และภาวะหนี้ที่จะเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท อีกทั้งก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์ว่า โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพันงบประมาณก็จะให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ทำไมถึงมีการรีบผลักดันเข้าครม. ทั้งที่หลายหน่วยงานยังไม่ส่งความเห็นไปเพื่อประกอบการพิจารณา อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีความขัดแย้งระหว่าง รมว.คมนามคม กับรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จนพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเข้ามาแทรกแซง และไม่กี่สัปดาห์ก็เสนอเข้ามา

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมองได้ว่ารัฐบาลต้องการใช้โครงการรฟม.ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มักจะมองแต่เรื่องคะแนนเสียงเป็นหลัก แต่นี่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่พรรคประชาธิปัตย ์จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเริ่มโครงการสรรหาผู้รับเหมา การทุจริตคอร์รัปชั่น และการรับสินบน เพราะโครงการนี้มีจุดอ่อนอยู่หลายอย่าง ที่เอื้อให้มีการทุจริตได้ง่าย และปัญหางบประมาณบานปลาย เนื่องจากเป็นวิธีการดีไซน์แอนด์บิลด์ คนที่จะมารับผิดชอบจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตจริงๆ เพราะยังไม่มีการศึกษารายละเอียดของโครงการ ทำให้ไม่มีการประเมินค่าก่อสร้าง และไม่รู้ว่าเงิน 1 แสนล้าน จะเอามาจากไหน รวมถึงปัญหาการเวนคืนที่ดิน การศึกษาผลกระทบต่างๆ

"หากรัฐบาลจริงใจและตั้งใจจะสร้างรฟม.จริง ควรจะเร่งทำการศึกษาและออกแบบตั้งแต่ที่ออกมาพูดว่าจะสร้าง 10 สายแล้ว เพราะทำให้รู้ว่าจะใช้งบเท่าไร ไม่ใช่มาเร่งรัดตอนนี้ ซึ่งเหมือนกับเป็นการมัดมือชกให้ต้องยอมรับไป เป็นปัญหาความยุ่งยากของรัฐบาลขุดใหม่ที่จะเข้ามาบริการโครงการ ซึ่งเราจะไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้อย่างแน่นอน" นายอลงกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น